เอ่ยชื่อของ อภิรักษ์ วานิช ไม่เพียงคนในภูเก็ตเท่านั้นที่รู้จัก เพราะว่ากันว่า ในภาคใต้ตอนล่างจนถึงปีนัง ชื่อของ “อภิรักษ์” ก็โด่งดังไม่แพ้ใคร ด้วยรากฐานที่ "เจียร" ผู้เป็นปู่ และ “เอกพจน์” ผู้เป็นพ่อวางเอาไว้ ทำให้ “วานิช” กลายเป็นตระกูลเก่าแก่ที่มั่งคั่งมีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท อภิรักษ์ทุ่มเทช่วงเวลาหนุ่มให้กับการสืบทอดธุรกิจครอบครัว และวันนี้เขาเลือกที่จะเดินอยู่ในไร่ข้าวโพดเพื่อตามหาความฝันในวัยเด็กของตัวเอง
กลุ่มบริษัทวานิชประกอบไปด้วย เหมืองแร่-ถ่านหิน, ปาล์มน้ำมัน, สวนยาง, การขนส่งทางเรือ, ธุรกิจโรงพยาบาล และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การบริหารของอภิรักษ์ ทายาทรุ่นที่ 3 เนื่องด้วยเขาเป็นลูกชายคนเดียวในบรรดาลูกทั้ง 9 คนของ เอกพจน์-บุญรอด วานิช ชีวิตจึงถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้นทางแล้ว โดยจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยเพอร์ดิว ตามที่อยากเรียน และไปต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา
แม้จะรู้ว่าต้องมาดูแลธุรกิจของตระกูล แต่เขาก็ก้าวมาเร็วกว่าที่คิด เพราะการจากไปของพ่อและแม่อย่างกะทันหันเมื่อ 20 ปีก่อน จึงทำให้อภิรักษ์ต้องทำงานหนักเพื่อเรียนรู้และดูแลธุรกิจของครอบครัว ให้เป็นไปตามรอยทางที่เจ้าสัวเจียร และเอกพจน์วางไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่มีเวลาได้คิดถึงหรือทำในสิ่งที่รักและโปรดปรานมากนัก
“ตอนนี้ทุกอย่างลงตัว ทำให้พอมีเวลาว่างในการพักผ่อน มีเวลาคิดถึงอดีต ปัจจุบัน อนาคต แล้วก็อยากจะทำอะไรที่ชอบและสนใจเพิ่มมากขึ้น พอดีผมไปโคราชเห็นไร่ข้าวโพด เห็นพื้นที่สีเขียว ความสงบร่มเย็น แล้วก็คิดถึงภูเก็ตที่เคยวิ่งเล่นสมัยเด็ก เราได้เห็นดินโคลน ปลักควาย ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว ก็คิดว่าอยากเก็บความรู้สึกดีๆ นี้ไว้ ให้เด็กรุ่นลูกรุ่นหลานได้เห็นได้สัมผัส เลยตัดสินใจเปิดไร่วานิช ทำเป็นที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ภูเก็ต” อภิรักษ์กล่าวกับเราอย่างสบายๆ ในวันที่เปิดตัวไร่วานิช ธุรกิจใหม่ที่เขาควักกระเป๋าลงทุนเพื่อสนองตอบความต้องการในวัยเยาว์ของเขา
อภิรักษ์ใช้เวลานานกว่า 3 ปี ในการศึกษาและเตรียมพื้นที่สำหรับการทำสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งนี้ โดยเขาต้องการให้ “ไร่วานิช” เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแนวคิดใหม่แห่งแรกของภูเก็ต ปลุกกระแสการท่องเที่ยวแนวอนุรักษ์ธรรมชาติ สอดแทรกเกร็ดความรู้และประสบการณ์ด้านการเกษตร และบอกเล่าวิถีชีวิตแบบธรรมชาติพร้อมกับความเป็นอยู่แบบไทยให้ฟื้นขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางความเจริญของสังคมเมือง
“คงเป็นปมในใจที่เราเคยอยู่ในไร่ข้าวโพด ไร่ถั่วเหลืองที่ธรรมชาติมากๆ พอเดี๋ยวนี้รู้สึกว่าเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก ไม่มีที่ไหนที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างเป็นกลางเลย ผมถึงสนใจอยากทำไร่เกษตรอินทรีย์ ต้องอ่านหนังสือทุกเล่ม ต้องตระเวนขอคำแนะนำจากผู้รู้ โชคดีผมได้คุณสุรพล เช้าฉ้อง กับคุณอุทัย กันล้อม มาช่วยให้คำปรึกษาและแนะนำครับ”
อภิรักษ์ยังเล่าต่อถึงปัญหาและอุปสรรคที่ยากสำหรับการทำไร่แบบนี้คือ ต้องใช้ที่ดินผืนใหญ่ ที่ไม่เคยทำเกษตรกรรมมานาน 3 ปีขึ้นไป เพราะสารเคมีที่สะสมอยู่ในดินใช้เวลาย่อยสลายอย่างน้อย 5 ปี การเลือกที่ดินจึงสำคัญมาก ถ้าที่ดินผืนเล็กเกินไป ถึงไม่ใช้สารเคมี แต่ที่ดินข้างๆ ฉีดปุ๋ยเคมีและใช้ยาฆ่าแมลง สารเคมีพวกนี้ก็จะกระจายมาถึงที่ดินของเขา นอกจากนี้ สภาพดินฟ้าอากาศของภูเก็ตที่แตกต่างจากปากช่อง ก็ยังเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญของอภิรักษ์
และช่วงเวลาที่แสงแดดรำไร นักธุรกิจหนุ่มร่างเล็กหัวใจเกษตกรคนเดิม ก็พาเราเดินฝ่าสายลมที่พัดโชยอบอวลด้วยกลิ่นของธรรมชาติ ชมพื้นที่โดยรอบภายในไร่วานิช ที่ได้จัดสรรอย่างเป็นสัดส่วน แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร ที่แยกเป็น ไร่ข้าวโพด, ทุ่งปอเทือง, แปลงผักออร์แกนิก และแปลงดอกไม้สวย ต่อด้วยพื้นที่จัดกิจกรรมเป็นบ้านเรือนไทย โชว์วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยโบราณ ร้านอาหารและจุดชมวิวที่ออกแบบทรงหลังคาที่สร้างจากแผ่นไม้สนซีดาร์ สีน้ำตาล ให้เป็นรูปกาบข้าวโพดทรงลูกรักบี้ขนาดใหญ่ สะท้อนถึงคอนเซ็ปต์ของไร่แห่งนี้ได้อย่างชัดเจน
อภิรักษ์ยังพาเราไปดูควายเผือก รวมถึงสัตว์เลี้ยงอย่าง แกะ, ควายแคระและกระต่าย ที่ จันทร์ทิพย์ วานิช ภรรยาคู่คิดชื่นชอบเป็นพิเศษ ถึงขนาดเสาะหามาเลี้ยงไว้ในไร่ด้วยความภาคภูมิใจ “แต่ละชนิดมาจากคนละที่เลยครับ อย่างควายเผือกคู่นี้ได้มาจากกาญจนบุรี ส่วน ควายแคระ และ แกะ ภรรยาผมได้มาจากปากช่อง กระต่ายนี่ก็เลี้ยงเองแบบธรรมชาติ สัตว์เลี้ยงทุกตัวเป็นมิตรและคุ้นเคยกับคน ผมให้เขาวิ่งเล่นอย่างอิสระ ให้คนที่เข้ามาเที่ยวในไร่ได้สัมผัสและเล่นกับเขาอย่างใกล้ชิด ผมอยากให้ทุกคนเข้ามาแล้วได้ความรู้ ความสนุก ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างแท้จริง” อภิรักษ์กล่าวพร้อมรอยยิ้มและแววตาที่ฉายความสุขอย่างเต็มที่
กับภาระหน้าที่มากมายและดูจะหนักเกินวัยของเขา ทำให้เราอดถามถึงการพักผ่อนและไลฟ์สไตล์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากงานที่มีอยู่ โดยเขาบอกว่า หากว่างจริงๆ แล้ว ส่วนใหญ่เขาเลือกที่จะนั่งสมาธิ ถ่ายภาพ และออกกำลังกาย วิ่ง ว่ายน้ำ ดำน้ำ ปั่นจักรยาน เดินป่ากับภรรยาคู่ชีวิตของเขานั่นเอง