xs
xsm
sm
md
lg

123 ปี ศ.ศิลป์ พีระศรี “สุภาพบุรุษจากฟลอเรนซ์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

ART EYE VIEW---ภาพวาดพอร์เทรตของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งวาดโดยศิลปิน วราวุธ ชูแสงทอง คือภาพที่ถูกนำมาตีพิมพ์เป็นโปสเตอร์และการ์ดเชิญ เพื่อเชิญชวนทุกคนให้ไปร่วมงาน วันศิลป์ พีระศรี ปีล่าสุด วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558 ซึ่งถือเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ศ.ศิลป์ และหาก ศ.ศิลป์ ยังมีชีวิตอยู่ จะเป็นปีที่มีอายุครบ 123 ปี

ในวันดังกล่าว มหาวิทยาลัยศิลปากร ยังคงร่วมกับ กรมศิลปากร สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร จัดให้มีหลากหลายกิจกรรมเกิดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ดังเช่นทุกปี นับตั้งแต่เวลา 07.30 น. -22.00 น.ดยมี ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ   ศุภนิมิตร
นิทรรศการ  “แรงบันดาลใจจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  สยามบรมราชกุมารี”
โดยการแสดงปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ในงานปีนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร ศิลปิน นักประพันธ์ นักวิจารณ์ศิลปะ เป็นผู้ที่ถูกเชิญมาแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “สุภาพบุรุษจากฟลอเรนซ์ สู่กลิ่นสีแดนหิมวันต์” เวลา 11.00 น. ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ

ส่วนภาพยนตร์สั้นที่ชนะการประกวด หัวข้อ “ศิลปะกับชีวิต” ที่จะฉายให้ชม เวลา 19.00 น. ณ บริเวณ สนามบาสเกตบอล คือภาพยนตร์เรื่อง “กวีวัธน์”

ขณะที่ หอศิลป์ของคณะต่างๆและ หอศิลป์หลัก จัดให้มีนิทรรศการ ที่เปิดให้ผู้สนใจได้เข้าชม ดังต่อไปนี้

นิทรรศการ “แรงบันดาลใจจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ระหว่างวันที่ 15 กันยายน - 15 ตุลาคม 2558 ณ หอศิลป์ PSG Art Gallery คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์

นิทรรศการ “ 60 ปี สถาปัตย์ ศิลปากร” ระหว่างวันที่ 15 กันยายน - 2 ตุลาคม 2558 ณ หอศิลปะสถาปัตยกรรมพระพรหมพิจิตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

นิทรรศการ “รุ่งอรุณแห่งความสุข” ระหว่างวันที่ 15 - 30 กันยายน 2558 ณ หอศิลปะและการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์

นิทรรศการ “ศิลป์ สู่ ศิษย์” ระหว่างวันที่ 15 กันยายน - 22 ตุลาคม 2558 ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ


ประวัติศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เดิมชื่อ CORRADO FEROCI เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ณ เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยศิลปะ

เมื่อเยาว์วัย ศ.ศิลป์ สนใจและยกย่องผลงานของไมเคิลแองเจโล และกิแบร์โต ในวิหาร Santa Maria del Flore เป็นอย่างมาก โดยตั้งใจว่าจะศึกษาและเจริญรอยตามศิลปินทั้งสองท่านนี้

เมื่อโตขึ้นได้เข้าศึกษาศิลปะที่ราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ สำเร็จการศึกษาตั้งแต่อายุยังน้อยเพียง 23 ปี ได้รับประกาศนียบัตรช่างเขียนช่างปั้นและเข้าสอบชิงตำแหน่งศาสตราจารย์ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

ผลงานในวัยหนุ่มที่ได้รับยกย่องและมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะของศิลปิน คือ ได้รับรางวัลชนะการประกวดออกแบบอนุสาวรีย์หลายครั้ง และเคยได้รับรางวัลต่าง ๆ จากรัฐบาลอิตาลี

ชีวิตในวัยหนุ่มของ ศ.ศิลป์ ไม่พอใจในสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ในสังคมที่เจริญแต่เพียงด้านวัตถุในประเทศอิตาลีสมัยนั้น เมื่อได้ทราบข่าวว่ารัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ต้องการช่างปั้นชาวอิตาเลี่ยน เพื่อเข้ามารับราชการงานอนุสาวรีย์ในประเทศไทย จึงยื่นความจำนงพร้อมผลงานเข้าแข่งขันกับศิลปินอีกจำนวนมาก ในที่สุดรัฐบาลไทยได้เลือก ศ.ศิลป์ หรือ Prof. C. Feroci เข้ามารับราชการในประเทศไทย

ศ.ศิลป์ อายุ 31 ปี ออกเดินทางโดยทางเรือจากประเทศอิตาลีถึงกรุงสยาม ในราวต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2466 เข้ารับราชการในตำแหน่งช่างปั้นของกรมศิลปากร กระทรวงวัง เมื่อวันที่ 14 มกราคมปีเดียวกัน โดยมี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ศิลปินเอกแห่งกรุงสยามเป็นองค์อุปถัมภ์

ในระยะแรกเป็นช่วงเวลาที่ ศ.ศิลป์ ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมแวดล้อมและการเมือง อีกทั้งยังต้องสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับของผู้มีอำนาจในสมัยนั้น ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างผลงาน รัฐบาลไทยจึงได้ยอมรับ ศ.ศิลป์ เรื่อยมา

เช่น มอบหมายให้ปั้นพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 เท่าพระองค์จริง ปัจจุบันประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดร และปั้นพระรูปสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ฯลฯ

ศ.ศิลป์ ประสงค์ที่จะใช้บุคลากรที่เป็นคนไทยในการทำงานศิลปะ เมื่อมีโอกาสจัดสร้างอนุสาวรีย์ ได้ฝึกฝนกุลบุตร กุลธิดาของไทยให้ได้ศึกษาเรียนรู้วิชาการปั้น และการหล่อโลหะขนาดใหญ่ ซึ่งนับเป็นยุคแรกที่ได้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญขึ้นในประเทศไทย

อนุสาวรีย์ที่สำคัญ ผลงานของ ศ.ศิลป์ ซึ่งปรากฏเห็นในปัจจุบัน ได้แก่ อนุสาวรีย์พระปฐมบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กรุงเทพฯ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2471 - พ.ศ. 2473 ,อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จ.นครราชสีมา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2477,รูปปั้นหล่อประกอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2485,พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สวนลุมพินี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2484,พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2493,พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดสุพรรณบุรี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2497 และรูปปั้นประดับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน


ปี พ.ศ.2469 ศาสตราจารย์ศิลป์ ได้ย้ายมาเป็นช่างปั้น สังกัดกองประณีตศิลปกรรม กรมศิลปากร กระทรวงธรรมการ ระหว่างนั้นได้เริ่มสอนศิลปะแก่ผู้สนใจโดยเฉพาะทางด้านประติมากรรม ทั้งทางด้านทฤษฎี และปฏิบัติ ศิษย์รุ่นแรกๆส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนเพาะช่าง

เมื่อทางราชการเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาทางด้านศิลปะจึงให้ ศ.ศิลป์ เป็นผู้วางหลักสูตรและตำรา ในปี พ.ศ.2477 กรมศิลปากร ได้จัดตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม โดยมี ศ.ศิลป์ เป็นผู้อำนวยการและเป็นผู้สอนวิชาศิลปะทั้งทางด้าน ทฤษฎี และปฏิบัติ

โรงเรียนประณีตศิลปกรรมได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ.2486 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นโรงเรียนสอนศิลปะสากลแห่งแรกของประเทศสยามและเอเชียอาคเนย์

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นสถาบันการศึกษาอุดมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

ศ.ศิลป์ มีผลงานทางด้านเอกสารทางวิชาการ ตำรา และบทความมากมาย ซึ่งล้วนแต่ให้ความรู้ทางศิลปะ พยายามชี้ให้เห็นคุณค่าของศิลปะ เช่น ทฤษฎีของสี ,ทฤษฎีแห่งองค์ประกอบ-ศิลป์, คุณค่าของจิตรกรรมฝาผนัง, ศิลปะและราคะจริต, อะไรคือศิลปะ, ภาพจิตรกรรมไทย, พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว ฯลฯ

ตลอดเวลาที่ ศ.ศิลป์ เดินทางเข้ามารับราชการและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ได้ทุ่มเทความรัก ความรับผิดชอบให้แก่งานราชการอย่างมหาศาล แม้ว่าจะอยู่ในฐานะของชาวต่างชาติก็ตาม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ศ.ศิลป์ได้โอนสัญชาติเป็นไทย และเปลี่ยนชื่อเป็นไทย พ.ศ. 2502 สมรสกับคุณมาลินี เคนนี และใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยตลอดอายุของตนเอง

ศ.ศิลป์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจและโรคเนื้องอกในลำไส้ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อคืนวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 สิริรวมอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน

ระยะเวลาที่ ศ.ศิลป์ ได้อุทิศตนให้แก่ราชการไทยเป็นเวลาทั้งสิ้น 38 ปี 4 เดือน



ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น