xs
xsm
sm
md
lg

ซุปตาร์ฮ็อกกี้น้ำแข็งทีมชาติไทย ริชชี่-ชวัล เจียรวนนท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ริชชี่-ชวัล เจียรวนนท์
ริชชี่-ชวัล เจียรวนนท์ ดูๆ ไปก็ไม่ต่างจากเด็กหนุ่มวัยศึกษาเล่าเรียนทั่วๆ ไป แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเขาคือ นักกีฬาฮ็อกกี้น้ำแข็งทีมชาติไทย ที่ไปคว้าอันดับ 4 ในการชิงแชมป์เอเชีย รายการ IIHF Challenge Cup of Asia ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อปีก่อน และยังเป็นอีกหนึ่งทายาทคนสำคัญของกลุ่มธุรกิจเจียรวนนท์อีกด้วย

 
พ่อของ ริชชี่ คือ ชัชวาล เจียรวนนท์ กรรมการและผู้อำนวยการบริหาร การลงทุนกลุ่ม บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ส่วนแม่คือ ขวัญใจ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ซี.เค. ยูไนเต็ด จำกัด แม้ทั้งสองไม่บังคับลูกชายสุดหล่อคนนี้ ให้มาช่วยงานของครอบครัว หากแต่ธุรกิจหลากหลายในเครือที่มีอยู่ ก็คงมีบ้างที่จะตรงใจหนุ่มน้อยคนนี้

ในวันที่ลมหนาวปกคลุมประเทศไทยให้เย็นยะเยือก หนุ่มร่างสูงใหญ่ใบหน้าหล่อเหลา ที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 2 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจการเรียนประจำวัน ได้ออกมาพูดคุยกับเราว่า ในขณะนี้เขายังบอกไม่ได้ว่าอนาคตอยากทำอะไร เพราะในใจตอนนี้คิดแต่เพียงอยากเรียนหนังสือให้จบ และขอตั้งใจฝึกซ้อมกีฬาฮ็อกกี้น้ำแข็ง เพื่อรับใช้ชาติอย่างเต็มที่ก่อน

 
“ริชชี่” พูดพร้อมกับรอยยิ้มสดใส บอกเล่าถึงความเป็นมาของการเล่นกีฬาฮ็อกกี้น้ำแข็งให้ฟังว่า เขาค้นพบตัวเองเมื่อไปเรียนชั้นมัธยมปลายที่สหรัฐอเมริกา

“ครอบครัวเราคุณพ่อ พี่สาว ชอบเล่นกีฬากันอยู่แล้ว เล่นเยอะมากแต่ที่ถนัดมากๆ คือ เทนนิสกับสกี แต่พอไปถึงอเมริกาเห็นเพื่อนๆ เล่นฮ็อกกี้กันแล้วอยากเล่นบ้าง ช่วงปิดเทอมกลับเมืองไทยมาบอกคุณแม่ ท่านก็ห่วงเพราะเป็นกีฬาที่ใช้แรงปะทะ แต่ท่านไม่ว่าอะไร ผมเองไม่มีพื้นฐาน อันดับแรกก็ต้องไปหัดเล่นสเก็ตน้ำแข็งให้ได้ก่อน ก็ไปเรียนที่อิมพีเรียลลาดพร้าว แรกๆ ก็ยากนะครับ ฝึกประมาณ 1 ปี ก็เริ่มเล่นได้ พอกลับไปอเมริกาก็ได้ร่วมทีมกับเพื่อนๆเลยครับ”

 
ฮ็อกกี้น้ำแข็ง เป็นกีฬาที่คล้ายฟุตบอลผสมไอซ์สเก็ต ผู้เล่นต้องทรงตัวบนลานน้ำแข็งขนาด 30 x 60 เมตร ใช้ไม้บังคับ รับและส่ง ลูกพัค ฝ่าด่านคู่แข่งเพื่อทำประตูให้ได้มากที่สุด ดังนั้น ผู้เล่นจึงมีความจำเป็นต้องใช้ทักษะ ความสามารถหลายอย่างประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นความคล่องแคล่วว่องไวในการเคลื่อนตัว เพื่อรับ-ส่งและพาลูกพัคไปในทิศทางที่กำหนด

 
ด้วยความเป็นคนมุ่งมั่น เมื่อรักและชอบอะไรแล้ว เขาก็พร้อมจะทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด จึงไม่แปลกที่เพียงไม่นาน “ริชชี่” ก็ได้เป็นนักกีฬาฮ็อกกี้น้ำแข็งให้มหาวิทยาลัย และมีโอกาสไปแข่งขันเก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่บ่อยๆ จนฝีไม้ลายมือเข้าตา ม.ล.กฤษฎา เกษมสันต์ ณ อยุธยา นายกสมาคมกีฬาฮ็อกกี้น้ำแข็งแห่งประเทศไทยเข้าอย่างจัง ถัดมาในปี 2014 เขาถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนนักกีฬาทีมชาติไทยเป็นครั้งแรกในชีวิต โดยถูกส่งไปแข่งขันฮ็อกกี้น้ำแข็งชิงแชมป์เอเชีย รายการ IIHF Challenge Cup of Asia 2014 ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

“อันนี้เป็นเหตุผลที่ผมต้องย้ายกลับมาเรียนต่อในเมืองไทย เพราะกฎการเป็นนักกีฬาทีมชาติ จะต้องอยู่ภายในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ผมยินดีที่จะย้ายกลับมา และดีใจมากที่ได้มีโอกาสรับใช้ชาติ ปกติเวลาผมแข่งขันจะใส่ชุดทีมมหาวิทยาลัยก็ฮึกเหิมอยู่แล้ว แต่พอได้สวมชุดทีมชาติไทย มีธงชาติอยู่บนหน้าอกเสื้อ ผมยิ่งรู้สึกตื่นเต้นฮึกเหิมมากกว่าเก่าและภูมิใจมากครับ”

 
สำหรับเสน่ห์แห่งกีฬาฮ็อกกี้ ที่ทำให้หนุ่มริชชี่หลงใหลอย่างหนักในขณะนี้นั้น เขาบอกว่า ชอบที่ลีลาการสเก็ตของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน การครองลูก-เลี้ยงลูก และเข้าโค้งที่สง่างาม เวลาดูแล้วตื่นตาตื่นใจ ขณะที่ ตัวผู้เล่นเองเวลาอยู่กันเป็นทีมจะมีความอบอุ่น เพื่อนๆ พี่ๆ ในทีมชาติไทยทุกคนน่ารัก มีคำแนะนำดีๆ ให้กันและกันเสมอ ทำให้เขาไม่รู้สึกเบื่อหน่าย

อย่างไรก็ตาม ริชชี่ยังเปรียบเทียบให้เห็นว่า การเล่นกีฬาชนิดผู้เล่นคนเดียวกับการเล่นกีฬาเป็นทีมนั้น การเล่นเป็นทีมอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่หากทีมมีน้ำหนึ่งใจเดียว มีความสามัคคีเข้าอกเข้าใจกัน การเล่นก็ไม่ยาก กลับกัน อาจจะสนุกมากกว่ากีฬาที่เล่นคนเดียวด้วยซ้ำ “เวลาผมอยู่บนรองเท้าสเก็ต แล้วเราสเก็ตไปเรื่อยๆ ผมรู้สึกเป็นอิสระและมีความสุขมากๆ แต่ถ้าในเกมส์แข่งขันจะเป็นอีกอารมณ์ คือผมจะรู้สึกเหมือนถูกไล่ล่า ที่ต้องหนีโดยมีเพื่อนในทีมช่วยปกป้องให้เราพาลูกไปยิงเข้าประตูให้ได้”

 
ในกีฬาที่ต้องใช้ทักษะและความรุนแรง แน่นอนว่า อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ริชชี่ ที่แม้จะมีรูปร่างสูงใหญ่สำหรับสายตาคนไทย หากแต่เมื่ออยู่ในสนามเขากลับดูตัวเล็กที่สุด อีกทั้งยังเป็นคนเล่นที่เน้นทำประตู โอกาสในการถูกชนก็มีมากเช่นกัน โดยอุบัติเหตุครั้งแรกที่หนักสุดคือ เกิดในการแข่ง Asia Challenge Cup ที่เขาต้องเจอกับทีมชาติมองโกล  “คือเขาแรงและตัวใหญ่มาก ผมเลี้ยงลูกในระดับความเร็วที่คุ้นเคย ซึ่งเรารู้ว่าความเร็วระดับนี้ไม่เจ็บแน่ แต่มาเจอผู้เล่นมองโกลพุ่งมาจากไหนไม่รู้มาชนไหล่ผมแรงมาก อาการตอนนั้นเจ็บมากพอเปิดเสื้อออกมาไหล่บวม มือปวด อีกครั้งที่เจ็บมากก็คือถูกปะทะแรงจนเอ็นขาฉีก ต้องพักนานพอสมควรครับ”

อาการบาดเจ็บทั้งหมดอาจจะดูรุนแรงสำหรับเราในฐานะคนดู แต่กับนักกีฬาอย่างพวกเขากลับบอกว่า นั่นเป็นเพียงการเจ็บเล็กน้อยที่ไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้ท้อถอย “ยิ่งเล่นผมก็รู้สึกรักฮ็อกกี้มากขึ้น ผมจะเล่นต่อไปเรื่อยๆ กีฬาชนิดนี้สามารถแล่นได้เรื่อยๆจนถึงอายุ 40 ปี และถ้าจะหยุดเล่น ผมก็ยังอยากทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับฮ็อกกี้เมืองไทย”

ก่อนจากกัน หนุ่มริชชี่ยังบอกอีกว่า เสียดายที่ฮ็อกกี้ไม่ใช่กีฬาที่คนไทยนิยมนัก ซึ่งทั้งหมดก็มาจากเหตุผลหลายประการ อาทิ สนามที่ใช้ฝึกซ้อมมีน้อย อุปกรณ์กีฬามีราคาแพง ค่าเช่าสนามเพื่อฝึกซ้อมต่อชั่วโมงราคาแพง และการประชาสัมพันธ์ไม่มากนัก ซึ่งในอนาคตหากมีการปรับปรุง ก็อยากให้เด็กไทยรุ่นใหม่ได้มาทดลอง แล้วจะรู้และสัมผัสได้ถึงความสุขอย่างที่เขาได้รับ
กำลังโหลดความคิดเห็น