>>อากาศดีๆ ในช่วงต้นปีพาเราบุกไปถึงไร่องุ่น “กราน-มอนเต้ วินยาร์ด แอนด์ ไวเนอรี” ของครอบครัวโลหิตนาวี ซึ่งเราได้รับเกียรติจาก “คุณวิสุทธิ์-คุณสกุณา โลหิตนาวี” เจ้าของไร่และผู้ก่อตั้ง รวมไปถึงไวน์เมกเกอร์หญิงคนแรกของเมืองไทย “นิกกี้-วิสุตา โลหิตนาวี” ที่นอกจากจะพาเราเที่ยวชมไร่องุ่น 100 ไร่ และพาไปชมกระบวนการผลิตไวน์แล้ว ทั้งสามยังมานั่งพูดคุยถึง 12 ปี ในการปลุกปั้นจนเป็นไร่องุ่นสำหรับผลิตไวน์สัญชาติไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก
"กราน-มอนเต้" (Gran-Monte) เป็นภาษาอิตาเลียนที่เอามาผนวกกันแปลว่า "เขาใหญ่" กราน คือ ใหญ่ มอนเต้ คือ เมาน์เทน เป็นชื่อที่ได้มาจาก “มาลินี พีระศรี” ภรรยาของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นคนตั้งชื่อให้ไร่องุ่นแห่งนี้ หลังจากที่เราเดินชมไร่องุ่นจนทั่ว คุณวิสุทธิ์ ผู้ก่อตั้งได้เริ่มเล่าเรื่องราวของไร่องุ่นร้อยล้านนี้ให้เราฟังอย่างเป็นกันเอง
"ผมจบการศึกษาด้านวิศวกรรมยานยนต์จากเยอรมนี กลับจากเยอรมนีมาทำงานเกี่ยวกับรถยนต์กับบริษัทในเครือของธนบุรีพานิช เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือยานยนต์สมัยเริ่มต้น หลังจากนั้นผมก็แยกตัวมาทำงานบริษัทอังกฤษตั้งแต่ปี 1973 ทำงานมา 30 กว่าปี จนกระทั่งเมื่อปี 2004 ก็ถึงเวลาเกษียณอายุ ซึ่งด้วยความที่เรายังไม่อยากหยุดศักยภาพของตัวเอง ผมเริ่มวางแผนตั้งแต่ก่อนเกษียณแล้วว่าเราจะทำอะไรต่อไปดี
ตัวผมเองตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนที่เยอรมนี ได้มีโอกาสเดินทางไปยังบริเวณริมแม่น้ำไรน์ ซึ่งปลูกองุ่นและทำไวน์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน และมีชื่อเสียง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นไวน์ขาว ประจวบกับโดยส่วนตัวเป็นคนชอบดื่มไวน์ และผมก็มีที่และมีคนรู้จักอยู่แถวเขาใหญ่ ความจริงเรามีที่อยู่ที่มวกเหล็กเป็นของคุณพ่อคุณแม่ แต่ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศไม่เหมาะ เราจึงมาซื้อที่ที่เขาใหญ่ จนกลายมาเป็นโครงการนี้
การทำไวน์ เป็นความฝันของหลายๆ คน โดยเฉพาะคนไทยที่นิยมดื่มไวน์ คนไทยที่มีการศึกษา มีฐานะดี หรือเคยอยู่ต่างประเทศมาก่อน การดื่มไวน์ถือว่าเป็นเรื่องของชนชั้นกลาง เป็นความนิยมที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองนอก หรือเมืองไทย”
บุกเบิกบนที่ดิน 100 ไร่
