ไม่ต้องโฆษณาชวนเชื่อ หลายคนก็เชื่อมือ “กบ-อาภาศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา” ตัวแม่สายงานบริการอยู่แล้ว เพราะนอกจากประสบการณ์ร่วม 20 ปี ในสายงานโรงแรม พ่วงด้วยงานด้านแบรนด์ดิ้ง พีอาร์ จะการันตี เธอยังพิสูจน์ผลงานด้วยการปลุกปั้น “อาทิตย์ธารา” บ้านพักริมแม่น้ำบางปะกง ที่จังหวัดปราจีนบุรี ให้โด่งดัง นอกจากจุดขายเรื่องความสวยงามของสถาปัตยกรรม บรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ ยังได้รับคำชมเชยในด้านการบริการมากที่สุด
งานนี้เพื่อไม่ให้สกิลที่มีต้องเสียเปล่า กบถือโอกาสช่วงโควิด-19 ลุกขึ้นมาจัดหลักสูตรเทรนนิ่งให้แก่องค์กร หรือผู้ที่สนใจได้อัปสกิลด้านงานบริการ โดยนำประสบการณ์ที่มีมายำเป็นหลักสูตรอย่างเข้มข้น ที่สำคัญเรื่องราคาไม่ต้องพูดถึง เพราะเจ้าตัวออกปากว่าในสถานการณ์ที่คนไทยต้องช่วยเหลือกันให้ได้มากที่สุด เธอคิดค่าสอนในราคาแบบกันเอง ยืดหยุ่นได้ตามบัดเจ็ตที่มี
ส่วนเหตุผลที่ทำให้ลุกขึ้นมาจัดคอร์ส ไม่ใช่ New Normal สำหรับสาวเก่งบุคลิกดี เพราะเธอมีประสบการณ์ทำเทรนนิ่งมาหลายปี
“เราเรียนจบนิติศาสตร์มาก็จริง แต่จับพลัดจับผลูได้ทำงานในแผนก Sales & Marketing ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ราชดำริ ถึง 12 ปี ได้มีโอกาสดูแลแขกวีไอพีของโรงแรม โดยเฉพาะแขกของรัฐบาลและสถานทูต มีโอกาสทำงานอบรมเรื่องการบริการ "Extraodinary Service" ที่ศูนย์การค้าเกษรเป็นแห่งแรก ก่อนจะขยายมายังกลุ่มนาฬิกา แบรนด์เนม เคาน์เตอร์เครื่องสำอาง สปา ร้านอาหาร ไปจนถึงโรงแรมและองค์กรต่างๆ ที่ต้องมีการติดต่อกับลูกค้า มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จนช่วงคลายล็อกดาวน์มีคนถามมาเยอะ อาจเพราะเวลาไปเจอลูกค้า เราชอบแชร์มุมมองเรื่องงานบริการที่แตกต่าง”
ถามว่างานบริการในมุมมองของกบเป็นอย่างไร เธอให้นิยามว่า เป็นการช่วยเหลือคนอื่นด้วยความเต็มใจ มากกว่าจะทำเพราะถูกสอนว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า”
“ทุกครั้งที่ให้บริการ เราไม่ได้คิดว่าลูกค้าคือพระเจ้า แต่เป็นคนที่เราให้ความช่วยเหลืออย่างดีที่สุด เพราะถ้ามองว่าเขาคือพระเจ้า เท่ากับเรามองว่าเขาอยู่ในสถานะที่สูงกว่า ทำให้รู้สึกเครียดและเกร็งเวลาให้บริการ แต่ถ้าเรามองว่าเขาก็เหมือนกับเรา เพียงแต่เราอยากมอบความช่วยเหลือที่ดีที่สุดกับเขา ให้เขามีความสุขที่สุด พอมองจากมุมนี้ คนที่ให้บริการจะมีความสุข ไม่รู้สึกว่ามีกำแพงที่กั้นอยู่ตรงกลาง”
จากคอนเซ็ปต์นี้เอง ทำให้ลูกค้าที่ได้ฟังล้วนประทับใจ และอยากให้คนในองค์กรได้มาแบ่งปันมุมมองนี้ด้วย เลยกลายเป็นที่มาของการทาบทามให้เธอจัดหลักสูตรให้แก่พนักงานทั้งกลุ่มที่ต้องออกไปติดต่อกับลูกค้า และกลุ่มที่ต้องทำงานร่วมกับแผนกต่างๆ ในองค์กร
“เวลาพูดถึงลูกค้า คนส่วนมากมักเน้นไปที่พนักงานที่ต้องเจอลูกค้า เน้นการดูแลลูกค้าอย่างดี แต่กลับลืมดูแลคนในองค์กรเอง หลักสูตรที่เราคิดเลยให้ความสำคัญต่อการสื่อสารภายในองค์กร ตั้งแต่การให้ฟีดแบ็กลูกน้องในทีม ที่ต้องมุ่งให้เกิดประโยชน์มากกว่าเป็นการใส่อารมณ์ ให้ฟีดแบ็กด้วยความรักและความเมตตา”
เพื่อให้เห็นภาพ กบยกตัวอย่างหลักสูตรที่เธอตั้งใจทำ โดยตกผลึกจากประสบการณ์ตรง “งานบริการไม่ได้หมายความว่าทุ่มตัวเองสุดชีวิต แต่เป็นการนำใจตัวเองมาช่วยอีกคนให้ได้สิ่งที่ต้องการ โดยเริ่มจากการตีโจทย์ว่าลูกค้าคาดหวังอะไร ซึ่งแต่ละธุรกิจก็ไม่เหมือนกัน เช่น ธุรกิจโรงแรม ถ้ามองว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการคือ พนักงานต้อนรับที่หน้าตาสดใส ห้องพักที่สะอาดเรียบร้อย ก็ต้องแก้โจทย์ว่าจะทำอย่างไร เป็นต้น
“อีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญคือ ความสามัคคีในองค์กร ถ้ามองว่าหนึ่งองค์กรเปรียบเสมือนเค้กกลมๆ การจะให้องค์กรขยับไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วเหมือนลูกธนู ถ้าคนในองค์กรไม่สามัคคีก็ขยับไปไม่ได้ เหมือนรถที่เติมน้ำมันแล้วแต่เครื่องยนต์ไม่พร้อม เครื่องไม่สมบูรณ์ ทำให้ขับแล้วไม่ลื่นเพราะปัญหาภายใน ซึ่งอาจจะเกิดจากความไม่เข้าใจกัน มีการแบ่งแยกเป็นกลุ่มๆ ไม่คุยกัน ทำให้องค์กรพัฒนาไปได้ไม่เต็มที่ เราก็จะมาช่วยปรับทัศนคติให้ทุกคนเข้าใจกันมากขึ้น”
นอกจากนี้ เธอยังพัฒนาหลักการเสริมสร้างบุคลิกภาพในการเข้าสังคม ซึ่งมีคนเรียกร้องมาเยอะ โดยเนื้อหาของหลักสูตรลงลึกตั้งแต่การแต่งหน้าทำผมที่เหมาะกับตัวเอง เพื่อให้เกิดความประทับใจในครั้งแรก การพูด การเดิน การนั่ง การยืน การยิ้ม ที่ทำให้บุคลิกดีเป็นธรรมชาติ โดยจะมีการถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอและอัดเสียงผู้เรียนเก็บไว้ให้ดูและวิเคราะห์กันก่อนและหลังเรียน การแต่งตัวเมื่อไปพบลูกค้าในสถานที่ต่างๆ ตลอดจนการแต่งตัวไปงานสังคมต่างๆ บทสนทนาที่ควรพูดคุยกับคนที่พบในงานสังคมต่างๆ การแนะนำตัวเองที่ทำให้เกิดความประทับใจ มารยาทบนโต๊ะอาหาร ไปจนถึงการสัมภาษณ์งานให้ได้งานอย่างมีประสิทธิภาพ การมองโลกในแง่ดีโดยไม่ต้องพยายาม แต่มาจากความเข้าใจ
ปิดท้ายด้วยอีกคอร์สที่ภูมิใจนำเสนอและกำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ อย่าง เวิร์กชอปวิธีเป็นเพื่อนกับคุณแม่สามี
“คอร์สนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย มีแต่ค่าน้ำชา เราต้องการสร้างคอมมูนิตีให้ทุกคนมาจิบน้ำชา แลกเปลี่ยนมุมมองกัน โดยจะเชิญคนที่เป็นคุณแม่สามีจริงๆ มาร่วมแชร์มุมมอง พร้อมกันนี้เรายังได้ไปสัมภาษณ์ลูกสะใภ้ 5 คน แม่สามี 5 คน ซึ่งมีไอเดียที่หลากหลายมาร่วมแชร์ ส่วนเหตุผลที่มาทำเพราะมีคนมาบ่นให้ฟังเยอะ ในขณะที่เราไม่ได้มีปัญหานี้เลยอยากช่วย เพราะมองว่าครอบครัวเป็นอันดับหนึ่งในการเริ่มต้นสังคม”
สุดท้ายนี้ ถ้าถามว่าความคาดหวังจากการลุกขึ้นมาสวมบทโค้ช คืออะไร? กบตอบชัดว่า การทำงานที่สามารถสร้างรายได้ แถมยังได้ช่วยเหลือคนอื่นเป็นความรู้สึกที่ดี
“การมาทำคอร์สนี้ เราไม่ได้มองที่เม็ดเงินเป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ เป้าหมายคืออยากใช้ความสามารถที่มีช่วยเหลือคนไทยด้วยกันเท่าที่จะทำได้ ถึงจะเป็นแค่จุดหนึ่งในโลกหรือประเทศ เราก็คิดว่าได้ช่วยเหลือคน 10 คน ก็ดีกว่าไม่ได้ช่วยอะไรเลย” กบทิ้งท้าย