xs
xsm
sm
md
lg

หัวใจยังแสดงสด ของ “จิตติมา ผลเสวก” คู่ชีวิตศิลปินและนักเคลื่อนไหว “ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ถ่ายภาพโดย : ปวริศร์ แพงราช
ART EYE VIEW---เราอาจจะได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงบางด้าน ของคนๆหนึ่ง เมื่อคนที่เขารักจากไป

ย้อนกลับไปเมื่อสี่ปีก่อน... นับแต่วันที่เธอได้รู้ว่าเขาป่วย... นับแต่วันที่หมอบอกว่า เขาจะอยู่ได้เพียงสามเดือน ถ้าไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อดูแลสุขภาพของตัวเอง

คนรอบข้างๆก็เริ่มได้สัมผัสกับด้านที่อ่อนหวานและโรแมนติกที่เธอแสดงออกต่อเขา และเข้มข้นมากขึ้นในวันที่เขาป่วยหนักและจากไปในที่สุด

ทั้งที่ตลอดมาของการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันกับเขา ตัวตนด้านนี้ของเธอ ยากจะเผยออกมาให้คนรอบข้างได้สัมผัส และมีหลายคนที่ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า พวกเขาทั้งสองเป็นคู่ชีวิต

ภายหลังจากการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับ ไปเมื่อเร็วๆนี้ ของ ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง ศิลปิน นักเขียน และนักเคลื่อนไหวทางสังคม

หนึ่งในจำนวนศิลปินในนามของ เครือข่ายศิลปินฯ ที่เคยร่วมรณรงค์เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่ง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน ,ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง และในระยะหลังเป็นที่รู้จักในนามศิลปินผู้ทำงาน ศิลปะแสดงสด หรือ Performance Art

หากจะทำความรู้จักเขาให้มากขึ้น ไม่มีใครที่จะบอกเล่าได้ดีไปกว่า เลน - จิตติมา ผลเสวก นักเขียนเจ้าของผลงานเขียน อาทิ คอปือ ฮักก้า เรื่องเล่าจากขุนเขา,หนทางที่ผ่าน,ของขวัญจากมรสุม,ข้าวพื้นบ้าน เชื้อพันธุ์แผ่นดินอีสาน,แผ่นดินเมืองใหม่,พันธุ์ไม้พื้นบ้าน,บนแผ่นดินร้องไห้ ใฮ ขันจันทา,พม่าคราหนึ่ง,เผ่าชน คน ทะเล ฯลฯ

คู่ชีวิตผู้คบหาเป็นคนรักกับไพศาล มาตั้งแต่เรียนวิทยาลัยช่างศิลป์และทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมร่วมกันมาโดยตลอด ดังที่ อรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดีชื่อดัง กล่าวถึงพวกเขาว่า “คู่ชีวิตที่ได้ทำงานในสิ่งที่ตนเชื่อมั่นด้วยกัน เคียงข้างกันเสมอ”

ในด้านหนึ่งจิตติมายังเป็นศิลปินแสดงสด เช่นเดียวกับไพศาล และทั้งคู่ยังทำ Lay down Project ร่วมกัน ซึ่งเป็นโครงการศิลปะแสดงสด ทั้งในต่างประเทศ ที่พยายามพูดถึง ความรักและสันติภาพ

แม้ ศิลปะแสดงสดครั้งสุดท้ายในชีวิตของไพศาลได้จบลงไปแล้ว ในนิทรรศการ วาระ 30 ปี บนเส้นทางการทำงาน ศิลปะแสดงสด หรือ Performance Art ของ จุมพล อภิสุข ศิลปินยุคบุกเบิกของวงการศิลปะแสดงสดเมืองไทย และผู้ก่อตั้ง เทศกาลศิลปะแสดงสดนานาชาติ เอเชียโทเปีย

แต่หัวใจของจิตติมายังแสดงสดเพื่อเขา ดังที่หลายคนยังสัมผัสและรับรู้

ช่วงสายของวันหนึ่ง ART EYE VIEW ไปพบและพูดคุยกับจิตติมาที่บ้านในซอย พหลโยธิน 34 ซึ่งปลูกอยู่ในรั้วเดียวกัน กับบ้านของพี่น้องทั้ง หมดของไพศาล

วันที่ยังมีมิตรสหายจากทั่วสารทิศเดินทางมาอยู่เป็นเพื่อน,ให้กำลังใจจิตติมา และรอร่วมงานศพของไพศาล
ทั้งจาก อุบลราชธานี,ขอนแก่น,เชียงใหม่,เชียงราย,สิงคโปร์ ฯลฯ รวมถึง “นามีและนาฟะ” ชาวเขาเผ่าอาหู่เชเล จากหมู่บ้านห้วยโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่ไพศาลและจิตติมา เคยไปพำนักอยู่ด้วยในช่วงเวลาหนึ่ง


พื้นที่เพของคุณทั้งสองเป็นคนที่ไหน

แม่ของดิฉันเป็นคนสงขลา พ่อเป็นคนอยุธยา ที่ไปรับราชการที่ทางใต้ ดิฉันก็เลยเกิดที่สงขลา ที่ อ.บ่อยาง ซึ่งเป็นชื่อเดิมของสงขลา ตอนหลังพ่อย้ายเข้ากรุงเทพฯ ดิฉันก็เลยมาโตที่กรุงเทพฯ ส่วนศาล แม่เขาเป็นคนทุ่งบางเขน มีอาชีพเป็นชาวนา เมื่อก่อนพื้นที่แถบนี้เป็นที่นาหมดเลย ตอนศาลเด็กๆทันได้เห็นแถวนี้เป็นทุ่งนา แล้วเขาจะชอบเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนเขาเดินไปถึงวัดเสมียนนารี เดินไปถึงลาดพร้าว ส่วนพ่อเขาพื้นเพเป็นคนบางบ่อ จ.สมุทรปราการ แต่ศาลเกิดที่นี่ ไม่เคยย้ายไปไหน

อดีตที่ซึ่งใช้ปลูกบ้านเคยเป็นที่นา แล้วถูกเปลี่ยนให้เป็นสวน เลยจะเห็นว่ายังมีสภาพท้องร่องให้เห็น พ่อของศาลจัดสรรที่ตรงนี้ให้เป็นบ้านของลูกๆทั้ง 8 คน ศาลเป็นลูกคนที่ 6 พี่น้องคนอื่นๆของศาล ส่วนใหญ่รับราชการ

ส่วน มงคล (เปลี่ยนบางช้าง) ที่ทำงานศิลปะแสดงสดเหมือนกัน เขาจบศิลปะมาจากสวนดุสิต เป็นคนที่ 8 เป็นน้องคนสุดท้อง

คุณทั้งสองรู้จักและกลายมาเป็นคู่ชีวิตกันได้อย่างไร

ตอนเรียนช่างศิลป์ เราเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกัน แต่เรียนคนละห้อง มารู้จักกันตอนเรียนปี 2 ศาลเขาอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่สมัยนี้น่าจะเรียกว่าค่อนข้างเกรียนๆ แต่เป็นกลุ่มที่มีฝีมือนะ ซึ่งตอนนี้หลายคนมีชื่อเสียงในแวดวงศิลปะ เช่น จิตสิงห์ สมบุญ เป็นต้น

ทีแรกดิฉันไม่ได้สนใจเขาหรอก พอได้คุยกัน ปรากฎว่าเราเป็นคนชอบอ่านหนังสือเหมือนกัน สมัยดิฉันเรียนมัธยม อยู่ในยุค 14 ตุลา สนใจเรื่องการเมือง เรื่องสังคม เคยเข้าไปร่วมกับ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ขณะที่ศาลเขาจะเป็นอีกแบบหนึ่ง แล้วดิฉันจะไม่สนใจคนพวกนี้เพราะดูเป็นพวกเหลวไหลว่ะ (ยิ้ม)
 
แต่พอได้รู้จักกันจริงๆ ปรากฏว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่สนใจเรื่องสังคม และเขาอ่านหนังสือเยอะมาก อ่านมาร์กซิสต์ ศรีบูรพา แล้วหลังๆก็ชอบ รงค์ วงสวรรค์ หงา คาราวาน คาริน ยิบราน รพินทรนาถ ฐากูร เฮอร์มานน์ เฮสเส อ่านหนังสือแบบที่นักอ่านเขาชอบอ่านกัน จึงทำให้เราคุยกันรู้เรื่อง และทำให้เราเปลี่ยนความคิดว่า รูปลักษณ์ภายนอก ไม่ได้บ่งบอกถึงสิ่งที่คนๆหนึ่งสนใจเสมอไป รูปลักษณ์ภายนอกของเขาตอนนั้นที่แต่งตัวเป็นพังค์ เอาเสื้อยืดมาตัด เอาเข็มกลัดมาร้อย นุ่งกางเกงยีนส์ขาลีบๆ (ทรงผมยาว และฟู แบบที่คนทั่วไปเห็นจนชินตา คุณไพศาลไว้มาตั้งแต่เมื่อไหร่) เขาเป็นคนผมหยักศก ตอนเรียนหนังสือก็ไว้ยาว ไม่เคยตัดเลย ยกเว้นตอนบวช

พอได้คุยได้รู้จักกันแล้ว เราก็เริ่มคบกันเป็นแฟนกัน ตอนหลังดิฉันขึ้นไปอยู่ดอย(ห้วยโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย) ตอนนั้นยังไม่คิดหรอกว่าจะมาใช้ชีวิตด้วยกัน เพราะแต่ละคนก็ยังอยากแสวงหาอะไรต่อไป แต่ก็ยังเขียนจดหมายหากัน จดหมายเยอะมาก แล้วเขาก็ได้ขึ้นไปเยี่ยม ไปอยู่ที่นั่นหนึ่งปีเต็มๆจึงกลับลงมา

ทำไมตอนนั้นจึงอยากขึ้นไปอยู่ดอย

ไปช่วยสอนหนังสือ ดิฉันมีรุ่นพี่คนหนึ่งทำงานกรมประชาสงเคราะห์ เขาทำงานในหมู่บ้านนี้ ก็เลยให้เขาฝากขึ้นไป ช่วยสอนหนังสือบ้าง ไม่สอนบ้าง เพราะเขาจะมีครูชาวเย้า ซึ่งเป็นครูประจำของกรมประชาสงเคราะห์ ดิฉันเหมือนไปเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านมากกว่า

ดิฉันเรียนไม่จบช่างศิลป์ ความจริงก็เรียนถึงปี 5 แล้ว ตอนขึ้นไปอยู่ดอยยังเหลือวิชาที่ยังเก็บไม่หมด บอกครูว่าจะกลับลงมาเก็บ แต่ปรากฏว่าขึ้นไปแล้วขึ้นไปเลย ไม่ลงมาเก็บ อาจารย์ที่ช่างศิลป์ก็เลยเขียนจดหมายไปบอกให้ลงมาเรียนให้จบก่อน แต่ดิฉันตัดสินใจว่าไม่เรียนแล้ว

อะไรทำให้ไม่อยากเรียนต่อ

มันบอกไม่ถูก แต่ช่วงนั้นอ่านหนังสือเยอะ และได้รับอิทธิพลจากบรรยากาศในช่วงนั้น ช่วง 6 ตุลา ที่นักศึกษาเข้าป่า เมื่อก่อนเราอยู่ในบรรยากาศแบบนั้น ที่บ้านก็จะมีพี่ๆนักศึกษามาสุมหัวกัน แล้วตอนหลังเขาก็หายไป เรารู้เรื่องนี้มาตลอด ประกอบกับอ่านหนังสือ ช่วงนั้นเราเป็นวัยแสวงหา รู้สึกว่าห้องเรียนน่าเบื่อ ไม่มีอะไร แค่จบไปทำงาน ซึ่งเราไม่ต้องการแบบนั้น เราอยากไปหาสิ่งที่มันมีความหมายกับชีวิตมากกว่า คิดอยู่นานว่าไปไหนดี ทำอะไรดี ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าอยากจะไปไกลๆ ไปอยู่ตามหมู่บ้าน อยู่กับคนที่เขาทุกข์ยาก ประมาณนั้น

แล้วทำไมกลับเข้ามากรุงเทพฯ

จริงๆชาวบ้านจะยกที่ให้แล้ว แต่ตอนนั้นเราไปอยู่โดยไม่มีสตางค์เลย ทางบ้านช่วยส่งไปให้ตลอด เราเลยมาคิดกันว่า เราจะไปอยู่แบบนั้นจริงๆเหรอ ที่บ้านก็ไม่ได้ร่ำรวย จะมามัวรบกวนที่บ้านได้ไง ก็เลยคิดว่าลงกลับมาทำงานเก็บเงินก่อนค่อยขึ้นไปใหม่

พอกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ดิฉันทำงานหลายแห่งเหมือนกัน เคยเป็นฝ่ายศิลป์ของนิตยสารวัยหวาน เป็นกองบรรณาธิการไฮคลาส ขณะที่ศาลเคยไปช่วยเพื่อนทำหนังสือบ้าง จากที่ตั้งใจว่าเก็บเงินแล้วจะกลับไปอยู่ดอย ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเงินเดือนสำหรับการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ แต่ละเดือนไม่เคยเหลือ

แต่ด้วยความที่อยากทำงานกับชาวบ้านอยู่ก็เลยเข้าไปทำงานให้กับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เลยได้ไปทำงานในพื้นที่อีสาน แต่ศาลเขาไม่ได้ไป เขาก็สมัครนะ แต่ไม่ได้ เพราะบุคลิกเขาดูศิลปิน ทำอยู่ปีหนึ่ง พอรู้สึกว่างาน NGO มันมีกรอบเยอะ ไม่ใช่เรา ก็เลยออกมา รับงานหลายอย่าง ทั้งเขียนรูปประกอบ และเขียนหนังสือส่งตามที่ต่างๆ พอได้เงินนิดๆหน่อยๆ ไม่เคยได้มีเก็บ

ความฝันที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตอยู่บนดอยก็จบไป เพราะเราก็ไปเจอเรื่องอะไรอีกเยอะ ไปรู้จักคนนั้นคนนี้

คุณไพศาล มีส่วนช่วยงานทางด้านงานเขียนของคุณอย่างไร
 
เวลาที่เขียนงานสารคดี เขาจะไปด้วยและช่วยถ่ายภาพ ก็จะบอกเขาว่า เธอช่วยถ่ายภาพให้ฉันหน่อย และเราจะคุยเรื่องงานเขียนอยู่ตลอด เขาจะอ่านจะแนะนำบ้างว่าเธอเพิ่มตรงนี้หน่อยดีไม๊ จะไม่เข้ามายุ่งในส่วนของเนื้อหา แต่ในเรื่องการทำงานศิลปะแสดงสด ดิฉันถือว่าเขาเป็นครูคนหนึ่ง(น้ำตารื้น)

ช่วงชีวิตที่ผ่านมา คุณไพศาลทำงานศิลปะทางด้านไหนบ้าง

เขาทำหลายอย่าง ทั้งทำงานศิลปะ และเขียนหนังสือ ในส่วนงานศิลปะ เขาเขียนรูป เขาทำงานศิลปะแสดงสด โดยเฉพาะเขียนรูป เขาเขียนทุกวัน ยิ่งเขาป่วยเขายิ่งเขียนรูป

ส่วนงานเขียนหนังสืออาจจะน้อยหน่อย เขาเคยเขียนสารคดี และเขียนคอลัมน์ให้กับนิตยสาร เช่น เขียนคอลัมน์ศิลปะให้หนังสือพิมพ์สยามรัฐ เขาเขียนมาตลอด กระทั่งนาทีสุดท้ายที่เขาเสียชีวิต เขาเป็นหนึ่งในจำนวนน้อยคนที่เขียนวิจารณ์ศิลปะ นอกจากมีเขาเขียน ก็มี ไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร และมานิต ศรีวานิชภูมิ ที่สลับกันเขียนในสยามรัฐ

บทกวีเขาก็เขียนเยอะ และเคยมีบทกวีรวมเล่มชื่อ กลาง - คืน -วัน เพื่อนรวมให้ เป็นสิบปีแล้ว แล้วจากนั้นเขาก็ไม่ได้รวมอีกเลย งานกวีเราก็รู้กันอยู่แล้วว่ามันขายไม่ได้ นอกจากเราจะพิมพ์เอง แต่เขาเขียนบทกวีไว้เยอะ และเขามีสมุดบันทึกเยอะมาก ตอนนี้ก็กำลังนั่งแกะลายมือเขาอยู่ เพราะลายมือเขาค่อนข้างอ่านยาก

เรื่องที่นำเสนอผ่านงานศิลปะของคุณไพศาล ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอะไร

เขาถ่ายทอดภาวะภายในของเขาบ้าง ของมนุษย์ทั่วไปบ้าง พูดถึงความว่างเปล่า ความโง่เง่า เรื่องสังคมบริโภคนิยม การทำร้ายกันของมนุษย์ สงคราม สันติภาพ งานเขาค่อนข้างดุ จะเหมือนตัวเขา เป็นงานที่ให้ความรู้สึกที่พุ่งพล่าน
ขอบคุณภาพถ่ายโดย : ชาญชัย แซ่ฉั่ว

คุณไพศาล มาสนใจกิจกรรมเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ฯลฯ รวมถึงงานศิลปะแสดงสด อย่างจริงจังตอนไหน

เรื่องปัญหาสังคม เรื่องชาวบ้าน เราสนใจกันมานาน ดิฉันมีเพื่อนเป็น NGO เพราะว่าเคยทำงานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เวลามีเรื่องอะไรเขาก็มักจะชวนดิฉันแล้วดิฉันก็ชวนศาลอีกที การทำงานร่วมกับกลุ่มสมัชชาคนจน เราก็เข้าไปร่วมด้วยตลอด แต่เราไม่ได้บอกใคร

ส่วนงานศิลปะแสดงสด เรามาสนใจทำกันในช่วงที่พี่จุ๋ม(จุมพล อภิสุข)กลับมาจากต่างประเทศ หลังจากที่เราได้เจอกันตามงานแสดงศิลปะ ก็มีโอกาสได้คุยกัน พี่จุ๋มเขาเห็นว่าเราสองคนสนใจศิลปะ และเรื่องสังคม พอเขาเปิดศูนย์บ้านตึก และจัดงานแสดงศิลปะทั้งที่เป็นงาน Installation (ศิลปะจัดวาง) และ Performance Art (ศิลปะแสดงสด) เขาเลยชวนเราไปร่วมงาน เมื่อเขาเชิญศิลปินต่างชาติมาแลกเปลี่ยน เลยทำให้เรารู้จักงานแนวนี้กว้างขึ้น และกระโดดเข้ามาอยู่ในแวดวงศิลปะแสดงสด ได้เดินทางไปต่างประเทศ ได้เห็นงานมากขึ้น พี่จุ๋มถือได้ว่าเป็นผู้เปิดโลกให้กับดิฉันและศาลด้านศิลปะแสดงสด

เอกลักษณ์และเรื่องราวที่นำเสนอผ่านงานศิลปะแสดงสดของคุณไพศาล เป็นอย่างไร

เขาใช้วัสดุในการทำงานที่หลากหลาย แล้วงานของเขาค่อนข้าง Abstract(นามธรรม) บ้างครั้งบางคนอาจจะดูไม่รู้เรื่อง แต่เวลาที่เขานำเสนองานศิลปะแสดงสด คนดูจะรับรู้ได้ถึงอารมณ์ถึงพลังที่พุ่งพล่าน เป็นงานที่สร้างความกดดัน สร้างคำถามให้กับคนดู เช่น คุณรู้สึกอย่างไรกับสังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คุณรู้สึกบ้างไหมว่ามันกำลังครอบงำคุณอยู่ หรือเต็มไปด้วยความรุนแรงนะ เขาจะพูดถึงสังคมบริโภคนิยม พูดถึงเรื่องความบ้าคลั่งของคน ที่ทำร้ายกันเอง สร้างสงครามขึ้นมา ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมเขาจะพูดถึงว่ามนุษย์เรากำลังทำร้ายตัวเอง และกัดกลืนโลกอยู่

ส่วนใหญ่จะคุณทั้งสองจะทำงานศิลปะแสดงสด ในนามสมาชิกของเทศกาลเอเชียโทเปีย ของคุณจุมพล หรือว่าจัดกิจกรรมกันเอง

ช่วงหลังจะทำกันเองเยอะ จากที่พี่จุ๋มเป็นคนจุดประกาย เป็นคนชักนำให้เรารู้จักคนนั้น คนนี้ เวลาที่พี่จุ๋ม จัดเทศกาลเอเชียโทเปีย จะมีศิลปินจากต่างประเทศถูกเชิญมา แล้วเวลาที่คนเหล่านั้นเขาจัดเทศกาลกันเอง เขาชอบงานใครเขาก็เชิญไป

แล้วศาล สมัยที่เขายังเรียนอยู่เขาเคยเป็นตัวแทนเยาวชนอาเซียนไปที่อินโดนีเชีย ดังนั้นนอกจากเพื่อนต่างประเทศที่รู้จักผ่านพี่จุ๋ม เขาก็จะมีเพื่อนของเขาอยู่ด้วยอีกส่วนหนึ่ง ที่เป็นพวกทำงานศิลปะแสดงสดด้วย ก็จะมาเชิญเขา

ช่วยพูดถึง Lay down Project ที่คุณทั้งสองทำร่วมกัน

เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีนี้เองนะ เหมือนที่ผ่านมาในประเทศไทยเรารอให้มีเทศกาลเอเชียโทเปีย เวียนมาเท่านั้น เราถึงจะทำงานศิลปะแสดงสดกัน เราสองคนจึงคุยกันว่า เราไม่ต้องรอหรอก เราทำกันเองก็ได้ แล้วศาลเขาเป็นคนชอบฟังเพลง หนึ่งในจำนวนเพลงที่เขาชอบคือ Love and peace or else ของวง U2 ซึ่งพูดถึงเรื่องความรักและสันติภาพ เขาเลยชวนทำโครงการนี้ Lay down Project เป็นโครงการแสดงสดของเราสองคนที่พูดถึง ความรักและสันติภาพ ตระเวนไปตามที่ต่างๆ เริ่มที่แรกที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ต่อด้วยเชียงใหม่ พอดีช่วงนั้นดิฉันกำลังทำโครงการศิลปะด้านสิ่งแวดล้อม และเคยไปทำงานที่แม่น้ำสาละวิน เมื่อข่าวโครงการสร้างเขื่อนสาละวินกลับมาอีกครั้ง งานแสดงสดที่เชียงใหม่เราเลยชวนกันทำเรื่องสาละวิน เพราะเรามองว่าถ้ามีการสร้างเขื่อน สงครามเกิดแน่ มีรบกันแน่ สันติภาพเกิดไม่ได้หรอก แล้วเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ถือเป็นเรื่องสันติภาพนะ

จากนั้นเราก็ได้รับเชิญไปทำงานที่หมู่บ้านสุราวางิ อำเภอจาติวางิ เมืองบันดุง ที่อินโดนีเชีย ไปเป็นศิลปินในที่พำนัก โดยครั้งนั้นเราหยิบเรื่องราวและวิถีชีวิตของหมู่บ้านมาทำงานศิลปะแสดงสด เพราะเป็นหมู่บ้านที่วิถีชีวิตเปลี่ยนไปเยอะ

หลังจากนั้นเราถูกเชิญไปญี่ปุ่น เมื่อเราทำงานของโครงการที่เขาเชิญไปทำเสร็จ เราก็เลยทำงานภายใต้ Lay down Project ต่อด้วย ที่นากาโน่ เราทำเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโลก จากนั้นเราก็ไปย่างกุ้ง ที่พม่า ไปสิงคโปร์ แล้วกลับไปย่างกุ้งอีกครั้งเมื่อสองปีที่แล้ว เพราะตอนนั้นเราลงพื้นที่ไปกับTransbordernews หรือ คนชายข่าว คนชายขอบ ซึ่ง ภาสกร จำลองราช เราเดินทางร่วมกันประจำ เขาเชิญเราไปมะละแหม่ง ไปดูแม่น้ำสาละวิน ที่นั่น แล้วเราก็อยู่ต่อ เพื่อไปทำงานศิลปะแสดงสดที่ย่างกุ้ง ที่แกลเลอรี่ของเพื่อนศิลปินชาวพม่า รวมแล้วเราทำที่พม่าสองครั้ง เราทำเรื่องสงคราม นิวเคลียร์ เรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้น

แล้วเราก็คุยกันว่าเราจะไปเวียดนามต่อ แม้หลังจากนั้นศาลเขาจะป่วยแล้วแต่เขาก็ยังไปไหนมาไหนได้ และเขาก็มีเพื่อนศิลปินอยู่ที่นั่น แต่ไม่ทันได้ทำ เพราะบางช่วงเขาต้องพักรักษาตัว

ก่อนที่คุณไพศาลจะเสีย(วันที่ 15 ก.ค.58)งานศิลปะแสดงสดครั้งสุดท้ายในชีวิต (9 ก.ค.58) ในงาน “30 ปี จุมพล อภิสุข” คุณไพศาลนำเสนอเรื่องอะไรและอย่างไร

ชุดนี้ค่อนข้าง Abstract และเป็นการแจมกับพี่จุ๋ม บางทีงานศิลปะแสดงสดก็ยากอธิบาย มันเป็นการตั้งคำถามกับสังคมปัจจุบัน ขณะที่ศาลเขาใช้วัสดุเป็นหญ้าแห้ง พี่จุ๋มเขาใช้ท่อนไม้ เพื่อพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนผ่านของโลกเรา

นอกจากศาลจะชอบใช้วัสดุธรรมชาติทำงาน เขายังชอบใช้วัสดุที่มีสีฉูดฉาด วัสดุสมัยใหม่ แล้วเขาชอบใช้กรงดักหนูมาทำงาน เพื่อเปรียบว่า มนุษย์ชอบเข้าไปอยู่ในกรง หรือไร้เสรี ถือเป็นเอกลักษณ์ของเขาเหมือนกันนะ

เขาอยากให้ผู้คนตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เขาพยายามจุดประกายให้มนุษย์ตั้งคำถาม แล้วงานเขาจะไม่ค่อยเล่าความจริงแบบตรงไปตรงมา คนดูต้องตีความ บางทีดิฉันยังตีความงานเขาไม่ออก เขาจะมีแนวคิดอะไรของเขาเยอะมาก

เขามักจะบอกว่า ศิลปะแสดงสด มันไม่ใช่การแสดงนะ ไม่ใช่ความงดงาม แต่เป็นการนำเสนอภาวะภายในของศิลปินในขณะนั้น ที่ต้องเอาออกมา อาจจะมีการวางแผนด้วย แต่สิ่งสำคัญคือ มันคือภาวะในขณะนั้น

ขณะที่เวลาดิฉันทำงาน คนดูจะรู้ว่าต้องการเล่าอะไร เป็นงานเล่าเรื่อง ใช้สื่อทุกอย่างเพื่อที่จะเล่าเรื่อง ประเด็นที่ทำ ก็มักจะเป็นเรื่องวิถีชีวิตชาวบ้าน เรื่องสิ่งแวดล้อม และใช้วัสดุที่จริง เช่น ใช้ดินหรือฝ้ายจากแม่น้ำโขง มาทำงาน ค่อนข้างชัด บางทีศาลเขาจะบอกว่า ง่ายไปหรือเปล่าเธอ เขาเป็นครูของดิฉันเหมือนกัน และจะแนะนำดิฉันหลายอย่างในเรื่องศิลปะแสดงสด

ดิฉันถามเขาเยอะว่า อย่างนี้ดีไหม แต่เขาจะไม่บอกหมดนะ ว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เขาจะบอกว่า งานแสดงสดมันไม่ใช่งานสารคดีนะ หรือแบบนั้นเชยไปไม๊ และเขาจะไม่เคยชมดิฉันนะ ถึงแม้ว่างานจะออกมาดีแค่ไหนก็ไม่เคยชม จนครั้งล่าสุด ก่อนที่เราจะมาทำงานในงาน 30 ปี ของพี่จุ๋ม เราซึ่งเป็นกลุ่มศิลปิน 5 คน ไปซีอานกันมา แล้วงานชุดแรกที่ดิฉันทำที่ซีอาน ทำเรื่องแม่น้ำโขง เพราะว่าจีนกำลังสร้างเขื่อน ดิฉันเอาดินจากแม่น้ำโขงไปเมืองจีน ไปเล่าเรื่องแม่น้ำโขง ใส่เสื้อต้านเขื่อนไปเลย

เสร็จแล้วพอทำอีกชุดหนึ่ง รู้สึกอยากทำงานแนวเซอร์ๆ ดิฉันจึงทำงานที่มีชื่อชุดว่า ฉันฝัน ว่าฉันฝัน แล้วศาล เขาชอบชุดนี้ ความจริงเขาก็ชอบชุดอื่นด้วย แต่เขาไม่เคยพูด เราสองคนจะไม่ค่อยชมกัน แต่ครั้งนี้เขาเอ่ยปากเลยว่าชอบ (หยุดยิ้มน้ำตาซึมชั่วครู่)

เขาเป็นคนชอบพูดอะไรตรงๆ พูดโพล่งๆ ไม่ค่อยเอาใจใคร แล้วตอนที่เขาป่วย เขาก็ไม่ค่อยได้ออกไปสังสรรค์ บางทีเขาก็น้อยใจพูดว่า เฮ้ย...อย่างฉันไม่ค่อยมีเพื่อนหรอก แต่เวลาไม่อยู่แล้วเพื่อนเยอะ แต่จริงๆแล้วเพื่อนรักเค้า จริงๆเขาเป็นคนอ่อนไหว เป็นคนละเอียดอ่อนมาก ภายนอกดูเถื่อนๆ ดูดิบๆ แต่ความจริงละเอียดอ่อนกว่าดิฉัน ใจอ่อน อ่อนไหว ละเอียดอ่อน น้ำตาแตกเยอะกว่าดิฉัน เวลาสะเทือนใจ

และสมัยที่จีบกันที่ช่างศิลป์ เขาจะมีมุมที่คนอื่นคิดไม่ถึงว่าเขาจะทำ เพราะว่าเขาดูเถื่อนๆ ดูขบถ แต่เขาก็จะเอาดอกจำปีบ้าง จำปาบ้าง จากที่บ้านของเขาไปฝาก หรือว่านั่งปักผ้าให้เรา เขาปักผ้าให้บ่อย ปักให้หลายผืน เพราะเขาชอบปัก จักรเย็บผ้าก็ของเขา ขณะที่ดิฉันเย็บผ้าไม่เป็น แต่เขาชอบ เขาตัดกางเกงใส่เอง บางทีเขาก็เย็บมือ

แล้วตอนนั้นวันเกิดดิฉัน เรานั่งกินกันตรงนี้(โต๊ะทานข้าวหน้าบ้าน)เขาตัดกระดาษเป็นพวงมะโหด

ดิฉันใจร้ายกว่าเขาเยอะ เช่น เวลาเจอแมลงสาป ดิฉันทุบเลย แต่เขาจะบอกแค่ไล่ไปก็พอ



การทำงานศิลปะแสดงสด ขายเป็นเงินไม่ได้ เหมือนงานศิลปะประเภทอื่น แล้วพวกคุณทั้งสองยังทำงานเคลื่อนไหวเรื่องสังคมไปด้วย ที่ผ่านมาเลี้ยงชีพและเลี้ยงใจของตัวเองอยู่ได้อย่างไร

การทำงานศิลปะมันเลี้ยงใจเราอยู่แล้ว ช่วงหลังดิฉันรับทำงานสารคดีด้วย เคยทำรายการ เมล็ดข้าวเล่าเรื่อง ให้ไทยพีบีเอส และยังเขียนหนังสือ แล้วงานสารคดีก็ค่อนข้างได้เงินอยู่นะ เป็นกอบเป็นกำ ขณะที่ศาล ที่บ้านเขาจะมีเงินกงสีให้เขาเป็นรายเดือน ไม่มากแต่พออยู่ได้ อย่างที่เราคิดว่าเราไม่ลำบาก

ศิลปะแสดงสด มีเสน่ห์อย่างไร ทำไมพวกคุณทั้งสองจึงทำต่อเนื่องมาได้นาน แล้วได้รับความสนใจแค่ไหนในบ้านเรา

ทุกครั้งที่เราทำงานแสดงสด มันเหมือนเราได้ปลดปล่อยความอัดอั้นส่วนตัวของเราออกไป และการทำงานศิลปะแสดงสด มันจะปะทะกับคนดูโดยตรง ถึงแม้ว่าจะเป็นคนดูที่นิดเดียวเมื่อเทียบกับการแสดงอื่น

คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าชาวบ้านดูงานพวกนี้ไม่รู้เรื่อง แต่เราเคยทำงานในหมู่บ้านหลายแห่ง ปรากฏว่าชาวบ้านรับเรื่องการแสดงสดได้ อาจเพราะชาวบ้านเขาไม่ได้ผ่านการเรียนทฤษฎีอะไรเยอะ เขาใช้ความรู้สึกสัมผัสกับงานของเราเพียวๆ นับตั้งแต่ที่ทำงานครั้งแรกที่แม่น้ำสาละวิน ชาวบ้านจะเข้ามามีส่วนร่วมกับงานของเราเยอะมาก

อย่าไปพูดว่า เฮ้ย.. Performance ในหมู่บ้านเหรอ ชาวบ้านเขาจะดูรู้เรื่องเหรอ ชาวบ้านดูรู้เรื่อง คนในกรุงเทพต่างหากที่ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง นอกนั้นไม่มีหรอก เพราะว่าศิลปินแสดงสด จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ได้ และพวกเราจะคิดถึงทำงานให้สอดคล้องกับพื้นที่สาธารณะนะ เหมือนสมัยเราเป็นสมาชิก อุกกาบาต (รวมศิลปิน นักเขียน กวี ขับเคลื่อนเรื่องสังคม ในนามผู้ก่อการร้ายทางวัฒนธรรม นำโดย วสันต์ สิทธิเขตต์)ที่เราไปแสดงสดเกี่ยวกับการบริโภคนิยมหน้าแมคโดนัลด์


ช่วยเล่าถึงเรื่องป่วยของคุณไพศาลหน่อย

อย่างที่รู้กันว่า เขาเป็นคนดื่มจัด และเขาตับไม่ดีมาตั้งแต่เด็กแล้ว เพราะเขาเคยเป็นดีซ่าน ความป่วยของเขาเริ่มมาตามลำดับ ก่อนจะเป็นมะเร็ง เขาเป็นตับอักเสบ หมอบอกให้หยุดดื่ม แต่หยุดไม่ได้ พอหมอบอกเป็นตับแข็ง ต้องหยุดดื่มแล้วนะ ไม่เช่นนั้น คุณจะเป็นมะเร็ง จนเมื่อปี 54 ตรวจเจอมะเร็ง แต่ยังขนาดเล็กอยู่ เราก็ลองใช้วิธีจี้ วิธีเบิร์น ซึ่งตอนนั้นการรักษาวิธีนี้เพิ่งเข้ามาในเมืองไทยใหม่ๆ ใช้เข็มแทงเข้าไปโดยใช้ทีซีสแกนดู แล้วใช้ความร้อนจากข้างนอกเข้าไปเบิร์น ปรากฏว่ามันหายไป แต่เราก็ติดตามอาการกันทุกสามเดือน สี่ปีมานี้เราติดตามมาตลอด จนครั้งหลังหมอบอกว่ามันไม่มาแล้วมั้ง ถ้าอย่างนั้นมาตามอาการหกเดือนครั้งแล้วกัน

พอหกเดือนแรกมาดูอาการ หมอบอกว่ามีเม็ดอะไรขึ้นมา แต่ยังไม่ฟันธงว่าใช่หรือเปล่า แล้วหมอก็บอกว่าอีกหกเดือนมาดูกันใหม่ มันคงไม่โตหรอก ประมาณนี้ พอมาใหม่ เมื่อมกราคมที่ผ่านมานี้เอง หมอบอกว่า มันโตและกินเส้นเลือด จะรักษาแบบเดิมหรือใช้วิธีไหนก็ไม่ได้ หมอบอกต้องฉายแสง ฉายแสงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ อาการดีอยู่ซักอาทิตย์หนึ่งมั้ง หลังจากนั้นก็ร่างกายผอมเลย แล้วพอไปตรวจอีกทีปรากฎว่ามันโตขึ้น เนื่องจากตับดีเขาเหลือน้อยตั้งแต่เป็นตับแข็ง ตอนหมอบอกว่าจะอยู่ได้สามเดือน ทีแรกเราก็หาทางทุกอย่าง มารักษากัน อยู่มาจนจะเข้าหกเดือน แต่เขาจะดูเหมือนคนไม่ป่วยนะ เดินทางตลอด แล้วดิฉันก็คิดว่าต้องเต็มที่ ไปไหนไปกัน แต่คอยระวังดูแลเรื่องกิน เขาหยุดกินเหล้าตั้งแต่สี่ปีที่แล้วนะ ไม่แตะเลย

คุณไพศาล มีอาการจิตตก เพราะอาการป่วยของตัวเองมากที่สุดตอนไหน

ตอนที่หมอบอกว่า ถ้าคุณไม่ทำอะไรเลย คุณจะอยู่ได้แค่สามเดือน จิตตกกันทั้งคู่ กอดคอกันร้องไห้แล้ว พอดีว่า ไพศาลเขามีหมออีกคนหนึ่งอยู่ที่โรงพยาบาลเมโย หมอคนนี้เป็นคนส่งเขาไปที่จุฬาฯ เขาไปจี้ไปเบิร์นมะเร็งที่จุฬาฯ เพราะเมโยเขาก็ทำอะไรได้ไม่เยอะ หมอที่เมโยเคยบอกเขาว่า ทำใจดีๆมันมีหลายวิธี ช่วยหาวิธีที่จะรักษา กำลังใจก็เลยมา แต่แม้เขาจะไปฉายแสงด้วยก็ไม่ได้ผล มันโตขึ้น

เราเริ่มดูแลเรื่องอาหาร ทีแรกก็ยังพยายามไม่ตัดอะไรเลย เพราะคิดว่าร่างกายก็ต้องการกำลังที่จะไปสู้กับโรค แต่ ไปเน้นพวกปลอดสาร อย่างเนื้อหมูก็ต้องดูว่าปลอดสารไหม ไก่ก็ต้องเป็นไก่พื้นบ้าน แล้วมาตอนหลังจึงตั้งใจจะกินแต่ปลากันผักแต่ให้เลิกเนื้อสัตว์ไปเลยไม่ได้ เพราะศาลเขากินไม่ได้ ตอนหลังก็ได้รับคำแนะนำจากหมอที่ทำเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติบำบัด เราเลยตัดของหวานออกไป แต่ยังกินอยู่นิดหน่อย ไม่งั้นมันแย่เกินไป แล้วไม่ใช้น้ำมันเลย จะผัดอะไรก็ใช้น้ำผัด เขาก็ค่อนข้างเบื่อ แต่เพราะเขารู้ว่าต้องกินอย่างนี้ถึงจะอยู่ได้ ก็ต้องกิน แล้วสามมื้อในหนึ่งวันต้องกินน้ำผักปั่น ดิฉันก็กินด้วย

คุณไพศาลประคองใจตัวเอง ในขณะที่ป่วยอย่างไร

ดิฉันก็ให้กำลังใจเขาว่ามันต้องมีทางรักษาสิ มันต้องดีขึ้น (อ่านหนังธรรมะไหม) ไม่เลย เขาแสดงออกทางการเขียนรูปมากกว่า แล้วเขาจะไม่ทำให้เรารู้สึกว่าเขากำลังกลัวนะ มีบางครั้งที่เราเห็น เช่น บ่นว่า ทำไมเพลียจัง แต่เขาจะพยายามไม่แสดง เพราะเขารู้ว่าเราวิตกจริตเยอะกว่าเขา เพื่อนกันจะรู้ว่า เฮ้ย..ไอ้เลนเครียดไปหรือเปล่า เขาก็จะพยายามเหมือนไม่เป็นอะไร

อาการในช่วงทำงานศิลปะแสดงสดครั้งสุดท้ายเป็นอย่างไร

แย่มากเลยตอนนั้น ทำงานศิลปะแสดงสดเสร็จ ก็ไปนอนอยู่ข้างหลังเวที แล้ววันนั้นดิฉันเอาถุงนอนไปด้วย จนวันที่เข้าโรงพยาบาลก็คือวันที่ไม่ไหวแล้วจริงๆทางบ้านพร้อมที่จะให้เขารักษาตัว ถ้าเขาต้องเข้าโรงพยาบาลแต่วันนั้น วันจันทร์ ที่ 14 กรกฎาคม เขาตื่นขึ้นมาท้องเขาบวม เราก็เลยบอกว่า เฮ้ย ไปโรงพยาบาลเถอะ แต่เขาก็บอกว่าเขาไม่ไป เพราะว่าเขาต้องเขียนต้นฉบับให้สยามรัฐ ซึ่งจะปิดต้นฉบับวันอังคาร เขาก็เลยบอกว่าเขาไม่ไป เขาจะปิดต้นฉบับ จนสายๆ เขาบอกว่าสงสัยต้องเลื่อนส่งต้นฉบับ ทนมาจนดึกของวันจันทร์ กระทั่งต้องไปตามน้องเขา หามขึ้นรถไปหาหมอ

เคยเตรียมใจไว้บ้างหรือเปล่า

ไม่ ดิฉันคิดว่าเขาต้องอยู่ได้อีกนาน คิดแหล่ะว่าต้องมีวันนั้น แต่อย่างน้อยต้องอีกนานเป็นปี เพราะว่าเราเคยผ่านกันมาได้ตั้งสี่ปี ดังนั้นเราต้องผ่านให้ได้

หลังจากที่เขาเข้าโรงพยาบาล นอนห้องพิเศษคืนวันจันทร์ ( 14 ก.ค.58) พอเช้าวันอังคาร( 15 ก.ค.58) หมอประจำตัวเขามาบอกว่าต้องอยู่ไอซียูแล้ว อาการขนาดนี้ เพราะว่ามันเป็นลมในท้องหมอต้องต่อสายเข้าจมูก ต้องดูดลมออกมาจากท้อง แล้วทีนี้การหายใจเริ่มมีปัญหา ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งตอนนั้นหมอบอกว่าอาการไม่ดีแล้วนะ แต่ดิฉันคิดว่ายังหรอก เพราะว่าเขายังสติดี พอเที่ยงของวันอังคาร เขาก็เริ่มหายใจอ่อน หมอช่วยไม่ทัน

ถึงวันนี้คุณเข้มแข็งขึ้นมาได้อย่างไร

เข็มแข็งได้เพราะเพื่อนๆ และพี่ๆน้องๆ เพื่อนๆมากันเยอะ ทั้งมาจากอุบล ขอนแก่น เชียงราย เชียงใหม่ สิงคโปร์ ฯลฯ วันแรกที่เขาเสียดิฉันแย่มาก

หลังจากที่คุณไพศาลเสีย คนรอบข้างจะพบว่าคุณแสดงออกถึงความรักที่มีต่อสามีเยอะมาก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ แทบไม่เคยแสดงออก

ไม่เคย เราไม่เคยแสดงความรักให้ใครเห็น ตอนหลังเราเล่น facebook กันเยอะด้วย แล้วตั้งแต่หมอบอกทีแรกว่าเขาจะอยู่ได้แค่สามเดือน ดิฉันก็เครียดกว่าเขามาโดยตลอด แล้วดิฉันก็จะชอบดูรูปเขาบ่อยๆ แล้ว facebook ก็เป็นทางระบายอารมณ์อย่างหนึ่ง บางทีเราพูดกับใครไม่ได้ หรือบางอย่างเราก็บอกกับเขาไม่ได้ เราก็โพสต์รูปเขา อยากให้คนรู้จักเขามากขึ้น ค้นรูปเขา ดูรูปเขา รู้สึกอยากจะให้ทุกอย่างมีเรื่องของเรา ทุกอย่างที่เราทำ

ตอนหลังเพื่อนก็เลยสงสัยว่า ไอ้เลนเป็นไรวะ เพราะปกติดิฉันจะโพสต์เรื่องการเดินทางของตัวเองบ้าง เรื่องชาวบ้านถูกทำร้ายบ้าง หรือบางทีก็โพสต์อาหาร แต่ไม่เคยมาโพสต์อะไรกันอย่างนี้

คือคนหาทางออกให้ตัวเองอะ มันคิดถึงนะ ถ้าเป็นศาลเขาก็คงวาดรูป

หลังจากคุณไพศาลเสีย นอกจากจะได้รู้ว่าเขามีเพื่อนเยอะมาก ยังมีเสียงสะท้อนกลับมาด้วยเหมือนกัน ว่าคุณมีชีวิตคู่ในแบบที่หลายคนอิจฉา

ที่ผ่านมาเราอยู่ด้วยกันแบบไม่เรียกร้อง เราไม่ได้แต่งงานกันนะ ดิฉันคิดเองว่าไม่ต้องแต่งหรอก อยู่กันไม่เรียกร้อง ทีแรกก็ไม่คิดว่าจะอยู่กันจนถึงวันนี้นะ หมายถึงว่าเราตกลงกันว่า อย่ามาเรียกร้องอะไรกันมาก บางทีเราไม่เคยใช้คำว่า สามีภรรยาด้วยซ้ำ ถ้าไม่จำเป็น เพราะเราอยู่กันเหมือนเพื่อน

อยู่กันอย่างไม่เรียกร้อง อยู่กันอย่างเหมือนเพื่อน ดิฉันคิดว่าจะอยู่ได้ยาวนานมากกว่า ไม่เคยเรียกร้องว่าเธอต้องทำโน่นทำนี่ให้ฉันนะ ต่างคนต่างเป็นอิสระ บางช่วงดิฉันก็เดินทาง เขาก็อยู่คนเดียว บางช่วงเขาถูกเชิญไปต่างประเทศ ดิฉันก็อยู่ของดิฉัน แล้วเวลาเขากินเหล้า เราก็ไม่ไปเรียกว่า เฮ้ย...กลับบ้าน ได้แล้ว ต่างคนต่างก็ตระหนักในหน้าที่ตัวเอง แล้วดูแลกัน

คนอาจจะมองแต่ด้านที่สวยงาม เอาเข้าจริงชีวิตคู่ของพวกคุณมีปัญหาบ้างไหม

โอย...ทะเลาะกันไม่รู้กี่ครั้ง ถีบพัดลมพังไปไม่รู้กี่ตัวแล้ว ฮาตาริเนี่ย(หัวเราะ) ดิฉันจะอารมณ์แรงกว่าเขานะ เขาก็มีโวยเหมือนกัน แต่ไม่เคยมาทุบอะไร มีดิฉันนี่สิ บางทีก็ผลักตั้งหนังสือพังบ้าง แล้วเราก็มาช่วยกันเก็บ มีปัญหาเหมือนคู่ทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นเรื่องจุกจิก ไม่ถูกอารมณ์กัน เถียงกัน บางทีจากเรื่องเล็กๆ จนกลายเป็นเรื่องใหญ่โต

บางทีก็เรื่องบ้าน เพราะบ้านที่เราอยู่ มันเป็นบ้านของเขา บางทีจะบอกเขาว่า เฮ้ย..ฉันนี่เป็นผู้สัญจรนิรันดร์นะ ฉันเป็นคนไม่มีบ้าน แต่บางทีเขาก็จะบอกว่า เฮ้ย...มันบ้านของเรานะ

หรือบางทีเราบอกว่าขอย้ายตรงนี้หน่อยได้ไหม เขาก็จะบอกว่า ไม่ต้องมาย้ายของฉัน บางทีเราอยากจัดบ้างไง อย่างล่าสุดบอกว่าอยากจัด เขาบอก ไม่ต้องจัด เอาไว้อย่างนี้แหล่ะ แต่พอเขาไปแล้วจริงๆ เราไม่อยากจัดเลย อยากปล่อยเอาไว้อย่างนี้

แต่เขาไม่เคยมีปัญหาเรื่องผู้หญิงนะ เขาไม่เคยทำให้ดิฉันทุกข์ใจเรื่องผู้หญิง แม้ว่าเขาก็เคยสนิทสนมกับผู้หญิง

ต่อไปนี้วางแผนจะใช้ชีวิตอย่างไร

บ้านนี้ก็คงต้องอยู่ต่อไป ไม่ได้วางแผนอะไร เหมือนเดิมมั้งชีวิต ทำเหมือนเดิม แต่ไม่มีเขาแค่นั้นแหล่ะ

จิตติมาสะอื้นไห้ พร้อมๆกับที่คำถามสุดท้ายของเราได้จบลงด้วย

และเรานึกไปถึงภาพถ่ายที่เป็นภาพของไพศาลและจิตติมาถ่ายคู่กัน ประกอบถ้อยคำสั้นๆที่จิตติมาเขียนถึงสามี ในวันที่เขาเพิ่งจากไป ท่อนที่ว่า

ฉันคงต้องใช้เวลาฝึกนานทีเดียว
หรืออาจตลอดชีวิต
กว่าจะยืนคนเดียวได้
อย่างไม่รู้สึกว่าอีกคนหายไป



Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : ปวริศร์ แพงราช

และขอบคุณภาพถ่ายจาก จิตติมา ผลเสวกและเพื่อนศิลปิน

หมายเหตุ : งานสวดพระอภิธรรมศพ ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง

วันที่ 16 - 22 กรกฎาคม พ.ศ.2558

ณ ศาลาเปลี่ยนบางช้าง วัดบางบัว ซอยไวปรีชา ถนนพหลโยธิน 46 เขตบางเขน

และจะมีงานฌาปนกิจศพ วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2558 เวลา 17.00 น.

พร้อมรับชมผลงานศิลปะแสดงสด และการอ่านบทกวี เพื่อเป็นไว้อาลัย ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง โดยเพื่อนศิลปิน









ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น