xs
xsm
sm
md
lg

“นิราศอินเดีย” กรกฤช เจียรพินิจนันท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ART EYE VIEW---เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2553 ช่างภาพหนุ่ม กรกฤช เจียรพินิจนันท์ เดินทางสู่ Bangalore เมืองทางตอนใต้ของอินเดีย ในฐานะศิลปินในที่พำนัก(Artist in Residence) ของโครงการ Interface เพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ด้านความแตกต่างและความหลากหลายทางศาสนา

แต่ก่อนที่โปรแกรมจะสิ้นสุด เขาตัดสินใจอำลาวงสัมมนา แล้วเดินทางสู่ตอนเหนือของประเทศ ผ่าน Kashmir สู่ Ladakh แล้วมาปิดทริป ณ กรุง New Delhi เมืองหลวงของอินเดีย ซึ่งอยู่ตอนกลางของประเทศ

“โครงการค่อนข้างเปิดกว้างมาก ใครอยากจะอยู่สัมมนาต่อก็อยู่ แต่ผมอยากออกเดินทางมากกว่า ซึ่งทางโครงการแนะนำว่า ถ้าจะไปอินเดียเหนือ ให้แวะไป Ladakh ซึ่งเป็นเมืองที่มีความแตกต่างทางศาสนาอยู่มากเหมือนกัน

เป็นการเดินทางที่ค่อนข้างส่วนตัว เพราะว่าผมไปคนเดียวและด้วยทุนส่วนตัว พอออกจากBangalore ผมไปหยุดที่ Kashmir ก่อน แล้วจึงนั่งรถข้ามภูเขาหิมาลัยเข้าไปที่ Ladakh อยู่ที่นั่นประมาณ10 วัน แล้วจึงเดินทางมาที่ New Delhi”

ขณะที่ส่วนตัวเขาเองมีความสนใจเรื่อง ภูมิทัศน์( Landscape) ของเมืองทางตอนเหนือของอินเดียอยู่เป็นทุนเดิม

“เป็นพื้นที่ๆมันเร้าใจ จะมีความเป็นผจญภัยนิดนึง ซึ่งเป็นทิวทัศน์ในอีกแง่มุมของอินเดียที่เราอยากเห็น แล้วก็เคยได้ยินว่าบนหิมาลัย ในแต่ละจุดของเส้นทาง จะมีมุมของแสงที่แตกต่างกันให้เราเห็น เช่น สมมุติเราเดินทางจากภูเขาลูกนึงไปสู่อีกลูกนึง มุมแสงมันจะเปลี่ยน ทำให้เกิด Reflection (การสะท้อนกลับของแสง) ขณะมองเห็น และทำให้เห็นว่าภูเขามีสีสันแตกต่างกัน หลายเฉด ซึ่งส่วนนี้คือแรงจูงใจหนึ่ง

อยากไปอยู่ใน Landscape ที่มีจุดนำสายตาอีกแบบนึง และมีลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ๆเป็นหินเป็นดิน

แล้วในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผมไป เป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิของ Bangalore แต่ว่าทางตอนเหนือ คือ Kashmir และ Ladakh อากาศจะเย็นมาก แต่ที่ New Delhi จะร้อนจัด ดังนั้นความแตกต่างของอากาศก็คือแรงจูงใจที่ทำให้อยากไปด้วย เพราะอยากไปสัมผัสความแตกต่างของอากาศ”


ผ่านไปหลายปี มาถึงปีนี้ ภาพถ่ายส่วนหนึ่งจากการเดินทางครั้งนั้น ถูกนำเสนอหรือพิมพ์ออกมาผ่านระบบการพิมพ์ที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้ชมเกิดการรับรู้ที่แตกต่างกันไป โดยถูกนำมาจัดแสดงให้ชมในนิทรรศการชื่อ Ballad of A Thin Man

อาทิ พิมพ์ออกมาเป็นภาพด้วยระบบDigital Print บนกระดาษแบบพิเศษ ซึ่งในเวลามองภาพจะรู้สึกว่าภาพมีประกาย

รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของงานภาพถ่าย อย่าง Lambda Print และการพิมพ์ระบบ Offset ซึ่งใช้มากกับงานสิ่งพิมพ์จำพวกหนังสือและนิตยสาร

ดังนั้นนอกจากภาพที่พิมพ์ออกมาด้วยระบบที่แตกต่างกันไป ซึ่งติดให้ชมบนผนังของห้องนิทรรศการ จึงมีหนังสือรวมภาพถ่ายชื่อเดียวกับนิทรรศการถูกพิมพ์ออกมาในจำนวนจำกัดเพื่อจำหน่ายแก่ผู้ที่สนใจด้วย ซึ่งกรกฤชอยากให้มองว่าหนังสือภาพถ่ายชุดนี้เป็นเสมือนงานศิลปะ ชิ้นหนึ่ง เพราะไม่ได้พิมพ์ออกมาเป็นจำนวนมากและถ้าใครจับจองก็จะได้รับไปพร้อมถาดไม้ ซึ่งหนึ่งถาดบรรจุไว้ด้วย ภาพถ่ายจากการเดินทางไปอินเดียทริปนี้ของเขาที่พิมพ์ด้วยระบบการพิมพ์แบบต่างๆ, หนังสือรวมภาพถ่าย และเรื่องสั้นชื่อ “ชายผู้ริษยาและรู้สึกผิด” ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในซองฟอยล์ อันเป็นอีกวิธีการที่เขาเลือกใช้เพื่อเป็นการสื่อสารบางเรื่องราวกับผู้ชมงานศิลปะ

“เป็นงาน Limited Edition และ ถือเป็นArt Forms หรืองานศิลปะชิ้นนึงมากกว่าที่จะมองว่าเป็นแค่หนังสือที่พิมพ์ขึ้นจำนวนเยอะๆเป็นพันเล่มหรือสองพันเล่ม”


หากใครที่เคยมีภาพจำเกี่ยวกับอินเดีย ด้วยภาพของผู้คนหน้าคมผิวเข้ม ในบรรยากาศที่มากด้วยสีสันทั้งจากเสื้อผ้าและวัฒนธรรมต่างๆ เมื่อมองผ่านภาพถ่ายของกรกฤชจะรู้สึกต่างไปจากนั้น

“เพราะเวลาเรานึกถึงอินเดีย เรามักจะนึกถึงภาพที่ถูกถ่ายมาจากเมืองทางภาคกลางของประเทศ ซึ่งลักษณะของสถาปัตยกรรม และเมือง จะมีสีสันสดใส อีกทั้งเราแต่ละคนมักมีภาพของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอ้างอิงอยู่ในความคิด และติดอยู่ในหัวเราว่ามันน่าจะเป็นแบบนี้อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอินเดียมีหลายแง่มุม อย่างทางเหนือของอินเดีย ก็จะมีสีสันอีกแบบนึง ส่วนทางใต้ก็จะเป็นอีกแบบนึง ไม่เหมือนกัน

อินเดียมันเจ๋งตรงนี้ นั่นคือมีพื้นทางวัฒนธรรมที่ค่อนข้างหลากหลาย บางพื้นที่จะมีหลายวัฒนธรรมผสมกันอยู่ ยิ่งเมืองในภาคกลางของประเทศ เช่น เมืองหลวงอย่างNew Delhi จะมีบรรยกาศของความโกลาหล รวมทั้งในแง่ของสีสันในการแต่งตัวและอีกหลายสิ่ง แม้แต่ผมเอง New Delhiที่ได้สัมผัส ผมก็ยังมองอีกแบบนึงเลย

ภาพถ่ายชุดนี้เของผม มันแทบไม่ได้ถูกปรุงแต่งอะไรมากมาย มันคือแสง ของสถานที่ ณ ตอนที่ถ่าย ปรับน้อยมาก พยายามให้มันใกล้เคียงกับสิ่งที่ตาเราเห็นผ่านกล้อง”

และภาพถ่ายแทบจะทั้งหมดในหนังสือรวมภาพถ่าย ถูกถ่ายด้วยกล้องฟิล์ม ด้วยกล้อง Nikon FM2

“พอเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน มันมาถึงจุดที่เป็นดิจิตอลแล้วเนี่ย มันมีบางอย่างที่เปรียบเทียบได้ว่าอ๋ออันนี้เป็นภาพที่ถ่ายด้วยดิจิตอลแล้วมันจะหมือนจริงมาก

แต่สำหรับภาพที่ถ่ายด้วยฟิล์ม ในยุคนึง มันถูกนำมาจัดการในแง่ของความสวยความงาม ในแง่ของสุนทรียศาสตร์ค่อนข้างเยอะ มีการเล่นเรื่องโทนแสง เรื่องอะไรต่างๆ ใช่ไม๊ฮะ

แต่งานชุดนี้ของผมซึ่งถ่ายด้วยฟิล์ม ผมพยายามให้ฟิล์มมันกลับมาพูดในประเด็นของตัวมันเอง คือความเป็นฟิล์มที่มันมีลักษณะเฉพาะพิเศษของมันในการรับภาพ โทนสี ความชัด ความลึกซึ้งในแง่มุมของ Deft ในภาพ มากกว่าที่จะเป็นสีสัน หรือเป็นภาพถ่ายที่โชว์ความเป็นเทคนิค แต่ก็มีบางภาพในหนังสือ ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายด้วยดิจิตอลมาแทรกนิดหน่อย ประมาณ 10 หน้า

ผมคิดว่าประเด็นของฟิล์มมันมี Layerค่อนข้างเยอะ ในแง่ของการสะท้อนแนวความคิดของผมด้วย ภาพถ่ายมันเป็นตัวแทนของอดีต ซึ่งคำว่าอดีตมันอาจจะหมายถึงประวัติศาสตร์ หรือเรื่องราวเก่าๆ บางเรื่องที่มันจารึกไว้ บันทึกไว้ แล้วฟิล์มมันตอบสนองประเด็นนี้ ขณะที่ดิจิตอลมันจะสัมพันธ์กับความเป็นปัจจุบัน”

Ballad of a Thin Man นำมาจากชื่อเพลงบางเพลงของ Bob Dylan นั่นเอง และเป็นแรงบันดาลใจ เป็นไอเดียในการนำเสนอนิทรรศการและการทำหนังสือรวมภาพถ่ายครั้งนี้ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นนิราศร่วมสมัยของช่างภาพคนหนึ่ง

“ผมชอบฟังเพลงโฟล์ค และเพลงคันทรี่ แล้วเพลงของ Bob Dylan มีส่วนผสมระหว่างโฟล์คกับคันทรี่ และดนตรีร็อค แล้วก็มีลักษณะของการเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการวางโครงสร้างของนิทรรศการครั้งนี้ของผม ซึ่งมีลักษณะเป็นงานศิลปะจัดวาง (Installation Art) ภาพถ่ายถูกนำมาเป็นชิ้นส่วนในการปะติดปะต่อเรื่องราว

ส่วนภาพถ่ายและเนื้อหาในหนังสือ มีการเรียบเรียงและเล่าเรื่องคล้ายๆกับนิราศของไทย ซึ่งเป็นบทประพันธ์เชิงกวีที่บอกเล่าถึงการเดินทาง และรูปแบบของหนังสือรวมภาพถ่ายก็เป็นแบบนั้น เพราะภาพถ่ายมันมีลักษณะของความเป็นกวีในตัวมันเองอยู่แล้ว

การเล่าเรื่องผ่านหนังสือรวมภาพถ่ายของผม มันสอดคล้องกับท่วงทำนองอะไรบางอย่างระหว่างการเดินทาง และผมได้มีการแทรกเนื้อหาและ เล่นกับประเด็นอะไรบางอย่าง ”

นิทรรศการศิลปะ Ballad of a Thin Man โดย กรกฤช เจียรพินิจนันท์ วันนี้ - 31 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ณ 338 OIDA Gallery เลขที่ 1028/5 ชั้น 4 อาคารพงษ์อมร ถ.พระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพ ฯ โทร. 090-198-8749

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : กรกฤช เจียรพินิจนันท์ และ Aoy P.




ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น