xs
xsm
sm
md
lg

The Heritage of Love มรดกแห่งรักจากรุ่นสู่รุ่น แห่งบ้าน “เทวกุล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


>>Celeb Online จะพาคุณเรียนรู้เคล็ดลับการส่งต่อความรักและความผูกพันจากรุ่นคุณยาย สู่คุณแม่ และลูกๆ ของ “หม่อมหลวงรดีเทพ เทวกุล” เวิร์กกิ้งวูแมนผู้เป็นแบบอย่างของผู้หญิงยุคใหม่ กับลูกๆ ทั้งสาม “นุก-กมลพร บุรณศิริ, มิ้ม-สุพิภา บุรณศิริ” และลูกชายคนสุดท้าย “แม็บ-วุฒิชาติ บุรณศิริ”

ปัจจุบันนี้ “หม่อมหลวงรดีเทพ เทวกุล” ดำรงตำแหน่ง Assistant Vice President - Office of Corporate Communications ประจำบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นการกลับสู่วิถีชีวิตของมนุษย์เงินเดือนอีกครั้ง หลังเว้นวรรคไปนานร่วมสิบปี

หวนคืนสู่ชีวิต Working Woman

“ที่ผ่านมาทำงานด้านธนาคารมาโดยตลอด ตำแหน่งสุดท้ายทำที่ธนาคารกสิกรไทย ก่อนจะลาออกเพื่อมาดูแลลูกๆ และช่วยคุณแม่ดูแลธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จนตอนนี้ลูกๆ เริ่มโตแล้ว ประกอบกับเป็นจังหวะดีที่ทางผู้ใหญ่ชวน จึงถือเป็นโอกาสดีที่ได้กลับมาทำงานที่ตัวเองรักอีกครั้ง” คุณมุกเล่าถึงที่มาในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนางานด้านการสื่อสารองค์กรในบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

“ด้วยความที่เป็นลูกทูต ต้องช่วยคุณพ่อคุณแม่รับแขกมาตั้งแต่เด็ก มุกจึงเคยชินและชอบการสื่อสารพบปะผู้คนอยู่แล้ว จึงรู้สึกสนุกที่ได้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง โดยเฉพาะกับบริษัทนี้ซึ่งมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว ตอนที่ผู้ใหญ่มาชวนก็ตัดสินใจไม่นานเลยค่ะ เพราะเริ่มคิดถึงการทำงาน และเราเรียนมาตั้งเยอะก็อยากจะใช้สิ่งที่เรียนมาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โชคดีที่ทางบ้านสนับสนุนด้วย คุณพ่อคุณแม่บอกว่าไม่ต้องห่วงงานของที่บ้าน อีกทั้งลูกๆ ก็เรียนในโรงเรียนที่ดีและเชื่อถือได้ จึงไม่มีอะไรต้องกังวล”

สิ่งที่กลายมาเป็นอุปสรรคมากที่สุดกลับเป็นบรรยากาศของสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากยุคที่คุณมุกเคยทำงานอย่างเห็นได้ชัด เมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนเราอย่างแยกไม่ออก การสื่อสารองค์กรซึ่งเป็นหน้าที่ที่เธอต้องรับผิดชอบโดยตรง จึงต้องใช้กลยุทธ์ที่ต่างจากทศวรรษก่อนโดยสิ้นเชิง

“ถือเป็นความท้าทายในทางที่ดีนะคะ” คุณมุกเริ่มต้นวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ต้องเผชิญ “สมัยก่อนตอนที่ดิฉันเคยทำงานในวงการโฆษณา มีแค่สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ หรือแม้แต่โทรทัศน์ก็มีแค่ 4 ช่อง กลับมาคราวนี้ฟรีทีวีมันเยอะแยะไปหมด ต้อง Selective Buying ศึกษาให้มาก ซึ่งแม้เราจะเล่นอินสตาแกรมกับเฟซบุ๊กอยู่แล้ว แต่ก็ตกใจในความแตกต่างของการเป็นผู้ใช้งานธรรมดา กับการนำโซเชียลมีเดียมาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน ยากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ดี ถือว่าสนุกและไม่จำเจไปอีกแบบค่ะ”

ต้นแบบหญิงเก่งข้างกาย

แม้ต้องเปลี่ยนสถานภาพจากเจ้าของกิจการสู่การเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ต้องเข้าออฟฟิศทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น คุณมุกก็ยังเอ่ยอย่างอารมณ์ดี ด้วยมุมมองต่อโลกในแง่บวกและไฟในตัวที่คุโชนด้วยพลังในการทำงานอย่างเต็มเปี่ยม ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะคุณมุกคุ้นเคยกับการทำงานมาตั้งแต่ไหนแต่ไร บวกกับการมีต้นแบบอย่างคุณแม่ (คุณหญิงขวัญตา เทวกุล ณ อยุธยา) ที่ขยันและเปี่ยมด้วยพลังในการใช้ชีวิต เป็นบุคคลตัวอย่างที่ทำให้เธออยากเจริญรอยตาม

“คุณแม่เป็นผู้หญิงที่มีกิจกรรมทำเยอะมาก ไม่ว่าจะติดตามคุณพ่อไปอยู่ที่ประเทศไหนเป็นต้องหาอะไรทำอยู่เสมอ อย่างตอนที่พวกเราใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น คุณแม่ก็เรียนประดิษฐ์ดอกไม้ พอคุณพ่อกลับมาประจำที่เมืองไทย คุณแม่จึงไปเปิดร้านดอกไม้ที่ห้างไดมารู ซึ่งถือเป็นห้างสรรพสินค้าหรูระดับไฮเอนด์ในยุคนั้น เปรียบเหมือนเอ็มควอเทียร์ตอนนี้เลยก็ว่าได้” เมื่อคุณมุกเริ่มต้นเล่าเรื่องคุณแม่ สายตาเธอก็เปล่งประกายฉายความกระตือรือร้นสอดรับไปกับเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าอย่างออกรส

“หลังจากกิจการร้านดอกไม้ดำเนินไปได้ด้วยดี คุณแม่ก็เปิดร้านขายไอศกรีมอีก ซึ่งก็ขายดีเช่นกัน จากนั้นพอคุณพ่อย้ายไปประจำที่ประเทศพม่า คุณแม่ก็เริ่มหัดวาดรูปสีน้ำอยู่ปีครึ่ง จนได้จัดนิทรรศการแสดงผลงาน พอต้องย้ายไปเบลเยียม คุณแม่ก็เรียนเพนต์เครื่องถ้วยชามและจานกระเบื้อง เมื่อถึงคราวไปเที่ยวประเทศเยอรมนีแล้วเจองานเอ็กซ์โปดีๆ คุณแม่ก็ติดต่อขอทำดอกไม้ส่งออก เปิดโรงงานทำเป็นเรื่องเป็นราวเลยค่ะ”

แทนคำตอบของเรื่องราวที่กำลังบอกเล่า คือภาพสีน้ำเป็นรูปทิวทัศน์ ดอกไม้ และอีกหลากหลายเรื่องราวประดับอยู่บนผืนผนังทุกด้านของห้องชุดบนชั้น 12 ของวิลล่าอัจฉราใจกลางซอยสุขุมวิท 49 ที่พักของ “ม.ร.ว.เทพกมล” และ “คุณหญิงขวัญตา เทวกุล ณ อยุธยา” ที่ที่เราใช้เป็นสถานที่ถ่ายภาพและนั่งสนทนาอยู่ในขณะนี้

รวมถึงชุดจานชามน้อยใหญ่ที่เพนต์ลวดลายสวยงามในตู้โชว์ ซึ่งเป็นข้าวของแฮนด์เมดขนานแท้จากฝีมือเจ้าของบ้าน ที่สูงด้วยคุณค่าของความตั้งใจในการประดิดประดอยและเก็บรักษาเป็นอย่างดี ข้ามผ่านกาลเวลาหลายทศวรรษ นอกจากจะเป็นความภูมิใจของผู้เป็นเจ้าของแล้ว เมื่อลูกหลานรวมถึงแขกผู้มาเยือนอย่างเราได้ประจักษ์ถึงงานศิลปะเหล่านี้ด้วยสายตา ก็สัมผัสได้ถึงการเอาหัวใจเข้าไปใส่ในชิ้นงานอย่างแท้จริง

“ถ้าถามว่าผู้หญิงคนไหนคือแบบอย่าง ไม่ต้องมองไปที่ไหนไกล คุณแม่เรานี่แหละเป็นตัวอย่างที่ดีมาก แม้แต่คุณพ่อเองก็บอกเสมอว่าไม่มีใครเก่งเท่าคุณแม่ ซึ่งก็คงจริง ดิฉันเองก็ไม่ได้แอกทีฟเท่าคุณแม่...

เชื่อไหมคะว่าท่านเพิ่งมาหัดว่ายน้ำจนเป็นตอนอายุ 40 กว่านี่เอง แถมยังลุกมาหัดเล่นสกีตอนอายุ 70 กว่าปี จนตอนนี้ท่านสกีเก่งมาก เราเลยต้องซื้อบ้านไว้ที่ฝรั่งเศส เพราะคุณพ่อกับคุณแม่ต้องไปสกีทุกปี จนตอนนี้แม้คุณพ่อจะเล่นไม่ไหวแล้ว แต่คุณแม่ยังไหวอยู่ ท่านเคยประสบอุบัติเหตุตอนเล่นสกีจนคุณหมอบอกว่าท่านจะเดินไม่ได้อีกแล้ว ห้ามสกีอีก คุณแม่กลับบอกว่าไม่มีทาง ไม่มีใครห้ามฉันได้” คุณมุกปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะสดใส

ส่งต่อ DNA สาวแกร่งสู่รุ่นหลาน

เล่ามาถึงตอนนี้เธอเหมือนนึกขึ้นได้ว่ายังมีผู้หญิงอีกคนในชีวิตที่กระฉับกระเฉงไม่แพ้คุณแม่คนเก่ง

“ลูกสาวน่าจะได้รับการถ่ายทอดความแอกทีฟมาจากคุณยายมากที่สุด” คุณมุกกำลังหมายถึง “นุก-กมลพร บุรณศิริ” ลูกสาวคนโตวัย 18 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ที่ The Hotchkiss School ประเทศสหรัฐอเมริกา “เขาเป็นคนแอกทีฟมาก ขออนุญาตไปเรียนโน่นเรียนนี่เพิ่มเติมตลอด เป็นเด็กชอบทำกิจกรรม เก่งภาษาอังกฤษ และรักการเขียนมาก นุกมีความเป็นตัวของตัวเองสูง และไม่เคยอยากเป็นเหมือนใคร แค่มีคุณยายเป็นแบบอย่างก็พอ ความเหมือนกันอีกอย่างคือ ทั้งคู่ชอบวาดรูปมาก”

ความเป็นตัวของตัวเองของกมลพรฉายแววให้เห็นอย่างเด่นชัดตั้งแต่เราได้พบและนั่งสนทนากัน พี่สาวคนโตของบ้าน พี่ใหญ่ของน้องสาวและน้องชายปรากฏโฉมในเดรสลวดลายสดใส ผิวคล้ำแดดด้วยความเป็นนักกิจกรรมและนักกีฬาตัวยง เจ้าของสำเนียงการพูดคุยที่ฉะฉาน แม้จะไม่คล่องกับการใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร แต่เธอก็พยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้คู่สนทนาสะดวกใจ

“หนูไปอยู่อเมริกาปีนี้เป็นปีที่สามแล้ว จึงเริ่มชินกับกิจวัตรของนักเรียนแบบ Boarding School พอสมควร” เราเริ่มต้นด้วยการไถ่ถามชีวิต ณ ปัจจุบันของสาวน้อยที่เลือกจะไปใช้ชีวิตที่อเมริกาด้วยตัวเอง ฉีกขนบของตระกูลที่สมาชิกทุกคนล้วนจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ จนแทบจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติประจำครอบครัว

“หนูย้ายโรงเรียนหลายแห่ง เรียนโรงเรียนไทยแป๊บนึง แล้วไปต่อโรงเรียนนานาชาติ แล้วไปอยู่ฮ่องกงกับคุณพ่อปีกว่าๆ ก่อนจะกลับมาเรียนที่บางกอกพัฒนา และตอนแรกสอบเข้าโรงเรียนที่อังกฤษได้แล้ว 2 แห่ง แต่พอไปเที่ยวแล้วไม่ค่อยชอบบรรยากาศที่โน่น ไม่ค่อยชอบสำเนียงอังกฤษ เลยเริ่มค้นหาข้อมูลของโรงเรียนที่อเมริกา พอดูในอินเทอร์เน็ตแล้วหนูรู้สึกชอบมาก เลยขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่ว่าหนูอยากไปเรียนที่นี่จริงๆ แม้ท่านทั้งคู่จะเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ แต่ท่านก็อนุญาตให้หนูได้ทำตามใจตัวเอง”

“แม้ครอบครัวเราจะไม่เคยมีใครเรียนอเมริกาเลย แต่ด้วยความที่นุกศึกษาหาข้อมูลด้วยตัวเองทั้งหมด เราพากันไปตระเวนดูโรงเรียนทั่วบอสตัน นิวยอร์ก จนเขาบอกว่าขอเถอะ ตัดสินใจแล้วว่าไม่อยากไปอังกฤษจริงๆ เราเห็นว่าเด็กมีความตั้งใจขนาดนี้จึงให้เขาเป็นตัวของตัวเอง” คุณแม่เสริมในใจความสำคัญเมื่อครั้งต้องตัดสินใจในหัวข้อใหญ่เรื่องการศึกษาของลูก

“ถ้าเราบังคับให้เขาไปเรียนอังกฤษแล้วเขาไม่แฮปปี้คงจะไม่ดีแน่ ดิฉันย้อนกลับมามองตัวเองเหมือนกันนะคะ สมัยที่คุณพ่อส่งให้ไปเรียนที่อังกฤษก็ไม่อยากไปเลย ถ้าเรามีโอกาสเลือกได้คงเรียนที่เมืองไทย เพราะจะได้มีเพื่อน หรือผูกพันกับเพื่อนมากกว่านี้” เป็นความในใจเล็กๆ ของคุณแม่ที่นำไปสู่การมอบอิสระในการตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินชีวิตเองของผู้เป็นลูก

ผจญภัยในต่างแดน

ปีแรกของการไปใช้ชีวิตในต่างแดนคนเดียวรู้สึกอย่างไร เราถามสาวน้อยที่กำลังเป็นนักเรียนปีสุดท้าย และอยู่ในช่วงสมัครเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเธอกำลังพิจารณาระหว่าง Double Major English & Creative Writing กับ Psychology ว่าจะมุ่งไปบนเส้นทางไหนดี

“ไม่รู้สึกกลัวอะไรเลย เพราะหนูเป็นคนเลือกที่จะไปเอง เมื่อไปถึงก็ตื่นเต้นและรู้สึกชอบมากตั้งแต่ไปถึง” นุกตอบด้วยแววตาสดใสร่าเริง ราวกับได้ย้อนไปเห็นภาพตัวเองในวันแรกที่กำลังสนุกไปกับการได้จัดการรายละเอียดต่างๆ ในชีวิตด้วยตัวเอง บวกกับการได้รูมเมตชาวรัสเซียนที่ถูกคอตั้งแต่วันแรก และกลายเป็นเพื่อนสนิทจนถึงทุกวันนี้ นั่นทำให้ทุกคืนวันของการใช้ชีวิตในรัฐคอนเนคทิคัตของเธอไม่มีคำว่าน่าเบื่อ แม้ตารางชีวิตการเป็นนักเรียนในโรงเรียนระดับท็อปของอเมริกาจะเต็มไปด้วยระเบียบวินัยก็ตาม

“อยู่ที่โน่นมีอะไรให้ต้องทำตลอดเวลา” นุกเริ่มต้นเล่าถึงกิจวัตรประจำวันที่ The Hotchkiss School “หนูต้องตื่นตีห้าทุกวัน เพื่อทำการบ้าน กินข้าวเช้า ก่อนจะเข้าเรียนจนถึงบ่ายสามโมงครึ่ง จากนั้นเริ่มเล่นกีฬาตอนสี่โมงไปจนถึงหกโมงเย็น ใช้เวลากินข้าวอีกไม่เกินหนึ่งชั่วโมง เพื่อจะไปเข้าชมรม พอถึงเวลาสองทุ่มก็เริ่มทำการบ้าน ช่วงแรกๆ จะรู้สึกว่าเรียนหนักและยากมาก จนตอนนี้เริ่มชินแล้ว ส่วนวันพุธกับวันเสาร์มีเรียนแค่ครึ่งวัน แต่ถึงอย่างนั้นด้วยความที่ทุกคนต้องเล่นกีฬา ทำให้มักจะมีการแข่งขันในวันเสาร์ ส่วนวันอาทิตย์แม้จะเป็นวัน Free Time แต่เด็กทั้งโรงเรียนก็มักจะ Studying ทำให้ไม่มีความแตกต่างไม่ว่าจะเป็นวันไหนก็ตาม”

ในกิจวัตรที่อาจเคร่งเครียดเกินกว่าเด็กนักเรียนไทยจะรับไหว กลับเป็นกิจกรรมสบายๆ ของนักเรียนวัยเดียวกันในต่างแดนที่เคี่ยวกรำตัวเองอย่างหนักในทุกๆ วัน “ดีออกค่ะ เราจะได้ไม่ต้องไปคิดทำเรื่องที่ไม่จำเป็น มันทำให้ตัวเรารู้สึก very productive” ซึ่งเท่านั้นคงยังไม่พอ ล่าสุด นุกเพิ่งกลับจาก Writing Camp ที่รัฐไอโอวา เพื่อตอบโจทย์ความชอบทางด้านการอ่านและการเขียนของตัวเอง

“หนูอยากเป็นนักเขียน นี่ก็เพิ่งเข้าร่วม Lowa Young Writer’s Studio มา 2 อาทิตย์ เป็นแคมป์ที่เน้นหนักทั้งการอ่านและการเขียน โดยเฉพาะการเขียนบทกวี ที่หนูกำลังอินมากๆ เมื่อก่อนเคยชอบเขียนเป็นเรื่อง แต่พอปีที่แล้วได้ลองเข้าคลาสเขียนกลอน แล้วชอบมาก จนตอนนี้กลับไปเขียนยาวๆ แบบเป็นเรื่องไม่ได้แล้ว” เราจะสัมผัสถึงความรู้สึกรักและชอบในบางสิ่งบางอย่างได้จากไหน ถ้าไม่ใช่จากน้ำเสียงสดใสดังกังวานและแววตาที่สื่อออกมาถึงความจริงใจอย่างซื่อบริสุทธิ์คู่นี้ ปัจจุบัน เจ้าของดวงตาคู่นี้กำลังตกหลุมรักงานของนักเขียนร่วมสมัยชาวญี่ปุ่นอย่าง ฮารูกิ มูราคามิ ชนิดหัวปักหัวปำ

“Goal ของซัมเมอร์นี้คือ อ่านงานของมูราคามิให้ครบทุกเล่มค่ะ” ไม่ต่างจากแฟนของมูราคามิอีกทั่วโลกที่มักแสวงหางานเขียนของเขามาเสพอย่างต่อเนื่อง หลังต้องมนต์ในตัวอักษรจากเรื่องสั้นหรือนวนิยายของเขา สำหรับนุก Norewegian Wood คือรักแรกของเธอ “เนื้อหาในเรื่องแต่งของมูราคามิเป็นเรียลิตี้ในรูปแบบ Magical Realism ที่บันดาลใจให้หนูเอามาเขียนบทกวีต่อได้”

ซึ่งเอาเข้าจริงการหาเวลาเป็นส่วนตัวในรั้วโรงเรียนนั้นยากมากพออยู่แล้ว ดังนั้น การจะหาเวลาอ่านหนังสือที่อยากอ่านจนจบเล่ม หรือละเมียดละไมไปกับการค่อยๆ บรรจงร้อยเรียงบทกวีจึงแทบเป็นไปไม่ได้ จึงเป็นเรื่องปกติที่นุกจะแต่งบทกวีขึ้นในหัวระหว่างเดินไปโรงเรียน และรีบจดบันทึกลงในสมาร์ทโฟนก่อนที่จะลืมไปเสียก่อน

