อีกหนึ่งหนุ่มเจเนอเรชันใหม่ “อ๊อง-อภิราม สีตกะลิน” ที่หันมาบุกเบิกธุรกิจเทรนด์ใหม่ไอเดียตัวเอง อ๊องเป็นทายาทสุดรักสุดหวงของ อภิเชต สีตกะลิน ผู้ครํ่าหวอดในวงการธุรกิจยานยนต์ของไทย แต่หันไปเอาดีด้วยการริเริ่มธุรกิจที่จอดรถอัจฉริยะในชื่อ Park Plus ก่อนจะต่อยอดมาเป็นธุรกิจบริหารที่จอดรถผ่าน P2Go จองก่อนจอด แอปฯ จองที่จอดรถผ่านมือถือครั้งแรกในไทย ที่วันนี้เขามาเผยอีกตัวตนที่ไม่ค่อยมีใครรู้ถึงความเป็นนักบริหารสายบู๊
Celeb Online ขอเริ่มทำความรู้จักหนุ่มไฟแรงคนนี้กันตั้งแต่ชื่อเล่นที่ออกเสียงไม่ธรรมดาว่า “อ๊อง” ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “สิบเอ็ด” หนุ่มอ๊องเล่าว่าเพราะคุณพ่อคุณแม่ไปฮันนีมูนที่ฝรั่งเศสวันที่ 11 พอดี จึงเลือกมาตั้งเป็นชื่อลูกซะเลย (ว่าไปนั่น)
ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาหลายคนอาจคุ้นหน้าอ๊องมาบ้าง ในฐานะตัวแทนจำหน่ายเครื่องจอดรถอัตโนมัติจากอิตาลี ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ภายใต้ชื่อบริษัท ปาร์คพลัส จำกัด ก่อนจะพัฒนามาสู่ธุรกิจที่ปรึกษาด้านปัญหาที่จอดรถแบบครบวงจร รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย (Parking Solutions) ผ่านรูปแบบแอปฯ P2Go (Park2Go) เรียกได้ว่าอ๊องเป็นนักธุรกิจเลือดใหม่อายุน้อยที่กล้าลุกขึ้นมาริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ให้กับวงการ แต่กว่าจะมาจุดนี้ทุกอย่างไม่ได้คว้ามาด้วยนามสกุลดัง แต่แลกมาด้วยความมานะพยายาม และเรียนรู้จากความผิดพลาดนับครั้งไม่ถ้วน ขนาดเคยถูกดูแคลนกลางห้องประชุมมาแล้ว แต่เขาไม่เคยทิ้งความเชื่อที่ว่า ธุรกิจนี้จะเป็นเทรนด์แห่งอนาคตที่จะมาเปลี่ยนโลก
“ครอบครัวของผมเกิดจากการเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทรถยนต์ใหญ่ๆ แต่ผมอยากทำอะไรใหม่ๆ ที่ต่างไป ตอนแรกคิดทำคอนโดฯ แต่อย่างที่ทราบบ้านเรามีแบรนด์ดีๆ ใหญ่ๆ เยอะ เราก็กลับมาศึกษาว่า ถ้าจะเริ่มธุรกิจอะไรเราต้องชนะด้วยโปรดักต์ ทำอะไรที่เป็นบลูโอเชียนมาร์เกต คือไม่มีใครเคยทำมา เราก็กลับมามองว่าคนซื้อคอนโดฯ ส่วนใหญ่มีปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่ง และเป็นโจทย์ของคนกรุงเทพฯ ด้วย คือปัญหาที่จอดรถจำกัด” อ๊องเกริ่นถึงจุดเล็กๆ ของไอเดียที่จุดประกายมาเป็นธุรกิจเครื่องจอดรถอัตโนมัติปาร์กพลัส
การกระโดดเข้ามาบุกธุรกิจเครื่องจอดรถในยามนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ไม่ใช่แค่สำหรับตัวเขาเองเท่านั้น แต่รวมถึงการทำความเข้าใจกับตลาดเมืองไทยด้วย แม้อ๊องจะมีพื้นฐานทางด้านวิศวกรรม เพราะจบวิศวกรรมการบิน (Aerospace engineering) จาก RMIT University ออสเตรเลีย แต่เขาสารภาพว่า เมื่อแรกเริ่มตั้งไข่กับธุรกิจเครื่องจอดรถ ทุกอย่างคือ “ศูนย์” เพราะในต่างประเทศนั้นมีมานานแล้ว มีเครื่องจอดรถสำเร็จรูปมากมายให้เลือก แต่ใช่ว่าจะหยิบนวัตกรรมนั้นทั้งแท่งมาใช้กับเมืองไทยได้ทันที
อ๊องและทีมงานใช้เวลาศึกษา เรียนรู้ ดึงผู้เชี่ยวชาญมาผสมผสานเทคโนโลยีจากหลายๆ ประเทศ เพื่อออกแบบโปรดักต์ของตัวเอง ให้เหมาะกับอาคารและการใช้งานของคนไทยมากที่สุด โดยเฉพาะการบริหารต้นทุนต่อที่จอดรถ 1 คันให้สมเหตุสมผลมากที่สุดบนพื้นฐานความปลอดภัยที่ดีที่สุด ซึ่งในความเหนื่อยนี้เขาไม่ได้สู้อยู่คนเดียว แต่ได้คู่หูที่ดีอย่าง วานิตา ศรีเฟื่องฟุ้ง และกุลยา สุวรรณเฮือน
การพัฒนาโปรดักต์ว่ายากแล้ว แต่สิ่งที่อ๊องเอ่ยปากว่าท้าทายยิ่งกว่าคือ “การขาย” ให้บรรดาผู้ประกอบการ เจ้าของอาคาร และสถาปนิกเข้าใจว่าสิ่งนี้ทำได้จริง แก้ปัญหาที่จอดรถได้จริง
“การขายเครื่องจักรขนาดยักษ์ไม่เหมือนขายมือถือ ผมสามารถเอามือถือของจริงมาวางตรงหน้าเล่นให้ดูได้ แต่การเอาเครื่องจักรไซส์จุรถได้ 100 คัน มันคือการเห็นจากกระดาษ คือมโนอย่างเดียว (หัวเราะ) และทุกอย่างคือใหม่หมด ทั้งบุคลากรที่มีความชำนาญ การนำเข้าเครื่องจักร ช่วงแรกๆ ของการดูสินค้าตัวอย่างคือ ต้องพาลูกค้าบินไปดูที่เมืองนอก เพื่อทำให้เขาเชื่อมั่นในตัวสินค้า”
ช่วงปีแรกของธุรกิจเรียกว่าแทบไม่มีออเดอร์ใหญ่ ถูกใครๆ หัวเราะเยาะว่าขายฝัน แต่ในที่สุดความพยายามของอ๊องก็สัมฤทธิผล เมื่อเริ่มมีลูกค้าต้องการเพิ่มที่จอดรถแต่ไม่สามารถขยายที่ดินได้ ยกตัวอย่างร้าน Coffee Beans by Dao จึงเป็นโอกาสให้อ๊องและทีมได้โชว์ฝีมือ เมื่อเริ่มมีเคสแรก เคสที่ 2-3-4 จึงตามมาเรื่อยๆ ในที่สุดก็ได้รับความไว้วางใจจากคอนโดฯ ระดับไฮเอนด์อย่าง HYDE สุขุมวิท 11 ให้เข้าไปติดตั้งเครื่องจอดรถหุ่นยนต์อัจฉริยะ (Duo Robot Automatic Parking) ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยด้วย
หลังจากที่ธุรกิจเครื่องจอดรถอัจฉริยะได้รับการตอบรับมากขึ้น หนุ่มอ๊องไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น เขากลับต่อยอดขยายโซลูชันไปสู่ธุรกิจบริหารที่จอดรถสาธารณะ ผ่านรูปแบบแอปฯ P2Go โดยเป็นแอปฯ ที่สามารถค้นหาทำเลที่จอดรถที่ต้องการ, เช็กข้อมูลเบื้องต้นของที่จอดรถได้ เช่น ราคา, เวลาเปิดทำการ, ที่จอดเต็มหรือไม่ ไปจนถึงจองที่จอดล่วงหน้าได้ผ่านมือถือ
“Solution Model สำคัญกว่า Business Model การพยายามแก้ปัญหาให้ลูกค้าสำคัญกว่าการพยายามหาเงินจากลูกค้า เพราะผมเชื่อว่าต่อไปเทรนด์นี้จะเป็นสแตนดาร์ดของอาคาร เหมือนเราสร้างตึกก็ต้องมีลิฟต์โดยสาร อีกหน่อยสร้างตึกอย่างไรก็ต้องมีเครื่องจอดรถ” อ๊องย้ำให้เห็นถึงศรัทธาในแนวคิดของเขา
ส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้มาจากความเป็นคนไม่ยอมแพ้และเชื่อในไอเดียของตัวเอง บวกกับการให้เกียรติทีมงาน จึงพาให้ธุรกิจมาถึงจุดนี้ได้
“ผมไม่ชอบการบริหารแบบพีระมิด ชอบให้มันแบนที่สุด ทุกคนแบ่งกันด้วยหน้าที่ พอเป็นแบบนี้แล้ว ผมคิดว่าลูกน้องจะกล้ามาพูดทุกเรื่อง พอมีข่าวร้ายไม่ต้องชุบน้ำตาล บิดเรื่องก่อนจะมารายงานเรา เขากล้าที่จะบอกเรื่องจริง เพราะถ้าคุณตัดสินใจบนข้อมูลที่ถูกต้อง การตัดสินใจแต่ละครั้งย่อมมีเปอร์เซ็นต์ถูกมากกว่า” อ๊องเผยให้เห็นถึงสไตล์การทำงานแบบแมนๆ ของเขา
วิธีคิดแบบนี้ต้องยกเครดิตให้คุณพ่อ (อภิเชต) ที่ปลูกฝังความเป็นนักสู้ไว้ในตัวเขา เพราะแม้อ๊องจะเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว ก็ไม่ได้ถูกเลี้ยงมาแบบตามใจ แต่เลี้ยงแบบให้อ๊องเรียนรู้ด้วยตัวเองในวิธีที่ว่าสุดโต่งก็ได้ อย่างตอน 8 ขวบคุณพ่อซื้อมอเตอร์ไซค์ให้อ๊องไปขี่ลองผิดลองถูกเองจนล้มมาแล้ว หรือตอนเรียนจบใหม่ๆ คุณพ่อก็ให้ลูกชายคนเดียวไปทำงานในไลน์ผลิตของโรงงานรถยนต์ ใช้ชีวิตไม่ต่างจากมนุษย์โรงงานคนหนึ่งเพื่อให้ลูกชายสัมผัสทุกอย่างจากประสบการณ์จริงในแบบที่ว่า “สิ่งนี้ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัย ถ้าไม่ตายก็เรียนรู้กันไปเรื่อยๆ” คุณพ่อจึงเป็นไอดอลคนสำคัญของหนุ่มอ๊อง
“คุณพ่อของผมเป็นคนไม่สอน แต่จะจับผมไปอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก คือเขาจะมีวิธีสอน แต่ไม่ใช่มานั่งบอกว่าทำอย่างนี้ อย่างนั้น แต่จะจับผมไปอยู่ในสถานการณ์ที่ผมต้องเอาตัวรอดเอง”
