xs
xsm
sm
md
lg

สูงวัยอย่างมีคุณภาพ“หมอสมชัย” ทุกลมหายใจคืองาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กับศ.เกียรติคุณ ดร.น.พ.สมชัย บวรกิตติ
ลองนึกภาพคนอายุ 86 ปี ถ้าไม่นอนป่วยอยู่บนเตียงก็คงจะนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่กับบ้านเพราะเดินเหินคงไม่ไหวแล้ว แต่ไม่ใช่กับศ.เกียรติคุณ ดร.น.พ.สมชัย บวรกิตติ หรือ “หมอสมชัย” เพราะทุกวันนี้คุณหมอนักวิจัยท่านนี้ยังคงสนุกกับการทำงานและผลิตผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์อย่างต่อเนื่อง

“หมอสมชัย” เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจ ชื่อของหมออาจไม่เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับคนไทย แต่ในวงการแพทย์ต่างประเทศคงไม่ต้องแนะนำหมอท่านนี้อีกแล้ว เพราะผลงานวิจัยหลายร้อยเรื่องที่ท่านทำไว้ อาทิ วัณโรคนอกปอด, ภูมิแพ้จากเลือดสู่เลือด รวมถึง Sarcoidosis (โรคคล้ายวัณโรค แต่ไม่พบเชื้อก่อโรคเหมือนวัณโรค) ที่หมอสมชัยค้นพบโรคนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2502 ล้วนถูกนำมาต่อยอด และตีพิมพ์อ้างอิงชื่อมากมาย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่ต่างชาติจะขนานนามท่านเป็น Sarcoidosis Man( โรคคล้ายวัณโรค แต่ไม่พบเชื้อก่อโรคเหมือนวัณโรค) ซึ่งหมอสมชัยค้นพบโรคนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2502 และได้รับเชิญไปบรรยายโรคนี้มาหลายสิบประเทศแล้ว

 
ในวันที่แดดร้อนอบอ้าว หมอสมชัย ในวัย 86 ปีที่เพิ่งเลิกจากการประชุมราชบัณฑิต เดินหิ้วกระเป๋าใบโตท่วงท่ากระฉับกระเฉงออกจากอาคารราชบัณฑิตยสภา มาต้อนรับและพาเราไปยี่ยมคอนโดมีเนียมย่านนนทบุรีอันเป็นที่พำนัก พร้อมเปิดโอกาสให้เราได้สัมภาษณ์ด้วยความเป็นกันเอง

“อยากถามอะไรถามมา วันนี้งานผมเสร็จไปอีก 1 ชิ้นแล้ว ผมมีความสุขมาก ผมเสนองานวิจัยชิ้นใหม่เรื่องเหตุที่หญิงอายุยืนกว่าผู้ชายที่ทำร่วมกับหมอมานพ พิทักษ์ภากร ปรากฏที่ประชุมราชบัณฑิตชอบกันทุกคน” คุณหมอเริ่มต้นประโยคบอกเล่ากับเราถึงงานวิจัยที่ท่านกำลังทำอยู่ด้วยรอยยิ้มสดใส ทำให้เราอดถามไม่ได้ว่า ทุกวันนี้คุณหมอที่น่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสุขสบาย ทำไมยังต้องมาทำงานหนักอีก

หมอสมชัย จบคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราช และทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งนี้จนเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี หลังเกษียณอายุราชการท่านก็ก้าวเข้ามาเป็นราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สำนักราชบัณฑิตยสถานจนถึงปัจจุบัน
 

 

เมื่อได้ฟังคำถามแล้วท่านถึงกับอมยิ้มพร้อมบอกว่า อาจเป็นเพราะท่านเป็นคนขี้สงสัย ชอบตั้งคำถาม และชอบค้นหา เมื่อพบหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ ก็ทำให้อยากรู้ไปทุกเรื่อง จึงทำให้มีงานวิจัยออกมาอย่างต่อเนื่อง

“ไม่รู้เป็นอะไรนะ เห็นอะไรไม่ได้ มันอยากรู้อยากเห็น อยากเขียนไปหมด อย่างตอนที่ไปแม่ฮ่องสอน เครื่องบินลงไม่ได้ เพราะมีเหตุไฟไหม้ป่า ตอนนั้นควันไฟเต็มไปหมด เครื่องบินต้องกลับมาเชียงใหม่ ผมเห็นควันไฟก็คิดว่ามันเป็นอันตรายกับคนที่สูดดมเข้าไปกลับมาผมก็มาทำวิจัยเลย”

การทำงานวิจัยแต่ละชิ้น แม้จะไม่ใช่เรื่องยากของคุณหมอ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย คุณหมอบอกว่าทุกอย่างกว่าสำเร็จต้องมีความตั้งใจ อย่างตัวคุณหมอเอง กว่าจะมีวันนี้ได้ ไม่ใช่แค่เรียนเก่ง ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งในช่วงเรียนปริญญาตรี หรือได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่สิ่งที่หมอคนนี้ทำ คือ การเป็นแบบอย่างของการเป็นนักคิด นักปฎิบัติ นักบริหารที่มีวินัย ที่สำคัญคือเมื่อลงมือทำสิ่งใดแล้ว ต้องทำให้ดีที่สุด มีเป้าหมายชัดเจนในการทำงานและการดำเนินชีวิต

“งานวิจัยของผมหลายชิ้นที่ฝรั่งมาขอตีพิมพ์ แต่ที่เด่นๆคือตอนเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา ตอนนั้นผมทำเรื่องการถ่ายทอดภูมิวัยจากคน ๆ หนึ่งสู่คนอีกคนหนึ่ง งานชิ้นนั้นทำให้ฝรั่งฮือฮามาก มีหมอเขียนจดหมายมาขอตีพิมพ์งานวิจัยและบทความของผม 200 กว่าฉบับดังมากครับ ส่วนอีกชิ้นหนึ่งทำตอนอยู่ที่โรงพยาบาลในอังกฤษ ผมทดลองใส่ยาในเส้นเลือดที่หลอดลมของคนไข้ ซึ่งในหลอดลมของคนเรามีเส้นเลือดหลายเส้น ตอนนั้นผมต้องหาวิธีมากมาย กว่าจะได้ต้องจับคนไข้มาเขย่าเสียหลายครั้งเลย พอทำออกมาปรากฏหมอที่อังกฤษพอใจกันมาก”

 
นอกจากงานวิจัยแล้ว หมอสมชัยยังได้ชื่อว่าเป็นแพทย์นักวิชาการที่เขียนบทความวิชาการมากที่สุดคนหนึ่ง คือมีผลงานเขียนกว่า 2,000 ชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ แม้ทุกวันนี้ในวัย 86 ปี ท่านก็ยังเขียนงานวิชาการเดือนละ 2-3 ชิ้นจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว

คุณหมอยังให้เหตุผลในการเขียนบทความจำนวนมากมาย ว่าไม่อยากจำกัดผลงานวิจัยอยู่เพียงแค่ความสนใจของตัวเอง แต่ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนทั่วไป ดังนั้น บทความเผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติ ก็เป็นเสมือนตัวเร่งให้นักวิจัยจากที่ต่างๆ ทั่วโลก เห็นว่างานวิจัยของท่านมีประโยชน์ จะได้นำงานวิจัยที่ค้นพบไปศึกษาต่อยอดเพื่อการรักษาโรครวดเร็วขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนั้น ประโยชน์ทั้งมวลจากงานวิจัยก็จะตกอยู่กับผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องนั่นเอง

จากบทสนทนาของหมอสมชัย ทำให้คลี่คลายความสงสัยได้ว่า ทำไมท่านถึงมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ คงเนื่องจากมากความทุ่มเท มานะ อุตสาหะ และมุ่งมั่นในการทำงานวิจัยเพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่ดีคงไม่เพียงพอ หากแต่ท่านนั้นจะต้องมีคุณธรรม และจริยธรรมของการเป็นนักวิจัยที่ดี และมีความสม่ำเสมอในการทำงานวิจัยด้วยนั่นเอง

 
หมอสมชัย ในวัย 7 รอบกว่าแต่ยังพูดคุยให้คำแนะนำสั่งสอนสอนลูก-หลาน ลูกศิษย์และคนรอบข้าง ได้อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเมื่อเจอคำถามสุดฮิตถึงเคล็ดลับการดูแลรักษาสุขภาพที่ยังแข็งแรงกระฉันกระเฉง หมอสมชัย หัวเราะอย่างอารมณ์ดีก่อนจะเล่าถึงกิจวัตรประจำวันของท่านว่า

“ผมตื่นนอนประมาณตี 4-5 ตื่นมาก็เช็คอีเมล์-เขียนบทความ พอถึง 6 โมงเช้าเป๊ะ ผมจะลงไปว่ายน้ำครึ่งชั่วโมง คุณรู้มั๊ยผมลงว่ายน้ำเป็นคนแรกของสระทุกวัน และทำอย่างนี้ประจำมาตั้งแต่หนุ่มแล้ว การว่ายน้ำเป็นการออกกำลังที่ดีมาก”

หลังว่ายน้ำเสร็จก็กลับมาทานข้าวเช้า ซึ่งก็เป็นอาหารแบบเรียบง่ายอาทิ ไข่ลวก กาแฟร้อนและขนมปังปิ้ง เป็นต้น ถ้าไม่มีนัดหมายที่ต้องออกไปข้างนอก หมอสมชายก็จะเพลิดเพลินกับการทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ไปจนมืดค่ำ ท่านบอกว่าถ้าบางครั้งสนุกกับการทำงานท่านอาจจะนั่งทำงานอยู่จนเลยเที่ยงคืนและตื่นขึ้นมาอีกครั้งในเวลตีสี่ของวันยใหม่

ชีวิตหมอสมชัยน่าจะเป็นตัวอย่างสำหรับคนสูงวัยที่มีสุขภาพกแข็งแรง และที่สำคัญยังทำงานเลี้ยงตัวเองได้อย่างน่าอิจฉา เพราะทุกวันเสาร์ยังรับตรวจคนไข้ที่รพ.นนทเวช และไปประชุมที่ราชบัณฑิตเดือนละ 5-8 ครั้งโดยไม่เคยหนีไปประชุมสักครั้งเลย รวมทั้งรับเชิญไปบรรยายในต่างประเทศเรื่องโรคต่าง ๆ ที่เคยค้นพบในเมืองไทยมากมาย

อีกเคล็ดลับหนึ่งที่ทำให้หมอสมชายอายุยืนและแข็งแรงคือการเป็นคนสนุกสนาน ไม่เครียด ใครอยู่ใกล้แล้วจะมีแต่เสียงหัวเราะ เป็นคนทันสมัยติดตามข่าวสารทุกเรื่องทั้งในและต่างประเทศตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ หรือความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงชอบดูละครทีวีเป็นชีวิตจิตใจ

วันเวลาที่หมุนผ่านอย่างรวดเร็ว หลายคนอาจจะปล่อยเวลาให้ล่วงผ่านโดยไม่ทำอะไรกับชีวิต แต่สำหรับหมอสมชัย ทุกลมหายใจของเขาไม่ว่าที่ผ่านมาหรือในขณะที่ดำเนินอยู่และในอนาคต จะไม่มีช่วงวินาทีใดที่สูญเสียไปโดยมิได้ทำอะไรเลย

กำลังโหลดความคิดเห็น