xs
xsm
sm
md
lg

ทุกชีวิตล้วนมีปัญหา “ท้าฟ้าลิขิต” หมายเหตุประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


คอลัมน์ : คนดูหนังไทย

______________________________________________

ดีงามสมศักดิ์ศรี...คงใช้ถ้อยคำนี้ได้กับงานชิ้นนี้แบบไม่มีความรู้สึกติดขัด “ท้าฟ้าลิขิต” ในปีที่ออกฉายคือ พ.ศ.2540 ได้รับรางวัลมากมาย รวมทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีตุ๊กตาทอง ไปจนถึงดารานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม คือ “ดู๋-สัญญา คุณากร” ในช่วงวัยที่หน้าตายังละอ่อนและท็อปฟอร์มมากในยุคนั้น ผลงานก่อนหน้านี้ของเขา อย่าง “ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด” ก็ได้รับรางวัลเช่นกัน “ท้าฟ้าลิขิต” เป็นการกำกับของ “อ๊อกไซด์ แปง” ผู้กำกับเชื้อสายฮ่องกง ตัวเรื่องนั้นมีประเด็นที่แนบแน่นกับวิถีความคิดความเชื่อแบบท้องถิ่นไทย แต่เหนืออื่นใด มันคือหมายเหตุแห่งยุคสมัยที่จับเอาความเป็นไปทางสังคมตลอดจนค่านิยมมานำเสนอ ตีแผ่ และวิพากษ์ได้คมคาย อีกทั้งเป็นหนังที่ให้สติ ให้ความหวังและกำลังใจ ได้อย่างดียิ่งเรื่องหนึ่งด้วย

อ่านมาหนึ่งย่อหน้า บางคนอาจกำลังเกิดคำถามว่า เหตุไฉน คอลัมน์ภาพยนตร์ของเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ถึงไปหยิบเอาหนังไทยในวันก่อนเก่ามาเล่าย้อนถึงอีก ซึ่งในมุมนี้ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า “เพราะความคิดถึง” เท่านั้นเองครับ อีกทั้งโดยส่วนตัว ผมก็รู้สึกหงุดหงิดใจทุกครั้งเวลาที่มีคนพูดว่าหนังไทยไม่พัฒนาหรืออ่อนด้อยในแง่นั้นแง่นี้ (โดยเฉพาะเรื่องของ “บทหนัง”) ผมรู้สึกว่า ส่วนใหญ่มักเป็นการเอาบริบทปัจจุบัน (อาจจะเป็นหนังเรื่องล่าสุดที่เพิ่งได้ดู) ไปตัดสินภาพรวมทั้งหมด ซึ่งบางทีผมเองก็เป็น คือพอดูหนังไทยฉายโรงสักเรื่องจบ ก็จะแบบหงุดหงิดและพานไปคิดว่าทำไมหนังไทยมันแย่แบบนั้นแบบนี้ ทั้งที่จริงๆ หากเอาไปจับวางกับหนังฮอลลีวูดหรือประเทศอะไรๆ แต่ละปีมันก็จะมีหนังแย่จำนวนไม่น้อยเหมือนกัน

อันที่จริง หนังไทยของเรา นับตั้งแต่มีการสร้างมา ก็ผ่านพัฒนาการหลายช่วงเวลาและหลายอารมณ์หนัง เรามีตั้งแต่ยุคเพื่อชีวิตรุ่งเรือง ยุคหนังวัยรุ่นเฟื่องฟู ยุคศิลปินนักร้องอู้ฟู่บนจอเงิน หรือแม้กระทั่งยุคหนังตีหัวเข้าบ้าน มันมีขึ้นมีลง มีสูงส่งและตกต่ำ เป็นวงจรธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมไม่อาจไปกล่าวได้ว่า หนังยุคไหนประเสริฐกว่ายุคไหน หรือแม้กระทั่งว่า “ของเก่าดีกว่าของใหม่” ผมเพียงพาตัวเองย้อนเวลากลับไปดูหนังเก่าอีกครั้งและร่วมพิสูจน์ว่า หนังไทยเราไม่ได้แย่แต่อย่างใด อย่าลืมนะครับว่า รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของสถาบันต่างๆ นั้น มีการแจกกันมามาเนิ่นนานพอควรแล้ว การมีรางวัลหนังยอดเยี่ยมก็บอกกล่าวได้ด้วยตัวของมันเองอยู่ระดับหนึ่งว่า หนังไทยก็มีที่ยอดเยี่ยมอยู่นะ ไม่ได้มีเฉพาะแค่ที่ยอดแย่เท่านั้น

เช่นเดียวกับงานชิ้นนี้ที่เป็นการกำกับหนังเรื่องแรกของอ๊อกไซด์ แปง ภายใต้ชายคากันตนา โมชั่น พิคเจอร์ เนื้อเรื่องนั้นเกาะเกี่ยวอยู่กับตัวละครหลักที่ชื่อ “เจี๊ยบ” (สัญญา คุณากร) ชายหนุ่มที่ดูเหมือนไม่ค่อยมีความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษอะไรนัก แต่เขาก็มีความรักกับ “ว่าน” (ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์) หญิงสาวที่ใจบุญสุนทาน ชอบเข้าวัดเข้าวา หนังใช้เวลาไม่มากนักในการแนะนำตัวละครก่อนจะพาพวกเขาเข้าสู่สถานการณ์วิกฤติเมื่อทั้งคู่ไปวัดด้วยกัน ซึ่งระหว่างทางกลับบ้าน ว่านถูกรถชนจนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา และหลังจากนั้น เจี๊ยบแฟนหนุ่มก็ได้รับคำแนะนำจากหลวงตาที่วัดว่า ถ้าอยากช่วยให้ว่านฟื้นขึ้นมา เขาต้องไปช่วยเหลือคนอีกห้าคน เสมือนเป็นการช่วยไถ่บาปที่ว่านก่อไว้ในชาติปางก่อน ความสนุกและมิติของหนังที่ซับซ้อนก็เกิดมีช่วงที่เจี๊ยบต้องออกไปช่วยเหลือคนห้าคนนั้น หนังใช้วิธีการคล้ายๆ คนเล่นเกมที่ต้องฝ่าฟันผ่านด่านแต่ละด่าน และสำหรับ “เกม” ของเจี๊ยบ มันเป็นเกมที่ต้องแลกด้วยชีวิต

แม้อ๊อกไซด์ แปง จะเป็นลูกครึ่ง แต่เมื่อพิจารณามวลสารด้านเนื้อหาของหนังแล้ว เราจะพบว่า ผู้กำกับคนนี้ช่างเข้าอกเข้าใจสังคมไทยได้ทะลุปรุโปร่ง หนังเล่นตั้งแต่ประเด็นอันเป็นรากเหง้าทางความเชื่อความคิดที่ผูกติดกับวิถีชีวิตของสังคมไทยอย่างเรื่องศาสนาและบาปกรรม แล้วก็นำเอาแนวคิดอีกแบบมาปะทะกัน ผ่านตัวละครสองตัวคือว่านกับเจี๊ยบ ถ้าพูดแบบไม่อ้อมค้อม มันก็คือการปะทะกันระหว่างสองสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้าม คือ “ศาสนา/ความเชื่อ-ศรัทธา” กับ “วิทยาศาสตร์/เหตุผล-สิ่งที่พิสูจน์ได้” เรื่องบาปเรื่องกรรมหรือกระทั่งความเชื่อทางศาสนาที่ว่านยึดไว้เป็นหลักชัยในการดำเนินชีวิต ก็คือภาพแทนทั่วๆ ไปของผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยที่ศรัทธาในพุทธศาสนา ขณะที่ตัวละครของดู๋-สัญญา ก็เป็นคนที่ย้ายฐานความคิดความเชื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ไปแล้ว โดยเชื่อว่าทุกอย่างควรจะมีเหตุมีผลและอธิบายได้ด้วยมุมมองทางวิทยาศาสตร์ เขาเดินเข้าวัดกับแฟนก็จริง แต่ก็เพื่อเอาอกเอาใจเธอ เพราะลึกๆ ลงไปในจิตใจของเขานั้น เขาไม่ได้เชื่อเรื่องพวกนั้นแต่อย่างใด แม้กระทั่งเมื่อประสบพบเจอกับ “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อนของว่าน เขาก็ยังมีท่าทีไม่เชื่อถือ กระนั้นก็ตาม หนังไม่ได้คาดคั้นให้คนดูรู้สึกว่าสิ่งใดดีหรือแย่กว่าสิ่งใด เพราะภารกิจที่หนังวางไว้ยังมีอะไรที่สำคัญกว่านั้น พอๆ กับภารกิจของ “เจี๊ยบ” ที่มีเรื่องท้าทายอยู่รอเบื้องหน้า

หนังเรื่องนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ.2540 อันเป็นยุคสมัยที่ประเทศไทยเสียศูนย์อย่างรุนแรงในด้านเศรษฐกิจ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” หรือ “ฟองสบู่แตก” แล้วแต่จะเรียก คือความเจ็บปวดที่คุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในช่วงเวลานั้น และ “ท้าฟ้าลิขิต” ก็ไม่พลาดที่จะทำหน้าที่เป็นหมายเหตุแห่งยุคสมัย ช่วยจดบันทึกผลพวงแห่งวิกฤติการณ์ดังกล่าว มีคำพูดอย่างหนึ่งซึ่งเรามักจะคุ้นหูกันว่า ถ้าอยากรู้ความย่ำแย่ของเศรษฐกิจ จำนวนมิจฉาชีพนั้นบอกได้ เหมือนอย่างในหนังเรื่องนี้ที่นอกจากกลุ่มโจรปล้นร้านทอง ยังมีเรื่องของตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ลงทุนทุจริตยักยอกเงินหลวงไปเล่นพนันม้า ขณะเดียวกัน เด็กหนุ่มที่ไปรับงานพวกมาเฟียจนเหตุการณ์บานปลายและเป็นเหตุให้แฟนสาวเข้าใจผิดถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย ทั้งหมดเหล่านี้ คือภาพบ่งชี้ถึงสภาพสังคมที่สิ้นหวังจากพิษเศรษฐกิจตกต่ำ นั่นยังไม่นับรวมภาพในสนามม้าที่คับคั่งด้วยชาวบ้านซึ่งฝันเฟื่องถึงการชนะพนัน ก็หาใช่อะไรอื่น หากแต่เป็นภาพสะท้อนรูปแบบหนึ่งของ “สังคมที่สิ้นหวัง” ได้เช่นกัน ทั้งหมดนี้ล้วนผลักไสให้คนกระทำสิ่งใดก็ได้เพื่อความอยู่รอดโดยไม่คำนึงถึงเรื่องผิดเรื่องถูก

ประเทศไทย “เป็น” อย่างไร, “เคยเป็น” อย่างไร, หรือยัง “เป็นอยู่” และ “จะเป็นต่อไป” อย่างไรในอนาคต อ๊อกไซด์ แปง ได้แสดงไว้ในงานชิ้นนี้ มันคือหลายความจริงที่ยังคงเป็นความจริงมาจนทุกวันนี้ และอาจเป็นความจริงที่จะยังคงเป็นความจริงของสังคมไทยต่อไปเรื่อยๆ ตราบเท่าเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ดังกรณีของเด็กชายวัยมัธยมปลายที่สอบเอ็นทรานซ์ไม่ติดแล้วคิดกระโดดตึก นั่นคือผลพวงของค่านิยมสังคมการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการต้องได้เข้าเรียนในสถาบันดังๆ มีชื่อเสียงและคิดว่านั่นแหละคือสุดยอดแห่งชีวิตแล้ว มันจึงไม่แปลกที่เราจะได้ยินข่าวโศกนาฏกรรมอันเกี่ยวกับนักเรียนนักศึกษาให้ได้ยินกันอยู่เรื่อยๆ หลังประกาศผลสอบเอ็นทรานซ์ ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเด็นหนึ่งซึ่งหนังเรื่องนี้พูดไว้แบบชัดถ้อยชัดคำก็คือเยาวชนของชาติจะมีภูมิคุ้มกันต่อเรื่องนั้นได้ ก็ต้องผ่านการดูแลและเข้าอกเข้าใจของสถาบันครอบครัว คำถามก็คือพ่อแม่จะเป็นหลักแห่งความรักได้หรือไม่ หากลูกของตนเองไม่ได้ทำในสิ่งที่เป็นค่านิยมนั้นสำเร็จ พ่อแม่หลายคนเผลอไผลไปคว้าเอาชีวิตลูกไว้เป็นตัวประกันของความฝันสักแบบ เหมือนอย่างที่ชอบพูดกันว่า “ลูกคืออนุสาวรีย์ของพ่อแม่” หรือแม้กระทั่งยกให้ลูกเป็นตัวแทนความฝันของตนเอง อยากให้ลูกเป็นนั่นเป็นนี่ อยากให้ลูกสอบติดหมอหรือเรียนวิศวะ โดยไม่เข้าใจสถานะแห่งความรักความชอบหรือศักยภาพของลูกจริงๆ เด็กบางคนชอบเรียนศิลปะ แต่อาจจะถูกพ่อแม่บังคับให้สอบเข้ากฎหมายหรือเรียนแพทย์ อย่างนั้นเป็นต้น สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเงื่อนไขที่กดดันวิถีชีวิตของวัยรุ่นวัยเรียนจนนำไปสู่ความบีบคั้นและอาจจะหาทางออกที่กลายเป็นทางตันเหมือนกับเด็กวัยรุ่นคนนั้นในเรื่อง

ความดีงามของ “ท้าฟ้าลิขิต” ในประการที่เห็นได้ชัด จึงได้แก่ความพิถีพิถันในการเก็บรายละเอียดทางสังคมมานำเสนอได้น่าคิดและสะเทือนใจ พร้อมกับตีแผ่ว่า ความทุกข์ความเจ็บปวดของสังคมนั้นมาจากสาเหตุอันใดบ้าง ซึ่งก็มีตั้งแต่ทุกข์ที่เกิดขึ้นโดยโครงสร้างใหญ่อย่างเรื่องเศรษฐกิจ ไปจนถึงเจ็บปวดเพราะวิถีค่านิยมบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง กระนั้นก็ตาม แม้จะพยายามนำเสนอว่าความทุกข์เศร้าโศกาบรรดานั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยอะไรบ้าง หนังก็ส่งเสียงในเชิงเป็นการบอกทางอยู่กลายๆ ว่าสุดท้ายแล้ว เราควรจะดำรงตนเช่นใดในสภาวการณ์ประดานั้น

ถ้าไม่นับรวมคำพูดของเจี๊ยบที่ตรงไปตรงมาจนเกือบจะกลายเป็นการเทศนาเตือนสติในตอนที่เขาออกไปช่วยเหลือคนและพูดอยู่บ่อยหนว่าทุกคนก็ล้วนแต่มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น มีอะไรกันก็ควรค่อยพูดค่อยจา อย่าตัดสินปัญหาด้วยมิจฉาทิฐิหรือความเห็นผิด สอบเอ็นทรานซ์ไม่ติด ก็ใช่ว่าชีวิตจะจบสิ้น เศรษฐกิจพังภินท์ ใช่ว่าชีวินจะสิ้นสูญ แม้แต่เจ็บปวดกับเรื่องรัก ก็ใช่ว่าจักต้องตาย...ในฉากเปิดเรื่องนาทีแรก เราจะเห็นภาพของสามเณรน้อยสามสี่รูปนั่งกรรมฐานอยู่ภายในโบสถ์ โดยมีพระเถระหรือหลวงตารูปหนึ่งนั่งเป็นองค์ประธาน หนึ่งในสามเณรน้อยสามสี่รูปนั้น ทำทีกระซิบกระซาบกับเพื่อนสามเณรอีกรูป ก่อนจะเอ่ยถามหลวงตาขึ้นมาอย่างสงสัย...

“หลวงตาครับ คนที่เขามาวัด เขามีปัญหากันทุกคนเลยเหรอครับ เขามาขอให้พระช่วยใช่ไหมครับ”
“อื้อ” เสียงหลวงตาตอบรับสั้นๆ เณรน้อยรูปนั้นจึงถามต่อ
“แล้วถ้าเวลาพระมีปัญหา จะไปให้ใครช่วยล่ะครับ”
ภาพของหนังวางมุมกล้องส่องขึ้นไปในมุมสูง เห็นพระพุทธรูปตั้งเด่นเป็นสง่า
“อัตตา หิ อัตตโน นาโถ นะเณร” หลวงตากล่าวตอบ...

อัตตา หิ อัตตโน นาโถ “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” คือพุทธพจน์ที่พุทธศาสนิกชนคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี หนังใช้พุทธพจน์บทนี้ในการเปิดเรื่อง เหมือนตั้งใจส่งสารอะไรบางอย่าง ซึ่งเมื่อหนังเดินทางไปข้างหน้า พลังของถ้อยคำนี้ก็จะยิ่งเจิดแจ่มขึ้นมา ฉากที่ดีมากๆ ฉากหนึ่ง ก็คือตอนที่เจี๊ยบไปยืนต่อว่าต่อขานอย่างเกรี้ยวกราด ทั้งต่อพระพุทธรูปและหลวงตาในทำนองว่า ทำไมไม่ช่วยเหลือว่าน เพราะว่านก็เป็นคนใจบุญสุนทานมาก เป็นศาสนิกชนที่ดีมาก แต่ก็ไร้คำตอบจากพระพุทธรูป ขณะที่คำตอบของหลวงตารูปนั้นก็เหมือนจะไม่ช่วยเหลืออะไรได้ เพราะความทุกข์ทั้งหลายบรรดามี อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยประการ ทั้งผลพวงจากโครงสร้างสังคม ผลพวงแห่งการกระทำ หรือกระทั่งกรรมเก่า แต่สุดท้ายแล้ว มนุษย์แต่ละคนนั้นก็ควรสะสางความเศร้าทุกข์โศกด้วยตัวของตนเอง แทนที่จะเรียกร้องเอาจากผู้อื่น

ชื่อของหนัง “ท้าฟ้าลิขิต” อาจชวนให้คิดถึงพลังแห่งมนุษยนิยมอย่างถึงที่สุด เพราะมนุษย์ควรลิขิตชีวิตตน โดยไม่ต้องรอให้ใครหรือฟ้าเบื้องบนดลบันดาล คำตอบของชื่อหนังในภาษาอังกฤษ อย่าง “Who is Running?” จริงๆ ก็ไม่น่าจะใช่อะไรอื่น หากแต่เป็นตัวของคนคนนั้นเอง และทั้งหมดนั้นมันก็สะท้อนย้อนกลับไปยังพุทธพจน์อันเป็นปฐมบทแห่งฉากในหนัง ที่บอกกล่าวอย่างไม่ปิดบัง ถึงสิ่งที่มนุษย์ควรกระทำต่อตนเอง

ถ้าตนไม่เป็นที่พึ่งแห่งตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งให้เราได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวทางใจ ที่ว่ากันอย่างถึงที่สุด มันคือสุขทุกข์ส่วนบุคคลที่จะหลุดพ้นหรือไม่หลุดพ้น ก็ล้วนแต่ตนกระทำต่อตนทั้งนั้น
อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ครับ!

______________________________________________


ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพิ่มหมวดข่าว “โต๊ะญี่ปุ่น” นำเสนอความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ตอบสนองผู้อ่านที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สรรสาระ เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ และ ต้องรู้อีกมากมาย ติดตามเราได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก






โปสเตอร์หนังเวอร์ชั่นญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น