ART EYE VIEW---หลายคนคงได้ทราบผลและร่วมแสดงความยินดีกันไปแล้ว สำหรับผลงานที่ได้ถูกตัดสินให้ได้รับ “รางวัลชนะเลิศ” โครงการประกวดสารคดีภาพ National Geographic Thailand Photography Contest 2014 ภายใต้หัวข้อ “10 ภาพเล่าเรื่อง Season 4” จัดโดย นิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย
ซึ่ง Born to race ภาพถ่ายจำนวน10 ภาพ ที่ร้อยเรียงเรื่องราวชีวิตของม้าในสนามแข่ง ผลงานของ กิตติพงษ์ แฝงศรีคำ คือชุดภาพถ่ายที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ไปครอง
มากกว่าชมภาพที่ชนะใจกรรมการ และเห็นหน้าตาของเจ้าของผลงาน บางคนอาจจะอยากทำความรู้จักเขาให้มากขึ้น ว่าอะไรที่ทำให้สนใจถ่ายภาพในแนวสารคดี
และอะไรเป็นแรงบันดาลใจทำให้สนใจในม้าแข่ง รวมถึงเบื้องหลังกว่าจะได้ภาพถ่ายชุดนี้มา ต้องหาข้อมูลและทำงานอย่างไรบ้าง
คนชอบเล่าเรื่องด้วยภาพ
กิตติพงษ์บอกเล่าว่า เดิมทีเขาไม่ใช่คนที่หลงใหลในการถ่ายภาพ แต่เพราะเป็นคนที่ชอบนำสิ่งทีตัวเองสนใจ และได้ไปเห็น มาเล่าต่อ การถ่ายภาพจึงเป็นหนึ่งทางเลือกในการเล่าเรื่องของเขา
ในเมืองไทยการถ่ายภาพในแนวสารคดี หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ถ่ายยาก ต้องอาศัยทั้งเงินและเวลาที่มากพอสมควร แต่สำหรับเขาแล้วการถ่ายภาพในแนวนี้ มีเสน่ห์บางอย่างที่ทำให้หลงรัก
“ผมเคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกามาก่อน ภาพถ่ายสารคดี หรือ photojournalism เป็นตลาดที่ใหญ่ คนให้ความสนใจเยอะมาก
อย่างบ้านเรา คนชอบถ่ายพวกภาพ Landscape ถ่ายงานสวยๆ แต่สำหรับฝรั่ง โดยเฉพาะในอเมริกา เขาจะชอบเล่าเรื่อง ผมคิดว่า ส่วนหนึ่งเพราะฝรั่งอยากรู้อยากเห็น อยากเล่าเรื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งผมก็ติดมาจากตรงนั้น และหลงรักกับเรื่องที่ผมได้ไปเห็น
ผมดูหนังสือ National Geographic มาตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่ปี 1991-1992 ผมจะรู้สึกเสมอว่า ช่างภาพเหล่านี้ได้มีโอกาสไปในที่ๆคนอื่นไม่มีโอกาสได้ไป หรือชาตินี้เราคงไม่ได้ไปแน่ๆ ถ้าเราไม่ใช่ช่างภาพ มันก็เลยเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากรู้ อยากเห็น อยากไป และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ถ่ายภาพในแนวนี้”
กิตติพงษ์ติดตามครอบครัวไปอยู่ที่อเมริกาตั้งแต่ยังเรียนในระดับไฮสคูล และเรียนจบมาทางด้านคอมพิวเตอร์
เมื่อรู้ตัวว่าชอบถ่ายภาพแนวนี้และอยากจะทุ่มเทเวลาให้ เขาจึงเลือกที่กลับมาเมืองไทย ถ่ายภาพและทำงานหาเลี้ยงชีพไปด้วย
“เรื่องราวในประเทศที่อเมริกา มีช่างภาพเถ่ายจนพรุนแล้ว ดังนั้นช่างภาพแต่ละคนจึงต้องออกมานอกประเทศ เพื่อหาเรื่องใหม่ๆที่จะถ่าย แต่สำหรับผม ถ้าจะไปอินเดีย เขาก็ถ่ายกันจนพรุนแล้ว จะไปเกาหลีเหนือก็ไม่มีตังส์ ไม่มีคอนเนกชั่น ดังนั้นกลับบ้านเราดีกว่า น่าจะมีอะไรให้เราถ่าย
ตอนกลับมา เพิ่งจบใหม่ๆ อายุ 20 ต้นๆ ยังไม่มีเงิน ดังนั้นงานอะไรก็ทำก่อน เอารายได้จากตรงนั้นมาใช้จ่ายเพื่อการทำงานถ่ายภาพ
เป็นครูสอนด้านคอมพิวเตอร์อยู่พักหนึ่ง แต่มันไม่ใช่ ก็เลยเปลี่ยนมาทำงานในสตูดิโอ ถ่ายงานคอมเมอร์เชียล แต่สุดท้ายมันก็ยังไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการอยู่ดี”
ท้ายที่สุดเขาจึงเลือกที่จะลาออกมาเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ และส่งภาพถ่ายประกวดตามเวทีต่างๆทุกปี
ดินแดนปริศนา “สนามม้านางเลิ้ง”
ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่า ภายในอาณาเขตของ “ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “สนามม้านางเลิ้ง” มีอะไรที่น่าสนใจซ่อนอยู่ เพราะสำหรับกิตติพงษ์แล้ว สถานที่แห่งนี้ไม่ต่างไปจากดินแดนปริศนา ผ่านไปมาตั้งแต่เล็กจนโต แต่ไม่เคยได้เข้าไปเห็น
Born to race 10 ภาพเล่าเรื่องซึ่งได้รับรางวัล จึงมีจุดเริ่มต้นจากที่นี่
“ชีวิตผมคลุกคลีอยู่กับละแวกนี้ ตอนเด็กๆ ก็ชอบที่จะมาหาของกินแถวนางเลิ้ง พอโตขึ้นมามีแฟน แฟนทำงานอยู่ที่ สำนักงาน ก.พ.(สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ซึ่งก็อยู่ไม่ไกล สมัยจีบกันใหม่ๆ ก็มักจะไปแถวนั้นบ่อย
แต่ผมไม่เคยรู้เลยว่าในสนามม้านางเลิ้งมีอะไร ต่างคนก็พูดกันว่า มันดีมั่ง ไม่ดีมั่ง เหมือนเราเดินผ่านบ้านหลังนึงทุกวัน แต่เราไม่เคยรู้ว่า บ้านหลังนั้นมีใครอยู่ข้างใน
แล้วตอนอยู่เมืองนอกเราเคยเห็นแต่ม้าในคอกที่มีลักษณะอลังการ เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ แล้วม้าในสนามแข่งที่เมืองไทยเป็นอย่างไร จึงเป็นจุดที่เริ่มต้นให้อยากเข้าไปและได้เข้าไปถ่ายภาพในที่สุด”
หาข้อมูล สร้างความไว้วางใจ
แต่ก่อนที่จะก้าวย่างเข้าไปในอาณาแห่งนั้น กิตติพงษ์พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ให้มากที่สุด กระทั่งความสนใจของเขาไปหยุดอยู่ที่ ชีวิตของอาชาแต่ละตัวในสนามแข่ง
“หาข้อมูลในโลกออนไลน์ สิ่งแรกที่ผมหาคือ ในเมืองไทยมีใครเคยทำเรื่องนี้เอาไว้บ้าง ซึ่งผมหาได้อยู่สองสื่อ คือ “รายการกบนอกกะลา” กับ “หนังสือสารคดี” เล่มปี 2530 กว่าๆ มีสองสื่อนี้เท่านั้น ที่มีการเผยแพร่เรื่องราวอย่างแพร่หลายกว่าสื่ออื่นๆที่ผมหาเจอ แต่เมื่อดูเรื่องราวที่นำเสนอแล้ว มันยังไม่ใช่สิ่งที่ผมสนใจเป็นการส่วนตัว
จากนั้นผมก็พยายามหาว่า ในวงการม้าแข่ง มีใครที่ผมจะสามารถเข้าถึง หรือขอความช่วยเหลือได้บ้าง เริ่มหาในเวบก่อน เวบบอร์ดคนรักม้าแข่ง แล้วเดินไปบอกเค้าว่า พี่ผมอยากถ่ายม้าแข่ง ผมสนใจเรื่องนี้ พี่แนะนำใครให้ผมได้บ้าง หรือจะไปที่ไหนได้บ้าง จึงค่อยๆขยับเข้าไปใกล้ คนที่จะช่วยเหลือเราได้มากขึ้นเรื่อยๆ
