ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เราสามารถเชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบันได้ง่ายๆ เลยทำให้ ซัมซุง ผู้นำด้านธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า และโทรศัพท์ ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมทันสมัย ผุดไอเดียเก๋ล้ำสมัย เปิดตัวแอพพลิเคชัน Culture Explorerภายใต้โครงการ “ซัมซุง คัลเจอร์ คอนเน็ค” ที่จะเป็นสื่อกลางให้เหล่าเจนวายได้ท่องอดีต รำลึกถึงย่านในตำนานของกรุงเทพฯ ได้แก่ เจริญกรุง, ราชดำเนิน, ปทุมวัน และ เยาวราช สถานที่ที่เต็มไปด้วยมรดกทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ภายใต้แนวคิด ‘คิดถึงบางกอก’
ณ อาคารไปรษณีย์กลาง อันงดงามอลังการด้วยสถาปัตยกรรมแบบนีโอ ถูกเลือกให้เป็นสถานที่จัดงานนี้ขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศเปิดตัวแอพพลิเคชันสุดล้ำ ซึ่งได้ครอบครัวเซเลบริตี 3 เจนเนอเรชัน มาเล่าถึงความผูกพันในย่านประวัติศาสตร์นี้ กับครอบครัววัธนเวคิน นำโดย คุณยายจรรย์สมร ซึ่งเติบโตและเป็นผู้ที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ชุมชนเยาวราช มาพร้อมลูกสาว พนิดา เทพกาญจนา และหลานสาว พรรณพร เทพกาญจนา และครอบครัวยุวบูรณ์ นำโดย คุณย่ายาจิตร ยุวบูรณ์ ที่เติบโตและมีความสุขทุกครั้งที่หวนระลึกอดีต ณ ย่านเจริญกรุง พร้อมควงลูกชาย ธภัทร ยุวบูรณ์ และหลานชาย บุณณ โลหิตนาวี มาร่วมงาน
คุณยายจรรย์สมร ผู้ที่อาศัยและเติบโตในย่านเยาวราช เผยว่า “ถนนเยาวราชได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ถนนมังกร ซึ่งบริเวณที่เป็นจุดเริ่มต้นของถนนเยาวราชนี้ อยู่ที่วงเวียนโอเดียน โดยบริเวณนี้เปรียบได้กับหัวมังกร จึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานพิธีมงคลต่างๆ เช่นงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีที่เยาวราช เพื่อทำพิธีบวงสรวงบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งราชวงศ์จักรี 8 รัชกาลตามแบบธรรมเนียมจีน ซึ่งนับเป็นงานใหญ่ในเวลานั้น และยังเป็นงานที่คนจีน 9 ภาษา มารวมตัวกันเพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานสมโภชนี้ และในงานครั้งนั้น ยังกำเนิดอุปรากรจีนพากษ์ภาษาไทยสำเนียงจีนอีกด้วย เหมือนเช่นในปัจจุบัน ที่บริเวณหัวมังกรนี้ยังใช้เป็นสถานที่เปิดงานเทศกาลตรุษจีนของทุกปี
ส่วนครอบครัวยุวบูรณ์ มาบอกเล่าความผูกพันในย่านเจริญกรุง โดยหลานชาย บุณณ โลหิตนาวี เด็กหนุ่มที่รู้จักกับย่านเจริญกรุง เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวเอเชียทีค เผยว่า “ภาพของถนนเจริญกรุงที่ผมเห็นในปัจจุบันตอนนี้ คือตึกอาคารที่มีรูปทรงแบบยุโรป ที่มีความเก่าแต่ยังคงความคลาสสิกครับ ซึ่งสถานที่ที่ผมรู้จักในเวลานี้ และอยู่ในย่านเจริญกรุงคือ เอเชียทีค เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา”
ด้าน คุณย่ายาจิตร ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในย่านเจริญกรุงในวัยเด็ก มาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่าว่า ในอดีตเจริญกรุงยุคนั้นเป็นย่านธุรกิจของชาวตะวันตก ที่เต็มไปด้วยอาคารสำนักงานบริษัทของฝรั่ง รวมถึงสถานทูตต่างๆ ทำให้คุณแม่ซึ่งเปิดห้องเสื้อมาลี เป็นที่รู้จักในยุค 1950 มีภริยาท่านทูตเป็นลูกค้ามิขาดสาย
“ในยุคนั้นทำให้ดิฉันได้เห็นความรุ่งเรืองของย่านเจริญกรุงในสมัยนั้น ที่คราคร่ำไปด้วยเหล่าฝรั่งมังค่า และยังเป็นถนนที่เป็นเส้นทางการเดินรถราง ที่ในสมัยนั้นรถรางถือเป็นการคมนาคมที่โก้หรู และยังมีภัตตาคารจีนซึ่งดังมาก เป็นที่นัดพบปะสังสรรค์ หรือประชุมธุรกิจกัน แต่สิ่งที่ประทับใจและอยู่ในความทรงจำของดิฉันคือ ทุกเย็นเวลาแดดร่มลมตก พี่เลี้ยงของดิฉันจะขนเสื่อ อาหาร ขนม พาดิฉันและน้องไปไปรษณีย์กลาง เพื่อไปนั่งเล่น ป้อนอาหารกันที่นั่น เพราะที่ไปรษณีย์กลางในเวลานั้นเป็นสนามกว้าง และไม่ค่อยมีคนเข้าไป ดิฉันกับน้องก็จะวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน ไปรษณีย์กลางจึงเปรียบเหมือนบ้านหลังที่ 2 ของดิฉัน ที่ยังนึกถึงและผูกพันค่ะ”
ความทรงจำมักสวยงามและจารึกอยู่ในห้วงหัวใจของเจ้าของเสมอ