>>นับเป็นการเดินหน้าไปอีกก้าวกับธุรกิจสายอาหาร “ตาล-พิมพ์ชนก (พลางกูร) สุภัทรพันธุ์" สาวนักบริหารที่สร้างชื่อให้กับแบรนด์ชาไทย “No.57” ที่วันนี้เธอมาลุยธุรกิจใหม่ ด้วยการทำร้านอาหารไทย-อีสาน สไตล์โมเดิร์น กับร้านที่มีชื่อเก๋ๆ ว่า "ตำทองหล่อ" ที่ไม่ใช่แค่ร้านส้มตำธรรมดา แต่ทุกจานล้วนแล้วแต่ใส่ความครีเอตและบรรจงปรุงอย่างเต็มที่ ฉะนั้นเชื่อได้เลยว่าออกมาเด็ดทุกเมนูแน่นอน!
ก่อนที่ "ตาล พิมพ์ชนก" จะมาทำร้านอาหารนั้นเราคุ้นเคยกับเธอในการเป็นเจ้าแม่แบรนด์ชา “No.57” ที่มีความเป็นนักชิมและนักครีเอตอยู่ในตัว จนนำพาแบรนด์ “No.57” ไปสร้างชื่อเสียงไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ยอมรับในตลาดยุโรปและประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีช่วงผ่อนจากงานบริหารแบรนด์ชา เนื่องจากเตรียมตัวเป็นคุณแม่ และดูแลลูกๆ แต่งานทุกอย่างก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างดี
“ช่วงที่ผ่านมาตาลให้เวลาส่วนใหญ่กับครอบครัว เบรกไปมีลูก เนื่องจากตอนที่ท้องแพ้ท้องหนักมาก ตอนนี้ลูกโตแล้ว ชีวิตเริ่มเข้าที่ทำให้ได้มาลงมือทำอะไรมากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ท้องขอให้เครดิตลูกน้องในทีม ทุกคนมีความรับผิดชอบดีมาก เพราะโรงงานของเราไม่ได้มีแค่แบรนด์ของตัวเอง เรายังมีธุรกิจรับผลิตชาให้บริษัทอื่นด้วย โดยมีลูกค้าแบรนด์ใหญ่ๆ หลายราย ที่เรารับผลิตออกแบบกลิ่นและดูแพกเกจจิ้งให้ ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็มีคาแรกเตอร์ของตัวเองอยู่แล้ว เราก็ออกแบบกลิ่นและดีไซน์ให้แมตช์กับคาแรกเตอร์ของเขา”
และเมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางเธอจึงอยากจะขยับขยายธุรกิจชา “No.57” แบรนด์ที่สร้างมากับมือกว่า 10 ปีให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงง่ายขึ้น โดยกำลังวิ่งวุ่นอยู่กับการหาโลเกชั่นเปิดคาเฟ่ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งที่นั่นชา “No.57” ได้รับการตอบรับและเป็นที่รู้จักอย่างดี
“เรามีหุ้นส่วนที่ญี่ปุ่นซึ่งเขาทำการตลาดและพีอาร์ได้ดีมาก ทำให้เราอยากเปิดคาเฟ่เล็กๆ แต่กำลังดูๆ อยู่ และที่ผ่านมาเรายังมีโอกาสได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังๆ ที่ญี่ปุ่น เช่น เคนโซ่ (Kenzo), โคลเอ้ (Chole) ก็ให้เราช่วยครีเอตชากลิ่นพิเศษให้สำหรับเป็นเครื่องดื่มในงานอีเวนต์อีกด้วย”
แม่ครัวหัดตำ
ไม่ใช่แค่เรื่องรสนิยมในการจิบชาเท่านั้น แต่เธอยังเป็นนักชิมที่สามารถชิมอาหารได้ทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารอีสานที่ติดใจเป็นพิเศษ ถึงขนาดฝังใจกับความอร่อยที่เคยลองลิ้มในวัยเด็ก จนนำไปสู่การทดลองลงมือตำเพื่อค้นหาสูตรของตัวเอง
“ตั้งแต่เด็กจะมีพี่เลี้ยงคอยดูแล จำได้ว่าเวลาไปหลังบ้าน พวกพี่เลี้ยงเขาก็จะทำอาหารของเขากินกันเอง เขาให้เราชิม ซึ่งพอชิมแล้วรู้สึกว่าอร่อยจัง! ไม่เห็นเหมือนอาหารปกติที่เรากินเวลานั่งโต๊ะอาหารกับที่บ้านเลย เพราะบ้านเราก็ทานอาหารไทยภาคกลางปกติ แต่อาหารอีสานจะมีวัตถุดิบที่แตกต่างจากอาหารภาคกลาง ทำให้เรารู้สึกว่าน่าสนใจ มีความแปลกแตกต่างจากอาหารที่เราเคยกิน
หลังจากนั้นพอโตขึ้นมาหน่อยไปกินอาหารอีสานแล้วก็รู้สึกว่าไม่ใช่! เพราะความที่เราฝังใจกับรสชาติความอร่อยที่เราเคยกิน ก็เลยหยุดกินไปพักหนึ่งจนมีจุดกระตุ้นที่ทำให้เรากลับมากินส้มตำอย่างบ้าคลั่งอีกครั้งหนึ่งคือ ตอนนั้นไปอยู่ที่เชียงใหม่นานมาก เพราะโรงงานอยู่ที่นั่น แล้วรู้สึกว่าอยากทานอะไรแซบๆ คุณพ่อก็แนะนำว่ามีร้านอาหารชื่อ “แก่นชัย” เป็นร้านอาหารอีสานอยู่ที่เชียงใหม่ พอได้ไปกิน โอ้โห...ใช่เลย! ชอบมากชนิดที่กินแทบทุกวัน แต่ว่าร้านอยู่ไกลก็เกรงใจคนที่เขาต้องไปซื้อมาให้ ก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นลองมาตำส้มตำกินเองดีกว่า
เชื่อไหมว่าช่วงนั้นฝึกตำส้มตำกินเองทุกวัน ทุกมื้อ เพราะอยากให้ได้รสชาติที่ใกล้กับที่เราเคยกิน ใช้เวลาอยู่เดือนนึงก็เริ่มรู้สึกว่ารสชาติใกล้เคียงแบบที่เราเคยกินแล้ว พอกลับมากรุงเทพฯ ก็ยังไม่หยุดตำ ยังลองต่ออีก ฝีมือก็พัฒนาเรื่อยๆ เริ่มรู้การเลือกซื้อวัตถุดิบว่าจะต้องซื้อที่ไหน ยี่ห้ออะไร จนคุณป้าเคยเชียร์ให้เปิดร้าน ซึ่งเราก็ไม่ได้คิดอะไร แต่เราจะชอบทำให้คุณป้าและเพื่อนๆ เขาทานเวลามาที่บ้าน ซึ่งเรารู้สึกสนุกมากที่ได้ทำอาหาร”
เปิดครกตำทองหล่อ
ด้วยความที่เป็นคนชอบชิม และชอบลองแกะสูตร ทำให้เธอตัดสินใจมาทำธุรกิจร้านอาหารของตัวเองอีกหนึ่งธุรกิจ ในชื่อ “ตำทองหล่อ” ร้านอาหารอีสานสไตล์โมเดิร์น ใจกลางเมือง ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 อาคารเดอะ เทสต์ ทองหล่อ 11
“คนอาจจะงงว่าเราขายชาอยู่ จู่ๆ มาขายส้มตำได้อย่างไร?? แต่ถ้าเพื่อนรู้จักกันจะรู้ว่าเราชอบทำอาหาร และสิ่งที่เอนจอยอย่างหนึ่งคือการคิดค้นสูตร เป็นนิสัยพื้นฐานเราอยู่แล้ว เป็นคนชอบทำอาหารแต่ไม่อยากเปิดร้านอาหาร เพราะรู้ว่างานร้านอาหารมีเรื่องจุกจิกอีกมากมาย แต่จุดที่จุดประกาย เนื่องจากคุยกับเพื่อน คือ คุณเมย์ อาฟเตอร์ยู (กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ) ว่าเราชอบกินส้มตำแบบลาวๆ กันนะ แต่หาร้านอร่อยๆ กินยาก เมย์ก็เชียร์ให้เราเปิด แต่ก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะกำลังหาพื้นที่ทำร้านชาในเมืองไทย จนกระทั่งเมย์มาแนะนำโลเกชั่นให้ ซึ่งพอมาดูรู้สึกว่าโลเกชั่นนี้ไม่ได้เหมาะกับชา รู้สึกว่าเหมาะกับร้านส้มตำมากกว่า เท่านั้นแหละ! ก็เลยกลายเป็นร้านตำทองหล่อทันที!!”
ตามประสาคนมีมาตรฐานสูง เธอยังบอกกับเราว่าอาหารทุกจานของ “ตำทองหล่อ” เน้นความเป็นอาหารต้นตำรับอีสานรสจัดจ้าน และให้ความสำคัญกับคุณภาพของวัตถุดิบ โดยเลือกใช้วัตถุดิบแบบเดียวกับที่ทำให้คนในครอบครัวทาน
“การทำส้มตำเราต้องคิดเป็นสูตร เพื่อให้มีรสชาติเหมือนกับที่เราทำ โดยแม่ครัวสามารถทำได้ โดยตาลจะคัดสรรของดีของขึ้นชื่อจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ อย่างหมูยอ แคบหมู ส่งตรงมาจากเชียงใหม่, ไข่เค็ม ต้องมาจากอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กุ้งแม่น้ำสดๆ จากอยุธยา เท่านั้นค่ะ ที่คัดขนาดนี้เพราะอยากให้ได้ลิ้มลองความอร่อยแบบต้นตำรับ ทำเหมือนเราทำกินเองเลย ส่วนเรื่องรสชาติต้องจัดจ้านตามแบบต้นตำรับอีสาน เพราะการปรุงอาหารก็เหมือนกับงานศิลปะต้องใส่ใจทุกองค์ประกอบ หากพลาดเพียงนิดเดียวก็ทำให้อาหารเสียรสชาติได้
สำหรับการตกแต่งร้านเน้นบรรยากาศกลิ่นอายอีสาน ได้มี พี่ตือ - สมบัษร ถิระสาโรช ช่วยออกไอเดีย ประดับด้วยคำคมเก๋ๆ ให้ข้อคิดที่คุ้นเคยตามท้ายรถสิบล้อ โคมไฟภายในร้านเป็นโคมไม้ไผ่สานเป็นรูปกระติ๊บข้าวขนาดใหญ่ เพื่อให้สัมผัสถึงวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของอีสาน ในสไตล์โมเดิร์น”
ซึ่งเธอบอกกับเราว่าถ้ามาแล้วต้องไม่พลาดกับเมนูซิกเนเจอร์ “ตำแม่พิมพ์” ที่เชฟตาล พิมพ์ชนก เป็นคนครีเอตขึ้นมา โดยสูตรลับอยู่ที่การใช้วัตถุดิบที่สดใหม่ และกุ้งจ่อมอาหารอีสานที่มีวิธีการทำคล้ายการหมักปลาร้า แต่ให้รสเปรี้ยวคล้ายมะขามเปียก มีกลิ่นหอม เป็นส้มตำสำหรับคนที่ไม่ทานปลาร้า ตบท้ายด้วยของหวานคลายร้อน “จั้มบ๊ะ” หรือน้ำแข็งใสแสนอร่อย คิดค้นโดย กูรูขนม เมย์-กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ
“งานนี้ต้องขอบคุณเมย์ที่เป็นคนจุดประกายให้เรา และเป็นคนที่ให้คำแนะนำเยอะมาก ประสบการณ์ในการทำร้านอาหารก็เจออุปสรรคนะ แต่ถือว่าเราเจอน้อยมาก ด้วยความที่เราเตรียมเรื่องสูตรอาหารไว้เป๊ะแล้ว ก็ไม่ต้องมามัวปรับรสชาติอาหารกันอยู่ ตรงนี้เราว่าจะขยายสาขาแน่นอน”
คนข้างกาย กำลังใจหลักสำคัญ
แม้ว่าต้องลุยทั้งธุรกิจผลิตชา “No.57” และกำลังลุยงานใหม่ในงานธุรกิจอาหาร แถมยังพ่วงด้วยตำแหน่งคุณแม่ลูกสอง แต่เธอก็ไม่ได้ก้าวไปเพียงลำพังเพราะมี “คุณบิ๊ก - ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” สามีที่เป็นคนให้คำปรึกษาและกำลังใจช่วยเหลือภรรยาจอมครีเอตคนนี้อยู่ไม่ห่างไปไหน
สำหรับคุณบิ๊ก ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ นั้น ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ (กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์) อยู่ที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ดูแลผลิตภัณฑ์และบริการของ CAT พวกระบบอินเทอร์เน็ต รวมถึงการบริการทั้งหลายของโทรศัพท์ทั้งในและระหว่างประเทศ โดยดูในส่วนของมาร์เกตติ้งและการพัฒนาผลิตภัณฑ์
คุณบิ๊กเล่าให้เราฟังว่า เขาและคุณตาลเริ่มต้นชีวิตการเป็นครอบครัวกันเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยเริ่มคบหากันจากการแนะนำให้รู้จักผ่านเพื่อนรุ่นพี่ที่รู้จักกัน และแม้ว่าจะมีอายุต่างกันถึง 7 ปี แต่เขาก็รู้สึกว่าเขาสามารถคุยกับผู้หญิงจอมครีเอตคนนี้ได้รู้เรื่องและเข้าใจกัน
“เราคบหาดูใจกันประมาณ 1 ปีครึ่งแล้วก็แต่งงานกัน จนตอนนี้แต่งงานกันมา 4 ปีแล้ว เราห่างกัน 7 ปี แต่คุยกันรู้เรื่อง ตาลเป็นผู้หญิงที่มีเหตุผล แม้ว่าเขาจะมีความเป็นผู้หญิงสูง แต่เขาก็มีเหตุผลด้วย ตาลเป็นส่วนผสมที่เหมาะสม มีความเป็นนักวิทยาศาสตร์และความเป็นศิลปิน มีในเรื่องของแรงบันดาลใจแต่ในขณะเดียวกันก็มีเหตุผล และเขาเป็นคนรับฟังคนอื่น ที่สำคัญคือเรามีความคิดอะไรหลายๆ อย่างที่คล้ายกัน”
คู่ชีวิต คู่คิด
อาจจะเพราะความเป็นผู้ใหญ่ด้วยกันทั้งคู่ทำให้ความรักของทั้งสองมีส่วนผสมสำคัญคือความเข้าใจ การให้กำลังใจ และการให้อภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้สามารถประคับประคองความรักจนมีพยานรักแล้วถึง 2 คน
“เราไม่เคยทะเลาะกันใหญ่โตเลยนะ บางทีตาลหงุดหงิดจากสิ่งที่เขาเจอมา ผมก็พยายามอธิบายให้เขาเข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร จริงๆ ทุกอย่างมีเหตุมีผล แต่เวลาคนเราอยู่ในอารมณ์ที่ขุ่นมัวมักจะมองไม่ค่อยเห็นเหตุผล แต่พอผมใช้เวลาอธิบายสักพักเขาจะเข้าใจ ในทางกลับกัน เวลาผมไปเจอเรื่องเหนื่อยเครียดตาลก็จะพูดให้กำลังใจ ซึ่งพอเราผ่อนคลายก็อาจจะค่อยๆ มองเห็นเหตุผล”
โดยคุณตาลช่วยกล่าวเสริมว่า “เรื่องที่บางครั้งเราหงุดหงิดไม่ใช่เรื่องที่เราทะเลาะกันเองนะ แต่อาจเกิดจากสถานการณ์รอบๆ ตัว เช่นเรื่องงาน เรื่องความเหนื่อย ความเครียด แต่วิธีประคับประคองความรักของเราก็คือ เวลาที่ใครเกิดมีความรู้สึกหงุดหงิด อีกคนก็จะผ่อนและพยายามบิวท์ให้สถานการณ์ดีขึ้น”
แม้ว่าจะไม่ใช่ความรักที่หวือหวา แต่ทั้งสองคนมีความเข้าใจ และใส่ใจความรู้สึกของคนข้างๆ มาก นอกจากนั้นเรื่องไลฟ์สไตล์ของทั้งสองยังเหมือนกันสุดๆ เหมือนชนิดที่ว่าสามารถใช้ชีวิตทำกิจกรรมด้วยกันแบบไม่ต้องขัดเขิน
“ผมเป็นผู้ชายที่ไม่ได้มีความสนใจแบบผู้ชายคนอื่นเลย (หัวเราะ) ผู้ชายคนอื่นเขาชอบดูบอล เล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีม ขับรถ สะสมนาฬิกา แต่ผมไม่เลย ผมชอบไปเดินชอปปิ้ง เพราะมันสบายดี ช่วยผู้หญิงเลือกของได้ ชอบทานอาหารอร่อยๆ ชอบพักผ่อนไปเที่ยว ชอบอยู่ในที่เย็นๆ ซะส่วนใหญ่”
“เราชอบใช้ชีวิตกันแบบชิลๆ การไปเที่ยวของตาลคือการเปลี่ยนที่นอน เปลี่ยนที่ทานอาหารอร่อยๆ ไม่ค่อยสมบุกสมบันเท่าไหร่ ตอนคบกันใหม่ๆ ก็พยายามหากิจกรรมไปทำด้วยกัน เช่นเคยไปออกกำลังกายตามกระแสบ้าง แต่ก็ไปได้ประมาณ 1-2 ครั้ง สุดท้ายก็กลับไปหาอะไรทานกันดีกว่า (หัวเราะ)” คุณตาลกล่าวเสริมยืนยันความชอบที่เหมือนกันทั้งสองคน
ไม่ใช่แค่คุยกันรู้เรื่องในเรื่องของไลฟ์สไตล์เท่านั้น แต่ในเรื่องของธุรกิจทั้งสองก็ยังสามารถพูดภาษาเดียวกัน ในยามที่ต้องการคำปรึกษาในเรื่องงาน
“การใช้ชีวิตคู่คือการร่วมทุกข์ ร่วมสุข ผมก็ช่วยให้คำปรึกษาตอนที่เขามีปัญหา แต่ปกติเพราะเขาก็มีความถนัดในเรื่องงานที่เขาทำอยู่แล้ว เพียงแต่เราคอยซัปพอร์ตเขา ตาลเป็นคนมีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในการทำอาหาร อาหารทั้งหมดเขาเป็นคนทำเอง ประกอบกับเขามีความสามารถในการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์อยู่แล้วก็ทำให้ธุรกิจของเขาขับเคลื่อนไปได้”
หน้าที่ความเป็นพ่อแม่ที่ต้องมอบอาวุธ
และไม่ใช่แค่ความรักความเข้าใจที่มีให้กันสองคนเท่านั้น แต่วันนี้ทั้งสองยังมอบความรัก และความห่วงใยให้กับพยานรักทั้งสอง นั่นคือ ลูกชายคนโตวัย 3 ขวบ “น้องเมกะ-ด.ช.ดลสุข สุภัทรพันธุ์” และลูกสาวคนเล็กวัยขวบครึ่ง “น้องลูกพิมพ์-ด.ญ.คล้ายพิมพ์ สุภัทรพันธุ์” 2 แก้วตาดวงใจที่ทั้งพ่อและแม่มอบเวลา 100% ให้กับการดูแลทั้งสองคน โดยคุณพ่อผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว เริ่มเล่าถึงแนวทางในการเลี้ยงลูกให้เราฟังว่า
“ตอนนี้มีลูกแล้วเวลาของเราที่ว่างจากงาน ให้ลูกแทบจะทั้งหมด พาเขาไปเที่ยว ไปออกกำลังกาย ไปเรียนเสริมทักษะ ส่วนเรื่องการอบรมสั่งสอนเขาอย่างแรกเลยคือต้องฝึกให้มีวินัย เพราะเวลาอยู่บ้านอาจจะโดนตามใจบ้าง เราก็เกรงว่าพอมีคนตามใจเยอะๆ นานๆ อาจจะเป็นเด็กเอาแต่ใจ ก็ต้องฝึกเรื่องความมีวินัย ว่าต้องทำอะไรหน้าที่มีอะไร
ส่วนอื่นๆ เราคงจะให้เขาในทุกอย่างที่น่าจะดีกับเขา ส่วนเรื่องการเลือกเป็นของเขาเอง เราเพียงแต่คอยสังเกตความถนัดว่าน่าจะเป็นแบบไหน พยายามที่จะป้อนเข้าไปให้เขาแสดงออกมาว่าเป็นสิ่งที่เขาชอบหรือไม่ แต่เราต้องมีสิ่งที่ดีที่สุดให้เขาเลือก
หน้าที่ของพ่อแม่คือให้อาวุธลูก ถ้าเราไม่ให้อาวุธเขาเขาก็ไปไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือให้ทุกอย่างที่เขาต้องมี แต่เขาจะเอาอาวุธนี้ไปใช้แบบไหนอย่างไรเป็นหน้าที่ของเขา ถ้าเขาใช้ถูกเขาก็ประสบความสำเร็จ แต่การที่จะให้เขาประสบความสำเร็จคือเราต้องมีอาวุธให้เขาก่อน”
ในเรื่องของการสร้างลักษณะนิสัยนั้นปล่อยให้เป็นเรื่องของคุณพ่อ ส่วนคุณแม่นั้นจะดูในเรื่องของสุขอนามัยลูกและคอยให้ความใกล้ชิดลูกอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
“เลี้ยงลูกเองค่อนข้างเหนื่อย ตอนนี้คนโตป่วยบ่อยต้องคอยดูแลใกล้ชิด ยิ่งงานเยอะยิ่งต้องจัดชีวิตให้เป็นตารางมากขึ้น และพยายามทำตามตารางเพื่อไม่ให้ตกหล่น ทั้งเลี้ยงลูกและดูแลร้าน แต่ปกติกลางคืนก็จะต้องพาลูกเข้านอนเอง”
ไม่ว่าจะด้วยความใส่ใจรายละเอียดในการทำงาน และการใส่ความรักในการดูแลครอบครัว ทั้งสองส่วนเป็นการจัดสมดุลให้นักบริหารสาวคนนี้ประสบความสำเร็จ และอีกสิ่งหนึ่งที่เธอบอกว่าขาดไม่ได้นั่นคือการลงมือทำในสิ่งที่รัก และใช้ความรักนั้นมาเป็นพลัง ในการทำทุกอย่างให้เติบโตอย่างมั่นคง :: Text by FLASH