xs
xsm
sm
md
lg

นริสสา อมรวิวัฒน์ กำลังใจจากคู่ชีวิต ยาวิเศษพิชิตโรคร้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


>>การได้รับข่าวว่าตัวเองเป็นโรคร้าย อาจมองว่าชีวิตเดินทางมาถึงปากเหว แต่ละคนต่างมีวิธีรับมือกับวิกฤตแตกต่างกันไป นอกจากการมองโลกในแง่ดีแล้ว กำลังใจก็ถือเป็นยาชั้นดี แต่สำหรับบางคนไม่เพียงพลังใจจากคนข้างกายเท่านั้น “การส่งต่อความสุข” กลับเป็นอีกทางรับมือโรคร้ายที่สร้างแรงใจได้ดีไม่แพ้กัน อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับ “แอ้-นริสสา อมรวิวัฒน์” ภรรยาของ “ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” ที่พิชิตโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมาแล้วจากแนวทางนี้

นริสสาบังเอิญตรวจพบมะเร็งเมื่อ 4 ปีก่อน จากการตรวจสุขภาพประจำปี แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงมะเร็งไม่ว่าใครก็ต้องผวา นริสสาเองก็รู้สึกไม่ต่างกัน ทั้งที่เธอเป็นคนใส่ใจดูแลตัวเองมาตลอด จึงทำให้ไม่คาดคิดว่าต้องมาเผชิญกับสถานการณ์นี้

“ก็ตกใจนะ ตอนแรกตรวจเจอก้อนในม้าม เราก็ตัดม้ามเพื่อเอาก้อนเนื้อไปตรวจ ถึงพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งระบบต่อมน้ำเหลืองจะมีหลายอวัยวะที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ม้ามก็เป็นหนึ่งในนั้น พอตัดม้ามออกเราก็ต้องเช็กอัพว่าลามไปจุดอื่นไหม หลังจากนั้นก็ลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแถวๆ ไหปลาร้า เราก็ผ่าออก จากจุดนั้นเราถึงเริ่มตรวจอย่างละเอียด ถึงพบว่าลามไปหลายจุดแล้ว”

เมื่อถึงจุดนั้นนริสสาตัดสินใจออกจากงานมารักษาตัวเองอย่างเต็มที่ โดยเริ่มรักษาตามขั้นตอนทั้งการทำเคมีบำบัดในช่วงแรกจนมาถึงการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งเป็นขั้นตอนการรักษาที่หนักหน่วงกว่าเดิมหลังจากพบว่ามะเร็งหวนกลับมาอีกเป็นครั้งที่สอง ซึ่งผลข้างเคียงของการรักษาทำให้การดำเนินชีวิตพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะช่วงหลังของการรับเคมีบำบัด แม้แต่แรงนั่งก็ยังไม่มี เมื่อมาถึงจุดที่เข้ารับการปลูกถ่ายไขกระดูก ผลข้างเคียงยิ่งลุกลาม ตั้งแต่ผมร่วง ทานอาหารไม่ได้ อาเจียน ท้องเสีย เจ็บคอรุนแรง ลิ้นไม่รับรสอาหาร และท้ายสุดคือต้องให้สารอาหารผ่านทางเลือด

จากเวิร์กกิ้งวูแมนกลายเป็นคนป่วยต้องนอนอยู่บนเตียงที่แม้แต่กลืนน้ำลายยังทรมาน แต่นริสสากลับเต็มไปด้วยพลังใจและวิธีมองโรคได้อย่างแตกต่าง จากการซึมซับและผสมผสานวิธีคิดทางสายธรรมของตะวันออกและสายจิตวิทยาของตะวันตก ที่ให้ยึดพลังของการจินตนาการเชิงบวก

“อย่าไปคิดว่ามันเป็นประสบการณ์เลวร้าย อย่าไปคิดว่าทำไมต้องเกิดขึ้นกับเรา เรามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้น คงเพราะเราเคยทำกรรมไว้ คือเราเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมอยู่แล้ว ยังไงเราก็ต้องรับ แต่เรามาคิดว่าจะรับยังไงให้มีความสุขดีกว่า ถ้าเราไม่เคยปฏิบัติธรรมมาก่อนคงไม่มีทางคิดแบบนี้ได้ คือร่างกายเราต้องเสื่อม ต้องเจ็บอยู่แล้ว เพราะมันเป็นธรรมดาของชีวิต เพียงแต่เราแยกกายกับใจออกจากกัน กายจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ กายอยู่ส่วนกาย ใจอยู่ส่วนใจ”

จากประสบการณ์ครั้งนี้ คู่ชีวิตอย่างณัฐวุฒิเข้ามามีบทบาทสำคัญ ผู้เป็นทั้งกำลังกายและกำลังใจให้กับภรรยา สมดังคำปฏิญาณที่มักได้ยินอยู่เสมอว่า “จะอยู่เคียงข้างกันแม้ยามสุข ทุกข์ หรือป่วยไข้” ซึ่งณัฐวุฒิไม่เพียงอยู่เคียงข้าง แต่ยังช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความสุขท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ ทุกถ้อยคำทุกกิจกรรมจากสามี กลายเป็นแรงใจและแรงผลักดันให้นริสสาต่อสู้ และไม่ใช่สู้เพียงเพื่อตัวเอง แต่เพื่อมีชีวิตอยู่ดูแลคนที่รัก

“เรายังไม่ค่อยได้ทำอะไรให้พ่อแม่เท่าไรเลย กับสามีก็เช่นกัน เขาเป็นคนดูแลเรามาตลอดเกือบ 20 ปีที่อยู่ด้วยกัน ขณะที่เราดูแลเขาน้อยมาก ทำให้คิดว่าเราต้องมีอย่างน้อยอีก 20 ปีที่จะทำให้เขาบ้าง ณัฐเป็นคนร่าเริงตามธรรมชาติ คิดบวก อย่างเรื่องที่เราป่วย เขาไม่เคยแสดงออกให้เห็นเลยว่ากังวลหรือทุกข์ใจ เขาเป็นหลักให้เราได้ ตอนอยู่ในห้องปลอดเชื้อ เขาจะหากิจกรรมต่างๆ มาให้ทำ หาภาพยนตร์ดีๆ หรือเพลงมาเปิดให้เรา เอาจักรยานมาให้ลองปั่น ทำให้เราสนุก ได้หัวเราะ ทำให้รู้สึกว่าเขารักเรา ไม่ว่าเราจะโทรมแค่ไหน”

แต่ในความโชคร้ายยังมีความโชคดี เพราะโรคร้ายนี้ได้เปลี่ยนมุมมองในการมองโลกของนริสสาโดยสิ้นเชิง ระหว่างการรักษาในห้องปลอดเชื้อ เวลาที่มีเหลืออย่างมากมาย นริสสาได้มีโอกาสทำหลายสิ่งหลายอย่างอย่างที่ไม่เคยทำ ไม่ว่าจะเป็นศึกษาคำสอนของศาสนาพุทธและการเดินสายกลางมาปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะได้ใช้เวลากับสามีส่งต่อความสุขทางใจ ด้วยการช่วยอ่านหนังสือให้คนตาบอดผ่านการอัดเสียงลงในสมาร์ทโฟนใน “Read for the Blind” แอปพลิเคชันอ่านหนังสือให้คนตาบอด และช่วยกันสร้างเฟซบุ๊กเพจ “ช่วยอ่านหน่อยนะ” ที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือระดมอาสามาเป็นสมาชิกเพจทำหน้าที่แทนตาให้คนตาบอด เพื่อส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับคนตาบอดเท่าที่จะทำได้

“ระหว่างอยู่ในห้องปลอดเชื้อ เราก็มาช่วยกันใช้ Read for the Blind อ่านคลิปเสียงจากหนังสือธรรมมะให้คนตาบอด และก็ช่วยสร้างเพจ ทดสอบระบบ ถ่ายรูปตัวอย่างของคนตาบอดที่อยากจะอ่านให้ฟัง เคยได้ยินว่ามีคนป่วยคนหนึ่งเขาป่วยมากและใช้เวลา 29 วัน ทำสิ่งดีๆ ให้คนอื่น ปรากฏว่าผ่านไป 29 วันอาการดีขึ้น เราเลยคิดว่าการให้น่าจะทำให้มีความสุข ซึ่งมันก็มีความสุขจริงๆ ทุกวันนี้ก่อนนอนจะขอบคุณในใจทุกวันที่ยังมีลมหายใจอยู่และขอบคุณสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นกับเราในแต่ละวัน มีความสุขมากกว่าก่อนป่วยอีก เชื่อว่าหลายๆ คนที่ผ่านโรคร้ายมาคงจะเป็นเหมือนกัน”

การหวนกลับมาอีกครั้งของมะเร็งในรอบที่ 2 ช่วยเป็นบทเรียนชีวิตครั้งสำคัญของเธอ “แอ้รู้สึกว่าแม้ป่วยเป็นโรคนี้แต่ก็คุ้มนะ เพราะทัศนคติการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปมาก เราเชื่อว่าการที่รอบแรกหายแล้วกลับมาป่วยอีกครั้ง เพราะกังวลกับการดูแลตัวเองมากเกินไป กลัวจะติดเชื้อโรค ขนาดไม่กล้าเดินในสวนบ้านตัวเอง ไม่กล้ากระทั่งกลืนข้าวเพราะกลัวติดคอ ซึ่งมันทำให้เราเครียด กังวลตลอดเวลา ซึ่งมันไม่ถูกต้อง เราจึงปรับทัศนคติใหม่ ต่อสู้กับโรคร้ายไปพร้อมกับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขบนทางสายกลาง...

จากตั้งแต่เด็กจนโต ความสุขไม่เคยเป็นอันดับหนึ่งในการใช้ชีวิต เราใช้ชีวิตเพื่อจะประสบความสำเร็จ ทั้งหน้าที่การงาน การเรียน แต่ทุกวันนี้ แอ้มองความสุขเป็นหลักนะคะ และที่สำคัญคือหันกลับมาดูแลตนเองและดูแลคุณณัฐให้เยอะขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ต้องทำทุกวันให้ดีที่สุดค่ะ”

ในทุกเหตุการณ์ที่เข้ามาในชีวิตมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าคุณรู้จักเก็บเกี่ยวมุมมองดีๆ เหมือนอย่างที่นริสสาเรียนรู้จากประสบการณ์การเผชิญหน้าโรคร้ายนี้ และหวังว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่จะสร้าง “ความหวัง” ให้กับผู้ที่ต้องประสบเหตุการณ์เดียวกับเธอเช่นกัน :: Text by FLASH
กำลังโหลดความคิดเห็น