ART EYE VIEW---เหตุที่ต้องชวนเข้าโรงภาพยนตร์ แทนที่จะชวนเข้าหอศิลป์หรือแกลเลอรี่ เหมือนเช่นทุกครั้ง เพราะ National Gallery หนึ่งในภาพยนตร์สารคดี ที่ถูกคัดสรรมาฉายให้ชมใน เทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายา ครั้งที่ 5 รอบแรก (วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2558) มีคิวฉายให้ชม ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์(องค์การมหาชน)
ดังนั้นใครที่ชีวิตนี้ยังไม่มีโอกาสแวะไปเยือน National Gallery (พิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นที่พำนักของงานศิลปะชิ้นเอกของตะวันตก จากยุคกลางจนถึงยุคศตวรรษที่ 19 ) ณ ประเทศอังกฤษ และต้องการไปทำความรู้จัก ผ่านภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ หรือแม้แต่คนที่เคยไปมาแล้ว แต่อยากรู้ว่าผู้กำกับ Frederick Wiseman จะนำเสนอ National Gallery ที่พวกเขาเคยรู้จัก ออกมาในรูปแบบไหน จึงพลาดไปไม่ได้ ที่จะแวะไปชม
สัณห์ชัย โชติรสเศรณี รองผู้อำนวยการ หอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน) กล่าวว่า National Gallery ถือเป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับศิลปะ เรื่องที่ 2 ที่เทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายา คัดสรรมาให้ชม หลังจากที่เทศกาลฯ ครั้งก่อนๆ เคยคัดสรรภาพยนตร์สารคดีของผู้กำกับชาวมาเลเซีย ซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับ “หนังตะลุง” มาฉายให้ชม
แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้เลือก National Gallery มาฉายให้ชมในเทศกาลฯ ครั้งนี้ เพราะเทศกาลฯครั้งก่อน เคยคัดสรรภาพยนตร์สารคดีเรื่อง At Berkeley ผลงานของผู้กำกับคนเดียวกันมาฉาย ปรากฎว่าได้ผลตอบรับจากผู้ชมดีเกินคาด
“ At Berkeley เป็นหนังที่ยาวถึง 4 ชั่วโมง ซึ่งตอนนั้นเราก็หวั่นๆว่าคนดูจะไหวไม๊ ปรากฎว่าทุกคนชอบ เราฉาย 2 รอบ รอบที่นี่(โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา) มีคนมาดูเกินครึ่งโรง และรอบในเมือง(หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) มีคนดูเต็มโรง ประมาณ 200 ที่นั่ง แสดงว่า คนดูพร้อมจะเปิดรับเนื้อหาแบบนี้เหมือนกัน
พอเทศกาลฯปีนี้ ทางเราทราบว่า Frederick Wiseman เขามีผลงานหนังเรื่อง National Gallery จึงคิดว่าน่าสนใจ ต้องบอกก่อนว่าหนังสือสารคดีมีรูปแบบในการนำเสนอแตกต่างกันไป แต่เรื่องนี้ มีทั้งเรื่องการนำเสนอปัญหา การเข้าไปสังเกตการณ์ การเล่าเรื่อง เมื่อชมไปเรื่อยๆเราจะพบเนื้อหาที่หนังอยากจะบอก เลยคิดว่าหนังเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ชมค่อนข้างเยอะ”
ก่อนการฉายภาพยนตร์ ทางผู้จัดคือ หอภาพยนตร์(องค์การมหาชน) ยังได้เชิญ พิชญา ศุภวานิช ภัณฑารักษ์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และมนุพร เหลืองอร่าม ภัณฑารักษ์อิสระ มาร่วมพูดคุยถึงการทำงานของหอศิลป์ในบ้านเราในหลายแง่มุมด้วย
ขณะที่ความเป็น National Gallery ณ ประเทศอังกฤษ ที่ทั้งสองวิทยากรเคยรู้จัก พิชญา ศุภวานิช ในฐานะผู้ที่เคยไปเยือนสถานที่จริงมาแล้ว ได้แลกเปลี่ยนว่า
“ประเทศอังกฤษมีพิพิพิธภัณฑ์เยอะพอสมควร แต่ National Gallery มีความคลาสสิคในเรื่องการนำเสนอคอลเลกชั่นผลงานศิลปะ ที่เป็นผลงานทางประวัติศาสตร์ และผลงานเหล่านี้ก็เป็นตัวบ่งบอกวัฒนธรรม และหลายๆอย่าง เพราะศิลปะมันคือทุกอย่าง คือการรวบรวมทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนั้นเข้ามาอยู่ในภาพ Painting ภาพเดียว มันคือประวัติศาสตร์อย่างไม่เป็นทางการ
ขณะที่ตัวตึกหรือว่าตัวสถาปัตยกรรมภายนอก มันไม่แสดงตนเหมือนพิพิธภัณฑหลายๆแห่ง ที่มักจะบ่งบอกถึงความเป็นสถานที่แสดงงานศิลปะแบบอหังการ์ แต่ที่นี่มองจากข้างนอก มีความเรียบง่าย และดูเหมือนว่าข้างใน ไม่น่าจะมีอะไร บรรกาศน่าจะนิ่งๆ ดูน่าเบื่อ
แต่พอเข้าไปข้างในปุ๊บนี่ บรรยากาศเหมือนกับรังมด ตรงนู้น ตรงนั้น ตรงนี้ มันเคลื่อนที่ไปหมด มีการ์ด มีพนักงานรักษาความปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่นำชม ที่คอยตอบคำถามได้อย่างฉะฉาน กับกรุ๊ปทัวร์ที่เข้ามา มันคือโลกศิลปะที่ถ้าเรามองจากภายนอก เราไม่ได้คาดหวังที่จะได้เห็นสิ่งเหล่านี้
และโดยส่วนตัวรู้สึกว่าวันหนึ่งอยากจะเห็นบรรยากาศแบบนี้ที่บ้านเรา ที่หอศิลป์จะมีฟังชั่นการทำงานที่ขับเคลื่อนได้แบบนี้”
ด้าน มนุพร เหลืองอร่าม แม้จะยังไม่เคยมีโอกาสไปเยือน แต่ในฐานะผู้ที่ติดตามข่าวสารด้านศิลปะอยู่ตลอดเวลา เสริมว่า
“ที่นี่จะเน้นนำเสนอผลงานของศิลปินสมัยเรเนซองส์ และคุณสามารถไปเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะที่นี่ได้เลย และจะได้รับแรงบันดาลใจจากการได้ดูงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกงานจิตรกรรม หรือ Painting
และล่าสุดทราบมาว่า พิพิธภัณฑ์ เพิ่งจะซื้องานของ ทิเชียน(Titian) ศิลปินชาวอิตาเลียนชื่อดังมาเก็บไว้ในคอลเลกชั่น ซื้อมาในราคาเป็นพันล้าน จนมีคำถามจากคนอังกฤษว่าทำไมต้องซื้อแพงขนาดนั้น เพราะศิลปินเจ้าของผลงานก็ไม่ใช่คนอังกฤษ ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ก็มีคำตอบว่า ผลงานของทิเชียน มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ศิลปะของโลก และพิพิธภัณฑ์ก็ไม่ได้กำหนดสถานะตัวเองว่าเป็นสถานที่ซึ่งมีความสำคัญสำหรับคนอังกฤษเท่านั้น แต่เป็นสถานที่ด้านศิลปะที่มีความสำคัญสำหรับคนทั่วโลก”
เชื่อมโยงกับกับสิ่งที่ สัณห์ชัย โชติรสเศรณี ตั้งคำถามว่า เหตุใด Frederick Wiseman ซึ่งเป็นผู้กำกับชาวอเมริกัน จึงสนใจที่จะทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับ National Gallery ของประเทศอังกฤษ
“น่าสนใจเหมือนกัน เพราะ At Berkeley ภาพยนตร์อีกเรื่องของเขาที่เราเคยนำไปฉาย เนื้อหาเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของอเมริกา พอมาเรื่องนี้เขาทำเรื่อง National Gallery ของอังกฤษ ผมก็เคยตั้งคำถามเหมือนกันว่าทำไม
เขาคงมองว่าในฐานะของสถาบันศิลปะในยุคเรเนซองส์ ที่นี่คือสถานที่สมบูรณ์ที่สุด เก็บทุกอย่าง เมื่อคุณเข้าไป คุณสามารถได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ยุคนั้นได้อย่างครบถ้วนที่สุด”
โดยไม่ได้เจาะจงแค่ National Gallery เพียงเรื่องเดียว Frederick Wiseman ได้กล่าวถึงภาพยนตร์สารคดีของตนเองและคนอื่นๆว่า
“ผมหวังว่าหนังสารคดีของผมและของคนอื่นจะคงอยู่ตลอดไป เพราะมันจะทำให้นักประวัติศาสตร์ ในศตวรรษหน้าหัวปั่นแน่ เพราะเขาจะมีสิ่งใช้ศึกษาเพิ่มขึ้น นอกจากสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย คือมีภาพเคลื่อนไหวเหล่านี้”
แต่สิ่งที่หลายคนรู้สึก เมื่อการชมภาพยนตร์สารคดี ความยาว 3 ชั่วโมง อย่าง National Gallery สิ้นสุดลง หรือแม้แต่ขณะที่กำลังชมอยู่ก็ตาม สิ่งที่แต่ละคนคงรู้สึกอยู่เป็นระยะๆก็คือ
การทำงานแบบมืออาชีพของทุกคนในทุกกลไกของพิพิธภัณฑ์ ความกระตือรือร้นของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ความสนใจใคร่รู้ของผู้ชม การพินิจพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและรอบด้านในทุกเรื่อง ยกตัวอย่างกรณีเช่น หากพิพิธภัณฑ์คิดจะทำกิจกรรมอื่นใด ร่วมกับองค์กรอื่นที่ยื่นมือเข้ามาสนับสนุนแล้ว ควรจะเป็นการเอื้อให้ผู้ชมหรือประชาชนเข้าถึงกิจกรรมนั้นได้มากขึ้นและอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่กลายเป็นที่พูดถึงผ่านสื่อ
และหากคุณเป็นศิลปิน เมื่อชมภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ คุณคงเกิดแรงบันดาลใจ อยากจะสร้างสรรค์ผลงานให้ดีที่สุด
เพราะวันใดวันหนึ่ง วิญญานของคุณ อาจมายืนยิ้มน้ำตาซึมเป็นแน่ เมื่อได้เห็นภาพที่เจ้าหน้าที่ต่างๆในพิพิธภัณฑ์ปฏิบัติกับผลงานของคุณราวประคบประหงม และผู้ชมแต่ละคน ต่างสนใจใครรู้เกี่ยวกับในผลงานของคุณแทบทุกรายละเอียด
ดังเช่นผลงานศิลปะชิ้นเอกทุกๆชิ้นใน National Gallery
ภาพยนตร์สารคดี National Gallery มีกำหนดฉายให้ชมฟรี.. อีกรอบ ในวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2558 เวลา 17.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (มีซับไตเติ้ลภาษาไทย)
และผู้สนใจสามารถเข้าไปเช็ครอบการฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่องอื่นๆของ เทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายา ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 21- 28 มีนาคม พ.ศ.2558 ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์(องค์การมหาชน) และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้ที่...www.facebook.com/salayadoc
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews