ก้า-กัลณิการ์ ตรียางกูรศรี ยังคงจดจำสายตาของชาวชุมชนท่าเตียน ที่มองเธอเมื่อ 10 ปีก่อน เหมือน”ผู้บุกรุก” ที่จะมาทำลายความเงียบสงบ ของชุมชนเก่าแก่นับร้อยปีแห่งนี้ ด้วยธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารที่เธอและเพื่อนๆ มาบุกเบิก จนถึงวันนี้ ก้าได้รับการยอมรับและกลายเป็นลูกหลานในชุมชนแห่งนี้ไปแล้ว เธอทำได้อย่างไร ?
หลังเดินบนเส้นทางการเงินนานกว่า 22 ปี หญิงสาววัย 36 ปี ก้า-กัลณิการ์ ก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำด้านวางแผนการเงิน ที่ บาร์เคลย์ แคปปิตอล แล้วยึดทำเลชุมชนท่าเตียนเป็นหลัก พร้อมกับผันตัวเข้ามาดูแล “อรุณ เรสซิเดนท์ กรุ๊ป” ซึ่งประกอบไปด้วย โรงแรมอรุณ เรสซิเดนท์ และ ร้าน The Deck by The River, ศาลาอรุณ และร้าน Eat Sight Story อย่างจริงจัง
“ท่าเตียน” ตั้งอยู่บนถนนมหาราช ตรงข้ามกับวัดพระเชตุพนฯ เป็นชุมชนการค้าเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา เคยเป็นวังที่ประทับของเชื้อพระวงศ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทั้งยังเคยเป็นตลาดท้ายสนมหรือตลาดท้ายวัง อันเป็นศูนย์กลางการค้าขนส่งทางน้ำ อาทิ ข้าวสาร น้ำตาลทราย ฯลฯ ที่ขนส่งทางเรือจากต่างจังหวัด มาขึ้นของที่นี่ก่อนส่งถึงมือพ่อค้าปลีก
แต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ จนชุมชนแห่งนี้ราบเตียนโล่ง คนทั่วไปจึงพากันเรียกว่า "ท่าเตียน" แม้กระนั้น ชุมชนท่าเตียนก็ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงเหมือนชุมชนอื่นๆ ผู้คนส่วนมากเป็นพ่อค้าชาวจีน อาศัยอยู่ในตึกแถวเก่าๆ 2 ชั้น ที่ก่อสร้างในสไตล์ชิโน โปรตุกิส เป็นความงดงามแบบคลาสสิกที่แทบจะไม่ได้เห็นแล้วในเมืองใหญ่
ในวันที่ฟ้าใสไร้พายุฝน ก่อนแดดสุดท้ายจะลาลับขอบฟ้า ก้า ซึ่งว่างจากการดูแลร้าน เปิดโอกาสให้เราพูดคุยเพื่อย้อนอดีตเมื่อ 10 ปีก่อน ตอนที่เธอตัดสินใจเลือกลงหลักปักฐานธุรกิจในชุมชนท่าเตียน โดยเริ่มต้นเปิดร้าน The Deck by The Riverเป็นแห่งแรก ที่ซอยประตูนกยูง แม้ที่ตั้งของร้านที่เดิมเป็นตึกแถวติดแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ถูกปล่อยทิ้งร้างในสภาพโทรมมานานปี แต่เพราะความคลาสสิกของชุมชน ทำให้เธอและเพื่อนๆ หลงไหล
“มาเห็นสถานที่ตรงนี้ปั๊บ ก็ตัดสินใจเลยว่าอยากทำร้านอาหาร เพราะโลเกชันที่ตั้งงดงามมาก มองไปฝั่งตรงข้ามสามารถเห็นพระปรางค์วัดอรุณ ที่งามสง่าได้อย่างเต็มตา”
ก้า บอกว่า ตอนที่เข้ามาใหม่ๆ เธอเหมือนเป็นคนแปลกหน้าหรือผู้บุกรุก ที่ไม่เข้ากับใครได้เลย เพราะคนที่นี่อยู่กันอย่างสงบและเป็นชุมชนที่สามัคคีกันมาก ทุกบ้านจะรักษาขนบธรรมเนียมโบราณอย่างเหนียวแน่น ถึงช่วงเทศกาลก็จะจัดกิจกรรมตามประเพณีโบราณร่วมกัน ตั้งแต่ ทำบุญใส่บาตร ไหว้เจ้า จัดงานประจำปี มีงิ้ว ดังนั้น เมื่อเธอเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ ก็ต้องพยายามเรียนรู้ขนบธรรมเนียมของคนในชุมชน เพื่อให้สามารถอยู่ได้
“ก้ารู้สึกตลอดเวลาว่า ร้านอาหารของเราเหมือนมาสร้างความยุ่งยากให้ชุมชน เพราะร้านอาหารต้องเสียงดัง ขยะเยอะ ตอนนั้นต้องเคาะประตูขอโทษชาวบ้านแถวนั้นตลอด ว่าถ้าเราสร้างปัญหาอะไรขอให้บอก ให้เบอร์โทรศัพท์เขาไป แรกๆ ชาวบ้านร้องเรียนว่า ขยะเยอะส่งกลิ่นเหม็น ก้าต้องโทรศัพท์ขอให้ทางเขตมาเก็บขยะจากเดิมวันละ 2 รอบเป็น 4 รอบ เพื่อลดปัญหาเรื่องกลิ่น ตอนหลังปัญหาก็ค่อยหมดไป และชาวบ้านก็เริ่มเอ็นดูเรา”
การเกิดขึ้นของร้าน The Deck by The River นั้น กลายเป็นสิ่งแปลกใหม่ในชุมชนที่เงียบสงบแห่งนี้ เพราะเริ่มมีลูกค้าซึ่งถือเป็นคนแปลกหน้าในชุมชน มาเยือนอยู่เป็นประจำ แต่ในไม่ช้า ก็กลายเป็นความคุ้นชินของชาวบ้าน ที่จะออกมานั่งดูลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติ ที่แต่งตัวสวยๆ เดินเข้าออกในซอย จนพวกชาวบ้านยอมรับว่า นี่คือสีสันใหม่ของชุมชน
หลังจากนั้นเธอก็ขยายธุรกิจมาสร้าง โรงแรมศาลาอรุณ และร้าน Eat Sight Story ในซอยเพ็ญพิมาน ซึ่งแต่เดิมเป็นตึกร้างติดริมแม่น้ำ ที่เก็บขยะ
“เราตกแต่งภายในร้านใหม่หมด แต่ไม่ได้ทุบหรือทำลายของเดิม ตัวผนังตึกรูปทรงเราใช้ของเก่าทั้งหมด ก้ามองว่าทุกอย่างมันสวยคลาสสิก ถ้าเราทุบทำลายมันก็จะไม่เข้ากับชุมชนและวิถีชีวิตเดิมๆ ซึ่งก้าไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น”
การชุบชีวิตตึกร้างที่มีสภาพโทรม ทำให้ชุมชนไม่สวยงาม ให้กลายมาเป็นโรงแรมและร้านอาหารที่งดงาม และยังกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมเดิมของชุมชน กลายเป็นสิ่งที่ชาวท่าเตียนสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของ “ผู้บุกรุก” กลุ่มนี้ได้ ยิ่งกว่านั้นยังช่วยสร้างงานให้กับลูกหลานในชุมชน ที่เข้ามาเป็นพนักงานของร้านอาหาร
“มีคนที่อยู่ในซอยนี้มาปรึกษาเราว่า อยากจะทำโรงแรมและร้านอาหารแบบเราบ้าง ก้าก็แนะนำเขาไปว่า ให้ลองมาฝึกงานกับเราก่อน เพราะธุรกิจนี้ภายนอกอาจจะดูดี แต่ความจริงแล้วค่อนข้างจุกจิกในรายละเอียดมาก”
นานนับ 10 ปีที่คลุกคลีอยู่ตรงนี้ ก้าบอกว่า ตอนนี้เธอไม่ใช่คนแปลกหน้าที่มาบุกรุกคนท่าเตียนอีกต่อไปแล้ว และทุกวันนี้แม้เธอจะไม่ใช่ลูกหลานคนท่าเตียนโดยกำเนิด หากแต่ความรัก ความสามัคคี ตลอดจนความเป็นกันเองที่เธอได้รับ ทำให้เธอยอมรับว่ารู้สึกรักและหวงแหนชุมชนแห่งนี้ยิ่งนัก
ก่อนจากกันในวันนั้น เธอยังยืนยันด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ทุกวันนี้เธอและชาวบ้าน พยายามรักษาชุนชนเก่าแก่ผืนเล็กๆ แห่งนี้ ให้คงอยู่ท่ามกลางกระแสความเจริญที่ถาโถมเข้ามาทุกแห่ง โดยพยายามจะอนุรักษ์พื้นที่ตรงนี้ให้งดงาม ทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ให้ได้มากและนานที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพราะวันนี้เธอไม่ใช่คนแปลกหน้าอีกแล้ว แต่พวกเขาคือหนึ่งในชุมชนท่าเตียน