xs
xsm
sm
md
lg

อีสานเถิดเทิง “ทรงฤทธิ์ เหมือยพรม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ART EYE VIEW---“ผมภูมิใจอะ เราเกิดที่ไหนเราก็ต้องภูมิใจในพื้นถิ่นของเรา”  ทรงฤทธิ์ เหมือยพรม ชาว จ.สกลนคร เป็นอีกหนึ่งศิลปินรุ่นใหม่ ที่พยามจะสื่อถึงความรักความภูมิใจในพื้นถิ่นที่เกิดมา ผ่านงานศิลปะของตนเอง

จากงานชุดแรก “พุทธศิลป์อีสาน 1” จัดแสดง ณ โรงแรมพูลแมน กรุงเทพ จี เมื่อปี 2555 ,งานชุดที่สอง “พุทธศิลป์อีสาน 2” ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2556 ล่าสุดการแสดงผลงานชุดที่ 3 เรื่องราวที่นำเสนอก็ยังคงวนเวียนอยู่กับพื้นถิ่นอีสาน

อีสานเถิดเทิง

ทรงฤทธิ์ละมือจากการใช้ปากกาสีน้ำเงินดรออิ้งเป็นภาพคนเป่าแคน บนกระดาษเพื่อฝึกมือเล่นเพลินๆ ระหว่างรอผู้ชมมาซักถามเกี่ยวกับผลงานของเขา

ทันทีที่เราผู้เป็นหนึ่งในจำนวนคนที่พลัดหลงเข้าไปชม สอบถามว่า การแสดงผลงานครั้งล่าสุดนี้ เขาต้องการจะสื่อสารอะไรกับผู้ชมเป็นพิเศษ

“ตัวผมเองเป็นคนอีสาน ได้สัมผัสวัฒนธรรมประเพณีของอีสาน มาตั้งแต่เด็ก ก็เลยอยากจะนำวัฒนธรรมประเพณีของอีสาน ตัวอย่างเช่น งานบุญบั้งไฟ งาน บุญพระธาตุ ฯลฯ รวมไปถึง การละเล่นต่างๆ ทางอีสาน เช่น การดีดพิน การเป่าแคน ฯล ที่สื่อถึงความสนุกสนานของคนพื้นบ้านอีสาน มานำเสนอ ซึ่งผมไอเดียส่วนหนึ่งมาจาก สิมอีสาน ฮูปปั้นฮูปแต้ม ในวัดทางอีสาน”


ปั้นปูนสด เป็นงานจิตรกรรมและประติมากรรมนูนต่ำ

เมื่อมองดูไกล ๆ และส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราต่างคุ้นชินว่าผลงานศิลปะที่มีลักษณะสี่เหลี่ยมและติดตั้งไว้ให้ชมบนผนังมักจะเป็นงานประเภทภาพเขียน

แต่ความจริงแล้วเทคนิคที่ทรงฤทธิ์ใช้คือ "เทคนิคปูนปั้นสด ให้เกิดเป็นงานประติมากรรมนูนต่ำบวกงานจิตรกรรม" ซึ่งเทคนิคนี้เขาให้ความสนใจมาตั้งแต่เมื่อครั้งเรียนในระดับปริญญาตรี สาขาศิลปะไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี วิทยาเขตปทุมธานี และปริญญาโท คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร

“มันเป็นวัสดุที่น่าสนใจ และวัสดุนี้อยู่คู่คนไทยมานานมาก ตั้งแต่สมัยทวารวดี สุโขทัย อยุธยา และสมัยนั้นเขาก็จะใช้ปูนสดตัวนี้ปั้นพระปั้น ปั้นหน้าบัน และปั้นอะไรต่อมิอะไร เป็นวัสดุที่ทนทานต่อการ ตากแดดตากฝน เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน ผมก็เลยอยากจะเอามาทำงานสร้างสรรค์ของเราดู

และการทำงานของผม เราไม่ต้องทำพิมพ์ หรือไม่ต้องหล่ออะไร ส่วนมากผมจะร่างงานคร่าวๆ แล้วก็ลงมือทำในทันที ณ ขณะนั้นเลย ปั้นจบภายในชิ้นนึงและ ทำซ้ำไม่ได้

โดยขั้นแรกผมจะปูไม้อัดก่อน จากนั้นก็ ปูตะแกรงลวด แล้วเอาปูนสดปั้นทับลงไปอีกที”


สีฝุ่นและสีอะคริลิก แต้มปูนปั้นสด

ผลงานทั้งหมดถูกจัดแสดงไว้ในสองห้องนิทรรศการเล็กๆ ขณะที่ห้องแรกผลงานดูหม่นขลังด้วย "สีฝุน" อีกห้องกลับสดใสด้วย "สีอะคริลิค" ที่ศิลปินแต้มวาดลงไปบนปูนปั้นสด

“ห้องแรกที่ใช้สีฝุ่น ผมได้รับแรงใจมาจากงานศิลปะในสมัยโบราณ ที่จะใช้สีฝุ่น สีธรรมชาติ

ส่วนอีกห้องที่ใช้สีอะคริลิค เพราะเมื่อตอนต้นปี ประมาณเดือนพฤษภาคม ผมเป็น 1 ในศิลปินไทย 10 คน ได้ที่มีโอกาสไปแสดงงานที่สหรัฐอเมริกา พอได้ไปดูงานของศิลปินระดับโลกหลายๆคน เห็นว่าสีที่เขาใช้มันสวยดี เราก็เลยอยากจะนำมาใช้ในการพัฒนางานของเรา

และถ้าสังเกตดู จริงๆแล้ว งานศิลปะพื้นบ้านอีสาน จะมีการใช้สีสันที่สดใส เหมือนงานศิลปะร่วมสมัย”

นรกที่สวยงาม

แม้ว่าผลงานส่วนใหญ่ในนิทรรศการครั้งล่าสุด จะนำเสนอเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีอีสาน แต่มีผลงานอยู่หนึ่งชิ้นที่ทรงฤทธิ์ใช้ปูนสดปั้นเป็นภาพ “นรก” และแต้มวาดด้วยสีฝุ่น อันมีที่มาจากเวลาทำงานศิลปะ ทรงฤทธิ์มักจะเปิดวิทยุฟังธรรมะไปด้วย

“เวลาทำงานศิลปะอยู่คนเดียวบ่อยครั้งมันมักจะมีเรื่องเข้ามากระทบอารมณ์ กระทบความรู้สึกของเรา ดังนั้นเวลาทำงาน ผมจึงชอบฟังธรรมะ ฟังพระท่านเทศน์เกี่ยวกับ นรกภูมิ และเรื่องต่างๆ เราก็เกิดเลยจินตนาการขึ้นมาว่าอยากจะทำงานศิลปะที่เกี่ยวกับนรกดูบ้าง ก็เลยลองปั้นขึ้นมาดูสักชิ้น ปั้นด้วยมือและใจที่อิสระ เหมือนกับอารมณ์ในช่วงเวลาที่เราฟังธรรมะขณะทำงาน”

ทรงฤทธิ์บอกเล่าว่ามีหลายคนที่ผ่านมาชมงานแล้วบอกว่าชอบ “นรกที่สวยงาม” ของเขา และ กล่าวทีเล่นทีจริงกับเราผู้ก็ชื่นชอบงานชิ้นนี้ของเขาเช่นกัน และเชื่อว่าต้องมีผู้ซื้อไปในไม่ช้าแน่นอนว่า

ถ้าคุณชอบก็ซื้อไปสิครับ (หัวเราะ)...สำหรับผม ขายได้ไม่ได้ผมก็ไม่คิดอะไรมากหรอกครับ เราจะไปบังคับให้คนเขาซื้องานก็ไม่ได้ เราซึ่งเป็นเจ้าของงาน และรักงาน จะรู้สึกยังไง ถ้าคนที่ซื้องานเราไป ตั้งไว้ในบ้าน แล้วรู้สึกว่า ฉัน ไม่ชอบงานชิ้นนี้เลย แต่ซื้อเพราะเกรงใจ และต้องดูงานชิ้นนี้ไปตลอดชีวิต แต่ถ้าคนที่เขาชอบ ราคาเท่าไหร่เขาก็ซื้อ และเราคนขายก็รู้สึกพอใจด้วย

ดังนั้นขายไม่ได้ ไม่เป็นไร อีกประมาณร้อยปี หรือเราตายไปแล้วค่อยขายได้ ก็ได้ ไม่เป็นไร เหมือนงานของแวนโก๊ะ

เพราะสุดท้ายแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องคืนสู่โลก ร่างกายเราก็เหมือนกัน ต่อไป เราก็ต้องตาย สลายเป็นดินเป็นอะไร มันไม่มีอะไรอยู่กับเราหรอก เรารู้แค่ว่า ณ เวลานี้ เราชอบอะไร เราก็ทำสิ่งนั้น มุ่งไปทางนั้น เป็นความสุขของแต่ละคน”

ขอเวลาสร้างงาน ก่อนแสดงครั้งใหญ่

จากศิลปะทรงฤทธิ์พาเราวกเข้าหาธรรมะอีกครั้งก่อนที่ศิลปินรุ่นใหม่ผู้เคยได้รับรางวัลจากหลายเวที ทั้งงานประกวดศิลปะปูนปั้นและจิตรกรรมบัวหลวง จะทิ้งท้ายว่า

การแสดงงานครั้งหน้าของเขา จะยังไม่ทิ้งเรื่องราวที่เกี่ยวกับอีสาน แต่อาจต้องใช้เวลาสร้างสรรค์นานสักนิด เนื่องจากตั้งใจว่าจะจัดแสดงครั้งใหญ่

“ คงอีกประมาณ 4 ปี หรือเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อยากจะทำงานให้ได้เกือบ 100 ชื้นแล้ว ค่อยแสดง

ผมภูมิใจอะ เราเกิดที่ไหนเราก็ต้องภูมิใจในพื้นถิ่นของเรา ผมเป็นคนอีสาน ทำเรื่องเกี่ยวกับอีสาน เลยอยากจะเอาสิ่งที่ผมทำ เอาเรื่องเกี่ยวกับอีสาน มาให้คนเขาได้ดู ให้ชาวต่างชาติที่ มาดูวัฒนธรรรมของเราได้ดู

เพราะปกติงานในลักษณะนี้จะอยู่ในวัด ในกรุงเทพฯ ก็หาดูได้ยาก ต้องไปอีสานเลย ก็เลยอยากจะอนุรักษ์อะไรตรงนี้ไว้”

นิทรรศการ “ประเพณีศิลป์อีสาน” โดย ทรงฤทธิ์ เหมือยพรม วันนี้ - 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2557 ณ พีเพิล แกลลอรี่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น