เมื่อคิดที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและสนใจ คุณวิสุทธิ์เริ่มเข้ามาซื้อที่ดินบริเวณหุบเขาอโศกตั้งแต่ปี 1998 และเริ่มเคลียร์ปรับพื้นที่ก่อนที่จะเริ่มเข้ามาทำอย่างเป็นทางการอีกครั้งในปี 2004 หลังจากที่เกษียณอายุจากชีวิตมนุษย์ทำงานที่ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ กลายเป็นทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ แม้จะเป็นการทำงานที่มากขึ้น แต่เป็นความสุขใจที่ได้เริ่มทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ
“จริงๆ เราเริ่มเข้ามาทำไร่ตั้งแต่ก่อนเกษียณสัก 4-5 ปี คิดไว้เป็นแผนเลยว่าหลังจากเกษียณจะทำเป็นไร่ไวน์ เพราะส่วนหนึ่งที่นี่อากาศดี แล้วเราก็ศึกษาจากบทเรียนของคนอื่นที่เขาเริ่มทำมาก่อนเรา จากเพื่อนในวงการที่มีประสบการณ์ที่เขามาแบ่งปันกัน เช่นที่เชียงราย เชียงใหม่ คนที่ลองไปทำแล้วพบว่าไม่ค่อยเวิร์ก อากาศเย็นก็จริงแต่มีความชื้นสูง แสงแดดไม่พอ แต่ที่นี่ไม่มีปัญหาเรื่องเหล่านั้น
เราซื้อเป็นที่ดิน 2 ส่วน แปลงแรก 50 ไร่ และขยายแปลงที่ 2 อีก 50 ไร่ เริ่มปลูกองุ่น ทำที่พักของเราเอง และสร้างเกสต์เฮาส์เล็กๆ จากนั้นก็เริ่มมีร้านอาหาร จะบอกว่าจังหวะดีหรือโชคดีด้วยก็ว่าได้ เพราะการดื่มไวน์เริ่มบูมพอดี พอเราเกษียณจึงมีเวลาให้กับงานที่ไร่มากขึ้น จากเคยทำงานสัปดาห์ละ 5 วันเป็นสัปดาห์ละ 7 วัน
ช่วงเริ่มต้นเหนื่อยนะ ถ้าใครมีความฝันอยากที่จะทำไร่องุ่น ผมแนะนำว่า ‘อย่า!’ (หัวเราะ) แต่ว่าก็ไม่ถึงกับเลือดตาแทบกระเด็น เพราะผมไม่ค่อยเข็ดกับความลำบาก วันๆ ผ่านไปก็หลับสบาย ตื่นมาค่อยคิดใหม่ ไม่เคยถึงกับนอนไม่หลับ เหนื่อยก็จริงแล้วมันก็ผ่านไปได้ไม่ยากนะ ความหวังมันมีแต่ว่ามันต้องลงแรงทำด้วย
ถ้าเราไม่คลุกอยู่แบบนี้ก็ไปไม่ได้ดี ถึงเราจะให้คนงานทำก็จริงแต่เราก็ต้องดูเรื่องการจัดการ แต่ว่าผมชินกับการทำงานหนักแล้วเพราะบริษัทของอังกฤษที่เคยทำมานานกว่า 30 ปี ผมก็เป็นผู้บริหารชนิดที่ลงไปคลุกกับงานเหมือนกัน เราจะคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่เราทำ เพื่อให้ผลออกมาดีที่สุด”
ชีวิตนักธุรกิจชาวไร่
เคยเป็นนักบริหาร แล้วแปรสถานะมาเป็นชาวไร่ แต่ความคิดสร้างสรรค์ก็ยังไม่หยุดนิ่ง ยังคงคิดที่จะพัฒนาสิ่งที่ทำให้ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะนอกจากจะปลูกองุ่นเองแล้ว กราน-มอนเต้ยังมีผลผลิตไวน์เป็นของตัวเองที่เป็นที่ยอมรับทั้งจากนักดื่มชาวไทยและต่างประเทศ ทำให้ชีวิตชาวไร่ไม่ได้มีแค่การดูแลสวนองุ่นเท่านั้น หากแต่ยังต้องดูในแง่ธุรกิจด้วย
“สำหรับที่กราน-มอนเต้จริงๆ แล้วเราก็บริหารเป็นธุรกิจ ดูหน่วยงานแต่ละหน่วยงานไป และในส่วนของการส่งออกทางคุณสกุณาเป็นคนดูแล ส่วนผมจะดูแลทั่วไป อะไรที่ขาดเหลือ อะไรชักช้าเราก็กระตุ้น และทางด้านบริหารทั่วไปก็ให้นิกกี้ (วิสุตา โลหิตนาวี) ดูแล และมีมี่ (สุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี) ลูกสาวอีก 1 คนก็เข้ามาช่วยบ้างเพราะเขาทำงานประจำอยู่
สิ่งที่ได้จากการใช้ชีวิตที่นี่ เป็นชีวิตที่สบายๆ แต่ก็ไม่สบาย ทุกอย่างก็มีช่วงเวลาของมันต้องทำให้ทันต่อเหตุการณ์ เป็นนักธุรกิจชาวไร่ไม่ได้สบายนะ ภาระก็เยอะเหมือนกัน (หัวเราะ)”
เมื่อพูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมในการสร้างไร่กราน-มอนเต้แห่งนี้ขึ้นมา อีกหนึ่งแรงสำคัญที่ก่อร่างสร้างไร่นี้ขึ้นมาอย่างคุณสกุณา โลหิตนาวี ก็เข้ามาร่วมวงสนทนากับเราอย่างอารมณ์ดี
“เราแบ่งความรับผิดชอบกัน คือ คุณวิสุทธิ์นี่จะดูแลเรื่องไร่ ส่วนตัวเองดูแลเรื่องการสร้างอาคารต่างๆ ปลูกสร้างทุกอย่าง เรื่องเงินและเรื่องการขาย ควรจะแบ่งหน้าที่ไม่งั้นทะเลาะกัน (หัวเราะ)
เมื่อเรามาทำไร่กราน-มอนเต้แล้วเราอยู่เฉยไม่ได้ เพราะถ้าอยู่เฉยคนอื่นก็แซง เมื่อเริ่มทำปุ๊บเราต้องทำให้ดีและเราต้องวิ่งนำ เราเริ่มจากการเป็นไร่องุ่นและขยายมายังส่วนอื่นที่เป็นไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นเกสต์เฮาส์ และร้านอาหาร หรือในส่วนของไวเนอรีเราก็ลงทุนเยอะ บอกได้เลยว่าเราเป็นเศรษฐีเงินกู้ฉะนั้นเราต้องขยันค่ะ (หัวเราะ)”
“เราไม่ใช่คนร่ำรวย เราทั้ง 2 คนเคยทำงานเป็นพนักงานบริษัท ไม่ใช่ผู้ผลิตเครื่องดื่มดั้งเดิมอะไรมา แต่เพราะเราต้องการจะทำในสิ่งที่เราชอบ เราเริ่มจากเล็กๆ ไม่มีเงินที่จะทำสเกลใหญ่โต เราจึงต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีที่เราค่อยเป็นค่อยไป ถ้าเราทำใหญ่ๆ เลยเราอาจจะเจ็บตัวก็ได้” คุณวิสุทธิ์กล่าวเสริมถึงชีวิตนักธุรกิจชาวไร่ที่แม้จะเหนื่อยหน่อยแต่ก็ทำงานบนความสุข
แรงสำคัญจากไวน์เมกเกอร์หญิงคนแรกของเมืองไทย
แม้จะเริ่มต้นจาก 2 เรี่ยวแรงหลักอย่างคุณวิสุทธิ์และคุณสกุณา แต่ไร่ไวน์กราน-มอนเต้คงจะสมบูรณ์แบบไม่ได้หากขาดพลังสำคัญที่จะผลิตไวน์ที่มีรสชาติและคุณภาพเป็นที่ยอมรับอย่าง “นิกกี้-วิสุตา โลหิตนาวี”
นิกกี้เป็นไวน์เมกเกอร์หญิงคนแรกของเมืองไทย เธอจบการศึกษาด้านการปลูกองุ่นและทำไวน์สาขา Viticulture and Winery จากมหาวิทยาลัย Adelaide-South Australia และกลับมาทำไวน์จากผลผลิตในไร่ของคุณพ่อจนประกาศศักดิ์ศรีคนไทยว่าสามารถทำไวน์ชั้นเยี่ยมให้โลกยอมรับได้ โดยเธอฉายภาพในวัยเด็ก จุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสนใจการทำไวน์นี้ว่า
“สมัยที่คุณพ่อเริ่มมาซื้อไร่ปลูกองุ่นตอนนั้นนิกกี้ยังเรียนอยู่ ม.ต้น ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือว่าช่วงปิดเทอมก็มักจะมาเที่ยวที่เขาใหญ่มาช่วยดูแลไร่องุ่น และโดยส่วนตัวนิกกี้ชอบธรรมชาติอยู่แล้ว ชอบปลูกต้นไม้มาตั้งแต่เด็ก ก็เลยรู้ว่าตัวเองมีความสนใจทางด้านนี้ อยากเป็นนักพฤกษศาสตร์ จึงลองหาที่เรียนเกี่ยวกับเรื่องการผลิตไวน์ ก่อนที่นิกกี้ไปเรียนมีไวน์ไทยอยู่แล้ว แต่คนให้ความสนใจน้อย คุณภาพก็ยังไม่ค่อยดี ยังไม่เป็นที่รู้จัก เราอยากให้ไวน์ไทยมีมาตรฐาน และเป็นที่รู้จัก
พอเรียนจบปุ๊บก็กลับมาทำที่กราน-มอนเต้เลย นำความรู้กลับมาใช้ทันที เพราะเรามีเทคนิคใหม่ๆ ที่อยากจะนำมาใช้ ซึ่งนอกจากเราจะพัฒนาไวน์และไร่องุ่นของเราแล้ว เรายังสามารถแนะนำคนอื่นได้ด้วย พอกราน-มอนเต้ทำไวน์คุณภาพดีขึ้นมา ก็ทำให้ทุกคนตื่นตัว พยายามที่จะปรับปรุงให้ดีตามเราด้วย ถือเป็นเรื่องที่ดีของวงการไวน์ในประเทศไทย
ตอนนี้เป็นไวน์เมกเกอร์เต็มตัวมา 7 ปีแล้ว ไวน์เมกเกอร์ถือเป็นอาชีพอย่างหนึ่งที่ต้องมีการเทรน และศึกษาอย่างดี อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ทำให้เราได้เดินทางไปทำงานทั่วโลก เพราะหลายๆ ครั้งไร่ไวน์ที่ต่างประเทศจะมาเชิญเราไปทำไวน์ให้”
ได้เวลาเปิดก๊อกไวน์ขวดแรก
ในระยะแรกๆ นั้นผลผลิตที่ได้จากไร่องุ่นกราน-มอนเต้ ถูกนำไปใช้ในการผลิตไวน์โดยจ้างโรงงานอื่นทำ แต่เมื่อมีไวน์เมกเกอร์ของตัวเอง คุณวิสุทธิ์และคุณสกุณาจึงลงทุนสร้างไวเนอรีของตัวเองไว้รอรับลูกสาวคนเก่ง
“จริงๆ แล้วไวน์กราน-มอนเต้ผลิตครั้งแรกต้นปี 2009 ขวดแรกที่ออกมาชื่อ “Celebration” เป็นไวน์ที่เอาวัตถุดิบเราและไปจ้างเขาผลิต หลังจากนิกกี้เรียนจบ เราก็ลงทุนเพิ่มอีกเกือบ 50 ล้าน สร้างไวเนอรีของตัวเอง เพราะเครื่องมือราคาสูง” คุณวิสุทธิ์เล่าถึงที่มาที่ไปให้เราฟัง
หลังจากนั้นคุณนิกกี้ก็กลับมาสร้างไวน์ขวดแรกที่เป็นผลผลิตของไร่กราน-มอนเต้ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นกระบวนการที่มีชื่อว่า “สกุณาโรเซ่” ในช่วงปลายปี 2009 ถือเป็นไวน์ตัวแรกที่เธอลงมือทำหลังเรียนจบกลับมา โดยเธอเล่าถึงความภูมิใจกับไวน์ขวดแรกให้เราฟังว่า
“ตั้งแต่สมัยเรียน เราก็ผ่านการฝึกงานมาบ้าง รู้ขั้นตอนการทำไวน์ ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวองุ่น การหมักบ่ม แต่ขั้นตอนหลังจากนั้นอย่างการกรอง การบรรจุ เราไม่เคยทำมาก่อน เพราะฉะนั้นตอนที่กลับมาทำสกุณาโรเซ่ เราต้องพยายามใช้ความรู้ที่เราเรียนมา บวกกับการค้นคว้าเพิ่มเติม ลองผิดลองถูก จนบรรจุไวน์จากถังลงขวดทั้งหมด 6,000 กว่าขวด
ในคืนนั้นที่ทำเสร็จ นิกกี้หยิบไวน์มา 1 ขวด ไปนั่งที่ร้านอาหารกับคุณพ่อคุณแม่ บรรจงเปิดไวน์ พอเราได้ยินเสียง “ป๊อก!” จากก๊อกไวน์ รู้สึกตื่นเต้นมาก พอได้ดื่มเป็นอึกแรกรู้สึกชื่นใจมาก นี่คือสิ่งที่เราเรียนมา 4 ปี สิ่งที่เรากลับมาทำให้คุณพ่อคุณแม่ดีใจ”
เรื่องไวน์ไม่ได้มาเล่นๆ
กว่าจะผลิตไวน์ออกมาสำเร็จจนกระบวนการสุดท้ายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยทั้งความใส่ใจดูแล การใช้เทคนิคที่เชี่ยวชาญจากประสบการณ์ของไวน์เมกเกอร์ เรียกได้ว่ากว่าจะผลิตออกมาได้สักขวดหนึ่งไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลยทีเดียว โดยคุณนิกกี้เล่าถึงความยากในการสร้างสรรค์ไวน์แต่ละตัว แต่ละพื้นที่จากประสบการณ์ของไวน์เมกเกอร์ให้เราฟัง
“การที่จะเป็นไวน์เมกเกอร์ที่ดีได้เราต้องมีการพัฒนาเทคนิคของเรา เหมือนทุกอาชีพต้องมีการพัฒนา ต้องมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น ที่สำคัญคือเราต้องมีวัตถุดิบที่ดี อย่างต้นองุ่นที่มีอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีความเข้มข้นมากขึ้น รสชาติอาจซับซ้อนมากขึ้น ในการทำไวน์ไม่มีสูตรตายตัว การผลิตไวน์ไม่เหมือนเบียร์หรือวิสกี้ที่มีสูตรสำเร็จของเขาอยู่แล้ว การทำไวน์แล้วแต่ผลผลิตที่อยู่ตรงหน้าเราว่าเป็นอย่างไร
อย่างนิกกี้เคยไปทำไวน์ที่ประเทศโปรตุเกส องุ่นที่นั่นไม่เหมือนของที่บ้านเราเลย ฉะนั้นเวลาไปทำงานที่นั่น เราต้องใช้ความรู้ทุกอย่างที่มีลงไป ขณะเดียวกันเราก็ต้องดัดแปลงความรู้ของเราให้เข้ากับพันธุ์องุ่นที่เขามี การทำไวน์เป็นสิ่งน่าทึ่งมากเพราะมันเป็นองุ่น 100% ที่ผ่านการหมัก บ่มยีสต์ ประกอบกับอุณหภูมิ ระยะเวลา ซึ่งทุกอย่างเป็นปัจจัยที่ทำให้ไวน์มีรสชาติแตกต่างกัน”
ส่วนเสน่ห์ของไวน์ที่ทำให้ไวน์เมกเกอร์สาวคนนี้หลงใหลก็คือการได้ค้นพบสิ่งใหม่ เพื่อนำไปทำให้ดีขึ้นกว่าเก่า
“เสน่ห์ของไวน์ก็คือ กลิ่นและรสชาติที่น่าตื่นเต้น เวลาเราดื่มไวน์จากแต่ละที่รสชาติจะต่างกัน และอีกอย่างที่เป็นเสน่ห์ที่ทำให้นิกกี้ชอบคือการที่เรานำเทคนิคต่างๆ มาใช้กับองุ่นแต่ละพันธุ์จนให้รสชาติที่ไม่เหมือนกัน”
ครอบครัวนักดื่มอย่างรับผิดชอบ
เป็นครอบครัวที่ชื่นชอบการดื่มมาตั้งแต่คุณวิสุทธิ์และคุณสกุณา จนมาถึงรุ่นลูกก็ทำให้ลูกๆ ชอบการดื่มและสนใจจนเป็นไวน์เมกเกอร์ที่ประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้
“ปกติผมเป็นคนดื่มไวน์อยู่แล้ว แต่ดื่มไม่ค่อยมาก เราดื่มในครอบครัว อย่างลูกสาวก็หัดดื่มตั้งแต่อายุ 12 ลองชิมบ้าง เป็นการดื่มระหว่างการทานอาหารมากกว่า ซึ่งเป็นการดื่มที่มีผู้ปกครองอยู่ในขณะนั้นด้วย” คุณวิสุทธิ์กล่าว ก่อนที่คุณนิกกี้จะเริ่มเล่าถึงพรสวรรค์จากการดื่มที่เธอมีในตัว
“ดื่มกับคุณแม่ตั้งแต่อายุ12 ตอนนั้นคุณแม่ใส่ลงไป 2 หยดในน้ำ (หัวเราะ) ตอนเป็นเด็กที่เริ่มดื่มไวน์รู้สึกว่ารสชาติของไวน์แต่ละขวดไม่เหมือนกัน เหมือนเป็นพรสวรรค์ส่วนหนึ่งที่เราสามารถแยกรสชาติแต่ละขวดว่าไม่เหมือนกัน ส่วนหนึ่งเพราะตั้งแต่เด็กๆ เราชอบทำอาหาร ชอบสิ่งที่เกี่ยวกับรสชาติ กลิ่น ก็เลยอาจทำให้เราเหมือนมีเซนส์ทางด้านนี้”
ส่วนคุณสกุณานั้นช่วยกล่าวเสริมถึงประโยชน์ของการดื่มไวน์ในฐานะนักดื่มที่มีความรับผิดชอบคนหนึ่ง
“เราจะดื่มไวน์กลางวันแก้วนึง ตอนเย็นแก้วนึงเป็นสูตรสุขภาพ ข้อดีของการดื่มไวน์ คือ ช่วยให้หัวใจแข็งแรง หลอดเลือดแข็งแรง ซึ่งที่เราพูดถึงตรงนี้คือไม่ได้ดื่มให้เมามาย เราดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ อย่างมีสติ เราดื่มเพื่อสุขภาพและอิ่มเอมกับบรรยากาศเท่านั้น ไวน์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเรื่องสุขภาพ แต่เราก็ต้องดูแลตัวเองอย่างอื่นเสริมด้วย เช่นทุกวันนี้เรายังออกกำลังกายอยู่ เลี้ยงสุนัข กวาดบ้าน กวาดกรงสุนัข แค่ขยับก็เหมือนออกกำลังกายแล้ว”
เปิดครัวคุณสกุณา
เมื่อมาถึงไร่องุ่นกราน-มอนเต้แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่เราไม่อยากให้พลาดก็คือการได้ลิ้มรสชาติอาหารสไตล์โฮมเมดที่มีคุณสกุณาเป็นแม่ครัวคนเก่งที่ดูแลทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยคุณวิสุทธิ์เล่าถึงที่มาของร้านอาหารกราน-มอนเต้ ทั้งที่ตอนแรกวางแผนเป็นเพียงไร่องุ่นและเกสต์เฮาส์เล็กๆ เท่านั้น
“ตอนแรกที่ทำเราเริ่มจากไร่องุ่น และมีเกสต์เฮาส์เล็กๆ แล้วก็เริ่มมีไวน์ จากนั้นเราก็เปิดให้คนเข้ามาเที่ยวด้วย แล้วพอคนที่มาเที่ยวชิมไวน์ เขาก็ต้องการอาหาร เราทำเพื่อลูกค้าด้วยการทำอาหารจานเดียวง่ายๆ โดยคุณสกุณาเริ่มเข้ามาดูในส่วนของร้านอาหาร ทำจากครัวที่บ้านนั่นแหละ ต่อมาเริ่มไม่สะดวกเราจึงค่อยๆ ทำเป็นร้านอาหาร ขยายจากเกสต์เฮาส์ หลังจากนั้นก็มีอะไรมากขึ้น เป็นการท่องเที่ยวที่ครบวงจรมากขึ้น”
จนตอนนี้ที่ไร่กราน-มอนเต้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ครบวงจรมากขึ้น มีร้านอาหาร และแหล่งชอปปิ้งเล็กๆ สินค้าส่วนใหญ่เป็นผลิตผลจากองุ่น ทั้งไวน์ น้ำองุ่น และสินค้าจากธรรมชาติ โดยคุณสกุณาหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในส่วนนี้แนะนำให้เราเข้าใจถึงส่วนของร้านค้าและร้านอาหารมากขึ้น
“สินค้าที่ร้านชอปปิ้ง มีสินค้าที่ฝากขายด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ของเรา พวกของโฮมเมดจะเป็นของที่ทำจากร้านอาหารของเรา ส่วนสินค้าบิวตี้ก็จะเป็นของลูกหลาน คนในครอบครัว ใครมีความสามารถอะไรก็เอามาฝากวางไว้ที่นี่ได้
ในส่วนของร้านอาหาร อาหารเช้าที่นี่มีชื่อเสียงมากที่สุดในแถบนี้เลย ทุกวันนี้เป็นคนคุมคุณภาพเอง ต้องชิมก่อนออก แม่ครัวก็มาจากพวกน้องๆ ที่ทำงานในไร่ แต่ก็ยังลงมือทำเองบ้าง เราจะมีเมนูใหม่ๆ ตลอด ซึ่งก็เป็นเมนูที่มาจากในบ้านเรานั่นแหละ ทดลองจนโอเค จากนั้นก็สอนพวกเด็กๆ ในครัว เรามักจะมีเมนูใหม่ๆ งอกอยู่เสมอ”
วงการไวน์ไทย
ในวงการไวน์ถ้าเอ่ยชื่อไวน์ไทยที่นักดื่มเชื่อถือได้ก็คือ “กราน-มอนเต้” ไวน์สัญชาติไทยแท้ที่ผลิตจากองุ่นในเมืองไทย และไวน์เมกเกอร์คนไทย แต่ก็มีอีกหลายรายที่เป็นไวน์สัญชาติไทย จนมีการรวมตัวเป็นสมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย โดยมีคุณวิสุทธิ์ โลหิตนาวี เป็นนายกสมาคม คอยดูแลมาตรฐานของไวน์ไทย
“เรามีสมาคมไวน์ไทยที่ตั้งมา 10 กว่าปี สำหรับแบ่งปันและช่วยกันดูแลมาตรฐานการผลิตไวน์ไทยเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก เราจะสร้างมาตรฐานของเราไว้ ใครที่ได้มาตรฐานอย่างถูกต้องก็ได้รับการยอมรับให้อยู่ในสมาคม จริงๆ แล้วผู้ที่ผลิตไวน์ในประเทศไทยมีไม่ถึง 10 ราย แต่ที่อยู่ในสมาคมก็มี 6-7 ราย”
สำหรับในเรื่องของการส่งออกไวน์ไทยนั้น คุณสกุณาผู้ที่ดูแลเรื่องการส่งออกของไวน์กราน-มอนเต้กล่าวเสริมกับเราว่า
“เนื่องจากผลิตภัณฑ์เรายังไม่เยอะ ทำให้จำกัดที่การส่งออกไม่เกิน 15-20% อยู่ที่ประมาณ 8-9 หมื่นขวดต่อปี เราส่งออกเพื่อเชิงการตลาดให้เป็นที่รู้จักในระดับโลกเท่านั้น แต่ขายหลักๆ เรายังเน้นขายในประเทศ
เรามีแฟนคลับที่เหนียวแน่นคือญี่ปุ่น ญี่ปุ่นรู้จักไวน์ไทยมากกว่าคนไทยซะอีก ซึ่งประเทศญี่ปุ่น หลักในการเลือกสินค้าของเขาไม่ได้เลือกซี้ซั้ว เพราะเขาต้องเลือกจากสิ่งที่ได้มาตรฐานจริงๆ”
ส่วนมุมมองวงการไวน์ไทยในสายตาของไวน์เมกเกอร์นั้น คุณนิกกี้กล่าวปิดท้ายว่า
“แนวโน้มไวน์ในไทย พัฒนาขึ้นเยอะมาก คนเชื่อถือเยอะขึ้น การดื่มไวน์ของคนไทยก็มีคนหันมาดื่มมากขึ้น และมีไวน์ที่หลากหลายชนิดในตลาด อย่างวัยรุ่นเองก็หันมาดื่มไวน์ แต่เขาจะหาดื่มไวน์ที่แปลกๆ เช่น สปาร์กลิ้ง ฉะนั้นเราต้องไม่หยุดที่จะทำไวน์ที่ดี มีมาตรฐานเพื่อรองรับความนิยมในหมู่คนไทย”
นอกจากจะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของขุนเขาและไร่องุ่น แล้วแบ่งปันให้คนอื่นๆ ได้เข้ามาสัมผัสความเป็นธรรมชาติและไวน์ไทย อนาคตของครอบครัวโลหิตนาวี คุณนิกกี้ ไวน์เมกเกอร์สาวกล่าวอย่างมุ่งมั่นว่า อนาคตไม่มีทางที่เราจะทำอะไรที่ไม่ใช่ไวน์!! :: Text by FLASH