ART EYE VIEW---“โชคดีที่ตัดสินใจถูก และรู้สึกขอบคุณเพื่อนที่ชวนไปเที่ยว เหมือนได้เจอบ้านเก่า เจอที่ๆเราเคยอยู่ ยิ่งอยู่ยิ่งผูกพัน เหมือนกับเคยอยู่มา มันสบายใจ มีความสุข”
ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ ศิลปินหญิงอาวุโสวัย 61 ปี บอกเล่า ถึงชีวิตที่ ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย หลังจากที่ย้ายตัวเองจากกรุงเทพฯ ไปปักหลักอยู่ที่นั่นเป็นระยะเวลา 6 ปีแล้ว
ในที่ดินจัดสรร ซึ่งมีเพื่อนยุค 14 ตุลา ที่เป็นชาวเชียงแสน ไปบุกเบิกไว้ก่อน แล้วชักชวนเพื่อนคนอื่นๆหลายรายไปซื้อเพื่อทำที่พักอาศัย ตลอดจนกิจการประเภทห้องพักและร้านอาหาร
รวมถึงศรีวรรณเอง ที่เวลาต่อมาได้ตามไปซื้อที่ต่อจากเจ้าของกิจการเกสเฮ้าส์ที่ธุรกิจไปไม่รอด จากนั้นได้ทุบและต่อเติมบางส่วนให้กลายเป็นที่พักอาศัยและสตูดิโอทำงานศิลปะ โดยมีคุณแม่ของเพื่อนสนิทเป็นคนช่วยเหลือด้านเงินทองในระยะแรก
กระทั่งเวลานี้ นอกจากที่พักอาศัยและสตูดิโอทำงานศิลปะ ยังมี หอศิลป์ เพิ่มเติมเข้ามา รวมกันเป็น “ศรีดอนมูลอาร์ตสเปซ”
“ต่อมาทำหอศิลป์ขึ้นมาด้วย เพราะน้องชายของอาจารย์(จงชัย เจนหัตถการกิจ)เขาบอกอยากจะไปอยู่ด้วย ถามว่ามีที่เหลืออีกไหม พอดีมีที่เหลืออีกแปลงนึงเป็นแปลงที่รุ่นน้องซื้อไว้ แล้วเขาไม่ได้ไปอยู่ เพราะคุณพ่อเขาเสีย และให้มรดกที่กรุงเทพฯ ต้องดูแล เขาเลยขายต่อให้ ซึ่งอาจารย์ก็ไม่ได้ใช้เงินตัวเองหรอก เพราะไม่มี เอาไปทำทำงานศิลปะหมด น้องชายเป็นคนซื้อให้ และจ่ายเงินสร้างหอศิลป์ด้วย อาจารย์อยากให้หอศิลป์สร้างเสร็จเร็วๆ มีเงินเหลืออยู่ในบัญชีส่วนหนึ่ง ก็เลยควักมาผสมกับเงินของน้องชายด้วย หมดไปเบ็ดสร็จประมาณ 2 ล้านกว่าบาท
น้องชายอาจารย์เขายังสอนหนังสืออยู่ที่เตรียมอุดม ไม่ได้ไปอยู่ด้วยจริงๆหรอก คงไปๆมาๆ เขาช่วยเพราะกลัวว่า ถ้าเราไม่มีอะไรทำเดี๋ยวจะเฉา”
จากอาจารย์สอนศิลปะ สู่ศิลปินแห่งดอยสะโงะ
ศรีวรรณเป็นศิษย์เก่ารั้วเพาะช่างและมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของศิลปินและอาจารย์สอนศิลปะหลายท่าน อาทิ รศ.ปริญญา ตันติสุข,รศ.สรรณรงค์ สิงหเสนี ,ศราวุธ ดวงจำปา,ชูเกียรติ เจริญสุข,ชาญชัย พินทุเสน,มนต์ชัย ขาวสำอางค์,เกษมศักดิ์ ตรานุชรัตน์(เสียชีวิตแล้ว),กําพล พงษ์พิพัฒน์,เจริญ ศิลปศาสตร์,สมพงษ์ อดุลยสารพัน รวมไปถึง พุทธชาติ อรุณเวช อดีตผู้อำนวยการทรัพย์สินแผ่นดิน
ก่อนจะมาเป็นศิลปินอิสระ ศรีวรรณเคยมีอาชีพเป็นอาจารย์สอนศิลปะ นานถึง30 ปี ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา ,วิทยาลัยช่างศิลป์ ,สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กระทั่งตัดสินใจเกษียนอายุราชการก่อนกำหนดเพื่อไปใช้ชีวิตและทำงานศิลปะอยู่ที่เชียงราย
“ก่อนไปอยู่เชียงราย อาจารย์สอนที่ มศว.ประสานมิตรมา 13 ปีกว่า แล้วเออร์ลีรีไทร์ก่อน 2 ปี เพื่อไปอยู่เชียงราย พอไปอยู่ที่นั่น อาจารย์เขียนรูปตลอด และได้เขียนรูปถวายเป็นพุทธบูชา เพราะพอขึ้นไปดูใน โบสถ์วัดป่ายาง (ดอยสะโงะ) เห็นว่าโบสถ์ว่าง ไม่มีภาพเขียน ก็เลยคุยกับหลวงพี่ที่อยู่ที่วัด ซึ่งมีอยู่รูปเดียวเป็นพระป่าสายปฏิบัติ พออาจารย์ไปขออนุญาตว่าเขียนได้ไหม ท่านก็ดีใจ และยินดี
อาจารย์ก็เลยร่างแบบแล้วให้พวกลูกศิษย์ลูกหาไปวัดขนาดความกว้างความยาวของโบสถ์ อาจารย์ก็เขียนรูปอยู่ที่บ้าน มีโต๊ะยาวๆ 5-6 เมตร เอาผ้าใบมากางแล้วเขียน แล้วถึงนำไป build in ที่โบสถ์ เพราะว่าปีนขึ้นไปเขียนไม่ไหว”
ชีวิตบนดอยของศิลปินหญิงอาวุโส เจ้าตัวยอมรับว่า มีบ้างที่รู้สึกคิดถึงกรุงเทพฯ ไม่ใช่บรรยากาศหรือความสะดวกสบายแบบที่เมืองใหญ่มี แต่เป็นสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะแม่
“คิดถึงแต่แม่กับน้อง และก็คิดถึงเพื่อนบ้าง โดยรวมถ้าทำงานศิลปะมันจะลืมหมด แต่พอตกเย็นจะคิดถึงแม่ คิดถึงหม่าม้า ว่าจะได้กินข้าวกับอะไรทำนองนั้นมากกว่า
เพราะ แม่เป็นแรงผลักดันชีวิตมากๆเลย เป็นคนที่ทุ่มเททุกอย่างให้ลูกทุกคน ให้ลูกเรียน เพราะว่าครอบครัวเรายากจน แม้แต่ตอนที่ลูกทุกคนเรียนจบมีอาชีพเป็นครูบาอาจารย์กันแล้ว เสาร์อาทิตย์ ยังต้องไปช่วยแม่เข็นข้าวขาหมูขาย เพื่อให้ครอบครัวเราอยู่รอด
บ้านอาจารย์อยู่ที่บางแค หลังตลาดบางแคใกล้ๆซอยวัดนิมมานรดี เมื่อก่อนบ้านอยู่ริมคลองภาษีเจริญ แต่ถูกยึดถูกรื้อ เตี่ยล้มละลาย เพราะสมัยนั้นค้าขายถูกโกงถูกอะไร สารพัดรูปแบบ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร”
ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมดา
ล่าสุดศรีวรรณนำผลงานศิลปะหลากเทคนิค ทั้งภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบ สีน้ำบนกระดาษ ประติมากรรม และเซรามิค ที่สร้างสรรค์ขึ้นตลอดช่วงระยะเวลา 6 ปีที่ไปใช้ชีวิตอยู่บนดอยมาจัดแสดงเดี่ยวให้ชมในนิทรรศการ ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมดา (Dharma Nature and Normality) ณ หอศิลป์วังหน้า
“เราอยู่ที่นั่น เรามองต้นไม้ทุกวัน มันทำให้นึกไปถึงเหตุการณ์เก่าๆ ในชีวิตของเรา จริงๆ แล้วเรามาพบกันเพื่อที่จะจากกัน
เช่นอาจารย์เคยเสียเตี่ยกับน้องชายไปในปีเดียวกัน ในช่วงเวลาห่างกันแค่เดือนเดียว และเป็นปีที่อาจารย์ได้ทุนศิลป์ พีระศรี คิดดูซิว่าคนเรามันทีทั้งดีใจและทุกข์โศกอยู่ในเวลาเดียวกัน มันก็เลยทำให้คนเราได้คิดว่าชีวินคนเราไม่แน่ไม่นอน
หรือแม้แต่เพื่อนที่ตกลงว่าจะแสดงงานด้วยกันก็มาเสียชีวิต เช่น ปู่ - เกษมศักดิ์ ตรานุชรัตน์ ก่อนนั้นก็ สุวนิช โรจนวัฒน์ แฟนของเสือเตี้ย - สนานจิต บางสะพาน ก็บอกจะแสดงงานด้วยกัน
มองต้นไม้ เหตุกาารณ์เก่าๆ หวนมาให้นึกถึงเป็นฉากๆ คล้ายมันผุดขึ้นมาสอนเรา โหแม่งคนเราอะไรจะกันนักกันหนา คุยกันอยู่อยู่หลัดๆ แม่งก็ไปดื้อๆ อาจารย์ก็คิดว่า น่าจะเขียนอะไรบางอย่างให้มันพูดถึงเรื่องของความเป็นธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมดา สังสารวัฏ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดา
ธรรมชาติมันสอนเราให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้มันธรรมดา ไม้มันแตกใบเขียวในคืนเดียว เวลาที่ได้รับน้ำค้าง พอมาเจอแดดเจอลมก็ร่วงหล่น มันคล้ายๆกับชีวิตของคน เป็นวัฏจักร”
ตัวตนไม่ต้องตามหา ตัวตนคือคนข้างๆมึง
ขณะที่ผลงานศิลปะหลายชิ้น ถ่ายทอดให้เห็นฉากชีวิตในชนบถที่เชียงราย ภาพแห่งความศรัทธา เช่น การไปวัด ทำบุญ ตักบาตร ที่มีการใส่ภาพในจินตนาการของศิลปินลงไปผสม และบางภาพมีภาพช้างเป็นโขลง หรือครอบครัวช้างปรากฎอยู่
“ช้างเป้นสัญลักษณ์ของความมีน้ำใจอย่างสมัยโบราณ สมัยที่มนุษย์อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ปู่ย่า ตายาย หลาน เหลน โหลน และดูแลกัน มันถึงจะอยู่กันได้ แต่ครอบครัวทุกวันนี้เป็นเชิงเดี่ยวหมด ทำตัวเป็นอเมริกันกันหมด
สมน้ำหน้า แล้วก็โดดเดี่ยว เดียวดาย คิดอะไรไม่ออกก็กระโดดสะพาน กระโดดแม่น้ำเจ้าพระยา กระโดดตึก เพราะว่าชีวิตมันพึ่งพา ปรึกษาใครไม่ได้ไง หน้ามืดตามัวก็จะกระโดดตึก ฆ่าตัวตาย แฟนทิ้งหน่อยนึงก็จะตายแล้ว จะบ้าเหรอ แทนที่มันจะคิดถึง คนที่รักมัน คิดถึงพ่อแม่ปู่ย่าตายาย คนที่เลี้ยงดูมันมา มันไม่คิด เนี่ย สมองคนมันเป็นอะไร
อันนี้น่ากลัวนะ คนถ้าไม่กลับมาเป็นอย่างช้าง รับรองได้ ไปไหนไม่รอดหรอก แล้วประเทศชาติก็จะลำบาก
ทุกวันนี้ที่มันมีปัญหากันอยู่ เพราะว่าคนมันลืมไปว่ามันเป็นคนไง ต่างคนต่างไป ต่างเอาตัวรอด แล้วก็คิดว่าตัวเองเท่ เท่ที่สุดในสยาม ฮิปสเตอร์งี้ แนวงี้ จะแนวไปไหน พ่อแม่มึงไม่ได้มาฮิปสเตอร์กับมึงนะ
ห่านี่ ทำอะไรก็แล้วแต่ให้นึกถึงครอบครัวตัวเอง คนรอบข้างตัว คิดถึงเพื่อนของตัวบ้าง เขาลำบากไหม เคยถามสักคำไหม ว่าเอ็งสบายดีไหมวะ
มัวแต่เท่อยู่คนเดียวได้ยังไงคนเรา ต่างคนต่างเท่ ตามหาตัวเอง ตามหาตัวตน ไม่มีหรอก ตัวตน ที่มีอยู่คือคนข้างๆมึง พ่อแม่มึงไง ดูแลบ้างไหม ลูกมึงอีก บทพวกมึงจะรักกันมึงก็ทำมันออกมา ดูแลกันหรือเปล่า รับผิดชอบหรือเปล่า
ตัวตนแบบที่มึงตามหา มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก รกโลก มันต้องคิดถึงคนอื่นบ้าง คิดถึงคนที่ด้อยโอกาส อ่อนแอกว่าเรา มันต้องช่วยกันดูแลตรงนี้ ถ้าไม่มีตรงนี้ลำบาก อะไรก็เอาไม่อยู่”
ศิลปะเพื่อ “ศรีดอนมูลอาร์ตสเปซ”
นิทรรศการศิลปะแสดงเดี่ยวครั้งนี้ของศรีวรรณ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 9 แล้ว นับว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจสำหรับเจ้าของผลงาน เพราะนอกจากจะมีมิตรสหาย แฟนผลงาน และประชาชนทั่วไป สนใจไปชมไม่ขาดสาย
ผลงานหลายชิ้นยังถูกนักสะสมศิลปะทั้งชาวไทยและต่างชาติ จับจองไปแล้วหลายชิ้น อาทิ ศิวะพร ทรรทรานนท์,รศ.ภก.ดร.ภาคภูมิ เต็งอำนวย ,นักสะสมศิลปะชาวอินเดีย รวมถึง บุญชัย เบญจรงคกุล ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย หรือ MOCA ที่นอกจากจะมีผลงานศิลปะของศรีวรรณสะสมและจัดแสดงให้ชมที่ MOCA หลายชิ้นและเดินทางมาเป็นประธานเปิดนิทรรศการครั้งนี้ ยังจับจองภาพเขียนชิ้นที่ใหญ่ที่สุดในนิทรรศการ มูลค่า 1.2 ล้าน ไปด้วย
นอกจากนี้นิทรรศการ ยังมีการจำหน่ายผ้าพันคอและเสื้อยืด ที่พิมพ์ลายจากภาพเขียนชิ้นเด่นๆ ซึ่งรายได้ทั้งหมดศิลปินตั้งใจจะนำไปใช้ในการพัฒนาและดูแล ศรีดอนมูลอาร์ตสเปซ
“ถ้าถอยไปได้สัก 20 ปี อาจารย์ยังมีแรง อยากจะทำเป็นหมู่บ้านศิลปินด้วยซ้ำ อยากจะเอาคนที่ทำงานศิลปะทุกสาขาอาชีพ มาอยู่ด้วยกัน จะได้เป็นแหล่งเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวให้คนทางนู้นด้วย และอยากให้เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม คนเข้ามาจะได้ดูไม่เกร็ง ไม่เป็นสถานที่ราชการ มาใช้ชีวิต มาใช้เวลากับงานศิลปะและให้เด็กได้มาฝึก มาดูมาเห็น
เพราะสมัยสาวๆ อาจารย์เคยทำหลักสูตรศิลปะเด็ก ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทำอยู่ 3 ปี เด็กเล็กๆ ติดใจ สนุก เพราะไม่ใช่แค่เล่นอยู่ในห้อง บางทีก็พาเด็กออกไปทำงานศิลปะกลางแจ้ง
แล้วพื้นที่ๆอาจารย์อยู่ที่เชียงราย ตรงนั้นจะเป็นป่า มีที่ให้เด็กเขียนรูปเยอะแยะ เป็นแหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติ แนวแบบกิจกรรมของเพื่อนอาจารย์ ชาญชัย พินทุเสน ประธานมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ ที่ให้เด็กออกไปดูต้นไม้ ดูใบหญ้า แล้วเอากลับมาทำงานศิลปะ ได้หมด ไม่ต้องระบายสีอย่างเดียว ใช้วัสดุพื้นถิ่นมาสร้างงาน ซึ่งอาจารย์ก็คิดฝันไว้
แต่ตอนนี้หอศิลป์ยังอยู่ในลักษณะที่คนสามารถไปเยี่ยมหา ไปดูงานที่อาจารย์เขียน ยังไม่มีระบบจัดการ ในอนาคตต้องค่อยๆทำ ต้องมีคนมาช่วยอาจารย์ด้วย อยากมีเตาเผาเซรามิก มีอะไรอีกหลายอย่างให้ครบวงจร
ที่ตั้งของหอศิลป์ จากสามเหลี่ยมทองคำเข้ามา 5 กิโลเมตรเอง และจากเมืองเชียงแสน ประมาณ13 กิโลเมตร ทางก็ดีหมดแล้ว แต่พื้นที่ยังมีความเป็นธรรมชาติล้วนๆ ผ่านนาข้าว ผ่านต้นไม้ ในเวิ้งของอาจารย์เป็นป่าหนาแน่น มีสัตว์มีนก มีอะไรเยอะแยะไปหมด ไฟฟ้าเข้าถึงแล้ว ห้องน้ำสะอาดสะอ้าน แต่สัญญาณโทรศัพท์ไม่ค่อยดี ไวไฟก็ติดๆดับๆตามสภาพอากาศ แต่โดยรวมๆ อาจารย์ก็คิดว่าเป็นพื้นที่ๆอยู่สบาย อากาศก็ดี อะไรก็ดี”
ขาไม่ไป แต่ใจยังไหว
เพราะชีวิตยังมีความฝันที่จะทำอะไรอีกหลายสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับสังคมรอบข้างนี่เอง ที่ทำให้ศรีวรรณยังอยากมีชีวิตอยู่ แม้สภาพร่างกายจะไม่เอื้ออำนวยให้ทำอะไรได้สะดวกก็ตาม
“แต่เมื่อไรที่คิดว่าตัวเองไม่มีประโยชน์ก็คงไม่อยากอยู่ คิดว่ายังมีแรงทำประโยชน์อยู่ ก็ยังอยากมีชีวิตอยู่ ทำประโยชน์ไป อาจารย์ขาไม่ไป แต่จิตใจยังไปอยู่ ยังมีแรงที่จะทำนู่นทำนี่เป็นประโยชน์โภชน์ผลกับส่วนรวมอีก”
สาเหตุที่ทำให้ปัจจุบันศรีวรรณต้องแบกรับน้ำตัวที่เพิ่มมากขึ้น และต้องอาศัยไม้เท้าในการเดินไปไหนมาไหน เพราะเมื่ออดีตเคยได้รับอุบัติเหตุร้ายแรง จนสะโพกหลุด ทั้งที่สมัยก่อนแข็งแรง สามารถแบกข้าวสาร น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ขี่จักรยาน และพายเรือไปส่งลูกค้า เพราะที่บ้านเคยเป็นร้านขายของชำ เคยเป็นนักกีฬา เล่นทั้งบาสเกตบอล วอลเลย์บอล เตะตะกร้อ สามารถวิ่งมาราธอน 8 รอบ รอบสนามศุภชลาศัย โดยไม่เหนื่อย และว่ายน้ำแข่งกับเพื่อนในแม่น้ำเจ้าพระยา
“ นอนอยู่โรงพยาบาล 3 เดือน นึกว่าตาย เมื่อปี 24 อาจารย์ซ้อนมอเตอร์ไซด์น้องชายไปเก็บเงินตามเขียงหมูให้เตี่ยที่ตลาด เกิดอุบัติเหตุ รถชน แถววัดสิงห์วัดไทร ฝั่งธน ทางวัดปากน้ำ มอเตอร์ไซด์หักครึ่งคันเลย แล้วตกลงไปฟาดกับรั้วสังกะสี ถ้าเป็นรั้วปูนคอหักไปแล้ว แต่เป็นรั้วสังกะสี มีกองขยะ เลยรอด ตอนนั้นสะโพกหลุด หินอัดเข้าไปเอ็นเกือบขาด”
ชีวิตที่เคยผ่านพบช่วงเวลาร้ายๆมาแล้วหลายครั้ง จึงทำให้ศรีวรรณมองแทบไม่เห็นความทุกข์ในปัจจุบันของตนเอง
“ไม่ทุกข์ว่ะ มันเหมือนว่า ทุกข์แบบนี้ก็เคยเจอมาแล้ว สุขแบบนี้ก็ก็เคยเจอมาแล้ว มันก็เลยเฉยๆ น้องชายเหมือนจะรู้ ก็เลยหาของเล่นมาให้เล่น ทำหอศิลป์ ให้ชวนหายใจอยู่ก่อน (หัวเราะ) เฉยๆนะ เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น
ถามว่ายังอยากเที่ยวเล่นไม๊ เที่ยวเล่น ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกไม่อยากเที่ยวเล่น คราวนี้ไปเลยนะ เข้าใจไม๊ ... โบกมือลา... เสียงเพลงครวญมาต้องลาแล้วเพื่อน”
นิทรรศการ ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมดา (Dharma, Nature and Normality) โดย ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ
ระหว่างวันนี้ - 5 ตุลาคม พ.ศ.2558 ทุกวัน เวลา 10.00 - 17.00 น. ณ หอศิลป์วังหน้า สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ถ.ราชินี
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews