เมื่อความทะเยอทะยานและความใฝ่ฝันอยู่ที่การเป็นนักแข่งรถที่ดีที่สุดทำให้ ต้น-มานัต กุละปานานนท์ เลือกเดินเส้นทางสายมอเตอร์สปอร์ตด้วยความมุ่งมั่น เพียงไม่นานชื่อของเขาก็ติดทำเนียบเป็นนักแข่งหนุ่มไทยอนาคตไกล สังกัดทีมโตโยต้า ไทยแลนด์ มีดีกรีแชมป์ VIOS One Make Race 2005, แชมป์ยาริส วันเมคเรซ รวม 5 ปีซ้อน และยังเป็นนักแข่งอายุน้อยที่สุดของไทยที่ได้ร่วมแข่งในรายการ 24 ชม. นูร์เบอร์กริง การแข่งรถรายการใหญ่ที่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของเวิร์ลกรังด์ปรีซ์ ที่คาร์เมคเกอร์จาก ทั่วทุกมุมโลกต่างต้องการส่งโปรดักชั่นคาร์เข้ามาแข่งขันอีกด้วย
ต้น-มานัต กุละปานานนท์ เป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ มณฑา และ วิมล กุละปานานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี.เอ็ม. ออโต้ อิมปอร์ต จำกัด เจ้าของผู้บุกเบิกนำเข้ารถยนต์รายใหญ่ของไทย หลังเรียนจบปริญญาตรีบริหารธุรกิจ เอแบค เขาถูกวางตัวให้ต้องมารับช่วงธุรกิจต่อจากพ่อ-แม่ แต่ในช่วงแรกเขาเลือกที่จะปฎิเสธการใส่สูทผูกไทนั่งโต๊ะทำงานแบบหนุ่มออฟฟิศทั่วไป แล้วหันมาสวมชุดนักแข่งรถทีมโตโยต้า ไทยแลนด์ และเป็นครูสอนขับรถแข่งใช้ชีวิตอยู่ในสนามแข่งรถเป็นหลักนั่นเอง
“จริงๆแล้ว ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาเป็นนักแข่งอาชีพเลย แรกๆก็คิดว่าแค่ชื่นชอบและสนใจ แต่พอได้มาสัมผัสจริงๆก็หลงใหล เข้ามาแรกๆก็ตื่นเต้น อยากหาประสบการณ์ อยากตะเวนแข่งไปเรื่อยๆ คุณพ่อก็ให้กำลังใจไม่เร่งรัดให้ทำงานที่บริษัท พอแข่งไปเริ่มมีประสบการณ์ จัดสรรเวลาได้ก็เลยทำควบคู่กันไป จันทร์ถึงศุกร์ทำงานที่วี.เอ็ม.ครับ ช่วงเย็นหลังเลิกงาน รวมเสาร์-อาทิตย์ ก็ให้เวลากับการแข่งและสอนขับรถที่โตโยต้าครับ” ต้น-มานัต เริ่มต้นบอกเล่าเรื่องราวชีวิตประจำวันของเขาให้เราฟังอย่างเป็นกันเอง เมื่อวันที่เจอกันในงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล ออโต้ ซาลอน 2015
หากย้อนเส้นทางสู่มอเตอร์สปอร์ตของ ต้น-มานัต นั้น ถือว่าเดินรอยตามพ่อ “วิมล” ที่เคยเป็นนักแข่งแรลลี่มาก่อน อีกทั้งตัวเองก็สนใจเรื่องราวของเครื่องยนต์และความเร็วเพราะคลุกคลีอยู่กับรถยนต์มาตั่งแต่เด็ก ทั้งหมดนี้จึงเป็นแรงผลักดันให้เขาก้าวเข้าสู่วงการ
ต้นเริ่มการขับรถมาตั้งแต่เด็ก เริ่มขับ Go Kart ตั่งแต่ตอนอยู่ ป.5 แต่ไม่ได้ลงแข่งขัน จนกระทั่งปี 2004 ได้เข้าร่วมการแข่งขัน Vios One Make Race Class C โดย “วิมล” ผู้เป็นพ่อให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ แม้ “มณฑา” ผู้เป็นแม่จะไม่เห็นด้วยก็ตาม ซึ่งการแข่งครั้งนั้น เขาคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 3 จนได้สิทธิ์เลื่อนขึ้นไปแข่งใน Class B ปี 2005 เข้าร่วมการแข่งขัน Vios One Make Race Class B ปี 2006 เข้าร่วมการแข่งขัน Yaris One Make Race ได้ตำแหน่งชนะเลิศอันดับ 1 ทำให้เขาได้สิทธิ์ได้ไปประลองฝีมือที่สนามแข่งรถที่สนามแข่งฟูจิ อินเตอร์เนชั่นแนล สปีดเวย์ แดนปลาดิบเป็นครั้งแรกในงาน Toyota Motor Sport Festival 2006
นานกว่า 10 ปีที่ ต้น-มานัต ใช้ชีวิตในสนามนักซิ่ง เขาไม่เคยเว้นการแข่งขันแม้สักปีเดียว ซึ่งเสน่ห์ของกีฬาแห่งความเร็วชนิดนี้ที่มัดใจหนุ่มหล่อคนนี้ได้อยู่หมัด คือ ความท้าทายและความพอดี ซึ่งต้นขยายความให้เราฟังว่า ความท้าทายสำหรับเขาอยู่ที่ปล่อยตัวออกไปและตอนเข้าโค้ง ที่ต้องใช้สมาธิ สติ ความว่องไว “คนที่สามารถทำเวลาต่อรอบได้ดีที่สุด คือคนที่ควบคุมความเร็วต่อโค้งได้มากที่สุด ถ้าเราใจร้อน เข้าโค้งเล็ก แล้วใช้สปีดเยอะมันแหกโค้ง แต่ถ้าโค้งใหญ่ใช้ความเร็วได้เยอะ แต่เราไปเข้าช้าก็หมายความว่าไม่พอดี ทำให้เวลาต่อรอบไม่ดี ดังนั้นทุกอย่างต้องให้พอดีที่สุด ที่สำคัญต้องไม่วอกแวก หากเผลอไปมองคนอื่น ก็เสี่ยงที่จะเสียจังหวะ ทำให้คู่แข่งแซงหน้าไปได้”
การใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงในลู่ความเร็วที่หลายคนมองว่าอันตรายนักหนา แต่ ต้น-มานัตกลับบอกว่า ยังไม่เคยเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงกับตัวเขาสักครั้งเดียว ที่เจอส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุแบบเฉี่ยวชน เบียดกัน ก็มีเป็นเรื่องปกติ หนักสุดก็คือรถหมุน เพราะเสียจังหวะตอนกำลังเข้าโค้ง “กระแทกนิดหน่อยไม่ได้เป็นอะไรมากครับแค่มึนๆ ไม่มีอะไรหัก อาจเป็นเพราะปัจจุบันชุดนักแข่ง หรืออุปกรณ์ช่วยเซฟมีความทันสมัยมากขึ้น ทันทีที่เกิดปัญหา อุปกรณ์เหล่านี้จะทำงานทันที”
แม้การแข่งประลองความเร็วของต้นหลายๆ ครั้ง เขาจะสามารถคว้าชัยชนะมาครอบครองได้ แต่แมตช์แห่งความประทับใจของเขา กลับไม่ใช่แมตช์ที่เขาชูถ้วยเป็นผู้ชนะ หากเป็นการได้ร่วมทีมโตโยต้าเข้าแข่งในรายการ 24 ชม. นูร์เบอร์กริง 2015 ที่เยอรมัน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
“มันเป็นความฝันของนักแข่งรถทุกคนครับ ตอนที่รู้ว่าได้ไปนั้นตื่นเต้นมาก เพราะเป็นที่รู้กันว่าสนามนี้เป็นสนามขับยาก อันตรายที่สุดสนามหนึ่งในโลก เพราะพื้นที่เป็นหุบเขา โค้งแคบ หักศอก ทางขึ้น-ลงสูงต่ำ บนเนินเขา มีโค้งนึงที่รู้สึกตกใจมากคือโค้งที่ขึ้นเนินไปพอถึงยอดผมคิดว่าจะมีทางไปต่อ ปรากฏข้างหน้ามองไม่เห็นทาง เพราะมันเป็นเหวที่ต้องดิ่งลงไปเลย แต่พอรอบที่ 2-3 ก็เริ่มชินครับ แมตซ์นี้ไม่ได้รางวัลแต่ไม่น้อยหน้า เพราะทำได้ 109 รอบเข้าอันดับ 6 และ 7 จากรถที่เข้าเเข่งขันในรุ่นนี้ทั้งหมด 18 คันครับ”
สำหรับสนามนูร์เบอร์กริง หรือที่รู้จักในชื่อ “เดอะริง” จัดเป็นสนามแข่งรถระดับตำนานของเยอรมนี ตั้งอยู่ในเมืองนูร์เบอร์ก เมืองโบราณในเขตเทือกเขาไอเฟล (Eifel) ทางตะวันตกของประเทศเยอรมนี สนามนี้ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ.1925-1927 เพื่อใช้สำหรับแข่งขัน รถยนต์สูตรหนึ่ง รายการเยอรมันกรังด์ปรีซ์ตั้งแต่ปี 1947 จนถึง 1970 ก่อนที่สนามจะถูกงดทำการแข่งขัน ไประยะหนึ่ง เนื่องจากความยากและอันตรายของสภาพภูมิประเทศ-เส้นทางทำให้มีนักแข่งหลายต่อหลายคนต้องจบชีวิตไปกับสนามแห่งนี้
จากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่บนสนามแข่งต้น-มานัต ยังฝากข้อคิดไปถึงนักแข่งรุ่นใหม่ว่า นักแข่งที่ดีต้องมีวินัยและทักษะ หากขับเร็วแต่ทำรถพัง ไม่สามารถขับประคองจนจบเกมส์ได้ ก็ถือว่าไม่มีชัยชนะ