xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำราการปั้นผู้นำ ของ รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารบุคคล สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ และนักวิจัยกิตติมศักดิ์วิทยาลัยเบอร์คเบ็ค มหาวิทยาลัยลอนดอน อังกฤษ
 
ชื่อของ รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข อาจไม่เป็นที่คุ้นหูในแวดวงเซเลบริตี้เมืองไทยมากนัก หากแต่ในแวดวงวิชาการตลอดจนนักบริหารชั้นนำทั้งไทยและเทศแล้ว เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จัก โดยเฉพาะกับบทบาทกูรูด้านการพัฒนาผู้นำหรือนักโค้ชชิ่งที่ปั้นให้ทั้งเจ้าของธุรกิจ นักบริหารและนักการเมืองกลายเป็นผู้นำมากมาย ล่าสุดเธอยังใช้ “ม้า” มาช่วยสร้างภาวะผู้นำได้อีกด้วย

 
หลังการบรรยายเรื่อง HR ในชั้นเรียนเสร็จแล้ว รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สตรีร่างบอบบาง บุคลิกแคล่วคล่องว่องไว ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารบุคคล สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ และนักวิจัยกิตติมศักดิ์วิทยาลัยเบอร์คเบ็ค มหาวิทยาลัยลอนดอน อังกฤษ ก็มีเวลาว่างมานั่งพูดคุยกับเราถึงเรื่องราวการเป็นนักสร้างภาวะผู้นำ (Executive Coach) ซึ่งเป็นอีกสายงานหนึ่งที่ประสบความสำเร็จและกำลังได้รับความนิยมในหมู่นักบริหารอย่างมากในขณะนี้

รศ.ดร.ศิริยุพา หรือ ด๊อกเตอร์เจี๊ยบ บอกว่าเรื่องของการโค้ชชิ่งในไทยนับเป็นเรื่องใหม่ โดยเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา แต่ในต่างประเทศถือเป็นเรื่องปกติ เพราะผู้บริหารชื่อดัง อย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ แจ็ค เวลช์ และนักบริหารระดับโลกอีกหลายคน ก็มีโค้ชที่คอยให้คำแนะนำอยู่เสมอ

 
ทั้งนี้ หน้าที่ของโค้ชไม่ใช่นักพัฒนาบุคลิกภาพเพียงเท่านั้น แต่รวมทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้คนๆ หนึ่ง เป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับทั้งจากผู้บังคับบัญชาที่อยู่เหนือขึ้นไป ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน พันธมิตรทางธุรกิจ หรือลูกค้า

“ถ้าต้องโค้ชใครสักคน จะเริ่มต้นทำความรู้จักกันตั้งแต่แรกว่าเราจะทำงานด้วยกันได้หรือไม่ เพราะก็คงไม่ใช่แต่คนที่มาขอให้โค้ชที่เขาหวังผลของการเปลี่ยนแปลง เราเป็นโค้ชก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ถ้าพบกันครั้งแรกแล้วรู้สึกว่าคงมีแนวคิดต่างกันมากไปก็อาจต้องขอปฏิเสธ แต่ถ้าผ่านขั้นแรกแล้ว ก็จะเริ่มต้นเก็บรวบรวมข้อมูลจากเจ้านาย ลูกน้อง และเพื่อนร่วมงานว่ามองหรือมีทัศนคติกับคนๆ นั้นอย่างไร หาจุดเด่นจุดด้อย แล้วนำมาประมวลวิเคราะห์เพื่อป้อนข้อมูลกลับให้ผู้บริหารท่านนั้น แล้วเริ่มปรึกษาหารือกันว่าเราจะเริ่มพัฒนาจากจุดไหน” ดอกเตอร์เจี๊ยบบอกเล่าถึงวิธีทำงานของเธอ

 
ดอกเตอร์เจี๊ยบ ยังสะท้อนความคิดเห็นเรื่องการปรับตัวเองเมื่อต้องรับบทบาทเป็นผู้บริหาร ว่า ไม่ใช่เพื่อให้ดูดีกับภาพลักษณ์เท่านั้น แต่เพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืนขององค์กร เช่น ผู้บริหารบางท่านสื่อสารไม่เก่ง ซึ่งเมื่อเป็นผู้บริหารแล้ว จะทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะผู้อื่นไม่มีทางรู้ว่าเขาคิดอะไรหรือมีแนวทางในการทำงานอย่างไร หน้าที่ของโค้ชจึงต้องบอกให้เห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง“ความเงียบ” อาจเป็นกลยุทธ์ที่ดีในบางกรณี แต่ในหลายกรณีการสื่อสารจะได้ผลลัพท์ที่ดีมากกว่า

สำหรับปัญหาหลักที่ได้พบจากผู้บริหารรุ่นใหม่ คือเรื่องของการวางตัวซึ่งไม่รู้จะทำตัวอย่างไรเมื่อต้องปรากฏกายต่อสาธารณชน หน้าที่โค้ชอย่างดอกเตอร์เจี๊ยบต้องชี้แนะให้ปรับตัวใหม่ “ผู้บริหารเวลาพูดคุยกับลูกน้องไม่ควรจะใส่อารมณ์ แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังใส่อารมณ์ เราก็หยิบกระจกให้เขาดูหน้าตัวเองเลย แล้วบอกว่าหน้าคุณกำลังเป็นอย่างนี้ บอกให้เขาเห็นความเป็นจริงเพื่อแก้ไข”

 
ดอกเตอร์เจี๊ยบยังกล่าวว่าคนที่มา Coach ส่วนหนึ่งเพราะต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเขาฉลาดน้อยกว่าเรา แต่เขาต้องการกระจกส่องเพื่อสะท้อนตัวเองมากกว่า บางทีมีหลายอย่างที่เขารู้แล้ว เราแค่ชี้แนะ “การสร้างภาวะผู้นำก็เหมือนการสร้างแบรนด์ของตัวเองให้เกิดการยอมรับ อย่าง โอบามา ก็ถือเป็นการสร้างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ เพราะเขารู้ว่าประชากรกลุ่มที่เป็นเป้าหมายของเขา คือ คนยุคใหม่ที่สื่อสารทางอินเทอร์เน็ต เขาจึงนำเสนอแบรนด์ความเป็นผู้นำรุ่นใหม่โดยใช้อินเทอร์เน็ตมาเป็นช่องทางการสื่อสารโดยตรง ทำให้ประสบความสำเร็จมากในช่วงแรกที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี”

สีหน้าสดใสกับสายตาคมกริบภายใต้แว่นสายสีขาวใส ในยามอธิบาย ทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลินไม่รู้เบื่อที่จะฟัง นอกเหนือจากเสน่ห์ตรงนี้แล้ว วิธีการสอนของเธอก็ไม่น่าเบื่อเช่นกัน เพราะเธอพยายามคิดค้นการเรียนการสอนแบบใหม่ๆอยู่เสมอ โดยล่าสุดเธอนำ “ม้า” มาฝึกการเป็นผู้นำให้เหล่าผู้บริหารด้วย

 
ดอกเตอร์เจี๊ยบ บอกว่าเธอเลือก “ม้า” เพราะม้าสามารถเป็นกระจกเงาสะท้อนตัวตนบุคลิกภาพส่วนลึกของผู้บริหารเหล่านี้ออกมาให้เห็นเด่นชัด ในองค์กรพวกเขาคือผู้มีความรู้ มีตำแหน่งสูง เป็นที่ยอมรับนับถือ แต่ในสนาม ม้าไม่รู้หรอกว่าใครคือผู้บริหาร พอผู้บริหารต้องมาฝึกม้าให้เดินไปข้างหน้าหรือกระโดดข้ามสิ่งกีดขวางจึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับพวกเขามาก

“ตรงนี้ เราจะได้เห็นความสามารถในการสื่อสารสร้างสัมพันธ์กับม้า เพื่อสะท้อนความเป็นผู้นำของเขาจริง ๆ เพราะขณะทดสอบนั้น บางคนกวักไม้กวักมือ ผิวปาก วิ่งนำหน้าม้า และแม้กระทั่งลงทุนวิ่งกระโดดข้ามสิ่งกีดขวางเป็นตัวอย่างให้ม้าดู แต่ปรากฏว่าม้าก็ยืนนิ่งเฉยไม่สนใจสักนิด แต่นักบริหารบางคนก็ใช้เวลาเพียงแป๊บเดียวในการจัดการให้ม้าทำสิ่งต่างๆ ได้ โดยไม่ได้เฆี่ยนตี ไม่มีการให้สินบน เช่น อาหาร ถ้าคุณทำตรงนี้ได้ ลองกลับไปทำกับคนที่สื่อสารยากที่สุดในองค์กร ผู้บริหารจะรู้จักลดทิฐิ และปรับกลยุทธ์ในการสื่อสารกับบุคคลทั้งหลายในองค์กรได้ดีขึ้น แทนที่จะคาดหวังให้คนอื่นปรับตัวเข้าผู้บริหารเพียงฝ่ายเดียว”

จากการบอกเล่าของอาจารย์ทำให้ได้รู้ว่า การก้าวขึ้นเป็นผู้นำหรือผู้บริหารองค์ใดองค์กรหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และการมีโค้ชชิ่งก็ไม่เป็นแค่เรื่องแฟชั่นเท่านั้น เพราะทุกความรู้สึกในทุกเวลาเป็นเรื่องสำคัญยิ่งนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น