วันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปีถือเป็นวันฉัตรมงคล ซึ่งเป็นวันมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติโดยสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี
ขณะเดียวกันเหล่าสตรีแถวหน้าผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติต่างรอคอยในวันนี้อย่างใจจดใจจ่อเช่นกัน เนื่องเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน "เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า” แก่ผู้ทำคุณงามความดีทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ซึ่งใคร ๆ ก็จับตาดูกันว่าในวันนี้จะมีใครบ้างที่ได้เป็น “ ท่านผู้หญิง”และ”คุณหญิง” ใหม่
โดยเฉพาะ “ฝ่ายใน” หมายถึงสตรีผู้ทำคุณประโยชน์และสร้างคุณงามความดีให้กับประเทศชาติได้เลื่อนชั้นจากทุติยจุลจอมเกล้าเป็น “ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ” ใช้คำนำหน้าว่า “ ท่านผู้หญิง” ส่วนผู้ได้รับพระราชทานชั้น “จตุตถจุลจอมเกล้า” เป็น “คุณ” หรือ “คุณหญิง” ซึ่งนับเป็นเกียรติยศสูงสุดของสตรีผู้ได้รับการแต่งตั้ง
เนื่องในวันฉัตรมงคลเวียนมาบรรจบอีกครา หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน ขออาสาพาผู้อ่านทุกคนไปทำความรู้จักเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า อันเป็นเครื่องราชย์เดียวที่พระราชทานในวันฉัตรมงคล มาให้ผู้อ่านทุกท่านได้รู้ซึ้งถึงเครื่องราชย์แห่งเกียรติยศนี้ ที่มิได้เพียงเป็นเครื่องประดับเกียรติยศของสตรีผู้ที่ได้รับพระราชทานเท่านั้น หากแต่สมาชิก “เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า” ต้องพึงตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณขององค์ผู้ทรงกำเนิดเครื่องราชย์และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานเครื่องราชย์อันเป็นสำคัญนี้
** “จุลจอมเกล้า” เครื่องราชแห่งเกียรติยศ**
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า The Most IIIustrious Order of Chula Chom Klao ซึ่งจัดสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2416 เดิมทีมีพระราชดำริพระราชทานเฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่ด้วยทรงคำนึงการที่พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงอยู่ในราชสมบัติยั่งยืนตลอดมาก็ด้วยความจงรักภักดีและการปฏิบัติราชการเรียบร้อยของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวง ทั้งมีพระราชประสงค์จะทรงชุบเลี้ยงบรรดาทายาทของบุคคลเหล่านี้ ให้มีความเจริญรุ่งเรืองในราชการสืบเนื่องไป จึงทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทายาทของผู้ได้รับพระราชทานตราสืบตระกูลของบิดาได้ โดยพระราชทานนามพระองค์ "จุลจอมเกล้า" เป็นนามของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พร้อมทรงคิดคำขวัญจารึกบนดวงตราว่า "เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ”
ต่อมาจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขยายขอบเขตการพระราชทานไปยังผู้ที่ทำคุณประโยชน์อื่นๆ ทั้งในราชการแผ่นดินและในราชการส่วนพระองค์ด้วย เช่นพ่อค้าวาณิชและคู่สมรสของผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง เป็นต้น
โดยกฎหมายได้บัญญัติจำแนกเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทฝ่ายหน้าสำหรับบุรุษ และประเภทฝ่ายในสำหรับสตรี หากชั้นตราใดมีผู้ได้รับพระราชทานเต็มตามจำนวนแล้ว ก็จะไม่พระราชทานชั้นตรานั้นแก่ผู้อื่นอีก ชั้นตราจะว่างก็ต่อเมื่อผู้ได้รับพระราชทานอยู่เดิมสิ้นชีวิตหรือได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นตราสูงขึ้น โดยญาติผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นตราสูงขึ้น ต้องมีหน้าที่ส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นจุลจอมเกล้าที่ได้รับพระราชทานหรือชั้นรองตามกฎหมายแก่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี l
เครื่องราชฯที่พระราชทานแก่ฝ่ายหน้าและฝ่ายในมีดังต่อไปนี้
**เครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯพระราชทานฝ่ายหน้า (บุรุษ)
ชั้นที่ 1 แบ่งเป็นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว) ,ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.)
ชั้นที่ 2 แบ่งเป็นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว), ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.)
ชั้นที่ 3 แบ่งเป็นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.) ,ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.),ตติยานุจุลจอมเกล้า(ต.อ.จ.)
**สำหรับพระราชทานฝ่ายใน (สตรี)
ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ). พระราชทาน 20 สำรับ
ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) พระราชทาน 100 ดวง, ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.)พระราชทาน100 ดวง
ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.)พระราชทาน 250 ดวง
ชั้นที่ 4 จตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.)พระราชทาน 150 ดวง
**เผยรายชื่อ “ท่านผู้หญิง”และ “คุณหญิง” ล่าสุด**
ในรัชกาลปัจจุบัน จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ทุกวันที่ 5 พ.ค.ของทุกปี ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทหรือสถานที่ซึ่งสุด แต่การทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า นั้นอาจมิได้ต้องพระราชทานเป็นประจำทุกปี เพราะเครื่องราชย์สำรับนี้ขึ้นอยู่ตามพระราชอัธยาศัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะโปรดเกล้าฯหรือไม่โปรดเกล้าฯ ก็ได้
โดยในรัชกาลปัจจุบันนี้ได้มีการพระราชทานเครื่องราชครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2491 และได้พระราชทานครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2550 โดย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ซึ่งจะมีคำนำหน้าชื่อว่า “ท่านผู้หญิง” ได้รับพระราชทานรวม 7 คน อาทิ คุณหญิงศรีนาถ สุริยะ, ม.ร.ว.ประสารสุวรรณ สุวรรณรัฐ, คุณหญิงวนิดา พูนศิริวงศ์, คุณหญิงภรณี ล่ำซำ, พ.อ.หญิง คุณนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, พ.อ.หญิงคุณหญิงจิตรวดี จุลานนท์ และคุณหญิงทัศนียา สุวรรณรัฐ
ส่วนผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชย์ ชั้นจตุตถจุลจอมเกล้า ซึ่งจะมีคำนำหน้าชื่อเป็น “คุณหญิง” ของปี 2550 มีทั้งหมด 18 คน ได้แก่ นางสาวนพคุณ อยู่จำนง, นางสุพัตรา จารุจรณ, ม.ล.ยุวันวรี กิติยากร, ม.ร.ว.ทิพพาวดี ดุละลัมพะ, ม.ร.ว.เดือนเด่น กิติยากร, พ.ญ.วรรณา สมบูรณ์วิบูลย์, นางปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล, หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา, นางอรศรี วังวิวัฒน์, นางสาวจงรักษ์ สังข์ประสิทธิ์, นางบังอร เขมะจารุ, พล.ต.หญิงทรรศนีย์ ปัจจุสานนท์, ม.ร.ว.เอมจิตต์ จิตรพงศ์, ม.ล.หิรัญญิกา วรรณเมธี, นางสุกัญญา บูรณะ, พ.อ.หญิงวารุณี อมาตยกุล, นางศศิวงศ์ ปึงตระกูล และนางสาวจินตนา ธูปทอง
โดยม.ล.ยุวันวรี กิติยากร นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เป็นคุณหญิงใหม่ที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย
**ธรรมเนียมการพระราชทานเครื่องราช “จุลจอมเกล้า”**
สิ่งที่เป็นธรรมเนียมที่บรรดาสมาชิก “เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า” ต้องถือปฏิบัติทุกปีในวันที่ 5 พ.ค. คือการแต่งกายเต็มยศในชุดไทยบรมพิมานพร้อมสายสะพานประดับด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า นำดอกไม้ธูปเทียนแพไปถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อตั้งจิตอฐิษฐาน แสดงความจงรักภักดีและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพร้อมตั้งจิตแน่วแน่ที่จะบำรุงวงศ์ตระกูลของตัวเองให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป
ถึงแม้ในปีนี้จะไม่มีการพระราชทานเครื่องราชอันทรงเกียรติก็ตาม หากแต่สิ่งที่สมาชิกตระกูลจุลจอมเกล้าทุกคนพึงระลึกถึงเสมอคือมิใช่การมีสิทธิและอำนาจเหนือบุคคลอื่นหากแต่ต้องการที่จะบำรุงวงศ์ตระกูลของตนให้เจริญรุ่งเรืองและมีความภักดีสืบไป...
//ล้อมกรอบ**ข้อควรรู้เกี่ยวกับ “ท่านผู้หญิง”และ “คุณหญิง”
การใช้คำนำหน้าสตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชย์ ตระกูลจุลจอมเกล้านั้น ก็ใช้คำนำหน้านามต่างกันไป อาทิ สตรีที่สมรสแล้วและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ปฐมจุลจอมเกล้าและทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษให้ใช้คำว่า "ท่านผู้หญิง" ยกเว้น สตรีในราชสกุลตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปให้ใช้คำนำพระนามตามเดิม
ส่วนสตรีที่สมรสแล้วและรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ทุติยจุลจอมเกล้า ตติยจุลจอมเกล้า และจตุตถจุลจอมเกล้าใช้คำนำหน้าว่า "คุณหญิง" ยกเว้นสตรีในราชสกุลชั้นหม่อมหลวงถึงหม่อมราชวงศ์ยังคงใช้คำนำหน้าเดิม เช่นคุณหญิงต้น - ม.ล.ปิาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ,ม.ล.ยุวันวรี กิติยากร
หรือในกรณีที่เป็นชายาของหม่อมเจ้าถึงแม้ว่าจะได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นใดก็ตามก็ยังต้องใช้คำนำหน้านามว่า “หม่อม” เหมือนเดิมเช่น หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา ที่ถึงแม้จะได้รับเครื่องราชย์ จตตุถจุลจอมเกล้า ก็ยังคงต้องใช้คำนำหน้าว่า “หม่อม
ส่วนสตรีที่ยังไม่ได้สมรสและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน) ตั้งแต่ชั้นจตุตถจุลจอมเกล้าขึ้นไป ให้ใช้คำนำนามว่า "คุณ"เช่น คุณชวลี อมาตยกุล ,คุณนพคุณ อยู่จำนง
นอกจากนี้การใช้คำศัพท์สำหรับสตรีผู้ได้รับเครื่องราชฯเมื่อเสียชีวิตลงก็ใช้คำศัพท์นต่างกันด้วย เมื่อผู้ได้รับเครื่องราชตั้งแต่ชั้น จตุตถจุลจอมเกล้า ถึง ทุติยะจุลจอมเกล้า เสียชีวิตลงจะใช้คำว่า ถึงแก่นิจกรรม เช่น คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ได้ถึงแก่นิจกรรม และผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชตั้งแต่ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าและทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เสียชีวิตจะใช้คำว่า ถึงแก่อนิจกรรม
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net