“ประยุทธ์” เปิดทำเนียบฯ ต้อนรับทูตคูเวต รับคำชมแก้ปัญหาโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่างๆ พร้อมชวนลงทุน EEC
วันนี้ (21 พ.ค.) เวลา 14.00 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายมุฮัมมัด ฮุซัยน์ เอ็ม เอ อัลฟัยลากาวี (H.E. Mr. Mohammad Husain M A Alfailakawi) เอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีในการเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งไทยและคูเวตมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันมายาวนานกว่า 57 ปี และในช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของโลก ทุกประเทศมีความท้าทายในการจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ฝากความปรารถนาดี และให้กำลังใจพร้อมชื่นชมรัฐบาลคูเวตที่สามารถดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างเข้มแข็งและเป็นระบบ รวมทั้งได้ขอบคุณรัฐบาลคูเวตในการช่วยอำนวยความสะดวกจัดเที่ยวบินเช่าเหมาลำพิเศษให้แก่นักศึกษาไทยและแรงงานไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับไทย
เอกอัครราชทูตฯ กล่าวขอบคุณที่นายกรัฐมนตรีเป็นเกียรติให้เข้าพบในวันนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งในประเทศไทย ชื่นชมการเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สามารถใช้มาตรการควบคุม และป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงจำนวนมาก รวมถึงชื่นชมความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีมาตรฐานคุณภาพสูงในการรักษาดูแลผู้ป่วยได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งทางเอกอัครราชทูตฯ ได้ติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์ในไทย และได้รายงานไปยังรัฐบาลคูเวตเป็นประจำทุกวันเพื่อเรียนรู้ความสำเร็จของไทยไปปรับใช้กับคูเวตต่อไป
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่างๆ ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงาน เกษตรกรรม และแรงงาน ซึ่งไทยพร้อมส่งออกสินค้าประเภทอาหารทะเล รวมไปถึงอาหารสดและอาหารแปรรูปที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนคูเวตในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตลอดจนดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของแผนพัฒนา “Kuwait 2035” โดยเห็นพ้องจะเพิ่มมูลค่าทางการค้าและการลงทุนร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้นักลงทุนคูเวตเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งถือเป็นโครงการรวมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของไทย สอดคล้องกับความต้องการของคูเวตที่ต้องการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร รวมทั้งยินดีที่คูเวตแสดงความประสงค์ที่จะมีความร่วมมือกับไทยในด้านแรงงาน เพราะชื่นชมในความสามารถ และศักยภาพแรงงานไทย
ในช่วงท้ายนายกรัฐมนตรีได้ฝากคำชื่นชมและระลึกถึง เชค เศาะบาฮ์ อัลอะห์มัด อัลญา บิร อัศเศาะบาฮ์ (His Highness Sheikh Sabah Al-Ahmed Al-Jaber Al-Sabah) เจ้าผู้ครองรัฐคูเวต ที่ทรงสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่างๆ ผ่านนโยบายและบทบาทด้านมนุษยธรรม สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลไทย และขอบคุณรัฐบาลคูเวตที่ได้ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาในประเทศไทยผ่านกองทุนคูเวตเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (Kuwait Fund for Arab Economic Development) ซึ่งได้ก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา โรงไฟฟ้าบางปะกง และ โรงไฟฟ้าปัตตานี ที่ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาด้านพลังงานและคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเอกอัครราชทูตยินดีที่จะทำงานเป็นผู้ประสานเพื่อกระชับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนและพัฒนาภาคส่วนต่างๆ ร่วมกัน