xs
xsm
sm
md
lg

ม.ล. ตรีนุช สิริวัฒนภักดี นางฟ้าของนิสิตเรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่บ่อยนักที่จะมีโอกาสได้พูดคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟ กับ ม.ล. ตรีนุช สิริวัฒนภักดี ภรรยาคนสวยของ ปณต สิริวัฒนภักดี เพราะ 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากภารกิจที่รัดตัว เธอยังติดตามสามีและลูกๆ ไปปักหลักอยู่ที่สิงคโปร์

“ไม่ค่อยมีใครรู้นะคะว่า เราย้ายบ้านไปอยู่ที่สิงคโปร์ พร้อมกับย้ายโรงเรียนให้ลูกๆ ทั้งสี่คนไปเรียนที่โน่นด้วย ช่วงแรกๆ ที่ไปก็ต้องปรับตัวหนักเลยค่ะ โดยเฉพาะ เด็กๆ สำหรับลูกคนโตไม่เท่าไหร่ เพราะเขาเรียนนานาชาติอยู่แล้ว แต่คนเล็กที่ยังเรียนอนุบาลก็เหนื่อยหน่อย เพราะเราอยากให้เขาได้ภาษาจีนด้วย เลยส่งเข้าโรงเรียนโลคัล ก็อาจจะมีหลายอย่างที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ที่ไม่เหมือนกับโรงเรียนนานาชาติ แต่ตอนนี้ก็เข้าที่เข้าทางขึ้นเยอะค่ะ

ส่วนเราเองก็ยังเดินทางไปๆ มาๆ กรุงเทพฯ-สิงคโปร์อยู่ตลอด อย่างน้อยเดือนละครั้ง และทุกครั้งถ้ามีโอกาสก็จะพาลูกๆ กลับมาด้วย เพราะครอบครัวเราก็ยังอยู่ทางนี้ ส่วนคุณสามี แต่ก่อนไปไหนต้องไปแพ็กคู่ตลอด แต่หลังๆ ด้วยหน้าที่การงานของเขา ต้องติดต่อธุรกิจกับฝั่งยุโรปเยอะ บางทริปเราก็มีบ้างที่ต้องแยกกัน เพื่อความคล่องตัว แต่ตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 3 แล้วชีวิตลงตัวขึ้นเยอะค่ะ โชคดีที่สิงคโปร์อยู่ไม่ไกลจากเมืองไทย ไม่ต้องใช้เวลานั่งเครื่องบินนาน” ม.ล. ตรีนุชเฉลยถึงเหตุผลที่ทำให้หลังๆ ดูเหมือนเธอจะเป็นคุณแม่คิวทอง



ถือโอกาสอัปเดตตารางชีวิตให้หายข้องใจกันไปแล้ว มาถึงอีกหนึ่งคำถามที่หลายคนอาจไม่ค่อยรู้ เกี่ยวกับชีวิตวัยเรียนของ ม.ล. ตรีนุช สาวสวยแถมใจดี แต่ขี้อาย (มาก) “ออกตัวก่อนนะคะว่าสมัยเรียนไม่ได้มาสายกิจกรรมซักเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งอาจเพราะด้วยความที่ตอนนั้นยังเด็ก สอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่ตอน ม.5พอสอบติดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ อย่างที่หวัง ก็คิดว่าต้องพยายามตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด เพราะพอเข้ามาเรียนแล้ว บอกเลยไม่ง่าย โดยเฉพาะ วิชาแคลคูลัส ถือเป็นโจทย์หินมาก

จำได้ว่า เข้าไปเทอมแรก ได้ C มา คือตกใจ เพราะพื้นเพเราเป็นเด็กเรียนดีมาตลอด พอเจอ C เข้าไปก็อึ้งเหมือนกัน นอกจากความยาก ยังมาจากระบบตัดเกรด ซึ่งพอเข้ามหาวิทยาลัย บางวิชาไม่ได้ตัดตามเกณฑ์ว่า ใครได้ 80 คือ A, 70 คือ B แต่ใช้วิธีตัดเกรดรวมทั้งชั้นปี ฉะนั้น ถ้าปีนั้นเจอเด็กเก่งเยอะก็เหนื่อยหน่อย ซึ่งหลังจากเทอมแรกเจอ C เข้าไป เราเลยต้องติวหนัก เน้นเรียนเป็นส่วนใหญ่”


แม้จะออกตัวว่า นอกจากรับน้องก็แทบไม่ได้ร่วมกิจกรรม แต่พอพ้นเฟรชชีขึ้นปี 2 ม.ล. ตรีนุชก็ได้รับการทาบทามจากอาจารย์ท่านหนึ่ง ให้ไปช่วยงานสมาคมศิษย์เก่า จุฬาฯ ซึ่งมีแคมเปญหาทุนทรัพย์เพื่อช่วยเหลือเด็กเรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ ในช่วงวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี

“ตอนที่อาจารย์มาทาบทามก็บอกให้เราไปช่วย เพราะตอนนั้นเป็นปีแรกๆ ที่สมาคมจัดแคมเปญนี้ เราก็ไปทำหน้าที่เหมือนเป็นพรีเซนเตอร์ ช่วยเดินสายประชาสัมพันธ์แคมเปญผ่านสื่อต่างๆ เลยได้มีโอกาสลงหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ พอวันที่ 23 ตุลาก็จะมีการถ่ายทอดออกอากาศทางช่อง 5 เพื่อขอรับเงินบริจาค เราก็ไปช่วยรับโทรศัพท์บ้าง ไปร่วมแสดงละครเทิดพระเกียรติ กับศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าหลายๆ ท่าน ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นเราได้เล่นเป็นชาวบ้านที่เกิดในแผ่นดิน ร.5” ม.ล.ตรีนุชย้อนความทรงจำที่ไม่ลืม


หลังจากปีแรกที่เข้ามาร่วม เธอยังมีโอกาสช่วยงานสมาคมอยู่หลายปี จนกระทั่งไปเรียนต่อปริญญาโทสาขา International Management University of Exeter ประเทศอังกฤษ และกลับมาทำงานในสายการเงินกว่า 3 ปี ก็เลยห่างหายไป แต่ถึงจะได้ช่วยงานไม่กี่ปี ก็เป็นช่วงเวลาแห่งความประทับใจในชีวิต

“พอเราระดมทุนได้ ทางสมาคมจะมีจัดวันแจกทุน โดยคัดเลือกนิสิตที่เข้าเกณฑ์เพื่อมารับทุน เราเองในฐานะเป็นส่วนเล็กๆ ก็อดภูมิใจและดีใจไม่ได้ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือนิสิตจุฬาฯ ซึ่งมีเด็กเก่งๆ เยอะมาก แต่บางคนขาดโอกาสเพราะขาดทุนทรัพย์” สาวสวยเล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มสดใส


อย่างไรก็ตาม นอกจากความอิ่มใจที่ได้ช่วยเหลือรุ่นพี่รุ่นน้อง ตลอดจนเพื่อนนิสิต เธอเล่าอย่างติดตลกว่า การมาทำงานตรงนี้ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกของตัวเองว่า ไม่อินกับสายบันเทิง หรือ การแสดงเลย

“สมัยเรียนอยู่สาธิตฯ เคยเป็นเชียร์ลีดเดอร์นะ แต่เป็นอยู่ปีเดียวก็ขอไม่เป็นอีก เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่ทาง และเราเองก็ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เวลาซ้อมก็ต้องใช้เวลานานกว่าคนอื่น รู้สึกว่าไม่ถนัดทางนี้จริงๆ จนพอสอบเข้าเตรียมอุดมฯ เราชัดเจนเลยว่าไม่มาสายนี้ แต่ถ้าจะให้ถือป้าย เดินพาเหรดก็ทำได้ ซึ่งก็ได้มีโอกาสมาถือป้ายงานกีฬาสีจริงๆ จนมาถึงตอนมาช่วยงานสมาคม เชื่อมั้ยที่บอกว่าต้องเล่นละคร ขนาดเล่นเป็นชาวบ้าน ยังรู้สึกว่ายากมาก ไม่ใช่ทางจริงๆ” สาวสวยเล่าไปขำไป

“ไม่ใช่แค่เรานะ แต่สามีและลูกเองก็เหมือนกัน ครอบครัวเราไม่มีใครมาทางนี้ แต่เราไม่ถนัดจริงๆ อย่างลูกๆ เท่าที่สังเกต เขาจะไปทางสายดนตรี กีฬามากกว่า”


มาถึงวันที่เป็นคุณแม่ลูกสี่ เมื่อมองย้อนกลับไป ม.ล. ตรีนุชยอมรับว่า ถ้ามีโอกาสหมุนเวลากลับไปวัยเรียนได้อีกครั้ง ก็อยากใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นวัยที่สนุก ทำกิจกรรมให้มากกว่านี้ เพราะตั้งแต่เด็กเราตั้งใจเรียนมาตลอด ช่วง ม.ต้นก็ตั้งใจเพื่อสอบเข้าเตรียมอุดมฯ ให้ได้ เพื่อหวังว่าจะเข้าใกล้กับความฝันที่อยากจะเข้าจุฬาฯ จนพอเข้าเตรียมฯได้ ก็ต้องตั้งหน้าตั้งตาเรียน อ่านหนังสือเพื่อเอนทรานซ์เข้าจุฬาฯ มาได้สนุกจริงๆ ก็ตอนเรียนมหาวิทยาลัย

“ทุกวันนี้เวลาผ่านไปแถวจุฬาฯ เมื่อไหร่ ก็นึกถึงวันเก่าๆ และรู้สึกยินดีเสมอหากทางมหาวิทยาลัยมีกิจกรรมอะไรจะให้เข้าไปช่วย หรือมีส่วนร่วม ทุกวันนี้เราก็พยายามส่งเสริมให้ลูกๆได้ทำกิจกรรมในวัยเรียน เพราะรู้สึกว่าเป็นการฝึกเขาทางอ้อม ในการรู้จักทำงานร่วมกับคนอื่น โชคดีที่ลูกเราก็ชอบ อย่าง เขาเล่นดนตรีหรือเล่นกีฬา เพื่อนเขาบางคนไม่ชอบไปจอยวง หรือเล่นเป็นทีม ชอบฝึกคนเดียว แต่ลูกเราไม่ใช่ เขามีความสุขอีกแบบเวลาไปเล่นดนตรีเป็นกลุ่ม ซ้อมกีฬาเป็นทีม ซึ่งคุณพ่อเขาก็สนับสนุน เพราะมองว่ามีประโยชน์ ช่วยฝึกการทำงานร่วมกับคนอื่น คนเราใช้ชีวิตอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องเรียนรู้จากเพื่อน คนรอบตัว รู้จักปรับตัว ซึ่งเราก็มองว่าทักษะเหล่านี้สำคัญมาก เมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่”

สุดท้ายนี้ สาวสวยทิ้งท้ายถึงน้องๆ นิสิตนักศึกษา ในฐานะรุ่นพี่ที่คงไม่อาจย้อนเวลากลับไปวัยเรียนได้อีกแล้วว่า “คนเรามีเวลาทำงานตลอดชีวิต แต่ชีวิตช่วงเวลาเรียนมันสั้นมาก น้องๆ คนไหนยังเรียน ถ้าทำอะไรได้ ก็เหมือนเป็นความทรงจำ เป็นช่วงเวลาที่จะได้สนุกกับเพื่อนๆ จริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น