เพราะถูกสอนมาให้เรียนรู้ทุกอย่างจากของจริง หนุ่มอ๊องจึงกลายเป็นคนใช้ชีวิตแบบสุดๆ ทำงานก็ลงลึก เวลาเล่นก็สุดขั้ว ยิ่งบวกกับเป็นหนุ่มโลดโผนที่รักการผจญภัย งานอดิเรกของเขาจึงวนเวียนอยู่กับกีฬาเอ็กซ์ตรีม เรียกว่าคนเดียวเหมาหมด ทั้งขับเครื่องบิน ขี่มอเตอร์ไซค์ เตะบอล สกี ดำน้ำ สเกตบอร์ด เซิร์ฟบอร์ด เมาน์เทนไบค์ จึงไม่แปลกใจหากเขาจะมีแผลเป็นตามตัว เพราะรอดจากอุบัติเหตุมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
“ผมเคยล้มหัวแตกเลือดอาบกลางสนามแข่งตั้งแต่ 10 ขวบ ชีวิตวัยรุ่นทำอะไรเสี่ยงมาเยอะ คือถ้าผมไม่แกร่งก็ตาย (หัวเราะ) อย่างอุบัติเหตุที่หนักสุดคือรถคว่ำหน้าแดนเนรมิต ตอนนั้นเหยียบมาเกือบ 200 กม./ชม. แล้วรถข้างหน้ากลับรถ ผมเลยหักกะทันหัน รถก็เสียการทรงตัวหมุนจนไปฟาดกับฟุตปาธ ผมไม่เจ็บเท่าไหร่แต่เฉียดตาย จำได้ยามหน้าแดนเนรมิตวิ่งมาดูผมที่รถยังนึกว่าผมตายแล้ว แต่ผมไม่เป็นอะไรเลย แค่ไหล่เขียว”
“แต่ที่เจ็บสุดน่าจะเป็นเล่นเซิร์ฟแล้วขาหักมากกว่า ตอนเล่นเสร็จถ้าอยากเท่เวลาสไลด์ตัวขึ้นฝั่งต้องกระโดดลงมา แต่ตอนนี้มีหลุมที่ไหนไม่รู้ขุดไว้อย่างลึกอยู่บนฝั่ง พอผมมาเร็วและกระโดดลง ขาไปเสียบตรงหลุมนั้นพอดี ขาหักป๊อกตรงนั้นเลย เหตุการณ์นั้นรู้สึกว่าเจ็บที่สุดเท่าที่เจอมา”
ยกตัวอย่างมานี่แค่เบาๆ ยังมีวีรกรรมอีกเยอะ แต่อ๊องบอกว่าหนังม้วนนั้นคงจบไปแล้ว อาจจะมีเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมแบบเบาๆ เพราะเมื่อต้องมาสวมบทบาทผู้บริหารเต็มตัว ความเกรียนแบบวัยรุ่นจึงลดลงไปเยอะ สุขุมขึ้นไปตามวัย เพราะรู้ถึงภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น บวกกับตอนนี้ไม่ได้เป็นหนุ่มโสดฉายเดี่ยวอย่างเมื่อก่อนแล้ว แต่มีคู่ชีวิตที่ต้องคอยดูแลกันและกันอีกด้วย
เรียกว่าชีวิตงานแน่นแล้ว ชีวิตส่วนตัวยังต้องบาลานซ์ งานนี้เลยขอเคล็ดลับการบริหารเวลาจากหนุ่มผู้บริหารไฟแรงคนนี้เป็นการปิดท้าย ซึ่งคำตอบที่ได้ก็ไม่แอบโชว์ความเป็นเด็กสายเกรียนว่า “จ้างคนขับรถ”
“ตอนแรกผมไม่ยอมจ้างคนขับรถนะ แต่พอมานั่งคิดว่าเสียเวลาขับรถวันละ 2 ชม. เท่ากับ 1 ปีผมขับรถประมาณ 2 เดือนเลยทีเดียว ผมเลยมองว่าถ้าผมเอาเวลา 2 เดือนไม่ขับรถ แต่มาทำงานน่าจะดีกว่า เพราะผมคำนวณแล้วเท่ากับผมไม่ได้จ้างแค่คนขับ แต่ผมซื้อความสบาย ซื้อเวลาทั้งปีที่ผมจะได้กลับมา 2 เดือน ผมทำงานได้เยอะขึ้น มีเวลาคุยกับลูกน้องมากขึ้น ผมว่าดีกว่า”
Special Thanks : Maven Bangkok Hotel เพชรบุรี www.mavenbangkok.com โทร.02-073-0999 เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายภาพ