xs
xsm
sm
md
lg

จิตรกรรมฝาผนัง วัดโพธิ์ชัย จ.เลย งานศิลป์ถวายเป็นพุทธบูชาและเคารพครูช่างอีสานผู้ล่วงลับของ “อิทธิพล พัฒรชนม์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ART EYE VIEW---ชายร่างอวบที่ปีนห้างร้านขึ้นไปเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังให้กับผนังโบสถ์ของ วัดโพธิ์ชัย บ้านนาบอน อ.เมือง จ.เลย คนนี้

เป็นคนเดียวกันกับศิลปินเจ้าของผลงานในนิทรรศการเดี่ยวชุด ฮูปแต้มเลย (Loei Painting) ที่เพิ่งจัดแสดงไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ณ หอศิลป์จามจุรี

หลายคนคิดว่าเขาคงเป็นลูกหลานชาวจังหวัดเลยคนหนึ่งที่พยายามสืบต่อลมหายใจงานศิลปะพื้นถิ่นผ่านงานศิลปะร่วมสมัย

แต่แท้ที่จริงแล้ว อิทธิพล พัฒรชนม์ เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เติบโตที่ย่านดอนเมือง เคยมีลานวิ่งเล่นเป็นลานวัด 3 วัด ใกล้ๆบ้าน ได้แก่ วัดสีกัน ,วัดเวฬุวนาราม และวัดดอนเมือง

ภาพจำในวัยเด็ก มีผลทำให้ผลงานศิลปะของนับตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นศึกษา คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร มีเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนามาโดยตลอด โดยเฉพาะประเพณีและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นภายในรั้ววัดและรอบๆวัด นอกจากนี้อิทธิพลยังมีผลงานซึ่งถ่ายทอดเนื้อหานี้ เคยได้รับรางวัลเหรียญทองจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 36 ประเภทจิตรกรรมไทยแบบประเพณี

“ตั้งแต่เด็กๆ เราชอบไปวัด แต่ไม่ได้เริ่มต้นไปด้วยความศรัทธาทางศาสนาหรอก แต่ว่าในรั้ววัดมีประเพณีมีกิจกรรมที่ทำให้เด็กคนหนึ่งมีความสนุกสนาน ซึ่งไอ้ความสนุกสนานตรงนั้น มันเป็นความประทับใจ เป็นแรงบันดาลใจ ให้กับการทำงานศิลปะของเราในเวลาต่อมา”
ตัวอย่างผลงานชุด ฮูปแต้มเลย ที่เคยจัดแสดงที่หอศิลป์จามจุรี

“ฮูปแต้มเลย” บันทึกเอกลักษณ์พื้นถิ่น จ.เลย

เกือบสิบปีแล้วที่อิทธิพลไปปักหลักสร้างครอบครัวอยู่ที่ จ.เลย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของภรรยา

เช่นเดียวกันว่า การได้ไปสัมผัสกับประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นของที่นั่น รวมถึงผลงานศิลปะซึ่งช่างในอดีตได้ฝากเอาไว้ ที่นับวันจะสูญหายไป และถูกแทนที่ด้วยของใหม่ที่แทบไม่หลงเหลือเอกลักษณ์พื้นถิ่นเอาไว้

เป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างผลงานศิลปะชุด ฮูปแต้มเลย ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่บันทึกประเพณีและวัฒนธรรม และผลงานศิลปะพื้นถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของ จ.เลย

“ช่างในท้องถิ่นเขาได้ถ่ายทอดเรื่องราววัฒนธรรมประเพณีที่เขาเคยสัมผัสมาในอดีตไว้ในผลงานศิลปะพื้นถิ่นรวมถึงงานจิตรกรรมต่างๆ ที่เราเห็นในรั้ววัด พอมาถึงปัจจุบัน เมื่องานศิลปะเหล่านั้นเสื่อมสภาพลงไป และ เริ่มมีการเขียนของใหม่ขึ้นมาทดแทนแต่เป็นผลงานจิตรกรรมแบบทางภาคกลาง ไม่ใช่เอกลักษณ์ของภาคอีสาน

ผมจึงเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาว่าเราน่าจะทำงานศิลปะร่วมสมัยของเราที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของจังหวัดเลย และเพื่อบันทึกไว้ว่า นี่คือเอกลักษณ์ของจิตรกรรมพื้นถิ่นของจังหวัดเลย”

"จิตรกรรมฝาผนัง วัดโพธิ์ชัย" งานศิลป์ถวายเป็นพุทธบูชาและเคารพครูช่างอีสานผู้ล่วงลับ

อย่างไรก็ตามผลงานศิลปะชุดฮูปแต้มเลย ก็ยังถือเป็นผลงานที่เกิดขึ้นตามมาที่หลัง โครงการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดโพธิ์ชัย บ้านนาบอน อ.เมือง จ.เลย งานสำคัญที่เขาและครอบครัวต้องการทำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าและบรมครูช่างอีสานผู้ล่วงลับ

“เราตั้งใจว่าอยากจะทำมาหลายปีแล้ว ทำจิตรกรรมฝาผนังสักที่หนึ่งเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ประจวบเหมาะที่ว่าที่วัดโพธิ์ชัย เป็นวัดประจำหมู่บ้านของบ้านเกิดภรรยา

เวลาที่มีกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรม ทางครอบครัวของภรรยามักจะเป็นหัวเรือใหญ่ประจำหมู่บ้าน ทำให้ครอบครัวเรามีส่วนร่วมกับวัฒนธรรมประเพณีที่มันเกิดขึ้นในชุมชน”
 แม้จะมีความตั้งใจดี ใช่ว่าจะเป็นงานที่บุ่มบ่ามเข้าไปทำได้ง่ายๆ

“เราต้องคุยกับชุมชนก่อนครับว่า ชุมชนเขาโอเคไม๊ และคุยกับพวกพระอาจารย์ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เพื่อให้เขาเห็นดีเห็นงามกับเรา ไม่ใช่ว่าเราสักแต่ว่าจะเขียนได้ เราต้องคุย ต้องติดต่อ ต้องมีประชามติ เพื่อให้ตัวจิตรกรรมมันเกิดขึ้นได้

คือชาวบ้านเขายังไม่เข้าใจหรอกว่าตัวจิตรกรรมจะมีเพื่ออะไร เราไปอธิบายด้วยคำพูดมันไม่เข้าใจ ต้องกระทำให้เขาเห็นว่าเราทำเพื่อให้จริงๆ ผลที่เราได้รับคือ เราได้ทำงานศิลปะ แต่ผลที่ชาวบ้านได้รับ ผลงานก็จะอยู่กับชาวบ้าน ตลอดไป

อิทธิพลเล่าว่าเดิมทีโบสถ์ที่ไปเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง เคยเป็น โบสถ์อีสาน หรือ สิม ดังที่พบเห็นได้ตามวัดทั่วๆไปในภาคอีสาน แต่ด้วยความที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ วันหนึ่งเห็นว่ามีสภาพที่เก่าจึงรื้อทิ้ง

"แล้วสร้างโบสถ์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นลักษณะของโบสถ์อีสานที่เลียนแบบภาคกลาง สร้างครอบพระสามพี่น้องที่อยู่กลางโบสถ์ไว้ รูปแบบก็เลยเปลี่ยนไปจากอดีต ผมเล็งว่า อนาคตถ้าเราไม่ทำอะไรไว้มันก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ด้วยความไม่เข้าใจของชาวบ้าน ดังนั้นการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังของเราครั้งนี้ นอกจากเพื่อบันทึกวัฒนธรรมประเพณี เพื่อถ่ายทอดให้คนรุ่นเดียวกันกับเรา และรุ่นต่อๆไป น่าจะเป็นการช่วยรักษาองค์พระไว้ด้วย”




วิถีชีวิตปัจจุบันของชาวเลยที่ผูกพันธ์กับพุทธศาสนา

เรื่องราวที่อิทธิพลตั้งใจถ่ายทอดผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนัง เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตในปัจจุบันของชาวบ้านใน จ.เลย ที่ยังกี่ยวข้องพุทธศาสนา
 
“อาจจะไม่ได้เหมือนจิตรกรรมฝาผนังที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่เป็นตำนานพื้นบ้าน อย่าง สังข์สินไชย แต่เราเสนอประเพณี เช่น ฟ้อนผีบ้าน รำเจ้าบ้า

ประเพณีพื้นถิ่นของแต่ละที่มันไม่เหมือนกัน อย่างจังหวัดใกล้ๆกัน เช่น มหาสารคาม ขอนแก่น สิ่งที่ถ่ายทอดก็แตกต่างกัน แม้แต่ที่จังหวัดเลย ก็มีวัดโพธิ์ชัยอีกวัด ที่ อ.นาแห้ว งานศิลปะพื้นถิ่นจะไม่เหมือนกับอีสานใต้ ไม่เหมือนทางมหาสารคาม ขอนแก่น แต่จะมีความละเอียด ประณีต สวยงามมากกว่า ขณะที่ขอนแก่น อุดร สารคาม จะมีความเป็นโฟล์ค เป็นงานศิลปะพื้นถิ่นแบบดิบๆ ลักษณะทีแปรงปาดไปปาดมาอย่างสนุกสนาน”

อิทธิพลบอกถึงเหตุที่ต้องการให้การเขียนจิตรกรรมฝานังครั้งนี้ นอกจากเป็นการทำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชายังเพื่อเป็นการทำงานเพื่อเคารพเหล่าครูช่างอีสานผู้ล่วงลับว่า

“อย่างที่เล่าไป ตัวงานจิตรกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน เริ่มมีความเหมือนภาคกลางมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันได้กลายเป็นงานที่รับจ้างทำ ช่างทำเพื่อหาเงิน ส่วนทางวัดก็ทำเพื่อให้ได้งานจิตรกรรมตกแต่งวัด

แต่สิ่งที่ทำเราทำเพื่อให้เกียรติผลงานจิตรกรรมของช่างที่เราได้แรงบันดาลใจมา ตัวอย่างเช่นที่วัดโพธิ์ชัย อ.นาแห้ว จ.เลย เพราะวัดนี้ ช่วงที่ผมหาข้อมูลมาทำงาน ในช่วงที่เรียนศิลปากร ผมไปอาศัยอยู่ที่วัดนี้ราวๆปีครึ่ง เราเห็นงานจิตรกรรม และสัมผัสวิถีชีวิตโดยรอบวัด ในหมู่บ้านที่เราไปเดินตามพระท่านออกบิณบาตรตอนเช้า ทุกวัน เราได้เห็นถึงวิถีชีวิตปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับศาสนาที่มันยังมีอยู่ มันเป็นแรงบันดาลใจทำให้เราอยากถ่ายทอดให้กับจิตรกรรมภายของวัดในหมู่บ้านเรา

และเราก็คิดว่าครูช่างสมัยก่อนก็เหมือนกับเรา เขาก็ต้องสัมผัสมาเหมือนกับเราแต่เป็นในยุคสมัยของเขาจึงถ่ายทอดออกมาได้ พอมาถึงในยุคเรา เราจึงถ่ายทอด ในรูปแบบของเราเพื่อบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัส เหมือนกับที่เราได้สัมผัสมาในปัจจุบัน”

งบประมาณจากการขายภาพเขียน

โครงการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ดำเนินมาสู่ปีที่ 3 แล้ว เหตุผลที่ต้องเว้นช่วง ทำๆหยุดๆ อิทธิพลบอกเหตุผลว่า เพราะบางครั้งต้องรอให้ตนเองมีเงินทุนมาทำงาน และบางครั้งต้องรอให้วัดมีความพร้อม ดังเช่นเวลานี้ที่มีความจำเป็นต้องหยุดพัก เนื่องจากทางวัดจำเป็นต้องปิดโบสถ์ชั่วคราว เพราะอยู่ในช่วงเวลาของการสรรหาเจ้าอาวาสใหม่ จากปกติที่เคยวัดมีพระจำวัด 2 รูป เป็นเจ้าอาวาส1 รูป และพระที่เวียนมาบวชและจำพรรษาอีก 1 รูป

"ช่วงนี้หยุดเพราะเจ้าอาสาสไม่อยู่ วัดปิดโบสถ์เพื่อสรรหาเจ้าอาวาสใหม่ เราต้องรอให้มีพระมาจำวัด ถึงจะไปทำต่อได้

คือวัดเขาจะมีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องภาพเขียนภายในวัด พอพระไม่อยู่เขาก็เลยปิดกุฏิ ปิดศาลา ปิดโบสถ์ คณะกรรมการอยากจะให้เป็นความรับผิดชอบของทางวัดไป เรียกง่ายๆคือคณะกรรมการไม่อยากรับผิดชอบ กลัวจะเป็นปัญหา เลยปิดโบถส์เลยดีกว่า”

ที่ผ่านมางบประมาณหลักที่นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง อิทธิพลได้มาจากการขายภาพเขียน ซึ่งเป็นงานส่วนตัว

“พอจะมีทุนสักก้อนจากการขายงาน เราก็หาเวลากลับไปเขียน ช่วงที่เราไปเขียน เป็นช่วงที่เราอยู่ได้ ไม่สร้างความลำบากให้ครอบครัว ทั้งตัวเอง ภรรยา และลูก ผมโชคดีที่ภรรยาเป็นคนในพื้นที่ เขาจะเป็นซับพอร์ต ในเรื่องการติดต่อกับผู้คนในหมู่บ้าน

เราไม่ได้เรี่ยไรเพราะเดิมทีแล้วเราตั้งใจจะทำของเราเองภายในครอบครัว แต่เหมือนกับว่า พ่อแม่เราเกิดทักขึ้นมาว่า ถ้าเราจะไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นร่วมทำบุญ มันก็จะเหมือนกับว่าเราหวงบุญ เราเห็นแก่ตัวนะ จะดูไม่ดีแต่พอมีพี่ๆเพื่อนๆ ที่เขารู้ เขาก็ช่วยบริจาคมาบ้าง แต่ก็ไม่ใช่จำนานเงินที่เยอะ เราใช้ไปกับการซื้อพวกอุปกรณ์ สี ทองคำเปลว

จริงๆแล้วเราอยากจะทำให้เสร็จทีเดียวเหมือนกัน แต่เราทำไม่ได้ เพราะเราอยากทำให้เต็มที่ ตามความรู้สึกของเรา ถ้ามันยังไม่ดี เราก็อยากจะค่อยๆทำ จนเราพอใจ เพราะเราคิดว่าการที่จะได้ทำอะไรแบบนี้ ในชีวิตหนึ่งเราคงมีโอกาสทำได้ไม่กี่ครั้ง ก็เลยอยากทำให้เต็มที่จริงๆ อีกอย่างเราทำให้กับวัดในหมู่บ้านที่เราอาศัยอยู่ด้วย อนาคตเราแก่ตัวไป เราได้กลับมาเห็น เราคงภูมิใจนะว่า วันนึงเราทำมันสำเร็จ”

ป่านทิพย์ พัฒรชนม์ และด.ญ.ภัทรานิษฐ์ พัฒรชนม์ หรือ น้องใบปอ
หลายแรงแข็งขัน ครอบครัว “พัฒรชนม์”

นอกจากตนเองซึ่งเป็นแรงงานหลัก อิทธิพลยังเปิดโอกาสให้ภรรยาและลูกสาว(ป่านทิพย์ และ ด.ญ.ภัทรานิษฐ์ พัฒรชนม์) เข้ามามีส่วนร่วมกับการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง

“ภรรยาผมก็จบศิลปะมา เขาก็เขียนได้ และลูกชอบศิลปะเขาก็สามารถช่วยได้ แล้วเราคิดว่าครอบครัวเราเข้าใจกันมากที่สุด สามารถวางแผน สามารถคุย สั่งงาน วิจารณ์งานกันได้อย่างตรงไปตรงมา

ผมไม่ได้คิดขนาดที่ว่าอยากจะให้ลูกได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานของเราครั้งนี้ แค่เราอยากให้ลูกมีความสุข สนุกกับสิ่งที่เราทำ บางเวลาเขาก็ไปช่วยลงสี บางเวลาก็ไปวิ่งเล่นกับญาติพี่น้อง เราไม่ว่า เขาอยากจะเขียนเราก็ให้เขาเขียน

เราค่อนข้างเลี้ยงลูกแบบเพื่อน ถ้าอยากจะทำก็ได้ แล้วเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ค่อยมาเก็บรายละเอียดเอา หรือไม่อยากทำก็ไม่ได้ว่า เราถือว่ามันเหมือนการทำบุญ เขาอยากจะร่วมทำก็ได้ ไม่อยากร่วมทำก็ไม่ได้ว่า

ที่ๆเราทำงาน เขาวิ่งเข้าออกเหมือนเป็นที่วิ่งเล่น เพราะมันเป็นวัดแถวบ้าน บางเวลาเห็นเราเขียนก็เลยอยากจะเขียนบ้าง”

เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน

กองบุญเล็กๆที่ครอบครัวเล็กๆครอบครัวหนึ่งอยากถวายเป็นพุทธบูชา และใช้ความสามารถที่ตนเองมีทำประโยชน์ให้กับชุมชนบ้าง แต่ด้วยความที่ในรายละเอียดของการทำงาน ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนมากมาย ทำให้อิทธิพลได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากการทำงานครั้งนี้

“คือชาวบ้าน พอพูดถึงศิลปะ เขาก็คิดว่าทำแค่อาทิตย์สองอาทิตย์ก็เสร็จแล้ว แต่ว่าในความเป็นจริงมันไม่ได้ และเขาก็คิดว่าเงินทุนจะซักเท่าไหร่เชียว แค่ซื้อสีมาสามสี่กระป๋องเหมือนช่างที่รับเหมามาทา มันก็เสร็จแล้ว อันนี้มันคือความไม่เข้าใจของชาวบ้าน แต่ว่าเราไปว่าเขาก็ไม่ได้ มันต้องผ่านการพูดคุยหลายๆรอบ อย่างกรณีผมที่ทำมาสามปี คุยมาแล้วไม่ต่ำกว่าสิบรอบ เดี๋ยวคุยๆ เพื่อให้งานจิตรกรรม มันสำเร็จลงด้วยดี และเราก็ไม่ได้บังคับชาวบ้านและชาวบ้านก็ไม่ได้มาบังคับเรา มันต้องอยู่กันแบบพึ่งพาครับ

คือจริงๆแล้ว บางส่วนคนเห็นด้วย บางคนไม่เห็นด้วย แต่ตัวงานมันก็เกิดขึ้นแล้ว ผมคิดว่าทุกๆอย่างมันเป็นการอยู่ร่วมกัน ของผู้คน สภาพแวดล้อม ธรรมชาติ เกี่ยวหมดเลย คือธรรมชาติของชาวบ้านกับของเราซึ่งเป็นช่างเขียนเนี่ย มันไม่เหมือนกัน

เราตั้งใจอยากจะทำงานให้ดี แต่ชาวบ้านอยากจะเห็นชิ้นงาน มันเลยไม่ตอบสนองกันได้อย่างเต็มที่ รวมถึงเรื่องปัจจัย

แต่ผมมองว่ามันทำให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน เพื่อหาหนทางที่จะทำให้ทัศนคติของเราและชาวบ้านค่อยๆปรับเข้าหากัน อย่างน้อย ๆ ปัจจุบันชาวบ้านเขารอเราได้ ว่าเราจะมีงบเมื่อไหร่

แต่พอตอนนี้เรามีงบแต่ทางวัดไม่มีพระ เราจึงต้องรอ ไม่ได้ไปบีบคั้นเค้า ก็น่าจะเป็นการเรียนรู้เรื่องการอยู่ร่วมกัน”

โอกาสและอานิสงส์เรายังมี

อิทธิพลบอกว่าปัจจุบันมีศิลปินจำนวนไม่น้อยที่อยากจะได้ทำงานเช่นเดียวกับตน และมีวัดหลายๆวัดในชนบถ ที่ยังขาดแคลนคนไปช่วยต่อลมหายใจให้กับงานศิลปะของท้องถิ่น แต่หลายๆคนไม่มีโอกาส ขาดผู้ที่จะสนับสนุน ด้วยเหตุนี้ปัญหาที่ตนต้องพบเจอระหว่างทางจึงเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เหตุผลที่จำทำให้ล้มเลิกความตั้งใจ

“ส่วนตัวผมเชื่อว่ามีศิลปินหลายๆคนที่อยากจะทำอย่างนี้ แต่ว่าด้วยเรื่องของปัจจัย ด้วยเรื่องของเวลาก็ตามที หรือความเข้าใจภายในหมู่บ้านก็ตามที มันทำให้การทำงานแบบผมไม่สามารถเกิดขึ้นได้มาก

ศิลปินรุ่นใหญ่ๆบางคนบอกว่า เราอาจจะต้องกลับมาคิดว่า อานิสงส์ตัวเราเองยังไม่พอ มันเลยทำให้การทำงานเกิดขึ้นไม่ได้ หรือทำไปแล้ว ไม่สามารถทำต่อเนื่องจนแล้วเสร็จ ตัวศิลปินที่อยากจะทำงานพวกนี้เลยไม่ค่อยมี

แต่ตัวเราโชคดีที่เรามีความปรารถนาที่จะทำมาก และครอบครัวเราก็เห็นดีเห็นงามด้วย สำหรับผม แค่นี้มันก็เป็นแรงผลักดันเพียงพอแล้วที่จะทำให้เรามีความมุ่งมั่นทำต่อไป ถึงแม้ว่ากำลังเงินของเราจะไม่ค่อยมี แต่ถ้าเราค่อยๆทำไป มันก็จะแล้วเสร็จซักวันนึง”

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น