ART EYE VIEW---ภาพถ่ายวิวในช่วงเวลาที่พระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า เหล่านี้ ความงามอาจเทียบไม่ได้กับภาพถ่ายในช่วงเวลาที่ผู้ชายคนนี้ยังคงมีร่างกายปกติ
แต่เป็นภาพที่ถูกถ่ายขึ้นในช่วงเวลาที่ชีวิตของเขาสามารถเรียกคืนกำลังใจกลับมาได้แล้ว และอยากจะส่งต่อให้กับทุกคนที่อาจกำลังต้องการกำลังใจ หรือพาลพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต เช่นเดียวกับเขา
โลภทำงาน จนเส้นเลือดในสมองแตก
หยุง - วีระ พุฒิกุลางกูร ในอดีตเขาคือเจ้า บริษัท คามาราร์ต สตูดิโอ จำกัด บริษัทด้าน production house ที่ทำงานให้กับเอเจนซี่โฆษณา
และช่วงเวลาที่ไปศึกษาด้านการถ่ายภาพที่ประเทศญี่ปุ่น เคยมีโอกาสฝึกงานกับบริษัทด้านงานรีทัชที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่ง
นอกจากนี้ ผลงานภาพถ่ายของเขา ซึ่งเป็นภาพถ่ายของขยะ(ภายในออฟฟิศที่เขาไปทำความสะอาดให้ในระหว่างที่ต้องทำงานไปด้วยเรียนและเรียนไปด้วย) ถ่ายด้วยเทคนิคที่มีความซับซ้อนและสร้างสรรค์ เคยได้รับรางวัลจากการประกวดหลายรางวัล
แต่เมื่อกลับมาเมืองไทยและร่วมกับหุ้นส่วนเปิดบริษัทได้ไม่ถึง 10 ปี เขาต้องล้มป่วย เพราะเส้นในสมองแตก จนมีผลทำให้เดินไม่ได้จนถึงปัจจุบันนี้
“เพราะโลภ”
วีระบอกเล่าให้ฟังสั้นๆถึงสาเหตุของการล้มป่วย แล้วขยายความว่า
“งานเยอะ เงินทั้งนั้นเลย ทำงานตั้งแต่ 7 โมง - ตี 3 และ ตี 4 มีเวลานอนน้อยมาก
บริษัทผมมีทีมงานที่เก่งมาก เวลาพรีเซ้นต์งานเท่าไหร่ก็ผ่าน และรับทำทุกงาน ส่วนใหญ่เป็นงานที่ยากและโปรเจ็กต์ใหญ่ๆทั้งนั้นเลย
ปี 2542 เส้นเลือดในสมองแตก ผ่าสองครั้งก็เกือบจะไม่ฟื้น ทุกคนลงความเห็นว่าผมไม่รอดแล้ว แต่ในที่สุดผมก็ฟื้นขึ้นมา
ตอนนั้นผมยังพูดไม่ได้ จำได้ดีว่าหมอที่บำรุงราษฎร์บอกผมว่า วีระ พระเจ้าไม่ต้องการเธอ ภรรยาผม (แจ๋ม - อโณทัย พุฒิกุลางกูร) จึงถามหมอว่า ทำไมหรือคะ หมอบอกว่า เพราะเธอไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ร่างกายเธอยังดีอยู่”
หันพึ่งธรรมะ นั่งสมาธิ
แม้จะรอดจากความตาย แต่กระนั้นการล้มป่วยลงครั้งนั้น ได้ส่งผลให้เขาพูดและเดินไม่ได้ หลายครั้งที่ความเครียดมีมาก จนคิดจะปลิดชีพตัวเอง
“ผมเริ่มซึมเศร้า เครียดยิ่งกว่าตอนทำงานอีก และเกือบจะฆ่าตัวตาย
เพราะพูดไม่ได้ ต้องเริ่มต้นเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ ใหม่หมด สีอะไรจำไม่ได้เลย หมอเคยทดสอบผม ผมร้องไห้ต่อหน้าหมอเลย
ทุกเช้าที่โรงพยาบาล ภรรยาจะต้องพาผมไปดูต้นไม้ แล้วชี้บอกว่า หยุงนี่สีเขียวนะ นี่สีเหลืองนะ นี่สีแดงนะ และต้องเอาโปสเตอร์ สอน ก.ไก่ ข.ไข่และ ABC...ที่เขามีให้เด็กๆอ่าน มาคอยสอน ต้องขนาดนั้นเลย
และพอถึงปีที่ 6 ของการป่วย กระเพาะผมทะลุ 3รู มีเลือดออกมากถึง 4 ถุง จนน็อคไป เกือบตายไปแล้ว แต่ก็ฟื้นขึ้นมาอีก”
นับแต่นั้นมา ในส่วนของการงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ วีระจึงให้ภรรยาเปลี่ยนแนวทางการรับงานของบริษัท ไปรับงานที่ง่ายลงจากเดิม นั่นคือ งานออกแบบแพคเกจจิ้งให้กับสินค้าโอทอป
“เพราะว่าผมกับภรรยาไปเห็นไอเดียมาจากญี่ปุ่นมา ซึ่งก่อนที่จะเรียนจบ ผมแต่งงาน พาภรรยาไปอยู่ด้วย และเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ 2 ปีกว่า”
ขณะที่ตัวเขาก็พยายามหาหนทางที่จะทำให้ใจตัวเองสงบ ยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยการนั่งสมาธิ
“ปีที่ 8 ของการป่วย ผมเริ่มนั่งสมาธิ โดยมีแม่ชีสอนผม ลองนั่ง 3 ชั่วโมง ผมมีความสุขมากเลย”
คนพิการชอบเรียกร้องความสนใจ
แต่ผู้ที่มีอิทธิพลและทำให้ชีวิตของวีระ เปลี่ยนแปลงไปในทางยอมรับความจริงและค่อยๆมีกำลังมากขึ้น จนพลอยผ่อนภาระของภรรยาที่ต้องดูแลเขาไปด้วยคือ อ.กำพล ทองบุญนุ่ม ผู้เคยประสบอุบัติเหตุ จนทำให้ต้องนั่งรถเข็น ซึ่งในปัจจุบันเป็นวิทยากรที่มีชื่อเสียงอีกหนึ่งท่าน ในด้านการนำธรรมะมาถ่ายทอดเพื่อช่วยให้คนจำนวนมากพ้นทุกข์
จากแรกเริ่มคือ ฟังธรรมะที่ อ.กำพล สอนจากซีดีที่เพื่อนส่งมาให้ และได้รับแจกจากชมรมของ อ.กำพล ในวันที่ชมรมไปออกบูธในงานโอทอป จนกระทั่งในเวลาต่อมาได้เจอและพูดคุยกับ อ.กำพล โดยตรง
“ผมฟังซีดีของอาจารย์บ่อยมาก ภายในเวลา 1 ปี แต่ก็ไม่เคยเจอและไม่รู้ว่าอาจารย์อยู่ทีไหน
จนวันหนึ่ง ประมาณ ตี 3ผมเข้าไปห้องพระ เพื่อจัดหนังสือ แล้วมีโบว์ชัวหล่นลงพื้น ซึ่งเป็นของชมรมของอาจารย์ ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่า ผมฟังซีดีของอาจารย์มา 1 ปีแล้วนี่ พอเช้ามาผมเลยให้ภรรยาโทรไปชมรมและพาไปรับหนังสือและซีดีเท่านั้น โดยไม่คิดว่าจะได้เจออาจารย์
เมื่อเข็นรถเข้าไป เจ้าหน้าที่ชมรมชี้ให้ผมมองไปอีกทาง ซึ่งตอนแรกผมก็สงสัยอยู่ว่าทำไมที่นี่มี Slope สำหรับเข็นรถเข็น พอผมเข็นเข้าไปยังห้องที่เจ้าหน้าที่ชี้ แล้วเปิดประตู เหตุการณ์เหมือนในหนังมาก เห็นอาจารย์นั่งอยู่ที่เตียง ผมตกใจ อาจารย์บอกว่า คุณผู้พิการ มาคุยกันหน่อย ผมเลยได้คุยกับอาจารย์”
แม้จะเป็นการสนทนาเพียงช่วงสั้นๆ แต่ก็ทำให้วีระคิดเปลี่ยนแปลงตัวเอง
