xs
xsm
sm
md
lg

“ความสวยงามอันแสนเศร้า” ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ในภาพถ่าย 15 ช่างภาพ AFP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ART EYE VIEW--- “สวยงาม...แต่ก็ทำให้รู้สึกเศร้ามากๆ” ผู้ชมหญิงชาวต่างชาติรายหนึ่งเผยความรู้สึก พร้อมมีน้ำตาคลอ หลังจากที่ผ่านการชมภาพถ่ายจำนวนหลายภาพที่จัดแสดงในนิทรรศการ “การเดินทางอันยาวนาน” นิทรรศการแสดงภาพถ่ายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพทั้งในยุโรปและในเอเซีย ของ Agence France Presse หรือที่คนทั่วไปรู้จักดีในชื่อ สำนักข่าว AFP (เอเอฟพี) เนื่องจากภาพถ่ายแต่ละภาพได้สะท้อนถึงชะตากรรมของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพอย่างแจ่มชัด


เอเอฟพี เป็นสำนักข่าวระดับโลก ที่รายงานสถานการณ์สำคัญต่างๆทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นข่าวสงครามและความขัดแย้ง ไปจนถึงข่าวการเมือง กีฬา สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการค้นพบใหม่ๆทางด้านสุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีห้องข่าวถึง 200 ห้องทั่วโลก ที่รายงานสถานการณ์ทั่วโลกทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ใน 6 ภาษา ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน อาราบิก สเปน และโปรตุเกส ทั้งในรูปแบบ วีดีโอ ข่าว ภาพถ่าย มัลติมีเดีย ภาพกราฟิก และวีดีโอกราฟิก

และทีมมัลติมีเดียของเอเอฟพีรายงานความขัดแย้งในประเทศซีเรีย ผู้ลี้ภัยซึ่งพยายามเดินทางข้ามชายแดนยุโรปและเหยื่อของเรือที่ถูกทิ้งหรือจมทะเลเป็นประจำทุกวัน

เมื่อไม่นานมานี้ ภาพถ่ายซึ่งนำเสนอภาพผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ถูกปล่อยกลางทะเลระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 ผลงานของ คริสตอฟ อาชอมโบลต์ หัวหน้าช่างภาพเอเอฟพีประจำกรุงเทพ ได้รับรางวัลจากการประกวดภาพถ่าย 2016 Days Japan

และภาพถ่ายผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่กำลังพยายามข้ามรั้วลวดหนามที่ด่านชายแดนเมืองอัคชาคาเลในประเทศตุรกี ผลงานของ บูลันท์ คูลิชท์ หนึ่งในจำนวนช่างภาพของเอเอฟพี ได้รับรางวัลจากการประกวด World Press Photo

โดยภาพถ่ายของ คริสตอฟ อาชอมโบลต์ และบูลันท์ คูลิชท์ ที่ได้รับรางวัลตามที่กล่าวมา เป็นส่วนหนึ่งของภาพถ่ายผู้ลี้ภัยในยุโรป (เริ่มถ่ายตั้งแต่ฤดูไม้ผลิของ ปี 2558) และผู้อพยพในเอเชีย(เริ่มถ่ายตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2558) ถ่ายโดยช่างภาพเอเอฟพี จำนวน 15 คน ที่ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ “การเดินทางอันยาวนาน” ในครั้งนี้ด้วย


นิทรรศการ “การเดินทางอันยาวนาน” เปิดแสดงให้ชมระหว่างวันที่ 3 - 29 พฤษภาคม พ.ศ.2559 ณ บริเวณผนังโค้งของ ชั้น 3 และ 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นอกจากสำนักข่าวเอเอฟพี ยังมีหน่วยงานที่ร่วมจัด ได้แก่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)และสำนักงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและปกป้องพลเรือน ( ECHO)

ในวันเปิดนิทรรศการเมื่อวันพุธที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ ฟิลิป มาซอนเน่ ผู้อำนวยการสำนักข่าวเอเอฟพีประจำภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก ,คาซูโตชิ นากาซากะ ผู้ช่วยผู้แทนประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ส่วนภูมิภาค และ เฆซุส มิเกล ซันส์ ทูตของสหภาพยุโรป จะเดินทางมาร่วมเป็นประธานเปิดนิทรรศการ

ได้มีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์การถ่ายภาพวิกฤตผู้อพยพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย คริสตอฟ อาชอมโบลต์ หัวหน้าช่างภาพเอเอฟพีประจำกรุงเทพ และ เย ออง ตู ช่างภาพเอเอฟพี ประจำเมียนมาร์

โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นชาวไทยและต่างชาติที่กำลังติดตามข้อมูลและมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่อง สิทธิมนุษยชน, การเมืองในพม่า และขบวนการค้ามนุษย์
คริสตอฟ อาชอมโบลต์  หัวหน้าช่างภาพเอเอฟพีประจำกรุงเทพ

ท่ามกลางคำถามที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น คุณถ่ายภาพยากไหม มีอุปสรรคอะไรบ้าง ถูกข่มขู่บ้างหรือเปล่า คุณเข้าถึงผู้อพยพได้อย่างไร คุณติดต่อใคร ฯลฯ

พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน จากองค์กร FORTIFY RIGHTS ตั้งคำถามกับ คริสตอฟ อาชอมโบลต์ หัวหน้าช่างภาพเอเอฟพีประจำกรุงเทพ ว่ายังสนใจที่จะตามต่อไหมว่า ล่าสุดผู้อพยพไปอยู่ที่ไหน แล้วสิทธิของพวกเขาเป็นอย่างไร ได้สิทธิของความเป็นผู้ลี้ภัยหรือเปล่า ยังคงถูกละเมิดสิทธิ และไปตกอยู่ในวงจรของขบวนการค้ามนุษย์หรือเปล่า

หลังจากที่เมื่อปี พ.ศ.2558 คริสตอฟ คือผู้ตามไปบันทึกภาพชะตากรรมของผู้อพยพชาวโรฮิงญา ชาย หญิง เด็ก และทารก เกือบ 400 คน ที่บรรทุกมาในเรือประมงไม้ลำหนึ่ง คราวที่มาลอยลำอยู่นอกชายฝั่งของเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นภาพที่ขัดแย้งอย่างรุนแรง กับภาพที่ผู้คนกำลังมีความสุขกับวันพักผ่อนบนเกาะที่สวยงาม กำลังดำน้ำ ดูปะการัง ฯลฯ เพราะบริเวณนอกชายฝั่งของเกาะหลีเป๊ะออกไปราว 17 กิโลเมตร มีผู้อพยพจำนวนมากที่กำลังตะเกียกตะกายที่จะเอาชีวิตรอด กระทั่งติดตามผู้อพยพเหล่านี้ไปกระทั่งได้ขึ้นฝั่งที่ประเทศอินโดนีเชีย

คริสตอฟตอบว่ายังสนใจ เพราะเขาเองก็อยากรู้ว่าท้ายที่สุดแล้วผู้อพยพเหล่านี้ไปถึงไหนบ้าง แต่ยังทำไม่ได้ เป็นเรื่องยากที่ช่างภาพเช่นเขาจะเข้าถึงผู้อพยพเหล่านี้ เนื่องจากปัจจุบันผู้อพยพบางคนอาจจะอยู่ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือบางคนอยู่ในสถานพักพิงของสหประชาชาติ ของผู้ลี้ภัย ฯลฯ

ขณะที่ เย ออง ตู ช่างภาพเอเอฟพี ประจำเมียนมาร์ ถูกตั้งคำถามว่า เขามีความคิดเห็นอย่างที่ประเทศของเขาซึ่งยังมีปัญหาเรื่องชาวโรฮิงญา และเมื่อไม่นานมานี้ นางอองซาน ซูจี กระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์ ได้มีหนังสือส่งไปยังทูตประเทศต่างๆ เพื่อขอให้เลิกเรียกพวกเขาเหล่านี้ว่า “โรฮิงญา” แต่ให้เรียกว่าชนกลุ่มน้อยไร้รัฐชาวมุสลิม

ช่างภาพหนุ่มสังกัดสำนักข่าวเอเอฟพี ซึ่งเป็นชาวเมียนมาร์ แท้ๆ ตอบว่า... “หน้าที่ผมคือการเป็นช่างภาพ คือการนำเสนอข้อเท็จจริง ถ่ายทอดชะตากรรมและความความเจ็บปวดของคนเหล่านี้ออกมาให้ผู้คนรับรู้ผ่านภาพถ่าย ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ส่วนการจะเรียกคนเหล่านี้ว่าอะไรให้เป็นข้อตกลงทางด้านการเมืองดีกว่า”

และในนิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้ เย ออง ตู ก็เป็นหนึ่งในช่างภาพของเอเอฟพีที่มีภาพถ่ายที่สะท้อนถึงชะตากรรมของชาวโรฮิงญาในพม่ามาร่วมจัดแสดงด้วย จำนวน 3 ภาพ

อาทิ ภาพถ่ายที่มีมุมมองที่สวยงามแต่แสนเศร้า ซึ่งเป็นเรื่องราวของชาวโรฮิงญาผู้รอดชีวิตจาก 700 คน ที่ได้รับความช่วยเหลือกำลังรองรับน้ำฝนในค่ายผู้อพยพชั่วคราว ใกล้กับท่าเรือคะยินชวง ในเมืองมีติ๊ก นอกเมืองมองดาว ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2558

รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ ถ่ายภาพโดย : ธัชกร กิจไชยภณ และวรวิทย์ พานิชนันท์





ฟิลิป มาซอนเน่ ผู้อำนวยการสำนักข่าวเอเอฟพีประจำภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก ,คาซูโตชิ นากาซากะ  ผู้ช่วยผู้แทนประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ส่วนภูมิภาค และ เฆซุส มิเกล ซันส์ ทูตของสหภาพยุโรป
ฟิลิป มาซอนเน่ ผู้อำนวยการสำนักข่าวเอเอฟพีประจำภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก
เย ออง ตู ช่างภาพเอเอฟพี ประจำเมียนมาร์







ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น