ด้วยสายตาที่เฉียบแหลมในการมองหาชิ้นงานที่โดดเด่นระหว่างการเดินทางไปทำงานในประเทศต่างๆ จึงทำให้ “มร.ราล์ฟ โอเลตซ์” (Ralf Ohletz) ผู้มีฐานันดรศักดิ์ทางครอบครัวเชื้อสายเยอรมัน รู้จักกับช่างฝีมือเอกและศิลปินมากมาย ทั้งนี้ ลักษณะของศิลปวัตถุสะสมของโอเลตซ์นั้นเปรียบได้กับห้องสารภัณฑ์ (Cabinet of Curiosities) ซึ่งเป็นเทรนด์การสะสมของสวยงามแปลกใหม่ของราชสำนัก และขุนนางชาวยุโรปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา
เมื่อยุคล่าอาณานิคมทำให้สินค้าแปลกตาจากซีกโลกตะวันออกเริ่มปรากฏต่อสายตาชาวตะวันตก เช่น เปลือกหอย กะลามะพร้าว กระดูกและเขาสัตว์ ถึงกับแย่งกันซื้อหามาประดับคฤหาสน์ราชวัง เป็นการแสดงฐานะความมั่งมีและอำนาจของตน ที่ได้มาซึ่งสิ่งของที่ไม่มีใครเหมือน นอกจากนี้ เขายังนำความคิดสร้างสรรค์ของตนเองไปประกอบกับชิ้นงานของช่างฝีมือจากหลากหลายประเทศ เกิดเป็นชิ้นงานที่ไม่เหมือนใคร แต่สะท้อนความเป็นตัวตนของเขาอย่างชัดเจน สำหรับสมบัติสะสมซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของงาน เช่น
“โอเบลิสก์ หรือเสาสุริยะอียิปต์จำลอง” สลักจากร็อกคริสตัล หรือหินเขี้ยวหนุมานชิ้นเดียว ซึ่งเป็นคริสตัลพบได้ในประเทศบราซิล หรือ “แจกันคู่เครื่องถ้วยกระเบื้องขาวจากประเทศจีน” ศตวรรษที่ 17-18 ตกแต่งประยุกต์ลวดลายลูกท้อบริเวณคอแจกัน หรือ “ปราสาทบาปวนจำลอง” ศตวรรษที่ 11-12 เป็นที่ประดิษฐานของเทพสร้างจากหินทรายขัด เคลือบเงาและปิดทอง ประดับด้วยเงินแกะสลักและประดับด้วยอัญมณี
“กะละมะพร้าว” ประดับเงินพร้อมขาตั้ง ประดับด้วยใบไม้สีทองและหินแดง “หน้ากากราชินีปิศาจ” ทำจากไม้ของบาหลี ซึ่งมีความงดงามในตัว “เปลือกแกะสลักด้วยมือจากกรุงโรมโบราณ” ซึ่งการแกะสลักเปลือกหอยนั้นมีมานานหลายพันปี “คริสตัลแกะสลักซึ่งเป็นศิลปะอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม
สำหรับ มร.ราล์ฟ โอเลตซ์ ผู้มีฐานันดรศักดิ์ทางครอบครัวเชื้อสายเยอรมัน ท่านเคานต์แห่งเพลตเทนเบิร์ก เขาเกิดในตระกูลขุนนาง ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของจักรพรรดิเยอรมันในอดีต มีปราสาทยิ่งใหญ่ของตระกูลทางภาคตะวันตกของประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน ทำให้เขาได้สัมผัสกับศิลปวัตถุที่งดงามมาตลอดชีวิต เขาจึงมีทั้งรสนิยมเป็นเลิศ ตั้งแต่ที่เขาเริ่มเดินทางเข้ามาทำงานในเอเชีย
งานนี้นักสะสมและคนรักงานอาร์ตไม่ควรพลาดชมนิทรรศการ Ralf Ohletz Count von Plettenberg Masterpieces สมบัติสะสมโบราณอันล้ำค่าที่น่าอัศจรรย์จากยุโรปและเอเชียของท่านเคานต์แห่งเพลตเทนเบิร์ก ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 มีนาคม 2563 เวลา 10.00-19.00 น. ณ โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ บูทีก โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.lotusartsdevivre.com/