สามพี่น้องต่างสไตล์

ความรักความชอบด้านการอ่านและขีดๆ เขียนๆ ของนุกถูกส่งข้ามผ่านไปยังน้องชายคนเล็กอย่าง “แม็บ-วุฒิชาติ บุรณศิริ” หนุ่มน้อยหน้าทะเล้นผู้มีอายุห่างจากพี่สาว 7 ปี และกำลังจะขึ้น Year 6 โรงเรียนบางกอกพัฒนา ที่ชอบเขียนบทกวีเหมือนพี่สาว อีกทั้งผลงานอันน่าภูมิใจยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารประจำโรงเรียนอีกด้วย ซึ่งนั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่หลอมรวมอยู่ในสายเลือดของเด็กชายจอมซน ที่สมัครใจจะทำเนื้อตัวให้เลอะเปรอะไปด้วยฝุ่นและโคลนจากการเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ จนหนำใจ ก่อนจะกลับบ้านมาอาบน้ำ สวมชุดหล่อเป็นแบบให้เราถ่ายภาพ และมานอนอยู่บนตักคุณแม่ คลอเคลียอยู่ไม่ห่างตลอดช่วงเวลาของการสนทนา

“ปกติก็เป็นแบบนี้ค่ะ ทะเล้น” คุณมุกเอ่ยถึงลูกชายขี้อ้อน ก่อนจะเล่าถึงลูกสาวคนรองอย่าง มิ้ม สุพิภา สาวน้อยขี้อายวัย 16 ปี ที่มีบุคลิกต่างจากพี่สาวและน้องชายโดยสิ้นเชิง “คนนี้เขาเรียบร้อย ขี้อาย และชอบที่จะอยู่เมืองไทยมากกว่า เขายังไม่อยากไปเรียนเมืองนอก อยากที่จะอยู่ใกล้ๆ คุณแม่และครอบครัว”

เราจึงขอถามจากเจ้าตัวว่าอยากไปเรียนเมืองนอกเหมือนพี่สาว (และน้องชายที่มีแววว่าจะไปเรียนไฮสคูลยังต่างบ้านต่างเมืองในเร็ววัน) บ้างไหม

มิ้ม สาวน้อยผู้สนใจทางด้านธุรกิจเป็นพิเศษ เธอเข้าใจมันมากกว่าวิชาอื่นๆ และกิจกรรมเพียงอย่างเดียวที่ชอบทำนอกจากการเรียนหนังสือคือ การเล่นเปียโน ตอบว่า “ยังไม่อยากไปตอนนี้ค่ะ อยากไปตอนเข้ามหาวิทยาลัยมากกว่า”
เธอให้เหตุผลว่าทุกวันนี้การได้อยู่ใกล้ๆ คุณแม่ ทั้งเป็นเพื่อนกินข้าว ชอปปิ้ง และตัวติดกันให้ได้มากที่สุด เท่านี้เธอก็มีความสุขมากแล้ว

ปรับการเลี้ยงดูตามยุคสมัย

ส่วนความสุขของคุณแม่อย่างคุณมุกกับการเลี้ยงลูกๆ ให้อยู่ในโอวาทได้แบบนี้ คุณมุกบอกว่าส่วนหนึ่งมาจากที่เธอเองก็ได้รับการเลี้ยงดูมาแบบนี้เช่นกัน

“ดิฉันเองก็ถูกเลี้ยงดูมาแบบมีระเบียบ ด้วยความที่ครอบครัวอยู่ด้วยกันที่เมืองนอกมาโดยตลอด ซึ่งข้าราชการกระทรวงต่างประเทศต่างรู้กันดีว่าเวลาอยู่เมืองนอกเราต้องอยู่ด้วยกัน จึงใกล้ชิดและรักกันไปโดยปริยาย ที่สำคัญคือ ไม่มีการเลี้ยงดูแบบสปอยล์ คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกโดยไม่ให้ยึดติดกับความหรูหรา ไม่ฟุ่มเฟือย และรู้จักใช้เงินตามงบที่ ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ให้มา” ดังนั้น แม้จะผ่านการใช้ชีวิตในฐานะลูกสาวนักการทูต ผู้แวดล้อมในสังคมชั้นสูงมาโดยตลอด กลับไม่ทำให้เธอเตลิดไปกับสิ่งเหล่านั้น

“ถามว่าการเป็นลูกทูตสนุกไหม ณ เวลานั้นเราไม่ค่อยรู้สึกว่านี่คือ Privilege เราแค่ได้เปรียบในการไปสัมผัสโลก ซึ่งแม้ลูกๆ ของดิฉันจะอยู่โรงเรียนอินเตอร์ฯ มาโดยตลอด แต่ก็ใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่แต่ในเมืองไทย ทำให้ไม่ได้สัมผัสวิถีชีวิตในแบบที่ดิฉันเคยผ่านมา” กระนั้น ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การเข้าถึงอีกซีกโลกแม้ตัวเองจะอยู่ในห้องนอนกลับเป็นสิ่งที่ทำให้พ่อแม่ในปัจจุบันต้องกังวล เช่นเดียวกับคุณมุกเองเช่นกัน

“ด้วยยุคสมัยที่ไม่เหมือนกัน เทคโนโลยีมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี สมัยก่อนเราแค่ปิดทีวีก็จบแล้ว เมื่อก่อนคุณพ่อจะเข้มงวดมาก ทานอาหารไปด้วยดูทีวีไปด้วยไม่ได้เด็ดขาด แต่สมัยนี้พอเราปิดทีวี ลูกก็หนีไปเล่นอินเทอร์เน็ต พอปิดเน็ตก็ไปเล่นมือถือต่อ ค่อนข้างคุมยาก ส่วนเรื่องการใช้เงิน ดิฉันจะสตริกท์มาก เพราะเด็กสมัยนี้ได้อะไรมาง่าย มือถือหายก็ซื้อใหม่ทันที ในขณะที่ของคุณตาคุณยายเอาสก็อตช์เทปมาพันแล้วพันอีก ทู่ซี้ใช้ต่อจนกว่าจะพัง” คุณมุกเล่าถึงความแตกต่างระหว่างยุคที่ในข้อเสียมีข้อดี และในข้อดีก็แฝงไว้ซึ่งข้อเสียตามหลักธรรมดาโลก

“ทั้งหมดนี้ดิฉันคิดว่ามันยากที่เรา ไม่ได้ยากที่เขา การที่เราจะให้หรือไม่ให้ ตามใจหรือไม่ตามใจเขา เราเองต้องบังคับข่มใจตัวเองให้ได้ ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน ในเมื่อเราอยากให้เขาเป็นคนที่มีคุณภาพ อยากให้เขาเข้มแข็ง ตัวเราเองต้องมี Discipline ก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างคุณยายจะเข้มงวดมาก และมักบ่นเสมอเวลาเราให้อะไรลูกๆ เขากลัวเด็กจะถูกสปอยล์ ดิฉันจึงต้องพยายามทำให้ดีที่สุด อยากให้ลูกมีอนาคตที่ดีทุกคน เขาต้องรู้จักตั้งใจเรียนและทำงานหาเงิน เหมือนที่มุกและพี่ๆ ทุกคนก็ต้องทำงานเองทุกคน”

รับบทแม่เลี้ยงเดี่ยวอย่างภาคภูมิ

ความยากของคุณแม่ในการตั้งกฎระเบียบเคร่งครัดบังคับหัวใจตัวเองว่ายากแล้ว อาจจะยากยิ่งกว่าสำหรับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวอย่างเธอ ที่ต้องเลี้ยงดูลูกๆ สามคนด้วยตัวเอง แต่นั่นไม่เคยเป็นเรื่องที่ทำให้เธอต้องท้อใจ เพราะแม้จะแยกทางกับอดีตสามี (วีรนต บุรณศิริ) แต่ทั้งคู่ยังเป็นเพื่อนที่ดีที่ยังไปมาหาสู่ต่อกัน และคุณพ่อก็ยังคงเป็นฮีโร่สำหรับลูกชายคนเล็กเสมอมา

“คุณพ่อเขาสนิทกับลูกชาย มาหามาเล่นด้วยกันตลอด แต่จะไม่สนิทกับลูกสาวที่เริ่มโตเป็นวัยรุ่นแล้ว ถึงอย่างนั้น เราทั้งคู่ก็ไม่ได้โกรธกัน และยังคงสนิทกันเหมือนเคย เพราะโตมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก ในเมื่อเราปรับตัวเข้าหากันไม่ได้ เราก็อยู่เป็นเพื่อนกันดีกว่า ในเมื่อเราเริ่มจากการเป็นเพื่อนไม่ใช่เหรอคะ”

เมื่อต้องตอบคำถามว่าเหนื่อยไหมกับการเลี้ยงลูก คุณมุกตอบได้ในทันทีว่า “ตอนนี้จำไม่ได้แล้ว แต่ตอนพวกเขาเด็กๆ จำได้ว่าเหนื่อย และเราผ่านช่วงเวลานั้นมาได้อย่างไร ต้องยอมรับว่าดิฉันมีพี่เลี้ยงคอยช่วยเราเยอะ ไม่เหมือนกับตอนคุณแม่ที่ไม่ว่าบ้านเราจะย้ายไปอยู่ประเทศไหน ท่านก็เลี้ยงลูกทั้งสามคนด้วยตัวเองเสมอ น่าทึ่งว่าท่านทำได้อย่างไร”

คำตอบของคำว่าคุณแม่ทำได้อย่างไรกำลังจะคลี่คลาย เมื่อทั้งสี่ชีวิตในครอบครัวของ ม.ล.รดีเทพ เทวกุล กำลังจะย้ายเข้ามาใช้ชีวิตในชั้น 11 ของวิลล่าอัจฉรา ด้วยเหตุผลในการกลับไปทำงานประจำของคุณมุก และด้วยความอยากให้ลูกๆ ได้อยู่ใกล้ชิดกับคุณตาคุณยาย เพื่อที่จะได้ซึมซับมารยาทและวัฒนธรรมไทยให้ฝังรากลึกเป็นเมล็ดพันธุ์ดีอยู่กับตัว

“เนื่องจากตอนนี้ทั้งคุณพ่อและคุณแม่เริ่มมีอายุมากขึ้น เราจึงอยากย้ายมาอยู่บ้านเดียวกับท่านเพื่อจะได้ดูแลกันและกันอย่างใกล้ชิด อีกหน่อยเวลาดิฉันไปทำงานแล้วต้องกลับบ้านดึก จะได้ฝากลูกได้ด้วย อีกทั้งเวลาผู้ใหญ่มีเด็กอยู่ใกล้ๆ เขาก็จะสดชื่นขึ้น ในอีกมุมหนึ่ง เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่ด้วย เพราะลูกๆ เรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯ มาโดยตลอด ทำให้พวกเขาอาจจะไม่รู้จักมารยาทไทยเท่าไร อยู่ใกล้ผู้ใหญ่ท่านจะได้คอยตักเตือน เป็นการวิน-วิน ผู้ใหญ่สดชื่น และเด็กเองก็ได้ความรู้ด้วย แค่เรามีเวลาทานข้าวเย็นด้วยกัน มีการพูดคุยและสอนกันระหว่างมื้ออาหารก็อบอุ่นเพียงพอแล้วค่ะ”

ด้วยความรักและความเป็นอยู่อย่างพอเพียงนี้เอง ที่เป็นกุญแจสำคัญในการส่งต่อคุณสมบัติอันดีจากรุ่นสู่รุ่นของบุคลากรคุณภาพตระกูลนี้ :: Text by FLASH

Credit
นางแบบ & นายแบบ : หม่อมหลวงรดีเทพ เทวกุ, กมลพร บุรณศิริ, สุพิภา บุรณศิริ, วุฒิชาติ บุรณศิริ
แต่งหน้า : ณัฐวีณา เมธีธารา และวงศ์ระวี ศิริวัฒนานุกิจ จากสถาบัน International Makeup Fashion Academy (IMFA) โทรศัพท์ 08-7755-8804
ทำผม : ภวัสกร กังสภัทรกุล จากสถาบัน International Makeup Fashion Academy (IMFA) โทรศัพท์ 08-5067-4969
ประสานงาน : พรรณพิมล แดงรัศมีโสภณ
กำลังโหลดความคิดเห็น