xs
xsm
sm
md
lg

“เทพคือเพื่อน” น้อมนำให้เคารพความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ “ปานชลี สถิรศาสตร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พระอิศวรกับพระอุมา
ART EYE VIEW--- “เป็นความน่าสนใจอย่างหนึ่งว่า ทำไมคุณปานชลีถึงอยากจะปั้นเทวรูป และไม่ได้ปั้นแค่หนึ่งหรือสององค์นะคะ แต่เธอปั้นมากถึง 400 องค์ ฉะนั้นมันต้องมีอะไรที่ดลใจเธอ”

ดร.อู่ทอง โฆวินทะ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สอนวิชาปรัชญาตะวันตก ,กรีกโบราณ,สุนทรียศาสตร์ รวมถึงวิชาที่เกี่ยวกับ ฟรีดริช วิลเฮล์ม นีทเชอ (Friedrich Wilhelm Nietzsche) นักนิรุกติศาสตร์และนักปรัชญาชื่อดังชาวเยอรมัน

กล่าวแสดงความรู้สึกเมื่อชมผลงาน ประติมากรรมชุด “เทวลีลา” งานปั้นเทวรูปซึ่งเป็นผลงานเซรามิกอาร์ตชุดล่าสุดของ ปานชลี สถิรศาสตร์ ในฐานะแฟนผลงานที่ติดตามชมผลงานของปานชลี มาโดยตลอด และมีโอกาสทำความรู้จักปานชลีและผลงานครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน เมื่อครั้งที่เธอจัดแสดงผลงาน ณ โรงแรมฮิลตัน อินเตอร์เนชั่นแนล ปาร์คนายเลิศ
ปานชลี  สถิรศาสตร์
ในครั้งนั้น เสน่ห์อันเกิดจากความดิบและความบังเอิญของผลงานซึ่งศิลปินไม่สามารถกะเกณฑ์อะไรได้ ทำให้ ดร.อู่ทอง ตกหลุมรักถ้วยใบหนึ่ง ซึ่งปั้นโดยปานชลี และถือเป็นถ้วยใบแรกที่เป็นผลงานของช่างปั้นชาวไทย ที่ ดร.อู่ทอง ตัดสินใจมีไว้ครอบครองในฐานะผลงานศิลปะสะสมชิ้นหนึ่ง

“จากถ้วยใบแรกก็สานสัมพันธ์เรามาสู่ความเป็นเพื่อน ดิฉันตามดูงานของคุณปานชลีทุกครั้งที่เธอจัดแสดง และเคยขอให้เธอทำงานบางชิ้นให้ เช่น เมื่อดิฉันจะขึ้นบ้านใหม่ อยากจะมีถ้วยชาม ก็ขอให้คุณปานชลีช่วยทำให้ บางทีเธอก็ทำให้เราเป็นชุด

มาสู่งานปั้นเทวรูป...เทวรูปเป็นสิ่งที่คนทั่วไปมีไว้เคารพ แต่เมื่อกลายมาเป็นงานศิลปะ เธอคงจะประทับใจเรื่องราวของเทพที่เคยอ่าน ในตำนานต่างๆ แล้วนำความประทับใจมาปั้น

แม้ว่าส่วนตัวดิฉัน จะยังหลงรักในงานปั้นถ้วยชามของคุณปานชลี แต่เสน่ห์ที่งานปั้นเทวรูปยังมีเหมือนงานปั้นถ้วยชามของเธอ คือความดิบ ความบังเอิญในผลงาน ที่บางทีเธอปรารถนาเห็นมันออกมาอย่างหนึ่งแต่มันออกมาอีกอย่างหนึ่ง”

ขณะที่คนใกล้ชิดของปานชลีกล่าวว่า “เขาชอบเรื่องเทพปกรณัมมาแต่ไหนแต่ไร เคยเขียนเคยอ้างอิงถึงเทพต่างๆผ่านบทความที่เขียนให้กับคอลัมน์ในหนังสือและหนังสือพิมพ์มาหลายครั้ง”
แม่โพสพ
อะพอลโล หรือ สุริยะเทพ และวีนัส
เมื่อกล่าวถึง เทพ หรือ เทวรูป หลายคนคงจะจินตนาการไปถึง เทพของกรีกและโรมันในยุคคลาสสิกหรือเรเนซองส์ ที่หากเป็นชายส่วนใหญ่จะมีร่างกายดูกำยำล่ำสัน มีหน้าตาที่หล่อเหลา และหากเป็นหญิงจะมีร่างกายที่อวบอิ่ม มีหน้าสวยงามดูหมดจดในทุกรายละเอียด ดังเช่นรูปปั้น “เทพวีนัส” แขนขาด ที่มีรูปลักษณ์อวบอั๋น นมโต ผ้าหลุด บนหน้าปกหนังสือวาดเขียนที่เคยเรียนสมัยเด็กๆ

แต่ เทพ หรือ เทวรูป ที่ปั้นโดยปานชลี หาได้มีลักษณะเช่นนั้น เพราะมีลักษณะคล้ายผลงาน ประติมากรรมทำด้วยเซรามิกชิ้นหนึ่งที่เธอเคยทำขึ้นและทดลองนำมาจัดแสดงร่วมกับงานปั้นถ้วยชามในนิทรรศการก่อนหน้านี้ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายหินที่อวดร่องรอยของกาลเวลา อันเกิดจากถูกแรงลมแรงน้ำเซาะให้ผุกร่อนมาเป็นเวลาหลายพันปีและสวยงามตามธรรมชาติของมัน

“งานปั้นเทวรูปของดิฉันไม่ใช่แบบนั้น แบบที่ทุกคนจดจำ แต่มีลักษณะเหมือนเทวรูปที่คนใช้เคารพบูชา ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่ไม่มีรายละเอียดมาก ทำให้เห็นเหมือนกันว่ามี ตา หู จมูก ปาก เป็นเทวรูปที่ติดอยู่กับหิน สลักภูเขาเข้าไปและเป็นงานที่ทำให้นึกถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ

แม้ว่าเทวรูปที่ดิฉันปั้นขึ้นด้วยดินจะไม่ได้ใหญ่โต เหมือนเทวรูปที่ประเทศอัฟกานิสถานที่อยู่ติดกับก้อนหิน เพราะสร้างขึ้นด้วยวิธีการสลักก้อนหินภูเขาเข้าไป หรือ เปตา ในประเทศจอร์แดน ที่เขาสลักก้อนหินภูเขาเข้าไปให้เกิดเป็นรูปลักษณ์ของวังและโบสถ์ แต่เป็นวังที่มีฐานเป็นหินมีร่องรอยของความสึกกร่อน แต่ลักษณะนี้ มันทำให้เราได้เห็นถึงความสวยงามของธรรมชาติ

ขณะที่เทวรูปยุคหลังจะมีลักษณะลอยออกมาจากพวกหน้าผา พยายามทำให้มีรูปลักษณ์ที่สมบูรณ์อยู่กลางแจ้ง แต่ดินฉันชอบเทวรูปที่มีลักษณะอยู่ยึดกับก้อนหิน หรือแกะจากไม้ทั้งท่อน ที่มีอายุเก่าแก่มาก

การปั้นเทวรูปที่มีหน้าตาใกล้ชิดกับธรรมชาติ หรือทำให้หวนคิดถึงเทวรุปในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มันบอกบุคลิกของคนทำหรือชอบงานหน้าตาแบบนี้ด้วยว่า จะต้องเป็นคนที่ชอบธรรมชาติ มีความเป็นนักผจญภัย และไม่ได้ติดอยู่ในกรอบความงามแบบอุดมคติ

ดิฉันได้รับแรงบันดาลใจจากเทวรูปในยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็จริง แต่เราก็ไมได้คัดลอกเขามา เหมือนเราไปเจอก้อนหิน บางทีไม่ใช่ก้อนหินที่ใหญ่โตนะ แต่เป็นแค่ก้อนหินเล็กๆ มันก็สามารถที่จะให้แรงบันดาลใจแก่เราได้ เหมือนรูปทรงของหินที่เราเห็นที่หาดทราย ที่มีริ้วรอยต่างๆที่มันถูกน้ำเซาะถูกลมตี จนกระทั่ง มีร่องมีรอย มีสีที่สวยงามมาก สำหรับดิฉันแล้ว ความงามแบบนี้เป็นความงามที่ก่อให้เกิดความสะเทือนใจแล้วทำให้รู้สึกรักธรรมชาติ รู้สึกว่าธรรมชาติมีความยิ่งใหญ่

งานของดิฉันเป็นงานที่อยู่คนละฟากกับความสมบูรณ์แบบประณีต ที่ทำให้ผู้พบเห็นไม่ได้จินตนาการต่อ คนไทยอาจจะชอบเจ้าแม่กวนอิมพันกร แบบที่คนแห่ถ่ายรูปตามวัดต่างๆที่มีเทวรูปติดตั้งอยู่ด้วย และมีลักษณะใหญ่โต หน้าตาสวยงามแบบในอุดมคติ”

ดังนั้นการแสดงผลงานครั้งนี้ เธอจึงพยายามที่จะสังเกตปฏิกิริยาของผู้ชมด้วยว่า รู้สึกอย่างไร

“เพราะทุกคนต่างก็เคยสัมผัสแต่เทพในยุคหลังประวัติศาสตร์ มีหน้าตาสวยงามแบบในอุดมคติ ปรากฏว่าพวกเขาชอบกันทุกคน ฝรั่งคนหนึ่งบอกดิฉันว่า ดูงานปั้นของคุณชุดนี้เหมือนงานอายุเก่าแก่หลายพันปี ไม่น่าเชื่อว่าคุณปั้น นึกว่าเอาของแอนทีคมาแสดง”
เทพีแห่งหัตถกรรม
เทพสุรา
แม้ปานชลีจะปั้นเทวรูปต่างๆขึ้น ในฐานะที่เป็นผลงานศิลปะ แต่เธอก็ไม่ได้ปฏิเสธความเชื่อส่วนบุคคล ดังนั้นเทวรูปที่เธอปั้นขึ้นทุกชิ้นจึงผ่านการปลุกเสก เพื่อให้ผู้ชมงานศิลปะส่วนหนึ่งที่มีความเคารพในเทพต่างๆ สามารถครอบครองมันได้ทั้งในฐานะผลงานศิลปะและรูปเคารพด้วย

“แต่สำหรับดิฉันแล้วเทพคือเพื่อน ดังนั้นผลงานของดิฉันใครจะจับตะแคงหรือวางยังไงก็ได้ เหมือนที่เราอยากให้คนจับถ้วยที่เราปั้นนั่นแหล่ะ ดิฉันชอบทำงานที่ทำให้คนจับได้สัมผัสได้ และทุกคนที่จับงานของเราจะรู้สึกว่ามันเหมือนเพื่อน มีความรู้สึกใกล้ชิดมาก จับแล้วจะรักมาก เหมือนคำในภาษาอังกฤษคือ intimate มันสำคัญยิ่งกว่าการปลุกเสก

แต่การปลุกเสกมันมีความหมายในเชิงจิตวิญาณ คนที่ชอบในเชิงศิลปะก็สามารถครอบครองได้ คนที่เคารพเทวรูปก็สามารถครอบครองแล้วนำไปกราบไหว้หรือบูชาได้ การปลุกเสกไม่ใช่เรื่องใหญ่ งานของดิฉันมีความหมายต่อจิตใจด้วยรูปลักษณ์ที่เราปั้นขึ้นมา แต่การปลุกเสก ดิฉันทำเผื่อคนที่เชื่อว่าเทวรูปศักดิ์สิทธิ์

เหมือนเราได้รับพระมา ความรู้สึกจะต่างกัน ระหว่างพระที่เราไปหาซื้อมาได้ง่ายๆกับพระที่ผ่านการปลุกเสก”

แม้ปานชลีจะปั้นเทวรูปต่างๆขึ้น ในฐานะที่เป็นผลงานศิลปะ แต่เธอก็ไม่ได้ปฏิเสธความเชื่อส่วนบุคคล ดังนั้นเทวรูปที่เธอปั้นขึ้นทุกชิ้นจึงผ่านการปลุกเสก เพื่อให้ผู้ชมงานศิลปะส่วนหนึ่งที่มีความเคารพในเทพต่างๆ สามารถครอบครองมันได้ทั้งในฐานะผลงานศิลปะและรูปเคารพด้วย

“แต่สำหรับดิฉันแล้วเทพคือเพื่อน ดังนั้นผลงานของดิฉันใครจะจับตะแคงหรือวางยังไงก็ได้ เหมือนที่เราอยากให้คนจับถ้วยที่เราปั้นนั่นแหล่ะ ดิฉันชอบทำงานที่ทำให้คนจับได้สัมผัสได้ และทุกคนที่จับงานของเราจะรู้สึกว่ามันเหมือนเพื่อน มีความรู้สึกใกล้ชิดมาก จับแล้วจะรักมาก เหมือนคำในภาษาอังกฤษคือ intimate มันสำคัญยิ่งกว่าการปลุกเสก

แต่การปลุกเสกมันมีความหมายในเชิงจิตวิญาณ คนที่ชอบในเชิงศิลปะก็สามารถครอบครองได้ คนที่เคารพเทวรูปก็สามารถครอบครองแล้วนำไปกราบไหว้หรือบูชาได้ การปลุกเสกไม่ใช่เรื่องใหญ่ งานของดิฉันมีความหมายต่อจิตใจด้วยรูปลักษณ์ที่เราปั้นขึ้นมา แต่การปลุกเสก ดิฉันทำเผื่อคนที่เชื่อว่าเทวรูปศักดิ์สิทธิ์

เหมือนเราได้รับพระมา ความรู้สึกจะต่างกัน ระหว่างพระที่เราไปหาซื้อมาได้ง่ายๆกับพระที่ผ่านการปลุกเสก”
สุริยะเทพ
วาระเดียวกันกับการจัดแสดงนิทรรศการ ในฐานะช่างปั้นผู้ชอบอ่านวรรณคดีและเทววิทยา เพื่อจะให้ความรู้กับผู้คนในเรื่องเทพ โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษา เนื่องจากในตลาดหนังสือของบ้านเรา มีหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องราวของเทพให้ศึกษาน้อยมาก และเป็นทางเลือกให้ผู้คนซื้อหนังสือบริจาคเข้าห้องสมุดของโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร

ปานชลีจึงเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อ เทวลีลา (All Naure Gods) ซึ่งข้อมูลในหนังสือย่อยมาจากหนังสือที่เธอเคยอ่านหลายๆเล่มตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ดังที่เธอบอกไว้ที่ปกหลังของหนังสือว่า

...เทวลีลารวบรวมความรู้จากหนังสือศิลปะเล่มหนักเท่าโอ่งหลายเล่ม ใช้เวลาอ่านอยู่นาน 20 ปี ถึงเพิ่งนึกได้ว่าน่าจะเอามา ‘ย่อย’ และ ‘ยำ’ ใหม่ให้เข้าใจง่าย ด้วยหวังว่า จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอ่านทั้งคอ ‘วรรณกรรม’ และคอ ‘ดิจิตัล’ อยากสืบค้นเรื่องราวสนุกสนานของทวยเทพ ที่ซ่อนไว้ด้วยคติความเชื่อจากหลากหลายวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มสีสันแห่งปัญญา...

ข้อมูลในหนังสือมีการนำเสนอเรื่องของเทพในยุคกรีกเปรียบเทียบกับเทพยุคโรมัน รวมถึงเทพในอารยธรรมของฮินดูและไทย และอีกหลายอารยธรรม เนื่องจากที่ผ่านมา อารยธรรมเหล่านี้มีการถ่ายเทถึงกัน อยู่ตลอดเวลา

“ข้อมูลในหนังสือจะเป็นการเล่าเรื่องว่าเทพแต่ละองค์เกิดมาอย่างไร เราอาจจะเคยได้ยินชื่อ เช่น เทพโพไซดอน ที่บ้านเราเอามาตั้งเป็นชื่ออาบอบนวด หรือแม้แต่ ปารีส ก็ถือเป็นหนึ่งตัวละครที่สำคัญมาก เป็นฮีโร่ ไม่ใช่เทพ แต่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับเทพ ที่ยุโรปเอาไปตั้งชื่อเมืองหลวง หรือบ้านเราเอาตั้งเป็นชื่อโรงหนัง

เราคนไทยยังมีความรู้น้อยเกี่ยวกับเทพ นอกจากคุ้นหูกับเทพของกรีกและโรมันที่เอามาตั้งชื่อสถานที่และชื่อเมืองต่างๆ ทั้งในบ้านเราและในเมืองต่างๆในยุโรป นอกนั้นเราก็รู้จักแค่เทพของฮินดูผ่านวรรณดีเรื่องรามเกียรติ์ (วรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของไทย มีต้นเค้าจากวรรณคดีอินเดีย คือมหากาพย์รามายณะที่ฤๅษีวาลมีกิ ชาวอินเดีย แต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต เมื่อประมาณ 2,400 ปีเศษ)ที่คนไทยเอามาแปลง เคยได้ยินแค่ว่ามีพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระราม นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังใช้ภาพประกอบเป็นผลงานประติมากรรมเทวลีลาที่ดิฉันปั้น

เพราะดิฉันอยากให้ความรู้กับนักศึกษาหรือคนอ่านที่สนใจว่า ภาพเทพต่างๆที่เขาจะเห็น ในหนังสือ บรรดา พระนาราย พระอิศวร พระพรหม ไม่ได้มีหน้าตาเหมือนเทพต่างๆที่เขาคุ้นชิน อย่างพระพรหมเอราวัณ ที่มีเครื่องทรงอลังการ ดูแล้วสง่างามมาก แต่เทพของดิฉันมีลักษณะที่เรียกว่างามง่าย มีโครงสร้างเหมือนหินเหมือนไม้อายุเก่าแก่ ที่ถูกแกะ ถูกลมถูกน้ำเซาะ แต่มีพลังมาก”
เทพีแห่งสุรา

เทพสื่อสาร
เพราะสิ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดที่ปานชลีต้องการสื่อสารกับผู้คนทั้งผ่านผลงานในนิทรรศการและหนังสือ เธอต้องการที่จะน้อมนำผู้คนให้ใกล้ชิดธรรมชาติ และเคารพในความงามตามธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าธรรมชาติที่ผู้คนสัมผัสผ่านผลงานของเธอจะเป็นประตูให้ผู้ชมเปิดไปสู่การรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ

“การนำเสนองานในลักษณะที่มีความใกล้ชิดกับธรรมชาติ มันบอกให้รู้ว่าคนทำ เป็นคนรักธรรมชาติ รักป่า รักภูเขา รักทะเล รักแม่น้ำ และอยากให้ธรรมชาติมันอยู่อย่างนั้นตามธรรมชาติของมัน เพราะมันมีความหมายต่อจิตใจ ต่อโลก ต่อธรรมชาติ เราไม่ควรทำลายมัน

ดิฉันคิดว่าคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนเมือง ไม่ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากพอ สิ่งที่เขาเห็นอยู่ทุกวันคือ ตึก ก้อนซีเมนต์ ไม่เหมือนหินที่ถูกตบแต่งด้วยฝีมือของมนุษย์ หรือผุกร่อนตามธรรมชาติ ซึ่งมันทำให้ความเคารพในธรรมชาติหายไป เพราะฉะนั้นงานชุดนี้ของดิฉันมันคือการโน้มนำคนให้เข้ามาทำความรู้จักกับความงามในมิติที่...ก็ไม่ใช่มิติใหม่นะ มันคือมิติที่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ซึ่งมันมีอยู่แล้ว

ความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติเมื่อดิฉันนำไปอยู่ในเทวรูปองค์เล็กๆที่ตัวเองปั้น เมื่อผู้ชมสัมผัส ก็จะรู้สึกเหมือนตัวเองได้ไปสัมผัสกับธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่”

ประติมากรรมชุด “เทวลีลา” โดย ปานชลี สถิรศาสตร์ จัดแสดงระหว่างวันนี้ - 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ สุขุมวิท 55(ซอยทองหล่อ) สอบถาม โทร.02-381-3860-1

รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ
วีนัส







ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews