xs
xsm
sm
md
lg

พิมพ์ดาว สุขะหุต เผยประสบการณ์นำ Sretsis บุกตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>ถ้าพูดถึงแบรนด์แฟชั่นของไทยที่ได้การยอมรับในตลาดต่างประเทศ Sretsis นับได้ว่าเป็นแบรนด์อันดับต้นๆ ที่สามารถพูดคำว่า “โกอินเตอร์” ได้อย่างเต็มปาก โดยนับได้ว่าเป็นรุ่นพี่แนวหน้าที่พาแบรนด์สัญชาติไทยไปปักธงในตลาดโลกได้อย่างงดงาม และวันนี้เราได้ 1 ใน 3 พี่น้องสาวของ Sretsis อย่างดีไซเนอร์คนเก่ง “เอ๋ย-พิมพ์ดาว สุขะหุต” มาถ่ายทอดประสบการณ์ในการสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างโดดเด่นนี้

แบรนด์ Sretsis เริ่มต้นครั้งแรกต้องย้อนไปเกือบ 13 ปีที่แล้ว ในปี พ.ศ. 2546 ที่ตอนนั้นสาวเอ๋ยยังเรียนอยู่ที่ Parsons สถาบันแฟชั่นชื่อดังระดับโลกที่นิวยอร์ก

“เริ่มทำแบรนด์จาก Passion ความสนุก อยากทำ Collection ที่ได้เอาความรู้ที่เรียนมาไปใช้อย่างเต็มที่ คือไม่ใช่แค่ผลิตของเป็นชิ้นๆ แล้ววางขาย แต่ทำเป็นแฟชั่นโชว์เต็มรูปแบบ ครบวงจร แบรนด์ก็เลยเกิดจากตรงนั้น หลังจากนั้นก็สร้างผลงานออกมาเรื่อยๆ และจากนั้นไม่นานก็เป็นจังหวะดีที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย เกิดโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น ขึ้น แบรนด์ Sretsis ก็ได้เข้าร่วมด้วย และได้ร่วมออก Roadshow ไปงานแฟร์ต่างๆ โชว์ผลงาน แนะนำแบรนด์ของเราไปโชว์ในหลายประเทศ”

จากแค่ Passion ที่คิดอยากทำ...สู่การสร้างแบรนด์ Sretsis ค่อยๆ เก็บเกี่ยวเรียนรู้จากประสบการณ์

“เราได้รับการตอบรับจากทั้งในและต่างประเทศ จากแค่ความชอบก็กลายเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ มีการผลิตเป็นระบบ ยิ่งพอมีลูกค้าต่างชาติ ยิ่งต้องเรียนรู้อะไรหลายอย่าง ทั้งการส่งออก การทำราคา ภาษี ฯลฯ โดยเราเริ่มจากส่งออกไปที่สหรัฐอเมริกาก่อน เป็นตลาดที่เราคุ้นเคย เพราะเอ๋ยเองก็เรียนที่นั่น คือนับเป็นตลาดใหญ่ของเราในช่วง 5 ปีแรก

หลังจากนั้นตลาดอเมริกาเริ่ม Down ทั้งด้วยปัญหาเศรษฐกิจและอีกหลายปัจจัย พวกร้าน Selected Shop ที่เลือกสินค้าเราไปวางขาย ก็เริ่มปิดตัวลง หรือไม่ก็โดน Take Over จากพวกแบรนด์ยักษ์ใหญ่เมนสตรีม เราจึงเริ่มมองหาตลาดใหม่ๆ ก็เป็นโชคดี ที่เราเริ่มได้รับการตอบรับจากตลาดญี่ปุ่น”

โดย Sretsis เริ่มเป็นที่รู้จักในญี่ปุ่นมาหลายซีซันจากบรรดาแฟชั่นนิสต้าและเหล่าเทรนด์เซตเตอร์บ้างแล้วจากดีไซน์อันโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ จนกระทั่งในปี 2554 ทางแบรนด์จึงจัดให้มี Press Presentation อย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรก โดยโชว์คอลเลกชัน Up in the Clouds ซึ่งได้เสียงตอบรับที่ดีมาก ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายขึ้น

“ตลาดญี่ปุ่นนับเป็นตลาดที่มีความ Unique สูง คือ อย่างปกติ การทำวิจัยจะจับกลุ่มตลาดเป็นโซนๆ แบบตลาดยุโรป ตลาดอเมริกา หรือตลาดเอเชีย แต่ญี่ปุ่นไม่ถูกจัดอยู่ในตลาดไหนเลย เป็นตลาดญี่ปุ่นโดยเฉพาะ เพราะเขามีความ Complicated เฉพาะตัวมาก

ตลาดที่นี่เข้ายาก เพราะเขาเป็นผู้นำแฟชั่นของเอเชีย เขาก้าวไปไกลแล้ว เทียบได้กับฝั่งตะวันตก และที่สำคัญคือไม่ค่อยเปิดรับแบรนด์ใหม่ๆ แต่ถ้าเราสามารถทำให้เขาเชื่อใจ โดนใจเขาแล้วก็สบายเลย เพราะแม้จะเข้าได้ยาก แต่ถ้าเข้าได้แล้วจะอยู่ได้นาน ลูกค้ามีความ loyalty สูงมาก”

การจะส่งออกแบรนด์ออกไปยังประเทศต่างๆ การเข้าใจถึงตลาดที่นั่นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะตลาดแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ประสบความสำเร็จในแต่ละที่

“อย่างของญี่ปุ่นจะเซนซิทีฟกับอากาศมาก หน้าร้อนต้องชุดซัมเมอร์ หน้าฝนต้องมีร่ม หน้าหนาวก็ต้องมีโค้ต และจะขายสลับฤดูไม่ได้นะ คนไม่หยิบเลย หรืออย่างเทศกาลต่างๆ ก็ต้องมีคอลเลกชันพิเศษ อย่างช่วงซากุระ หรือ ปีใหม่ก็ต้องทำ Lucky Bag ตามธรรมเนียมของญี่ปุ่น

แถมรสนิยมของแต่ละที่ก็ต่างกัน อย่างเวลาทำคอลเลกชัน เอ๋ยทำแบบเดียวกัน ส่งไปทั่วโลก ก็จะเห็นเลยว่ายอดสั่งแต่ละที่แตกต่างกันไป ชิ้นที่ขายดีที่ญี่ปุ่น อาจขายไม่ออกเลยในบ้านเรา มันเลยต้องมีการเรียนรู้ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคให้เข้าใจ...

แต่ก็ต้องอย่าให้ Demand ที่แตกต่างหลากหลายนี้ มันส่งผลต่อการออกแบบของเรา ยังไงสไตล์เรายังต้องคงอยู่ อย่าสูญเสียตัวตนของเราไป เพียงแค่ต้องรู้จักนำเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาช่วยปรับแต่งให้สินค้าเหมาะกับแต่ละตลาดให้ได้”

คุณเอ๋ยทิ้งท้ายถึงหัวใจในการสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ คือ “การรู้จักบาลานซ์ระหว่าง ความชอบ Passion กับธุรกิจ มันต้องมีควบคู่กันทั้งสิ่งที่อยากทำ กับสิ่งที่ตอบสนองตลาด ถ้ามากไปในทางไหนก็ไม่ดี อย่างเอ๋ยในทุกคอลเลกชัน เอ๋ยจะมีชิ้นที่โดนใจตลาด ยอดสั่งเยอะ คนซื้อใช้จริง กับชิ้นที่เป็น Press Piece ชิ้นที่เราสนุกที่จะทำ แบบโชว์สไตล์ที่โดดเด่นแต่อาจจะไม่เหมาะกับการใส่จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งพวกนี้มักจะขายไม่ได้ แต่สื่อชอบมาก เด่นสุด ฝ่ายมาร์เกตติ้งจะท้วงตลอดว่าไม่น่าจะถูกใจตลาด และไม่คุ้ม เพราะพวกนี้จะต้นทุนสูง ทำยาก แต่เราก็ทำ มันต้องมีไว้...

เพราะมันคือความสุขของเรา ตอบสนอง Passion ตัวเองบ้าง ไม่ใช่ไปยึดแต่ยอดขายอย่างเดียว”

Tips
“การไปออกงานแฟร์ ไป Roadshow แฟชั่นวีกต่างประเทศ อย่าเพิ่งไปหวังว่าจะต้องโกยยอดออเดอร์กลับมา ให้มองว่าเป็นการไปแนะนำตัวให้คนรู้จักเรา โดยเพาะอย่างยิ่งถ้าไปครั้งแรกๆ เรื่องพวกนี้ต้องใช้ความอดทน ให้เวลาเขาได้ศึกษาแบรนด์เราก่อน เพราะ Buyer เขาไม่ได้มาเดินดูแล้วถูกใจแบรนด์ไหนก็สั่งซื้อเลย แต่เขาต้องดูไปถึงความเป็นมืออาชีพของแบรนด์ด้วย อย่างบางคนนี่ดู 3-4 ซีซันถึงจะวางใจสั่งซื้อ คือเขาไม่อยากเสี่ยง ยิ่งหน้าใหม่ๆ ไม่รู้จัก ไม่รู้ว่ามีความรับผิดชอบแค่ไหน แต่ถ้ากลับมาโชว์อีกหลายๆ ซีซัน เขาก็เห็นถึงความตั้งใจจริง ความมั่นคงของแบรนด์” :: Text by FLASH
กำลังโหลดความคิดเห็น