ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ใครสักคนหนึ่งจะกลายเป็นอะไรสักหนึ่งอย่างเพื่อคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีผลประโยชน์อื่นใดตอบแทน หรือแม้แต่มีหากไม่คุ้มค่า ก็ไร้ซึ่งการเหล่านั้น เรื่องราวของ “เด็กเร่ร่อน” ก็คงไม่ต่างกัน เมื่อไร้ซึ่งพ่อ ใครเล่าจะปกป้องชีนำให้กับชีวิตเขา เมื่อไร้ซึ่งแม่ ใครล่ะที่จะโอบกอดปลอบประโลมใจ ยามบาดเจ็บ ท้อแท้ สิ้นหวังกับชีวิต ใครคนใดจะอาสารักษาแผลในใจ ให้เขาเป็นคนเต็มคน มีอนาคตอีกครั้ง |
ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในเรื่องราวของชายเพียงคนเดียว --- ชายที่อุทิศตัวไม่ขาดตกบกพร่อง ชายที่ได้รับการชูเกียรติในฐานะ "สุดยอดเกียรติยศตำรวจไทย" สาขาตำรวจเพื่อประชาชน ปี 2556-2557 "ร.ต.ต.ชาติชาย โจ่ยสา" รอง สวป.สถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์ กองกำกับการ 1 กองบังคับการรถไฟ อดีตคุณพ่อลูกสองที่ผันตัวเองกลายมาเป็นคุณพ่อของลูกๆ นับร้อยชีวิต ย่านหัวลำโพงและย่านชุมชนบางซื่อ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา จวบจนปัจจุบัน... |
ชีวิตของเด็กเร่รอน
กับเส้นขนานบนทางรถไฟ
"จริงๆ มันเริ่มจากการที่ผมไม่อยากเดินทางกับไปกับขบวน เพราะอยากอยู่กับครอบครัว"
ร.ต.ต.ชาติชาย โจ่ยสา บอกกล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชีวิตหัวหน้าครอบครัวขนาดย่อม พ่อ แม่ ลูก ของคนคนหนึ่งกลายเป็นครอบครัวใหญ่ และยึดโยงความผูกพันเข้ากับเด็กเร่ร่อนเป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงทุกวันนี้
"คือหลังจากเรียนจบโรงเรียนตำรวจที่บ้านจังหวัดนครปฐม ผมก็ได้มาประจำการเป็นตำรวจรถไฟที่ สน.นพวงศ์ หัวลำโพง ตั้งแต่ปี 2527 ช่วงปีแรกๆ เขาก็ให้ขึ้นควบคุมขบวนรถ ซึ่งรับผิดชอบเส้นทางสายเหนือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ทั้งขาไปและขากลับ แล้วตอนนั้นเริ่มมีครอบครัว ก็ทำให้ไม่อยากเดินทาง บังเอิญมีโครงการตำรวจครูข้างถนนขึ้นมา เพราะว่าเด็กเร่รอนเยอะ เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมขณะนั้น เราก็คิดว่าเป็นโครงการที่ดี เพราะเด็กๆ ที่เขาอยู่ในภาคปกติ เขาก็มีพ่อมีแม่มีคุณครูคอยดูแลอยู่ แต่เด็กเร่รอนพวกนี้เขาไม่มีใคร ออกจากบ้านมาก็ไม่มีบ้าน ไม่มีความรัก ไม่มีอะไรเลย ถ้าเกิดตำรวจเข้าไปเป็นเพื่อนเขา ไปเป็นพี่ ไปเป็นพ่อแม่เขามันก็คงจะดี แล้วจะได้ไม่ต้องเดินทางห่างครอบครัวด้วย เราก็เลยตัดสินใจสมัครอาสา"