ก่อนลงมือทำงานผมจะคิด Storyboard(กรอบแสดงเรื่องราว) ไว้ก่อนคร่าวๆ จากการทำการบ้าน และจะมีเสริมเข้าไปใหม่ บ้าง ในสิ่งที่เราเพิ่งไปเห็นและรู้ว่ามันมีอย่างนี้ด้วย
หาแหล่งข้อมูลไปทีละเฟรม เริ่มจากคอกม้าจะหาได้ที่ไหน คนที่แนะนำเค้าก็จะบอก น้องไปที่นี่ๆไปหาคนนี้ๆ เราก็โทรไปคุยกับเค้า ว่าผมสนใจอย่างนี้ๆ วันแรกๆ ก็เข้าไปคุยก่อน ไม่เอากล้องเข้าไป ไปคุยกับเค้าว่าเราจะทำอะไร พร้อมกับศึกษาชีวิตเค้าว่า วันหนึ่งเค้าทำอะไร ยังไง
เพราะบางทีถ้าเราเอากล้องเข้าไปเลย มันเหมือนเราเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัว เค้าอาจจะไม่สะดวกใจกับการที่เราเข้าไปอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น ขั้นแรก เราจึงต้องทำให้เค้าไว้ใจเราก่อน
อย่างเรื่องนี้ผมก็ไปบอกเค้าว่า พี่ผมจะถ่ายเรื่องม้านะ แต่ผมจะไม่ทำเรื่องที่เกี่ยวกับการพนัน เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ผมอยากจะเล่า มันเป็นเรื่องที่เกลื่อนแล้ว ทุกคนรู้ว่าม้าแข่งมีเรื่องของการพนัน แต่ผมอยากจะเล่าว่า ชีวิตม้าตัวหนึ่ง เป็นอย่างไร และผมก็ทำให้เขาไว้ใจผม ว่าผมไม่ได้เอาเรื่องของการพนันมาเกี่ยวข้อง”
10 ภาพเล่าชีวิต “ม้าแข่ง”
ด้วยความที่อยากได้ภาพถ่ายของชีวิตม้าแข่งในหลายมุมมองของชีวิตมัน ทั้งในยามที่อยู่ในคอก รอแข่ง ลงสนาม ได้รับอุบัติเหตุ และถูกปลดระวาง กิตติพงษ์จึงต้องตระเวณไปหลายสถานที่ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด(โคราช ขอนแก่น สุพรรณบุรี ) ไม่ใช่แค่สนามม้านางเลิ้ง เพียงแห่งเดียว
“บ้านเรามีสนามม้าที่ใช้แข่งคือ ขอนแก่น เชียงใหม่ โคราช และกรุงเทพ ที่นางเลิ้ง สนามไทย และราชกีฑาสโมสร ตรงโรงพยาบาลตำรวจ เมืองไทยจะมี 5 สนาม และในจำนวนนี้เค้าจะเวียนกันแข่ง ต่างจังหวัดเขาจะแข่งวันเสาร์ กรุงเทพแข่งวันอาทิตย์ อาทิตย์เว้นอาทิตย์
สนามใหญ่ที่สุดคือ สนามไทย ด้วยความที่เราอยู่กรุงเทพ เราก็ต้องทำข้อมูลก่อน เราจะวิ่งถ่อไปโคราชเลย โดยที่เรายังไม่รู้ว่า มันจะมีเรื่องให้เราถ่าายไม๊ จะเวิร์คไม๊ ก็ไม่ใช่ ผมเลยไปนางเลิ้งก่อนง่ายดี
ในกรุงเทพ คอกม้าคอกสุดท้าย เหลืออยู่คอกเดียวที่นางเลิ้ง ดูสภาพแล้ว เร็วๆนี้ ก็คงต้องปิด พอเรารู้ตรงนี้ เราก็ต้องไปที่ๆเป็นคอกม้าใหญ่ๆในเมืองไทย คือที่โคราช ที่เป็นฟาร์มม้า”
เมื่อค่อยๆไล่ชมภาพถ่ายทั้ง 10ภาพของเขาทีละภาพ กิตติพงษ์ได้บอกเล่าให้เห็นภาพควบคู่ไปด้วยว่า
“ผมเคยชินกับการเห็นคอกม้าเบบฝรั่งที่สวยๆใหญ่ๆ แต่สิ่งที่ผมไปเห็นของเมืองไทยคือ ใกล้ๆคอกม้า จะมีกระท่อมไม้หลังเล็กๆมีไฟอยู่ไม่กี่ดวง มีม้าอยู่ในคอกตรงนี้ มีสุนัขเดินไปมา และอยู่กลางป่าละเมาะเล็กๆ จึงทำให้ได้รู้ว่า อ๋อ.. ม้าแข่งบ้านเราอยู่ในคอกอย่างนี้เองเหรอ
จากนั้นผมโหนรถไปสนามม้านางเลิ้ง สิ่งที่ผมไม่เคยรู้เลย คือม้าต้องอาบน้ำก่อน ทั้งก่อนและหลังแข่ง เพื่อให้ม้าสบายตัว
ก่อนแข่งเป็นอะไรที่น่าเบื่อมาก ม้าจะมาถึงสนามตั้งแต่ 10 โมงเช้า รอบสุดท้ายคือประมาณ 5 โมงเย็น บางตัวรอตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นเพื่อจะแข่ง ผมจึงได้เห็นความน่าเบื่อของชีวิตในคอกม้า และของสตาฟที่เค้านั่งรอ
และผมได้ถ่ายภาพที่ทำให้เห็นถึงพลังของม้า การเปิดตัว วิ่งออกมา รวมไปถึง อุบัติเหตุที่ต้องเกิดขึ้น ต้องไปโรงพยาบาล และสุดท้ายม้าแข่งเหล่านี้ไปไหน มีออฟชั่นอยู่ 3 อย่าง คือ ตาย เกิดอุบัติเหตุ และปลดเกษียณ ไปเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ หรือไม่ก็ไปเป็นม้าที่ริมทะเล แบบที่เราไปเห็นเป็นม้าให้คนขี่เล่น ชีวิตม้าในช่วงบั้นปลายชีวิต มีอยู่แค่ 3 อย่างนี้
และภาพอื่นๆ ก็จะเป็นภาพสวยๆ ไม่ใช่ต้องการให้เห็นในมุมมองที่สวยงามอะไร แต่เป็นส่วนหนึ่งของภาพทั้งหมดที่ผมแค่อยากจะสื่อว่า ม้ามันมีเรื่องราวของมัน มีที่มาที่ไป”
นอกจากนี้กิตติพงษ์ยังบอกเล่าด้วยความดีใจที่สามารถบันทึกภาพม้าภาพหนึ่งในขณะที่กำลังแข่ง
“ภาพนี้ถ่ายได้มาจากสนามแข่งที่ขอนแก่น โดยการใช้กล้องติดบนหัวจ๊อกกี้ มีคนบอกผมว่า ผมเป็นคนแรกที่มีภาพม้าแข่ง ในขณะที่ม้ากำลังแข่งจริงในสนามแข่ง
กว่าจะได้ภาพนี้มา ผมต้องไปคุยกับจ๊อกกี้ คุยกับเจ้าของม้า คุยกับคณะกรรมการ มุมมองในภาพนี้ ผมแค่อยากให้คนดูภาพรู้สึกว่า คุณกำลังขี่ม้าแข่งอยู่ ผมได้ภาพมา เพราะคนที่ไว้ใจให้ผมเข้าไปถ่ายในมุมต่างๆในหลายๆสถานที่”
ถ้าคุณเข้าใกล้ไม่พอ ภาพถ่ายคุณดีไม่พอ
“ผมไม่ใช่ศิลปิน ผมจึงบอกไม่ได้ว่า ภาพถ่ายของผมในมุมมองศิลปะมันคืออย่างไร”
กิตติพงษ์บอกอย่างหนักแน่น เพื่อจะยืนยันสถานะตัวเองในตอนนี้ว่า เขาเป็นเพียงช่างภาพคนหนึ่ง ที่ต้องการจะเล่าเรื่องที่อยากจะเล่าให้คนอื่นได้รับรู้ผ่านภาพถ่ายของตนเอง
“ ผมไม่ได้มีเป้าหมายว่าอยากให้คนมามอง แล้วบอกว่า เฮ้ย...ภาพคุณสวยนะ ผมอยากให้คนมามอง แล้วรู้สึกว่า อ๋อ... คุณต้องการเล่าเรื่องแบบนี้ใช่ไหม อยากให้เห็นชีวิตของม้าแข่งใช่ไหม ถ้าคุณพูดแบบนี้ สำหรับผมคือโอเคแล้ว ผมทำงานชุดนี้ออกมาได้ดี ถูกต้อง อย่างที่ผมอยากให้มันเป็นแล้ว
แต่ถ้าคนมองว่าภาพคุณสวยนะ ผมจะเฉยๆ เพราะนั่นไม่ใช่ประเด็นหลักที่ผมอยากให้มันเป็น
แต่ถ้าจะถามว่าอะไรคือสไตล์ในการถ่ายภาพของผม ผมต้องขอใช้คำของ โรเบิร์ต คาปา (นักถ่ายภาพชาวฮังการี ที่กล่าวได้ว่าเป็นช่างภาพสงครามคนแรก ที่ทำงานในแนวหน้าของสนามรบ) ซึ่งเป็นฮีโร่ในด้านการถ่ายภาพของผม เขาบอกว่า ถ้าคุณเข้าใกล้ไม่พอ ภาพถ่ายคุณดีไม่พอ
คือการที่คุณถ่ายงานอะไรสักอย่าง คุณต้องเข้าไปลึกพอที่จะดึงความเป็นตัวตนของสิ่งๆนั้นออกมาให้ได้ อย่างเช่น ถ้าคุณจะเล่าเรื่องอะไรสักอย่าง คุณแค่ใช้เวลาวันเดียวถ่าย แล้วคุณบอกว่าจบ มันไม่ใช่ คุณอาจจะต้องทำการบ้านมากกว่านั้น ใช้เวลามากกว่านั้น
อย่างของผม ผมเข้าไปคอกม้าที่โคราช ผมใช้เวลาเกือบอาทิตย์ เป็นช่วงที่นานที่สุด เพราะโคราชเป็นเมืองม้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผมก็ไปนอนในคอกม้ามั่ง ไปขออาศัยนอนกับเค้าก็มี เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ
ที่โรงพยาบาล หมอนัดผ่าตัดม้า 10 โมงเช้า ผมไปถึงตั้งแต่ประมาณ 6 โมงเช้า ใช้เวลาผ่าตัดประมาณครึ่งชั่วโมง กว่าผมจะกลับก็ราวๆ 4- 5 ทุ่ม”
ยิ่งกว่าดินแดนปริศนา
จากตอนแรกที่เคยมองว่า “สนามม้า” ช่างเป็นดินแดนปริศนาของตนเอง เมื่อได้เข้าไปทำความรู้จักและบันทึกภาพกลับออกมา ใช่ว่า ณ ปัจจุบันกิจติพงษ์จะรู้สึกกระจ่างชัดและเบื่อที่จะทำความรู้จักมันอีก
“ปริศนาหนักกว่าเดิมอีกครับ แรกๆ ผมตั้งธงไว้ว่า ผมจะทำเรื่องม้าแข่ง พอได้เข้าไป เริ่มมีอย่างอื่นให้สนใจอีกมากมาย เห็นคนเกี่ยวหญ้าม้า ซึ่งเค้าจะต้องมีความรู้ เช่น รู้ว่าหญ้าชนิดไหนกินแล้วม้าเป็นยังไง ม้าท้องอืด ต้องกินหญ้าแบบนี้ดี ม้าท้องเสียกินหญ้าแบบนี้ดี
ไหนจะมีคนทำเกือกม้าด้วย ทีแรกเราคิดว่ามันต้องเป็นเกือกม้าเหล็ก แต่ความจริงมันไม่ใช่ ม้าแข่ง เหมือนรถแข่ง ทุกอย่างต้องเบา มันเป็นอลูมิเนียม
ไหนจะมีอุปกรณ์อื่นๆเกี่ยวกับม้า ซึ่งในบ้านเรามีอยู่ 2 บริษัทที่ผลิต หนึ่งแห่งอยู่ที่นางเลิ้ง อีกหนึ่งแห่งอยู่ที่โคราช มีสองที่เท่านั้นสำหรับแหล่งผลิตอุปกรณ์สำหรับม้าทุกตัวในประเทศไทย ก็เลยกลายเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกว่า มีหลายเรื่องที่ยังน่าสนใจ
เช่น เวลาม้าเจ็บ ต้องมีหมอรักษาม้า แล้วหมอมาจากไหนล่ะ ความสนใจมันก็เลยไหลไปเรื่อย
10 ภาพ ของ Born to race ที่ผมนำเสนอ มันยังเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับเรื่องที่ผมอยากทำต่อไป ผมยังอยากจะทำอีกหลายเรื่อง ทั้งชีวิตคนที่เกี่ยวกับม้า ชีวิตม้าที่นำเข้า ม้าในไทย ฯลฯ
มันเหมือนผมตกลงไปในหลุมๆนึง แล้วมันเป็นหลุมที่ลึก เป็นอุโมงค์เข้าไปเรื่อยๆ และไอ้อุโมงค์นี้ทุกก้าวที่ผมก้าวผ่านเข้าไป อีกก้าวหนึ่งถัดไป มันยังมีเรื่องน่าสนใจที่อยากจะเล่าต่อไปอีก”
ไปชมผลงานภาพถ่ายของผู้เข้ารอบNational Geographic Thailand Photography Contest 2014 ทั้ง 10 ผลงาน ภายใน National Geographic EXHIBITION บริเวณหน้าอาคารชาเลนเจอร์ 3 ประตู 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในงานบ้านและสวนแฟร์ 2014 ระหว่างวันที่ 1 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews