>>เพียงช่วงเวลาข้ามคืนคลิปเพลง"สรรเสริญพระบารมี" เวอร์ชั่นคลาสสิก โพสต์โดยเฟซบุ๊กเพจ “เพลงคลาสสิก จีบ คนกรุงเทพ” หรือ Jeeb Bangkok ก็มีผู้ชมนับล้านครั้ง และยอดแชร์มากกว่า 1 แสน ทุกท่วงอารมณ์ล้วนแทนความรู้สึกของคนไทยที่ยากบรรยายออกมาเป็นคำพูดถึงการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ถึงการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 กษัตริย์ของงปวงชน สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับวงการดนตรีคลาสสสิก อาจสงสัยว่า Jeeb Bangkok คือใคร? และเพราะเหตุใดบทเพลงที่พวกเขาบรรเลงจึงทรงพลังได้ถึงเพียงนั้น
ชื่อแสนแปลกหูแต่จำง่ายว่า “จีบ คนกรุงเทพ” หรือ Jeeb Bangkok เป็นการรวมตัวของกลุ่มนักดนตรีคลาสสสิกรุ่นใหม่ระดับหัวกระทิของเมืองไทย ประกอบไปด้วย “คริส” คริสโตเฟอร์ จันวอง แมคคิแกน (Piano, Arranger), “แดน” คณิน อุดมมะนะ (violin), มิติ วิสุทธิ์อัมพร (viola), เอกชัย มาสกุลรัตน์ (cello), ณัฐพล เลิศวนัสวงศ์ (double bass), , ทฤษฎี ณ พัทลุง (piano, composer), ปัญญพัทธ์ วงศ์เวชวิวัฒน์ (cello) และ 3 พี่น้องแห่งวง VieTrio อย่าง “เป้” ดร.ทวีเวท ศรีณรงค์ (violin), กัญภัส ศรีณรงค์ ชนานุวัฒน์ (Cello) และ อริยา ศรีณรงค์ (violin) เพื่อปฏิบัติภารกิจ “จีบ” คนกรุงเทพฯ รงมถึงคนไทยให้หันสนใจดนตรีคลาสสิก ด้วยการนำเพลงคลาสสิกเข้ามาอยู่ในใจของคนไทย
….. บนพื้นฐานแนวคิดง่ายๆว่า “เพลงคลาสสิกไม่ได้ยากอย่างที่คิด” ทำให้เป็นที่มาของวงแชมเบอร์ มิวสิค ผสมผสานระหว่างดนตรีคลาสสิกและดนตรีประยุกต์
เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่ Jeeb Bangkok ได้เกิดขึ้นและได้รับเชิญไปแสดงดนตรีทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงจัดแสดงคอนเสิร์ตของตัวเอง โดยมีเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง คือ การอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ มาบรรเลงทุกครั้งของการแสดงดนตรี เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสชื่นชมในพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
“การอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำกันทุกครั้งที่พวกเราเล่นคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ถ้ามีโอกาส” “แดน” คณิน หนึ่งในสมาชิก Jeeb Bangkok เกริ่น
ไม่เพียงในเมืองไทยเท่านั้น แม้แต่ในต่างประเทศบ่อยครั้ง Jeeb Bangkok ก็ได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลงให้กับผู้ฟังชาวต่างได้ชื่นชมในการแสดงคอนเสิร์ตระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก ญี่ปุ่น เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ
ดร.ทวีเวท : แม้แต่คนไทยบางคนอาจยังไม่เคยฟังเพลงพระราชนิพนธ์ครบหมดทุกเพลง ฉะนั้นสิ่งที่เราทำคือช่วยกันนำเสนอทุกบทเพลง เพราะแต่ละเพลงมีความพิเศษในตัวเอง บ่อยครั้งที่เราได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ไปบรรเลงในต่างประเทศ ผู้ฟังจะเกิดความประทับใจ อย่างแรกเลยคือความไพเราะของบทเพลง และต่อมาผู้ฟังจะรู้สึกทึ่งมากขึ้นมากขึ้นเมื่อทราบว่าบทเพลงเหล่านี้เป็นเพลงพระราชนิ พนธ์ที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นผู้ประพันธ์”
คริสโตเฟอร์ : ยังมีนักดนตรีหลายคนไม่รู้จักเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมด แต่ทุกคนชื่นใจและประทับใจในอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระองค์ท่าน การที่เรามีโอกาสนำเสนอบทเพลงเหล่านี้ในต่างประเทศ ชาวต่างชาติมีความประทับใจในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเรื่องต่างในการประพันธ์ ทรงพระปรีชาสามารถประพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นจังหวะแจ๊ส คลาสสิก วอลซ์ หรือเป็นเพลงไทยก็ได้ บทเพลงที่ออกมาถือว่าเป็นท๊อปออฟเดอะคลาส หรือเป็นที่สุดของวงการดนตรีก็ว่าได้
ทุกครั้งที่มีโอกาสบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ ไม่ว่าที่ใด สิ่งที่ได้รับกลับมาคือเสียงชื่นชมในพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมาชิกทุกคนของ JEEB Bangkok ในฐานะนักดนตรีชาวไทยที่มีใจรักในตัวโน้ต ล้วนรู้สึกภาคภูมิใจที่มีพระมหากษัตริย์ไทยที่มีความเป็นศิลปิน ทรงมีพรสวรรค์ด้านดนตรีที่แม้แต่นักดนตรีชาวตะวันตกก็ยังยกย่อง”
อย่างที่ทราบกันว่าเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้ง 49 เพลง ล้วนมีจังหวะและสื่ออารมณ์ความหมาย เนื้อหาแตกต่างกันไป เมื่อถามถึงบทเพลงที่แต่ละท่านชื่นชอบและประทับใจก็ได้รับคำตอบต่างกันไป
คริสโตเฟอร์ : ถ้าประทับใจเป็นการส่วนตัวคงเป็นเพลงแว่ว (Echo) เป็นบทเพลงที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษไว้ด้วย ซึ่งพระองค์ท่านทรงศึกษาเพลงคสาสสิกก่อนจะทรงศึกษาแจ๊ส เพลงนี้แสดงให้เห็นพื้นฐานพระปรีชาในการเล่นเพลงคลาสสิกได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็สื่อความเป็นแจ๊สอยู่ในตัว และเป็นแจ๊สในระดับแอดวานซ์ด้วย แต่กลับฟังง่ายและเข้าถึงผู้คนได้ คือถ้าเปรียบเป็นนาฬิกา ก็เป็นนาฬิกาที่ภายนอกดูเรียบง่ายสวยงาม แต่ภายในมีความซับซ้อน
คณิน : ส่วนตัวผมมีความประทับใจในเพลงค่ำแล้ว (Lullaby) เป็นเพลงกล่อมเด็ก พระองค์ประพันธ์เพลงนี้เพื่อใช้กล่อมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดยพระองค์ทรงอุ้มสมเด็จพระเทพฯ ไว้ในพระกรข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งทรงเปียโนเพลงพระราชนิพนธ์ ในแง่ของทำนองของเพลงนี้ก็มีความเป็นสากล
ดร.ทวีเวท : ผมประทับใจทุกเพลง เพราะแต่ละเพลงมีสไตล์ที่แตกต่างกัน นำมาบรรเลงได้อยู่เสมอ ทุกครั้งที่มีการอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลงให้กับผู้ฟัง พวกเราจะเลือกบทเพลงให้เหมาะกับโอกาสและสถานการณ์ เช่นถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวจะอัญเชิญเพลงลมหนาว ถ้าเป็นหน้าฝนก็อัญเชิญเพลงสายฝน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าทุกบทเพลงพระราชนิพนธ์สามารถนำมาบรรเลงได้ทุกโอกาส ทุกวาระ และจากนี้ไปพวกเราคงอัยเชิญเพลงเหล่านี้มาบรรเลงเพื่อให้อยู่ในความทรงจำของผู้ฟังตลอดไป :: Text by FLASH