ร่วมกับเพื่อนอีก 9 คน ในโครงการ “ครูตำรวจรถไฟ” โดยแรกเริ่มทดลองปฏิบัติงานทั้งหมด 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง พื้นที่บริเวณสะพานพุทธ และพื้นที่บริเวณห้างพาต้าปิ่นเกล้า ซึ่งจากการเริ่มต้นเพียงเพื่อจะใช้จ่ายวันเวลาจุดนี้ ในฐานะ “พ่อ” หัวหน้าครอบครัวของลูกๆ ก็ค่อยๆ แปรเป็นภาพใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยที่เขาเองนั้นก็ไม่คาดคิดฝัน
"คือเราทำงานอยู่ตรงนี้ เรารู้เลยว่ามันทำลำบากแน่ แล้วมันก็ลำบากจริงๆ เพราะว่า หนึ่ง เด็กเร่ร่อนพวกนี้เขาจะไม่เหมือนกับเด็กบ้าน นิสัยเขาจะก้าวร้าวกว่า พูดจาหยาบคายกว่า แล้วเขาจะไม่ค่อยชอบกฎระเบียบ เขาชอบอิสรเสรี กินก็ได้ ไม่ต้องอาบน้ำไม่ต้องอะไรก็ได้ ขออย่างเดียว ขอให้มีกาวแล้วดม ได้ลืมความทุกข์ความโศกของเขา
"สอง เราเป็นตำรวจ เขาเห็นเราเขาก็จะวิ่งก่อน วิ่งหนีตลอด เราก็ไม่รู้จะไปปะติดปะต่อกับเขายังไง คือเขารู้ว่าที่เขาอยู่ทุกวันนี้ได้ ก็มาจากการลักเล็กขโมยน้อยอะไรบ้าง เขาก็จะคิดว่าตำรวจจะไปจับเขา เพราะว่าตำรวจส่วนใหญ่ ก็จะใช้การบังคับตามกฎหมาย ผิดก็คือจับ
"แต่จริงๆ เราจะเอาเขามาอบรม เอาเขามาบอก อย่างเช่น เราจะมาใช้ชีวิตตามท้องถนนไม่ได้นะลูก เราต้องกลับไปสู่ครอบครัวให้ได้ เพราะนั่นคือภายนอก ภายในเขาเหมือนๆ เด็กทั่วไปที่ต้องการความรัก ความเอาใจใส่"
ครูโจ่ย กล่าวด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้า
"พอมีโครงการครูข้างถนนเกิดขึ้นมา เราได้ไปศึกษาจากองค์กรที่เขาทำงานเรื่องเด็กเร่ร่อนอยู่แล้ว ก็เลยเข้าใจ ทั้งวิธีการเข้าหาแล้วก็รู้สาเหตุที่เด็กออกมาจากบ้าน มันเพราะเป็นอย่างนี้ๆ ไม่ใช่เป็นที่เด็ก แต่เป็นที่ครอบครัวของเขา ครอบครัวของเขาไม่มีความพร้อม บางทีพ่อไม่ใช่พ่อแท้ๆ แม่ไม่ใช่แม่แท้ๆ เขาอาจจะอยู่กับพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง แล้วก็ไม่ได้รับความรักบ้าง บางทีความรักที่เขาได้มันก็ไม่ใช่ของแท้จริง บางคนเขาโดนรังแก เขาโดนหลายอย่าง เขาก็ไม่สามารถที่จะอยู่ในครอบครัวได้ เขาก็ออกมา ออกมาใช้ชีวิตตามท้องถนน
"เราก็ทำงานง่ายขึ้น เพราะเป้าหมายโครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อเด็กที่ใช้ชีวิตตามท้องถนน ต้องช่วยให้เขากลับเข้าบ้าน อย่างไรก็ต้องพยายามให้เขากลับเข้าบ้านให้ได้ ถึงจะมีความสมบูรณ์ในครอบครัว แต่ถ้าเกิดเขาไม่อยากกลับ เราก็จะมีเครือข่ายของเรา เวลาเราไปสัมมนา เราไปประชุม เขาก็จะรู้ปัญหาว่าที่หัวลำโพงมีปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้ เครือข่ายเขาก็จะบอกว่าถ้ามีปัญหาอย่างนี้ต้องส่งบ้านนี้ ถ้าเด็กอยากจะเรียนส่งบ้านนี้นะ ถ้าเด็กอยากจะฝึกอาชีพทำงาน เราต้องส่งตรงนี้ เราก็จะส่งเขาไปเรียน ส่งเขาไปฝึกอาชีพ เขาต้องการทำอะไร เรามีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน รองรับหมด"
ทว่าแม้จะมีสิ่งอำนวยต่างๆ ทั้งหนังสือ เสื้อผ้าและขนม แต่ด้วยลักษณะนิสัยที่หล่อหลอมผ่านวันคืนอย่างโชกโชน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เด็กๆ จะเปิดรับ วันแรกเริ่มของการเรียนการสอนเลยค่อนข้างทุลักทุเลพอควร
"คือโชคดีที่พื้นที่เราไม่กว้างเท่าไหร่ ผลที่ทำจึงเป็นรูปเป็นร่างที่สุด เพราะว่าส่วนใหญ่เราจะรู้แหล่งที่เขานอน แหล่งที่เขากินอะไร บางทีเขาก็ไปหลับนอนตามโบกี้ที่จอด เราก็จะไปหาเขา ไปปลุกเขา ประมาณบ่ายสาม บ่ายสี่โมงเย็น ให้ไปเรียน มาล้างหน้าล้างตา ตอนนั้นยังไม่มีห้องสมุด เราก็สอนกันที่ชานชาลา เอาเสื่อมาปู เรามีกระเป๋าใส่หนังสือ มีถุงใส่ขนม มีเสื้อไป"
"ครั้งแรกไล่ปลุกได้ประมาณ 7-8 คน แล้วเขาก็จะมีเพื่อน เขาก็จะบอกต่อกันไป บอกว่าเฮ้ย ตรงที่หัวลำโพงมีครูที่สอนแล้วเขามีขนมมีเสื้อผ้า เอ็งไปแล้วเขาไม่จับหรอก พอเขารู้แล้วว่าตรงนี้มีการเรียนการกินการเล่นการสอน เพื่อนๆ เขาก็จะมากัน"
"แต่สอนไปก็พักเบรกไปนะ"
ครูโจ่ยกล่าวถึงบรรยากาศการเรียนการสอนขณะนั้น
"คือช่วงแรกที่เขาเรียน เราสอนอยู่ตามชานชาลา เด็กพวกนี้เขาจะต้องมีรายได้จากการเก็บขวดพลาสติกเพื่อมาประทังชีวิต เขาก็จะขออนุญาตเราไปเก็บแป๊บหนึ่ง ทีนี้ เราเห็นว่ามันอันตราย เราก็เลยเรียนหัวหน้า ขอพื้นที่การรถไฟมาทำห้องสมุด ที่เรียนที่กินของเขา ทีนี้เขาก็ไม่เร่รอนที่สถานีแล้ว เพราะเขาจะมาอยู่ที่ห้องสมุดแทน"
แต่เมื่อโบกี้รถไฟเก่าไร้ค่าถูกตกแต่งทาสีประดับประดาด้วยหนังสือและที่นอนหมอนมุ้ง มันจึงเปลี่ยนไปเป็นโรงเรียนประจำขนาดย่อมๆ อันแสนอบอุ่น ที่เด็กๆ ไร้บ้านรู้สึกปลอดภัยและพร้อมที่จะเปิดใจ
"คือจริงๆ ห้องสมุดมันเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งเพื่อจะให้เด็กเข้ามาหาเรา เพราะเราต้องการที่จะคุยกับเด็กมากกว่า เพื่อที่จะให้เด็กๆ รู้ว่าอย่างน้อยๆ มีตำรวจคอยเป็นเพื่อนเขา เป็นที่ปรึกษาเขา บางทีเขาอาจจะมีความคับแค้นน้อยใจทางบ้าน ไม่รู้จะไปไหน มาห้องสมุดเสร็จปุ๊บ บางทีเขาไม่ได้มาอ่านหนังสือหรอกครับ แต่เขาจะมาพูดมาคุยกับเรา มาปรึกษากับตำรวจ คุณตำรวจ คุณน้าตำรวจ พี่ครับมันเป็นอย่างนี้ พ่อไม่รักผมเลย
"เด็กด้อยโอกาสน่ะครับ ต้องใช้ความรัก ความเข้าใจจากผู้ใหญ่ แล้วที่เขาต้องดมกาว ที่เขาต้องแสดงออกนู่นนี่ เพราะว่าเขาขาดความรักจากครอบครัว เขาเลยต้องแสดงออกให้สังคมมองเขา ดมกาวกลางท้องถนนเลย เราก็เคยถาม ทำไมต้องดมตรงนั้น ไปแอบดมไม่ได้เหรอ เขาก็บอกไม่ได้ ต้องให้คนเขาเห็น มันเป็นอย่างนั้นไป อยากแสดงออก เราก็ถามเขาเป็นไง ไม่มีคนเข้าใจผม ไม่มีคนรักผม ผมจะไปทำอะไร งานก็รังเกียจผม เราก็จะให้กำลังใจเขา เราก็จะแบ่งปันความรักที่เรามีต่อครอบครัวเราให้เขา ดูแลเขา บางทีเขาไม่ค่อยสบาย เขาดมกาวแล้ว จะเหาะ จะดึงดาว ดึงอะไรของเขา พอเมาได้ที่แล้วก็กระโดดตึก กระโดดตึกก็ขาหักบ้าง โดนตะปูเสียบบ้าง
"เราก็จะเข้าไปเยียวยา ไปดูแลเขา บางทีก็ช่วยเขารักษา ก็จะบอกเขาสอนเขา ถ้าใช้ชีวิตตามท้องถนนเร่รอนอย่างนี้ มันไปไม่รอด อย่างน้อยๆ ต้องเรียนหนังสือก่อน ต้องมีอาชีพก่อน เราก็อธิบายให้เขาเข้าใจว่าต้องทำตัวให้มีคุณค่าก่อน คุณค่าของคนก็คือ ต้องมีความรู้ ถ้าไม่มีความรู้ เขาก็จะไม่รับเข้าทำงาน เขาก็ถามว่าต้องอย่างไร เราก็บอกว่าต้องไปเรียน ไปเรียนไหม เดี๋ยวพาไปส่ง ไปเรียน กศน. เรียนเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ก็ได้ แค่นั้นเอง เขาก็เชื่อครับ"
"เพราะว่าเรามีครอบครัว เราก็มีลูกอยู่ในวัยไล่เลี่ยกับเด็กๆ เร่รอนพวกนี้ เราก็รู้สึกว่าเขาไม่ต่างจากลูกของเรา เราก็เลยเอาความรักจากที่เรารักลูกเราให้กับเด็กๆ ทีนี้ เมื่อเด็กๆ เห็นตำรวจ ดูแลเขา ตำรวจให้เสื้อผ้า ให้ที่อยู่ที่กิน อบรมเขา พาเขาไปเที่ยวน้ำตก ไปเที่ยวทะเล เขาก็เริ่มที่จะชอบชุดมวลชนสัมพันธ์ของเรา เริ่มชอบตำรวจ เพราะเด็กๆ พวกนี้มีปัญหาอะไร ก็จะมาปรึกษาเรา เขาก็เลยจะเรียกเราว่าคุณครูบ้าง ส่วนเด็กเล็กๆ หน่อย เขาก็จะเรียกเป็นพ่อเป็นแม่ไปเลย"
..."แต่พอทำได้สักพัก ก็อาจจะมีกลุ่มเพื่อนที่ไม่ชอบรักดีเท่าไหร่มาชวนคุย ชวนไป ดึงไปอีก เราก็เข้าไปล้วง เข้าไปดึงกลับมาหาเราอีก ก็ดึงกันไปดึงกันมา"
ครูโจ่ย เสริมว่า เด็กเหล่านี้ก็เหมือน “ขวดเปล่า” ที่จะมีคุณค่าแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ใส่ลงไป และนั่นก็เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนของเส้นทางชีวิตจาก “ครู” และ “พ่อ” มาเป็นนักมายากล เพื่อปรุงแต่งจิตใจนั้นให้มีคุณค่าที่สุด
มายาซ่อนกล
เหตุผลที่คนควรให้อภัย
"มายากล จริงๆ ผมไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย แต่ทีนี้มันมาเกิดขึ้นได้เพราะว่าเด็กเร่ร่อนที่เราสอนอยู่ บางทีเขาก็อยู่กับเราแค่ 2-3 วันหรือเดือนหนึ่งมาหาเราที เราสงสัย ถามเขาว่าไปไหนมา เขาก็เล่าให้เราฟัง ผมเบื่อ เช้ามาให้ผมอ่านแต่ ก.ไก่ ข.ไข่ เอาอย่างนี้ได้ไหม เมื่อคืนผมไปงานเทศกาล เขามีการโชว์ เรียกโชว์กายกรรมหรือมายากลผมก็ไม่รู้ แต่เขาโชว์แล้วเสกนกเสกอะไรออกมาเนี่ย ผมอยากเป็นอย่างนั้น พ่อต้องไปเรียนแล้วมาสอนผม แล้วผมจะเลิกดมกาว เราก็ถามเขาเลยว่า แล้วจะให้ไปเรียนโรงเรียนที่ไหน เขาก็แนะบอกต้องไปเรียน โรงเรียนฟิลิปมายากล คือบังคับเราเลย บอกต้องไปเรียนโรงเรียนนี้เลยนะ แล้วมาสอนผม ผมถึงจะเลิกดมกาว"
"ผมก็ได้ไอเดียจากตรงนี้แหละครับ เพราะมันดี" ครูโจ่ย กล่าว และเมื่อคำท้าทายเชิญชวนถึงที่ มีหรือที่เขาจะปฏิเสธ ซึ่งก็คงเหมือนกับจิตวิญญาณของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ที่ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใด ต่อให้บุกน้ำลุยไฟ ก็มิอาจหยุดยั้ง หากทำให้อนาคตลูกดีขึ้น
"ก็ขับรถไปหาอาจารย์ฟิลิปที่โรงเรียนแถวห้วยขวางเลย ตอนออกเวร เขาก็บอกจะมาเรียนใช่ไหม ทั้งหมดก็ต้องเรียนถึง 3 คอร์ส ถึงจะจบหลักสูตร ถึงจะเล่นเวทีได้ คอร์สละ 10,000 บาท"
ครูโจ่ย เว้นวรรคเล็กน้อย เนื่องจากจำนวนเม็ดเงินที่สูง ลำพังเงินเดือนอาชีพตำรวจ ถ้าครอบครัวไม่เข้าใจก็คงไม่สามารถจะทำงานดูแลเด็กๆ ตรงนี้ได้ วิธีที่เขาเลือก จึงคือการบอกกล่าวหวังให้เห็นใจ เช่นเดียวกับเรื่องข้าวสารอาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ได้รับจากความอนุเคราะห์หลังโครงการออกไปและผู้คนรับรู้เจตนา
"ผมก็เลยบอกว่าอาจารย์ครับ จริงๆ แล้วผมไม่มีเงินมากมาย ผมเป็นครูตำรวจข้างถนน สอนเด็กเร่ร่อนอยู่ครับ ผมอยากจะได้เพื่อไปสอนเด็กๆ ตอนแรกอาจารย์ไม่เชื่อ แต่เวลาทำงาน ผมจะมีกล้องฟิล์ม ถ่ายไปล้างแล้วก็ติดภาพไปด้วย ก็เอาไปให้ดู ท่านก็จัดอุปกรณ์มายากลมาให้ชุดหนึ่ง พร้อมเทปวิดีโอให้ม้วนหนึ่งเป็นพื้นฐานมายากล ได้มาปุ๊บก็มาฝึกเอง เรียนเองที่บ้าน"
และหลังจากศึกษาร่ำเรียนเองอยู่ถึงสองวันสองคืนเต็ม หัดเล่นกลต่างๆ จนครบกระบวน จนมั่นใจว่าทำให้เด็กเลิกดมกาวได้เป็นแน่แท้ ทว่าก็ไม่ประสบความสำเร็จดังที่คาดการณ์
"เด็กๆ เขาก็มาดูเลยนะ นั่งล้อมวงกัน ผมก็เล่นๆ ไป พวกเขาก็หัวเราะลั่นเลย แต่เขาไม่ได้หัวเราะที่เราเล่นเก่ง (ยิ้ม) เขาหัวเราะเพราะว่าที่เราเล่นมันแค่พื้นฐาน มันไม่ได้ มันไม่ใช่ เราคิดว่าเราเล่นเก่งแล้วไง แต่เขาบอกว่ามันไม่ใช่พ่อ ไอ้แค่นี้เด็กๆ เขาเล่นกันได้ พ่อจะต้องเรียนตัดตัวออกครึ่งหนึ่ง ตัดคอออกมาไว้ทางนี้ แล้วตัวอยู่ทางนี้ สลับเปลี่ยนตัวในกล่อง อย่างนี้มันถึงจะเป็นมายากล
"เราก็เฮ้ย...แล้วจะไปเรียนได้อย่างไร มันแพงนะ รู้ไหมว่าอุปกรณ์มายากลเป็นหมื่นๆ เลยนะ เราก็บอกกับเขา ก็ตามประสาเด็ก เขาก็บอกเราว่า ไอ้แค่กินกระดาษแล้วก็ดึงออกมา เด็กๆ เขาเล่นกัน"
"ก็กลับมาเลย มาศึกษาด้วยตัวเองใหม่" ครูโจ่ย พร่างพรูความรู้สึกอย่างฉะฉาน นั่นก็เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ไม่ใช่แค่ความเพียรพยายามเล่นกลชนะใจเด็กๆ จะบรรลุผล แต่ยังสามารถต่อยอดไปสร้างความสามารถพิเศษ เสริมประสบการณ์ชีวิต และรายได้อีกด้วย
"คือพอเข้าไปดูทางอินเทอร์เน็ต ไปหาชมรม ถึงได้รู้ว่าเมืองไทยมีนักมายากลเก่งๆ เยอะมาก คือที่ผมเห็นว่าต่างประเทศเขาเล่นได้ คนไทยเราก็เล่นได้ ผมก็ไปเข้าชมรม ก็มีนักมายากลมาสอบถามเราว่าทำงานอะไรถึงอยากมาเล่นมายากล พอเขารู้ว่าเป็นครูตำรวจสอนเด็ก เขาก็อยากจะมีส่วนมาช่วย เขาก็แนะเราว่าควรเล่นตรงนี้ เล่นอย่างนี้ อุปกรณ์ก็ไปหาซื้อที่ราคาไม่แพงตามจำนวนเงินเรา เด็กๆ เห็นกลเขาก็บอกว่าอย่างนี้ได้แล้ว มาสอนผมเลย เขาก็ชวนกันไปเล่น”
"เด็กๆ พวกนี้เขาก็จะเร่รอนไป รู้จักพวกออแกไนซ์ พวกวงดนตรี เขาก็จะบอกว่าฝาก ถ้ามีงานให้การแสดงที่ไหนขอพื้นที่โชว์หน่อยนะ บางทีก็สินค้าราคาถูกที่เขามีหลายๆ วัน งานวัด เด็กพวกนี้เขาก็จะให้เราไปโชว์ งานฟรีงานอะไรเราก็ไป เพื่อให้เขารู้จักประสบประการณ์ชีวิตของเขา"
"ลูกศิษย์ที่ไปเป็นทหาร เขาก็ใช้มายากล เป็นแนวทางของเขา" ครูโจ่ย ยกตัวอย่างลูกศิษย์และลูกชายอีกหนึ่งคน ที่สามารถผันตัวเองไปมีชีวิตที่ดีส่วนหนึ่งเพราะมายากล จากทหารเกณฑ์สอบต่อจนติดนายสิบ มีลูกมีครอบครัว
"เขาไปเป็นทหาร แล้วเขาก็ไปเรียนนายสิบต่ออีก แล้วก็เขาประสบความสำเร็จ เขาก็มีครอบครัวมีลูกแล้ว เขากลับมา เขาบอกว่าพ่อ ถ้ามีเด็กเร่รอนมานะ หาผม เดี๋ยวผมจะเอาไปทำงานด้วย เขาก็สะท้อนชีวิตเขา เขาอยู่ในค่ายทหารเขาก็เขียนจดหมายมาบอกพ่อตอนที่พ่อสอนผมอยู่ เช้ามาปลุกผมกินข้าวนี้นะ หนักยิ่งกว่าตอนที่พ่อสอนผมเป็น 100 เท่าเลย เขาก็เข้าใจเลยว่าที่เราสอนเขานั้นมันแค่ปูพื้นฐานเฉยๆ"
เล่าถึงตรงนี้ครูโจ่ยนึกย้อนถึงวันวานที่ความไม่ประสาทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ที่ได้พบเห็นเข้าใจผิด เพราะความไม่รู้ทั้งเรื่องโครงการและความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กๆ เร่รอนเหล่านี้
"คือบางครั้งเด็กเขาอยู่บนรถเมล์ เราก็ผ่านไปพอดีเลย เขาก็ตะโกนเรียกเราพ่อๆ (เน้นเสียง) คนบนรถเมล์เขามองมาที่เราเลยว่า "เฮ้ยตำรวจทำไมไม่ดูแลลูกเลย สกปรก มอมแมม ตัวมีแต่กลิ่นกาว" สังคมเขาก็จะมองอยางนั้นเลย หรือบางทีเราขี่รถไปตามสี่แยกแถว 3 ย่าน แถวนั้นเช็ดกระจกรถกันเต็มเลย เราขี่เข้าไปเขาก็จะตะโกนบอกต่อๆ กัน พ่อโจ่ยมาๆ (หัวเราะ) ก็จะออกมาจากซอกถนนกันเต็มเลย คนที่เขาขับรถสัญจรก็มองทำนองตำรวจนี้มันเลี้ยงเด็กไว้ ตั้งแก๊งเด็กแน่ๆ เลย เขาก็จะมองภาพอย่างนั้นไปเลย"
"เราก็อยากจะบอกกับสังคมว่า อย่ามองเด็กพวกนี้เป็นปัญหา พยายามมองเด็กพวกนี้ว่า เขาก็คือลูกหลานเราคนหนึ่ง เพียงแต่ตอนนี้เขาขาด เขาขาดความรัก เราในสังคมต้องให้ความรักเขา ความรักก็ยังไม่พอ ต้องให้ความสงสารเข้าด้วย "
"และสุดท้ายเลยที่ต้องให้เขาด้วย คือการให้อภัย บางครั้งเด็กพวกนี้โดนจับ พวกสายตรวจสายสืบก็จะโทร.มา บอกเราให้ไปรับลูกหน่อย เราก็จะรีบเข้าไปดูว่าเขาทำอะไร มันเกินไปไหม แต่ถ้าเกิดเขาทำเกินเหตุที่เราไม่สามารถช่วยเขาได้ เราต้องการอยากจะช่วยเขา เราก็จะต้องบอกเขาว่า อันนี้หนูทำเกินกว่าเหตุ หนูต้องไปรับผิด เขาก็เข้าใจ เขาก็บอก ผมต้องไปชดใช้
"บางทีเขาเมา เขาทำอะไรไม่รู้ตัว เราก็จะบอกเขา อันไหนช่วยได้ เราก็จะพยายามช่วย เพราะบางทีเขาทำผิดทำอะไร สำคัญที่สุดคือการให้อภัย ให้เขากลับเนื้อกลับตัว ครั้งที่หนึ่งยังทำไม่ได้ ก็ให้อภัยเขา ให้อภัยเขาจนกว่าเขาจะช่วยเหลือตัวเองได้ นั่นแหละครับปัญหาก็จะค่อยๆ หมดไป"
ความสำเร็จของลูก
คือความภาคภูมิใจ
“รักเหมือนลูกแท้ๆ” อาจจะฟังเป็นคำน้ำเน่าที่ใครสักคนหนึ่งอุ้มชูให้เขาเติบใหญ่มีอนาคตโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน แต่นั่นล่ะคือชีวิตของคนที่เป็นทั้งเพื่อน พี่ พ่อ กระทั่งครู และนักมายากล เพื่อให้หนึ่งเลือดเนื้อเติบใหญ่มากว่า 200 ชีวิต
"เด็กทุกคนที่มารับการสอนจากเรา เราก็จะทำประวัติเขาไว้ ถ่ายรูปเขา ถ่ายกับโบกี้รถไฟ ดูว่าเขาสูงขนาดไหน จริงๆ แล้วเขาก็จะไม่บอกชื่อจริงนามสกุลจริงอะไรหรอก แต่เราก็จดๆ ไว้ พอเขาเริ่มใช้ชีวิต ไม่ใช้ชีวิตบนท้องถนนแล้ว เขาไปมีครอบครัวไปทำงาน เขากลับมาหาเราอีก เขาถามเราว่าจำผมได้ไหม ผมก็บอกว่าจำได้ ตอนนี้เอ็งทำอะไร เขาก็บอกว่าตอนนี้ผมมีครอบครัวแล้ว ผมไปทำงาน รับจ้าง อะไรก็ว่าไป เราก็จะเอาเขามาถ่ายรูปอีก แล้วให้เขาดูรูปตัวเองว่าเห็นไหมตอนนั้นที่ถ่ายรูปไว้ เขาเป็นอย่างไร เขาก็จะเอามาเปรียบเทียบกันกับตอนนี้ แล้วก็เห็นว่าชีวิต กว่าจะผ่านไปได้เป็นอย่างไร"
"เวลาเท่านั้นครับที่จะเป็นตัวช่วยเยียวยาเขา พอเขาเริ่มไปมีครอบครัว เขาก็จะเริ่มสิ่งที่เราบอก เรามีลูกแล้วเราต้องหาเงินหาอะไรมาซื้อนมให้ลูก เขาก็จะเข้าใจ เขาก็สัญญา เขาบอกว่า ถ้าผมมีลูกมีอะไรผมจะไม่ให้ลูกผมอออกมาเร่รอนแบบผม"
"คือเด็กหลายคนที่เขาประสบความสำเร็จในชีวิต เลิกเร่รอน มีเงินเก็บส่งทางบ้าน มีครอบครัว เวลาเขาทำงานเลิกเสร็จแล้ว เขาแวะมาจอดหาเราที่ตู้ เขาบอกเราว่าประสบความสำเร็จ เราก็ดีใจภูมิใจแล้ว เพราะอย่างน้อยๆ ที่เราสอนเขาไป ทำให้เขาได้มีชีวิตใหม่" นั่นคือความภาคภูมิใจที่แสดงผ่านรอยยิ้ม และเป็นเหตุผลที่แม้ในวัย 55 ปี เขาก็ยังยืนยันว่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ
จึงไม่แปลกที่หลังจากปี 2540 เริ่มต้นโครงการครูข้างถนนเพียงหนึ่งปี ที่แห่งนี้จึงสามารถเติมหลุมเว้าแหว่งในหัวใจเด็กๆ เร่ร่อนย่านพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพงจนเต็มดวง ส่งผลให้เด็กๆ เร่รอนที่เป็นปัญหาใหญ่ของเมืองหลวงค่อยๆ ลดน้อยลงจนแทบไม่มี และปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาก่อให้เกิดการรุกคืบเข้าไปในพื้นที่ชุมชนอย่าง “บางซื่อ” และโครงการ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” ลงมือสัมผัสอย่างจริงจังถึงต้นต่อ นั่นก็เพราะ “ความรัก” และการมองหัวใจที่ไม่ต่างกัน ของชายที่ชื่อ “ชาติชาย โจ่ยสา”
"ถึงเหนื่อยแต่ก็ต้องทำไป เพราะอย่างน้อยๆ ภาพที่ประชาชนเขาคุยกันตั้งแต่ก่อนว่าตำรวจไม่ค่อยดี อย่างนั้นอย่างนี้ เราก็อยากให้ภาพที่ชาวบ้านเขามองมันเป็นบวกขึ้น คือตำรวจยุคใหม่ สมัยใหม่ เขาดูแลประชาชน เขาใส่ใจ เขามองเห็นปัญหา เราจะต้องช่วยเคลียร์ตรงจุดไหนให้เขา พอโครงการครูตำรวจข้างถนนเริ่มได้ผล เด็กตามท้องถนนน้อยลงแล้ว ก็มีโครงการ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” เพิ่มขึ้นมา ในพื้นที่ที่มันเป็นบริเวณของทางรถไฟแล้วก็ที่ไหนที่มันใกล้ชุมชน ตำรวจก็จะรุกเข้าไปๆ เราเข้าไปในชุมชนเลย เข้าไปกินเที่ยวเล่นนอนอยู่ในชุมชนกับเขาเลย แล้วก็ไปเป็นญาติเขาเลย
"เพื่อให้รู้ปัญหาที่แท้จริง เพราะบางทีบ้านเขาไม่มีประตู ไม่มีหลังคา เราก็ซ่อมให้เขา ช่วยเขา เขาก็จะได้คิดว่าจริงๆ แล้วตำรวจก็รักเขา ตำรวจก็ดี คือเมื่อเราเข้าไปให้ในสิ่งที่เขาต้องการ เรารู้ในสิ่งที่เขาต้องการ ชาวบ้านเขาเห็นตำรวจที่มานี้ เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าเรามาสอดส่องหรือมาจับผิด จริงๆ เราเข้ามาช่วย ชาวบ้านก็เริ่มเข้าใจ พอชุดผมเข้าไป เขาก็จะยิ้ม จะต้อนรับ เขาก็จะไม่หวาดระแวง เพื่อที่จะไปช่วยชุมชน ช่วยหมู่บ้าน ดูว่าเขามีปัญหาอะไรบ้าง สมมติเขามีปัญหาเรื่องลูกหลานไม่ค่อยมีความรักพ่อแม่อย่างนี้ ตำรวจก็จะเข้าไปหาเด็กก่อนเลย เข้าไปสอนเด็ก บอกเด็กว่าการที่เรามีครอบครัวเราต้องรักกันนะ"
"ผมก็ไปทำสลับหมุนเวียนกับที่หัวลำโพง ก็จะทำไปเรื่อยๆ เพื่อป้องกันปัญหาเด็กเร่รอนที่มีสาเหตุมาจากครอบครัวกว่า 90 เปอร์เซ็นต์และปัญหาอาชญากรรมต่อไป"
ร.ต.ต.ชาติชาย โจ่ยสา กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญาณของ “ครู” และ “พ่อ” ที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมหัวใจ
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช