xs
xsm
sm
md
lg

คนดังรวมพลังอ่าน “หนังสือเสียง” ถ่ายทอดเรื่องราวพระราชนิพนธ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิจธวัช ฤทธีราวี ประธานกรรมการ มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย
>>“หนังสือเสียง” เป็นสื่อที่ใช้สื่อสารได้ดีที่สุดชนิดหนึ่งสำหรับผู้พิการทางสายตา เพราะสามารถใช้ถ่ายทอดเรื่องราวจากตัวหนังสือที่เคยอยู่แต่บนหน้ากระดาษออกมาในรูปแบบของ “เสียง” ได้อย่างมีอรรถรส ทำให้ผู้พิการทางสายตาได้ใช้จินตนาการส่วนตัวสร้างสรรค์เรื่องราวในหนังสือและซึมซับคุณค่าของบทประพันธ์อันทรงคุณค่าได้ไม่ต่างจากผู้มีสายตาปกติ ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยจึงร่วมมือกับมูลนิธิราชสุดาจัดโครงการ “One by One: หนังสือเสียง เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เพื่อผลิตหนังสือเสียงถวายเป็นพระราชกุศลในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

กิจธวัช ฤทธีราวี ประธานกรรมการมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย กล่าวว่า “มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการมอบโอกาสให้แก่ผู้พิการทางสายตาได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสาระบันเทิงได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น จึงจัดโครงการ “One by One: หนังสือเสียง” มาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เพื่อผลิตหนังสือเสียง มอบให้แก่ผู้พิการทางสายตาผ่านหน่วยงานที่ดูแลผู้พิการทางสายตา 132 แห่งทั่วประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ที่ผ่านมามูลนิธิได้ผลิตหนังสือเสียงไปแล้ว 284 เรื่อง เป็นจำนวนมากกว่า 200,000 ชิ้น

สำหรับในปีนี้ มูลนิธิได้ผลิตหนังสือเสียงคุณภาพสูงรูปแบบซีดีระบบเดซี่จากหนังสือพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่าในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 74 เล่ม ซึ่งนอกจากมูลนิธิจะให้ความสำคัญกับเรื่องการผลิตหนังสือเสียงให้เข้าถึงความต้องการให้มากที่สุดแล้ว ยังเน้นย้ำเรื่องคุณภาพของหนังสือเสียงที่ได้มาตรฐานเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงอีกด้วย”
เกรซ มหาดำรงค์กุล
โดยมีคนดังหลายวงการร่วมเป็นอาสาสมัครถ่ายทอดเสียงสู่ผู้พิการทางสายตาโครงการ “One by One: หนังสือเสียง เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ในปีนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากอาสาสมัคร นำโดยนักธุรกิจแอมเวย์ ประชาชนทั่วไป พนักงาน และบุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคมจากหลากหลายแวดวง รวมมากกว่า 270 คน ที่มาร่วมเป็นอาสาสมัครบันทึกเสียงเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวอันทรงคุณค่าสู่ผู้พิการทางสายตา อาทิ เกรซ มหาดำรงค์กุล, ประภัสสร - ชุติมา เสวิกุล, ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์, สุนทร สุจริตฉันท์ (จี๊ด รอยัลสไปรท์สและเดอะพาเลซ), ดร.ภูวนาท คุนผลิน, อภิวัฒน์ พงษ์วาท (หนึ่ง อีทีซี), ฑิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์, ปิยณี เทียมอัมพร และครูเคท ดร.เนตรปรียา มุสิกไชย ชุมไชโย

เกรซ มหาดำรงค์กุล นักแสดงและพิธีกร อ่านหนังสือเสียงเรื่อง “ไอรักคืออะไร?” กล่าวว่า “รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้มาอ่านหนังสือเสียง สำหรับหนังสือเล่มนี้ เมื่ออ่านแล้วประทับใจและสนุกไปกับพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทุกครั้งที่เห็นข่าวในพระราชสำนัก จะเห็นภาพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงถือกล้องถ่ายรูป มีหนังสือและสมุดจด ซึ่งสิ่งที่ทรงจดนั้นทรงนำมาถ่ายทอดให้พวกเราได้อ่านกัน นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง”
ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์
ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ หรือ “หม่อมอิงค์” ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ซึ่งวันนี้เปลี่ยนบทบาทชั่วคราวมาอ่านหนังสือเสียงเรื่อง “ภูมิศาสตร์กับวิถีชีวิตไทย” เล่าถึงหนังสือที่ได้อ่านว่า “คนที่ได้อ่านหรือได้ฟังเรื่อง ‘ภูมิศาสตร์กับวิถีชีวิตไทย’ จะได้รับรู้ถึงสภาพแวดล้อม สภาพทางภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรมของชาวบ้านในแต่ละภูมิภาคที่มีความแตกต่างหลากหลาย การแก้ไขปัญหาก็ต้องแตกต่างกันไป อ่านแล้วรู้สึกว่าบ้านเราดีที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก และได้เห็นว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีส่วนในการช่วยพัฒนาประเทศมาก นอกจากนี้รู้สึกยินดีที่มูลนิธิติดต่อมาให้อ่านหนังสือเสียง เพราะการอ่านเป็นเรื่องที่ดีจึงอยากให้ผู้พิการทางสายตามีโอกาสฟังเรื่องราวดีๆ ในบทพระราชนิพนธ์ด้วย”

ท้ายนี้ เหล่าคนดังใจบุญยังได้เชิญชวนให้ผู้สนใจหันมาฝึกและพัฒนาทักษะการอ่าน เพื่อร่วมเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือเสียงกับโครงการ One by One: หนังสือเสียงในปีถัดๆ ไป ซึ่งโครงการนี้เปิดโอกาสให้ผู้มีจิตอาสาร่วมแบ่งปันความรู้แก่ผู้พิการทางสายตา เพียงใช้เสียงของเราทุกคน ซึ่งจะเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่า ทั้งยังเป็นประโยชน์มหาศาลแก่ผู้คนมากมาย โดยโครงการนี้จะช่วยลดช่องว่างทางโอกาสสำหรับผู้พิการทางสายตาให้สามารถเข้าถึงบทประพันธ์อันทรงคุณค่า รวมถึงแหล่งสาระความรู้ได้มากขึ้นเช่นเดียวกับผู้ที่มีสายตาปกติ :: Text by FLASH
จี๊ด สุนทร รอยัลสไปรท์ส
ประภัสสร-ชุติมา เสวิกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น