“ตอนนั้นผมยังพูดได้ไม่ดีเท่าไหร่ ถนัดฟังมากกว่า คุยกับอาจารย์ไปครึ่งชั่วโมง ประโยคนี้ประโยคเดียวของอาจารย์ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนเลย อาจารย์บอกว่า
วีระ คนพิการชอบเรียกร้องความสนใจ ถ้าเธออยากจะให้คนรอบๆข้างเธอมีความสุข เธอต้องช่วยตัวเอง ผมฟังแล้ว โอ้โห
เพราะว่า 8 ปีที่ผ่านมา ผมแทบไม่ช่วยตัวเองเลย และทั้งบ่น ทั้งด่า คนรอบข้าง ซึ่งภรรยาโดนมากสุด แต่เขาไม่เคยกดดันผมเลยนะ เขาเฉย และเฉยมาก ผมจึงรู้สึกว่าที่ผ่านมาผมเลวมากๆ
พอกลับไปบ้านผมสำรวจเลย จากที่ผมไม่เคยสำรวจเลยว่าห้องน้ำผมเป็นอย่างไร ผมพบว่า 8 ปีที่ผ่าน ผมไม่เคยบีบยาสีฟันใส่แปรงเลย ให้ภรรยาทำให้ทุกอย่าง และทุกวันภรรยาต้องสระผมให้และทำอะไรอีกหลายอย่างให้
ผมจึงขอเสื้อคอกลมจากภรรยามาเก็บไว้ พอตื่นมาหกโมงเช้าของอีกวัน ผมเข็นรถไปล็อคประตูห้องไว้เลย ไม่ให้ภรรยาเข้ามา
วันนั้นจึงเป็นวันแรกที่ผมเริ่มทำเองทุกอย่าง แปรงฟัน สระผม อาบน้ำทุกอย่าง ใส่เสื้อผ้า ใช้เวลาชั่วโมงกว่า เพราะมันยากมาก
พอแม่บ้านเอาอาหารเช้ามาให้ ผมก็กินเองและไม่บ่น เพราะทุกทีนั้น ถ้าไม่อร่อย ผมทิ้งทันทีเลย ทำถึงขนาดนั้น กดดันภรรยามาก พอภรรยาตื่นขึ้นมาตกใจ เมื่อพบว่าผมทำทุกอย่างเองหมดในเช้านั้น”
เกิดแรงบันดาลใจกลับมาถ่ายภาพได้อีกครั้ง
ต่อมาเมื่อพบว่าตัวเองอยู่ว่างๆไม่มีอะไรทำ วีระจึงขอภรรยาไปช่วยงาน อ.กำพล ที่ชมรม เริ่มจากการช่วยเป็นเจ้าประชาสัมพันธ์ และช่วยนำซีดีใส่ซอง
เวลาผ่านไป 1 ปี เขาจึงได้มีโอกาสกลับมาเริ่มต้นทำสิ่งที่ตัวเองเคยทิ้งร้างไปนานและไม่คิดแม้แต่จะกลับไปแตะต้องมันอีก
“พี่เอ๋ ประธานชมรม บอกว่า อาจารย์จะไปพูดที่สุราษฎร์ สนใจไปไหม 8 วัน โอ้โห ตั้งแต่ป่วยมา ผมไม่เคยออกจากบ้านนานและไกลขนาดนี้ และนี่ต้องไปกับคนที่ไม่ใช่ภรรยาด้วย ผมเลยถามภรรยาผมว่า แจ๋มผมไปได้ไหม ซึ่งเธอก็บอก เอาดิถ้าเธอกล้า ก็ไป ผมก็เลยกล้า และตัดสินใจไปกับอาจารย์
พออีกทริปตอนที่ไป วัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ กับอาจารย์ มีญาติธรรมสอนผม เขามีกล้องโซนี่ตัวเล็กๆ เขาจะมอบหนังสือให้พระ เขาเลยถามผมว่าถ่ายภาพได้ไหม ผมจึงได้ค้นพบว่าตัวเองยังถ่ายภาพได้อยู่นี่
ทั้งที่ช่วงที่เริ่มป่วยและก่อนที่จะมาเจออาจารย์ ถ้าภรรยาถามว่า หยุงถ่ายภาพไหม ผมจะแค้นมากเลย เหมือนจี้ใจดำ จะทำตาดุใส่เลย
กลับมาบ้านผมก็เลยบอกภรรยาว่า ผมขอกล้องตัวนึงได้ไหม เขาก็ไปซื้อกล้องโซนี่ที่ใช้ง่ายให้ เป็นกล้องคอมแพค พออาจารย์จะไปพูดให้นักโทษฟังที่สิงห์บุรี ผมก็เอากล้องไปด้วย แต่ยังไม่มั่นใจที่จะถ่ายเท่าไหร่
จนอาจารย์บอกว่า วีระ อาจารย์จะให้เธอพูดนะ ตอนนั้นผมยังพูดไม่ชัดและพูดช้า แต่ต้องพูดต่อหน้าคน 500 คน
อาจารย์พูดเสร็จ ผมพูดต่อ นักโทษพากันหัวเราะ แต่อาจารย์ดูมีความสุขและบอกว่า โอเคเลยวีระ ต่อไปอาจารย์จะให้เธอพูดอีก ผมจึงมีความกล้าขึ้นเรื่อยๆ”
รวมถึงความกล้าที่จะกลับมาฝึกฝนถ่ายภาพอีก และหวังจะให้ภาพที่ถ่ายนั้นถูกใช้ไปในทางที่เสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้อื่น
“กลับมาที่รถ ผมก็ถามพี่เอ๋ประธานชมรมว่า ผมอยากจะทำหนังสือเล่มหนึ่งได้ไหม
ผมจะถ่ายภาพอาจารย์ แล้วผมจะให้อาจารย์เขียนธรรมะประกอบ พี่เอ๋เลยบอกว่า โอเคเลย ดังนั้นต่อไปนี้อาจารย์ไปที่ไหนให้เธอไปกับอาจารย์ตลอด”
ฝันสร้างที่พักเพื่อคนพิการ และคนชรา
วีระมีภาพถ่ายจากการติดตามอาจารย์กำพลไปตามสถานที่ต่างๆจำนวนมาก และรอเวลาจะตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ
ขณะที่ระหว่างนี้เขามีความฝันอีกหนึ่งสิ่งผุดขึ้นใหม่ นั่นคือการสร้างที่พักที่ไม่เพียงจะเอื้อต่อการพักสำหรับคนที่มีร่างกายปกติ แต่ยังเอื้อต่อการพักสำหรับคนพิการและคนชราด้วย ในพื้นที่ๆเขาตั้งใจว่าจะให้เป็นบ้านหลังสุดท้ายของตนเองด้วย นั่นคือ อ.เชียงคาน จ.เลย
“ช่วงกรุงเทพโดนน้ำท่วม ผมไปอยู่ที่ชลบุรี ทราบข่าวว่าแม่ยายไม่สบาย รอน้ำลด เราก็เลยมาเยี่ยมแม่ยายที่ จ.เลย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของภรรยาผม
แต่เนื่องจากว่าญาติมากันเยอะ เพราะว่าแต่ละคนก็อยากจะมาเยี่ยมยาย ห้องพักที่บ้านซึ่งอยู่ในตัวจังหวัดจึงไม่พอ
พอผมรู้ว่าจากตัวจังหวัดเลยมาอำเภอเชียงคาน ระยะทางแค่ 38 กิโลเมตร เราก็เลยมาพักกันที่นี่ ที่พักสะอาดมากและยายที่เป็นเจ้าของใจดีมาก ดังนั้นทุกครั้งที่มาเยี่ยมแม่ยายที่เลย ผมจะมาพักที่นี่ เพราะตอนเช้าผมสามารถออกไปถ่ายภาพได้ด้วย แม่น้ำโขงสวย บรรยากาศดี ผู้คนใจดี”
ปาป้า มาม๊า หยุงเจอที่ตายของหยุงแล้ว
เมื่อทราบจากเพื่อนของภรรยาว่ามีบ้านหลังหนึ่งประกาศขายอยู่ เขาจึงไม่รีรอที่จะขอซื้อ
เพราะระยะเวลาสองปีกว่าที่เดินทางไปกับ อ.กำพล ทั่วประเทศ เวลามีคนเชิญไป เขาพบว่าที่พักสำหรับคนพิการและคนชราแทบไม่มีเลย และที่มีอยู่ก็ราคาสูงมาก
“ผมจึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจอยากทำที่พัก พอวาดภาพขึ้นในหัว กลับไปกรุงเทพฯ ผมไปบอกพ่อกับแม่เลยว่า ปาป้า มาม๊า หยุงเจอที่ตายของหยุงแล้ว แล้วชวนพ่อกับแม่มาดูที่ ทุกคนต่างบอกว่าชอบสิ่งแวดล้อมที่นี่
แม่เลยบอกว่าลุยเลย พอถามเจ้าของว่าจะขายเท่าไหร่ เขาบอกยังขายไม่ได้ เพราะว่าลูกเขยไม่ยอมขาย ผมเลยต้องคุยกับลูกเขยเขาอีกที บอกว่า ผมจะมาสร้างที่พักให้คนพิการ และคนสูงอายุพัก เมื่อคุยกันเสร็จเขาเลยโอเคขายให้
เลยให้วิศวกรดูปรากฏว่า เพราะเป็นบ้านเก่าเสาร้าวเกือบทุกเสา ต้องทำใหม่หมดเลย ค่าใช้จ่ายจึงต้องแพงกว่าเดิมเท่าตัว
ทำมาได้สามเดือน ผู้รับเหมาหนี ผมเลยต้องทำกับช่างพื้นบ้านซึ่งฝีมือดีมาก จนจะครบหนึ่งปีแล้ว จากเดิมที่ตั้งใจว่าจะเสร็จภายในระยะเวลาสี่เดือน”
ถ่ายภาพพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ที่เชียงคาน
ระหว่างที่ต้องมาคุมงานก่อสร้างที่เชียงคาน วีระยังใช้เวลาส่วนหนึ่งปลีกไปถ่ายภาพด้วย
“พอช่างกลับพระอาทิตย์จะตกผมก็ออกไปถ่ายภาพ ถ่ายมา 7 เดือนในช่วงที่อากาศของเชียงคานยังไม่หนาว เพราะว่าช่วงหนาวช่างต้องไปเกี่ยวข้าว สามารถมาทำงานให้ได้แค่ 2 คน ผมจะไม่ไปถ่ายภาพ และอีกอย่างพระอาทิตย์ในมุมที่ผมเคยถ่ายมันเคลื่อน ไม่สวย”
ดังนั้นทุก 6 โมงเย็นก่อนพระอาทิตย์จะตก วีระจะเข็นรถพาตัวเองไปหยุดอยู่ที่มุมๆหนึ่งหน้าวัด ซึ่งสามารถมองเห็นวิวของแม่น้ำโขง แล้วยกกล้องจากมือขึ้นถ่าย บางครั้งก็ได้ภาพวิถีชีวิตของคนในชุมชนกลับมาด้วย
บ้านพักกายพักใจ
และอีกไม่นานเมื่อที่พักซึ่งมีชื่อว่า “บ้านพักกายพักใจ” สร้างเสร็จ นอกจากงานเขียนของอาจารย์กำพลและหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และอีกหลายรูปที่เขาศรัทธาจะมีมาวางให้ผู้ที่มาพักเปิดอ่าน
ภาพถ่ายเหล่านี้ จะกลายเป็นสิ่งประดับผนัง ให้ผู้ที่มาพัก ไม่ว่าจะเป็น คนพิการ คนชรา หรือแม้แต่คนที่ยังปกติดีอยู่ ได้หันไปมองและรับเอาพลังในด้านบวก รวมถึงผลงานศิลปะภาพถ่ายอีกจำนวนมากที่วีระใช้กล้องฟิล์มถ่าย สมัยที่ร่างกายยังคงปกติ
“ผมจำได้ว่าช่วงที่ผมป่วย 3เดือนแรก ผมร้องไห้ทุกวันในตอนที่พระอาทิตย์ตก ฟ้ากลายเป็นสีทองเมื่อไหร่ ผมจะเศร้ามาก
ตอนนี้กลับกลายมามีพลัง มีความสุข นิ่งดูพระอาทิตย์แล้วกดถ่าย ผมมีความสุขมาก อิสระมาก”
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวีระได้เดินออกห่างจากความเศร้า มาไกลมากแล้วนั่นเอง ใจเขาจึงพร้อมที่จะเปิดรับความงามที่ธรรมชาติมอบให้อย่างซื่อตรง และส่งต่อไปให้ผู้อื่น
Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : วีระ พุฒิกุลางกูร
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews