หลายคนยังจำภาพ นักศึกษาไทย หลายสิบชีวิต ยืนออกันเต็มหน้าสถานทูตไทยในกรุงลอนดอน เพื่อขอทำใบ Fit to Fly ในการเดินทางกลับมาประเทศไทย
จากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้ ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศเป็นเรื่องยากลำบาก ทั้งการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ การปิดพรมแดน ปิดน่านฟ้า เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส บรรดาเซเลบนักเรียนนอกทั้งหลาย ที่แม้ตอนนี้จะนับเป็นช่วงเวลาเปิดเทอมแล้วของหลายๆ มหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่สามารถเดินทางกลับไปเข้าเรียนได้ ยังคงต้องอยู่ในประเทศไทย และท่าจะต้องอยู่กันไปอีกยาวๆ เราจึงจะไปพูดคุยกับพวกเขาเหล่านั้นว่าต้องปรับตัวด้านการศึกษากันอย่างไรบ้าง?
“เอย-ธัญวรรณ เทพหัสดิน ณ อยุธยา” ที่กำลังศึกษาต่อปริญญาโทอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เล่าถึงประสบการณ์ให้ฟังว่า
“เอยเรียนใกล้จะจบแล้วค่ะ เหลือแค่การสอบอีก 4 วิชา แล้วก็ทำวิทยานิพนธ์ ตอนแรกที่ได้ยินข่าวเรื่องไวรัสก็แค่ฟังเฉยๆ ไม่ได้สนใจอะไร เพราะตอนนั้นที่อังกฤษ ฝั่งยุโรปยังไม่ได้ตื่นตัวกันเรื่องนี้เลย แต่พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ข่าวเริ่มเยอะขึ้น เพื่อนๆ คนไทยที่บ้านต่างก็เริ่มอยากให้กลับบ้านกันแล้ว ก็เริ่มหาตั๋วกลับไทยกัน เอยเลยคุยกับที่บ้านว่ายังงัยดีเพราะที่จริงก็ใกล้จบแล้ว แม่ตัดสินใจให้รีบกลับด่วนเลย กลับมาตั้งหลักเมืองไทยก่อน ดูสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร
ต้องถือว่าโชคดีมากที่ตัดสินใจเร็ว เพราะหลังจากเอยกลับมาได้แค่วันสองวันก็มีกฎเรื่อง Fit to Fly ออกมา ซึ่งถ้าช้าไปนิดนี่ต้องวุ่นวายอีกเยอะเลย ติดต่อสถานทูต ขอเอกสารสารพัด พวกเพื่อนๆ ที่กลับทีหลังต้องติดต่อหลายเรื่องวุ่นวายมาก และยิ่งหาตั๋วลำบากใหญ่ ถึงแม้ว่ากลับมาถึงเมืองไทยแล้วต้องกักตัวเองแยกดูอาการอยู่หลายสัปดาห์ แต่อยู่เมืองไทยก็สบายกว่า บ้านเราเอง มีครอบครัว ถ้ายังติดอยู่ที่นั่นตอนนี้ไม่รู้จะเป็นอย่างไรบ้าง”
ส่วนเรื่องการศึกษาของเธอ สาวเอยบอกว่า “ก็ถือว่าโชคดีนะคะ ที่เรียนคลาสต่างๆ ครบหมดแล้ว เทอมสุดท้ายนี้คือเหลือแค่สอบ แล้วก็ทำวิทยานิพนธ์ส่ง การกลับมาเมืองไทยจึงไม่ค่อยกระทบการเรียนเท่าไหร่ เพราะสามารถสอบออนไลน์ได้ เอยมีสอบ 4 วิชา ต้องสอบช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งวิธีการสอบออนไลน์โดยทางมหาวิทยาลัยเขาก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาต่างชาติเป็นอย่างดี คือแค่ระบุวันว่าให้เข้าไปสอบวันไหน แต่ไม่บังคับเวลา เข้าไปสอบได้ทั้งวัน เราสะดวกเวลาไหนก็แจ้งไป ใช้เวลาสอบ 3 ชั่วโมงให้เขียนตอบโจทย์ แล้วแต่เราสะดวกช่วงเช้าหรือช่วงบ่าย ทำให้เราจัดตารางเวลาเองอย่างเหมาะสมได้ เพราะถ้าบังคับเวลามีตารางก็อาจจะลำบาก สำหรับคนที่อยู่คนละซีกโลกกันเวลาไม่ตรงกัน บางคนต้องโดนสอบตอนค่ำ หรือเช้ามืด ก็คงไม่มีสมาธิ เวลาไม่เหมาะกับการทำข้อสอบได้
หลังจากสอบเสร็จก็เหลือมุ่งทำธีสิส ซึ่งของเอยทำการศึกษาสำรวจข้อมูลผ่านทางการเซอร์เวย์ออนไลน์อยู่แล้ว ทำให้จะอยู่ที่ไหนในโลกก็ไม่เป็นปัญหา ที่สำคัญหัวข้อเราเป็นเรื่องการตลาดของประเทศไทยด้วย อยู่นี่ก็เลยยิ่งสบายใหญ่ในการทำข้อมูล ส่วนการคุยกับที่ปรึกษาก็ใช้การสื่อสารออนไลน์ได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามสเต็ปไม่มีอะไรติดขัด ก็น่าจะจบได้ในช่วงเดือนกันยายนนี้ค่ะ แล้วเอยก็ได้คุยกับคุณแม่คร่าวๆ แล้วว่า ด้วยสภาวะแบบนี้น่าจะไม่มีการเดินทางไปรับปริญญา ก็คงให้เขาส่งใบปริญญามาให้ที่บ้านแทนค่ะ”
ส่วนอีกหนึ่งสาว “พาย-เขมณัฏฐ์ จิราธิวัฒน์” น้องสาวสุดที่รักของ “แพร-พิมพิศา” และพระเอกหนุ่ม “พีช-พชร” เธอกำลังศึกษาปริญญาตรีด้าน Graphic Communication Design ที่ Central Saint Martins กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็เผยถึงปัญหาที่เกิดจากโควิด-19 ที่ทำให้เธอไม่ได้เดินทางกลับไปศึกษาต่อให้ฟังว่า
“พายกลับมาเมืองไทยช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับโควิดค่ะ เพราะเป็นช่วงที่ปิดเทอมพอดี พายจองตั๋วกลับล่วงหน้าไว้นานแล้ว ช่วงต้นเดือนมีนาคมก็กลับมาถึงเมืองไทยแล้วค่ะ ช่วงที่บินกลับมาที่นั่นยังไม่ค่อยตื่นตัวเท่าไหร่ คือมีข่าวแล้วแต่ยังไม่ซีเรียส ไม่วุ่นวายกัน พอกลับแล้วเห็นทางนั้นมีปัญหาก็รู้สึกว่าเราโชคดีนะไม่ต้องวุ่นวายเหมือนคนอื่น แต่กลับมาแล้วก็ต้องกักตัวตามระเบียบนะคะ ก็อยู่บ้านกันยาวๆ ไป
ตอนนี้ถือเป็นช่วงเปิดเรียนแล้ว แต่ว่ามหาวิทยาลัยก็ยังปิดอยู่ ก็เลยจะเป็นการเรียนออนไลน์กัน ด้วยความที่พายเรียนเกี่ยวกับศิลปะ คลาสก็ไม่ได้เยอะมาก แต่งานเยอะ ก็จะสั่งงานทางอีเมล เราก็ทำชิ้นงานส่งตามโจทย์ไป แต่มันก็มีความลำบากในการทำงานเหมือนกันนะคะ เพราะถ้าเทียบกับเวลาเราอยู่ที่มหาวิทยาลัย ทุกอย่างมันพร้อมกว่า ทั้งสถานที่ทำงาน เครื่องไม้เครื่องมือ มีสตูดิโอ หรืออยากเดินไปหาข้อมูลที่หอสมุดก็ทำได้ คือบรรยากาศโดยรวมมันทำให้เราโฟกัสอะไรที่เหมาะกับการเรียนกว่า
ตอนนี้เรียนที่บ้าน เวลาทำชิ้นงานมันจะทำให้เสียสมาธิได้ง่าย เพราะเวลามันยืดหยุ่นแล้วแต่เราเลย แถมบรรยากาศไม่ได้ช่วยให้มีสมาธิกับการทำงานเหมือนอยู่ที่โน่น เลยต้องมีวินัยสูง เพราะอยู่บ้านมีอะไรให้ทำเยอะ วอกแวกง่าย ขี้เกียจบ้าง อยากเล่นเกมบ้าง ตอนนี้กำลังติด Animal Crossing อยู่ด้วย (หัวเราะ)
ส่วนที่จะกลับไปเรียนได้เมื่อไหร่นั้น ทางมหาวิทยาลัยมองว่าน่าจะเป็นการเปิดเรียนเทอมหน้าเลย คือช่วงเดือนตุลาคม แต่สำหรับพายแล้วก็ต้องลองสังเกตการณ์ก่อนว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ถ้าเรายังดูว่าไม่ปลอดภัย หรือไม่สบายใจก็อาจจะยังไม่กลับไป ที่บ้านก็อยากให้ทุกอย่างเรียบร้อยที่สุดก่อน เพราะถ้าเกิดกลับไปแล้วเกิดอะไรขึ้น เดี๋ยวจะต้องลำบากหาทางกลับมาไทยค่ะ”
ปิดท้ายกันที่หนุ่มหล่อ “สรวง สิทธิสมาน” หนุ่มคนนี้ต่างจาก 2 สาว เพราะเขาเรียนอยู่ที่ประเทศจีน สถานที่ต้นกำเนิดของไวรัสเลย เขาเป็นนักศึกษาทุนของมหาวิทยาลัย ECNU (East China Normal University) แห่งเมืองเซี่ยงไฮ้ โดยกำลังเรียนชั้นปีที่ 2 คณะจีนศึกษา ถึงแม้จะเรียนอยู่ประเทศจีน แต่โชคดีที่เดินทางกลับมาตั้งแต่ช่วงปิดเทอมหยุดยาวช่วงเดือนมกราคม และเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็เลยติดอยู่ที่เมืองไทยยาว ไม่ได้เดินทางกลับไปตามกำหนดเปิดภาคเรียนช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์
“ตอนนี้ถึงแม้จะเปิดภาคเรียนแล้ว แต่ทางมหาวิทยาลัยเองก็ยังไม่เปิดครับ โดยให้นักศึกษาทำการเรียนผ่านทางออนไลน์แทน มีทั้งเรียนผ่านทางไลฟ์สดเปิดกล้อง กับแบบดูคลิปวิดีโอที่ทางอาจารย์อัดไว้ล่วงหน้า วิชาที่เปิดกล้องไลฟ์สดก็ต้องนัดแนะกันในหมู่นักศึกษาและอาจารย์ว่า สะดวกเวลาไหนกัน เพราะแต่ละคนอยู่กันคนละประเทศเลย แต่ก็ยังดีที่นักศึกษาในคลาสผมอยู่ในโซนเอเชียกันหมด อย่างไทย เกาหลี ญี่ปุ่น มีไกลสุดคือทาจิกิสถาน เวลาไทม์โซนเลยยังไม่ต่างกันมากเท่าไหร่ เพราะเพื่อนๆ ที่อยู่ฝั่งอเมริกาหรือยุโรป เขาตัดสินใจไม่กลับ คือทุกวันนี้ก็ยังอยู่ที่หอพักของมหาวิทยาลัยกันเกือบหมด เพราะทั้งค่าตั๋วเครื่องบินแพง แล้วก็เขารู้สึกว่าจีนควบคุมได้ เซี่ยงไฮ้เองก็ไม่ใช่โซนที่น่ากลัวเท่าไหร่ เลยตัดสินใจอยู่กัน
ส่วนวิชาไหนที่เป็นคลาสเรียนรวม พื้นฐานต่างๆ ที่นักศึกษาเยอะๆ ก็จะเรียนจากคลิปวิดีโอ เราก็เข้าไปศึกษาเอง โดยเขาจะใช้แอปพลิเคชันของทางจีนเอง มีเว็บให้เข้าไปดู เข้าไปเช็กชื่อ ไปโหลดเนื้อหาเอกสารประกอบการเรียน มีเว็บส่งงาน อย่าง VDO conference ที่ใช้เรียนคลาสไลฟ์สดกันก็เป็นแอพลิเคชันของทาง Tencent ที่เขามีพร้อมอยู่แล้ว คือพวกเครื่องไม้เครื่องมือ แนวทางการเรียนออนไลน์เขาก็มีอยู่ก่อนแล้วนะครับ แต่ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้จำเป็นต้องใช้ พอมีเหตุการณ์นี้ขึ้น ทุกอย่างก็พร้อมรองรับอยู่แล้ว
การเรียนที่บ้านก็มีปัญหาเหมือนกันนะครับ เราต้องฝึกวินัยตัวเอง แบ่งเวลา เพราะไม่มีใครมาบังคับเรา ยกเว้นคลาสที่ต้องเปิดกล้องไลฟ์สด เราต้องดูแลตัวเอง ศึกษาด้วยตนเองไม่ให้ต้องเสียเวลาการเรียนไปกับอย่างอื่น
ตอนนี้ผมก็ลุ้นอยู่ว่าเทอมการศึกษาหน้าที่จะเปิดช่วงเดือนกันยายน สถานการณ์จะเป็นอย่างไร จะพร้อมเปิดรับนักศึกษารึยัง โดยทางมหาวิทยาลัยมองว่ากันยายนน่าจะเป็นเวลาที่เร็วที่สุดที่น่าจะเป็นไปได้ ที่จะกลับไปเปิดเรียนตามปกติ
ซึ่งถ้าเกิดทางจีนเขาเปิดแล้ว เราสามารถบินกลับไปได้ ผมก็ว่าจะไปเลยนะ แล้วก็คงไปเก็บตัวที่นั่นแทน คือพร้อมจะบินไปเลย ไม่ค่อยเป็นห่วงอะไร เพราะค่อนข้างเชื่อมือในการแก้ปัญหาของเขา แล้วอีกอย่างผมมีแพลนจะทำอะไรหลายอย่างเลยที่โน่น ทั้งเรื่องการเรียน กิจกรรม กีฬา พอมาอยู่เมืองไทยทุกอย่างเลยต้องหยุดไว้หมด ก็เลยอยากจะกลับไปให้เร็วที่สุดครับ”