xs
xsm
sm
md
lg

“พอดี” ใน “พื้นที่สร้างสรรค์” Design Store เพื่อคนรักศิลปะและงานออกแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ART EYE VIEW---ในพื้นที่ซึ่งเจ้าของแกลเลอรี่และพื้นที่ศิลปะจำนวนหนึ่ง พยายามผลักดันให้เป็น Creative District หรือ พื้นที่สร้างสรรค์ ของกรุงเทพ ฯ อย่างย่านเจริญกรุง บางรัก และตลาดน้อย

เป็นเวลาราวหนึ่งปีที่ “พอดี” Design Store ขนาดสมชื่อ ได้เปิดตัวขึ้น ในพื้นศูนย์การค้าโอพีการ์เด้น ซ.เจริญกรุง 36

ที่มาของชื่อร้าน ตั้งจากตัวอักษรและพยัญชนะของชื่อหุ้นส่วนทั้ง 6 คน และมีนัยยะว่าสิ่งของในร้านแต่ละชิ้นตรงกับความต้องของลูกค้าแต่ละคนพอดี หรือ กำลังอยากได้พอดี

และหัวใจสำคัญของร้านนี้ คือการเป็นพื้นที่วางและฝากวางจำหน่ายสินค้า จำพวกผลงานศิลปะ,งานออกแบบ ตลอดจนงานฝีมือ ของศิลปินและนักออกแบบ ทั้งไทยและต่างชาติ ที่พยายามนำเสนอความเป็นไทยผ่านผลงาน


“90 เปอร์เซ็นต์ ของสินค้าภายในร้านเป็นของศิลปินและนักออกแบบชาวไทย และส่วนที่เหลือเป็นของศิลปินชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยมานานและอยากจะนำเสนอความเป็นไทยในรูปแบบของเขา

เวลานึกถึงสินค้า หรือผลงานศิลปะและงานออกแบบที่มีความเป็นไทย บางคนอาจจะนึกถึงสินค้า OTOP ที่มีความเป็นไทยจ๋าๆ แต่ร้านเราไม่ได้อยากนำเสนอสินค้าที่มันมีความเป็นไทยชัดขนาดนั้น

แต่ความเป็นไทยในที่นี้อาจจะนำเสนอผ่านวัสดุที่แต่ละคนเลือกนำมาใช้สร้างสรรค์ผลงาน ,ผ่านเรื่องราว หรือว่าบางชิ้นอาจจะมีการตัดทอนลวดลายความเป็นไทยบางส่วนออกไป แต่ยังทำให้เรารู้สึกได้ว่ามันไทยนะ ไม่ใช่ทั้งหมด แบบลายกนก อะไรอย่างนี้ มีกลิ่นไอความเป็นไทยเล็กๆ อยู่ในชิ้นงานมากกว่า” คุณปุ๋ย พนักงานดูแลร้านและ Illustrator อิสระ ให้ข้อมูล



ตัวอย่างเช่นผลงานออกแบบกระเป๋า แบรนด์ Jo's Bag ของ โจ - สุทธิรัตน์ แก้วอาภรณ์ นักออกแบบผู้เคยเป็นอดีตภัณฑารักษ์ของ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

“คุณโจเขารู้สึกว่าคนไทยไม่ค่อยใช้ผ้าไทยเลย น่าเสียดาย เขาก็เลยนำผ้าที่ได้มาจากศูนย์ศิลปาชีพ มาออกแบบเป็นกระเป๋า ที่ใช้งานได้ง่าย ไม่ดูเป็น old fashion แบบผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมที่เห็นอยู่ทั่วไป

และสิ่งสำคัญที่คุณโจมองคือ ผลงานออกแบบของตัวเองได้มีส่วนช่วยชาวบ้านไปด้วย เพราะขณะที่ตัวเองได้นำเสนอผลงานออกแบบในรูปแบบใหม่ๆ ชาวบ้านก็มีงานทำ นั่นคือการผลิตผ้าไหมออกมา”

หรือแม้แต่ผลงานออกแบบเซรามิกของ เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา นักออกแบบชาวมุสลิมเจ้าของรางวัล Designer of the Year จากงาน BIG+BIH (งานแสดงสินค้าของขวัญ (Bangkok International Gift Fair 2015)และงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน(Bangkok Internationnal Houseware Fair 2015)

“คุณเอ็ม เป็นคนมุสลิมที่มีความเคร่งครัดมากๆ อยากจะทำงานของตัวเองออกมาเพื่อตอบสนองชุมชน และยึดถือในปรัชญาอันหนึ่งที่กล่าวว่า....ถึงแม้เราจะมีชื่อเสียงมาก แต่ถ้าคนข้างๆบ้านไม่รู้จักเรา มันไร้ความมากๆเลย... ด้วยเหตุนี้เขาจึงอยากทำงานที่คนรอบข้างๆบ้าน หรือ คนในชุมชนที่เขาอยู่มีส่วนร่วมไปกับการพัฒนางานของเขาด้วย

จากที่เมื่อก่อนเคยเป็นสถาปนิกทำงานด้านสถาปัตย์ เขาเปลี่ยนมาทำงานด้านเซรามิก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถือว่ายังใหม่มากๆสำหรับตัวเอง มีอะไรที่ต้องเรียนรู้ทุกวัน แต่ข้อดีของการทำงาน เขาได้เลือกเด็กและคนในชุมชนที่ จ.ปัตตานี มาทำงานและมีรายได้ไปกับเขาด้วย จึงเป็นงานที่ได้ตอบแทนชุมชน ไม่เหมือนเมื่อก่อน ตอนที่ยังเป็นสถาปนิก ที่ต้องทำงานคนเดียว ได้เงินเยอะๆ และรวยคนเดียว

นอกจากนี้คุณเอ็มยังหาหนทางที่พัฒนางานของตัวเอง เพื่อให้เกิดเป็นธุรกิจของชาวบ้านที่ยั่งยืน ด้วยการทดลองนำดินของภาคเหนือมาผสมกับดินของภาคใต้ จากเดิมที่ใช้แต่ดินจากภาคเหนือ

และอยากจะทดลองจนกระทั่งต่อไปในอนาคตสามารถใช้ดินจากภาคใต้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ผลงานเซรามิกของตัวเองเป็นผลงานที่ผลิตจากวัสดุชุมชนโดยแท้จริง”

รวมถึงผลงานสะท้อนความเป็นไทยของศิลปินชาวญี่ปุ่น ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน แต่งงานกับชาวไทยและปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ อย่าง โมโมโกะ โทดะ แก้วดี

“คุณโมโมโกะ เดิมทีเคยเป็น Illustrator อยู่ที่ญี่ปุ่น พอได้มีโอกาสมาเที่ยวเมืองไทยแล้วรู้สึกชอบมาก จึงทำงานออกมาโดยการแสดงออกผ่านภาพที่แทนตัวเองว่าเป็น 'แมว' ซึ่งได้ไปพบเจออะไรหลายอย่างๆในสังคมและวัฒนธรรมไทย และยังเขียนหนังสือที่ให้ความรู้ด้านวัฒนธรรมไทย กับคนญี่ปุ่น

และผลงานส่วนหนึ่งของคุณโมโมโกะ จะมี 'ช้าง' เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นอกจากจะชอบเป็นการส่วนตัว ยังเพราะมีเพื่อนเป็นคนทำงานด้านอนุรักษ์ช้างไทย เมื่อเพื่อนเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ เธอจึงอยากจะช่วยเพื่อนสืบทอดเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ช้างไทย ผ่านผลงานศิลปะของตัวเอง”



ท่ามกลางบรรดาสินค้างานศิลปะและงานออกแบบ ที่บางส่วนเจ้าของร้านทำหน้าที่เป็นคนไปเลือกสรรมา และส่วนหนึ่งมีศิลปินและนักออกแบบ นำมาฝากวางที่ร้าน มุมหนึ่งของร้านยังติดตั้ง วิดีโอพรีเซนเทชั่น ให้ลูกค้าที่เดินเข้ามาในร้าน ได้ทราบถึงที่มาและขั้นตอนการทำงานศิลปินและนักออกแบบแต่ละคน ซึ่งจะว่าไปแล้วมีส่วนสำคัญไม่แพ้สินค้าแต่ละชิ้น

สำหรับดีไซน์สโตร์เล็กๆแห่งนี้ที่ต้องการนิยามตัวเองว่า เป็นมากกว่าร้านขายของทั่วไป แต่ยังเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ให้แรงบันดาลใจกับผู้ที่แวะเวียนมา

“บริเวณที่ร้านเราตั้งอยู่เป็นโซนที่มีโรงแรมตั้งอยู่ค่อนข้างเยอะ ลูกค้าของเราส่วนหนึ่งจึงเป็นลูกค้าต่างชาติที่มีทั้ง จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฝรั่งเศส ที่ส่วนหนึ่งไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก การสื่อสารกันจึงค่อนข้างยาก ถ้ามี วิดีโอพรีเซนเทชั่นที่นำเสนอให้เห็นการทำงานของศิลปิน มันจะช่วยให้เขาเข้าใจผลงานได้มากขึ้น

และโดยพื้นฐานของร้านเราแล้ว เราไม่ได้สักแต่ว่าขายชิ้นงาน เราอยากให้ลูกค้าได้รู้ถึงความตั้งใจว่า ศิลปินแต่ละคนเขาตั้งใจทำงาน และผ่านกระบวนการคิด การทำงานแบบไหนมาบ้าง เหมือนเราอยากให้คนที่ได้งานไปรู้คุณค่าของงานชิ้นนั้นจริง

แทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์นะคะสำหรับคนที่ซื้องานไป คือ 1.ซื้อเพราะชอบ และ 2.ฉันรู้คุณค่าของงานชิ้นนี้ฉันเลยซื้อ”








ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น