xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตหลากรสชาติของ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์
 
ชื่อของ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เชี่ยวชาญด้านเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาอีกทั้งยังเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนปราสาทพระวิหารที่ดูแกร่งกร้าว

หากแต่เบื้องลึกลงไปใครจะรู้ว่าชีวิตในวัยเด็กของเธอนั้นสนุกสนานไม่ต่างจากนวนิยายเล่มใหญ่ที่วัยเด็กต้องใช้ชีวิตติดดิน ก่อนถูกส่งตัวกลับมาขัดเกลาให้เรียนรู้การใช้ชีวิตในแบบที่หม่อมหลวงควรจะเป็นเมื่อโตมาก็ได้ทำงานวิจัยที่ถนัดโดยขุดคุ้ยข้อมูลการโกงระดับชาติของระบอบทักษิณจนถูกโจมตีอย่างหนักแบบที่เธอเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

 
หม่อมหลวงวัลย์วิภา จรูญโรจน์ (บุรุษรัตนพันธุ์) เป็นบุตรีของ ม.ร.ว.นิตยศรี กับชูจิตต์ จรูญโรจน์ ณ อยุธยา เธอเกิดและโตที่ชะอำจังหวัดเพชรบุรี ท่ามกลางความรักความอบอุ่นของครอบครัวโดยพ่อ-แม่เลี้ยงดูแบบอิสระ สอนให้กล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องทำติดนิสัยทนไม่ได้หากเห็นว่าใครถูกรังแก ดังนั้นเวลาเด็กๆแถวบ้านใครมีปัญหาไม่ได้รับความยุติธรรม ก็จะต้องวิ่งมาบอกให้เธอเข้าไปแก้ไขปัญหาทุกครั้งไป

เมื่อ หม่อมย่า (ศรีสะอาด จรูญโรจน์) หม่อมใน ม.จ.จรัลยา จรูญโรจน์(ท่านปู่) มาเห็นความแก่นแก้วของหลานสาวตัว จึงนำตัวเข้ากรุงเทพฯเพื่อขัดเกลาและอบรมการใช้ชีวิตเพื่อเข้าสังคมในแบบ “หม่อมหลวง” แม้ขั้นตอนการฝึกฝนจะเป็นไปแบบเรียบง่าย
 
"ตอนที่ไปอยู่กรุงเทพฯใหม่ๆนอนร้องไห้คิดถึงบ้านทุกคืนนะคะ แต่พอไม่นานก็ปรับตัวได้ คุณย่าและคุณชวดจะฝึกเรื่องกิริยามารยาท ขณะที่เราเองก็ค่อนจะแก่นๆหลายครั้งก็เผลอตัวพูดเสียงดังเห็นเพื่อนอยู่ไกลกลัวตามไม่ทันก็ตะโกนเสียงดัง หม่อมทวด(หม่อมเศรษฐี ทองแถม) เห็นก็ดุว่า จะมาทำเหมือนตอนอยู่ชะอำไม่ได้ซึ่งตอนนั้นเราก็โตพอจะเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ต้องปฎิบัติ ก็ไม่อึดอัดรู้สึกว่าทำให้ได้เข้าใจถึงวิถีชีวิตทั้งสองด้าน"

 
สำหรับราชสกุลจรูญโรจน์ สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ มีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าจรูญโรจน์เรืองศรี" ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 53 ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในเจ้าจอมมารดาช้อย
หม่อมหลวงวัลย์วิภายังบอกอีกว่า นอกจากการอบรมให้เป็นกุลสตรีแล้วเธอยังโชคดีที่มีโอกาสได้อยู่ใกล้ชิดท่านปู่ "ท่านปู่เล่าถึงพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ฟังเสมอ เรื่องหนึ่งที่ทำให้รู้สึกผูกพันและมีความรู้สึกว่าได้นำมาใช้ในงานปัจจุบันคือการรุกรานของต่างชาติในสมัยนั้น รวมถึงเรื่องปราสาทพระวิหารด้วย ทำให้รู้ซึ้งว่าพระมหากษัตริย์รักชาติรักแผ่นดินอย่างไร"

 
เมื่อวันเวลาผ่านไป หม่อมหลวงวัลย์วิภา ได้ศึกษาจนสำเร็จปริญญาตรีภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเข้าทำงานสถาบันไทยคดีศึกษาในฐานะนักวิจัยฯ
 

"เรียกว่าเป็นนักวิจัยรุ่นแรก ที่ถูกฝึกมาทำงานที่นี่โดยเฉพาะงานวิจัยของเราจะคิดวิเคราะห์แบบนักวิจัย ซึ่งไม่ได้มองแค่ข้อมูลหลักฐานเอกสาร แต่ต้องเข้าถึง"คน"ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ช่วยให้เห็นบริบทของสังคมสะท้อนความจริงในช่วงเวลานั้นๆ อันนี้ต้องบอกว่าโชคดีที่ตอนเด็กผ่านทั้งชีวิตติดดินและติดวัง สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงาน ได้ช่วยให้คนที่ไม่มีโอกาสไม่มีปากเสียงได้มีโอกาสได้พูดได้เรียกร้องในสิ่งที่เขาต้องเผชิญอยู่"
สำหรับงานวิจัยชิ้นแรกที่ทำให้เธอเริ่มมีชื่อ คือ งานวิจัยแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่แหล่งผลิตไฟฟ้า จ.ประจวบคีรีขันธ์ "โครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด" และ "โครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก" ส่วนงานที่ทำให้ชื่อของ "หม่อมหลวงวัลย์วิภา" ดังกระฉูดคือการศึกษาเรื่องเขตแดนไทย-เขมร ซึ่งต่อเนื่องมาถึงการ"ทวงคืนปราสาทพระวิหาร" ภาคสอง
ภาพโดย จิรโชค พันทวี
 
นักวิจัยร่างเล็กคนเดิมยังบอกถึงเรื่องเขตแดนปราสาทพระวิหารว่านับเป็นงานชิ้นใหญ่ที่เธอภูมิใจ แม้จะไม่ได้เป็นผู้นำมวลชนในการต่อสู้กับระบอบทักษิณโดยตรง หากแต่การศึกษาและลงพื้นที่ก็เห็นความไม่ชอบมาพากลของหลักหมุดที่ถูกย้ายไปมา พอมาสืบค้นข้อมูลทำให้ได้รู้ว่าเบื้องหลังนั้นมีการเจรจากันของรัฐบาลทักษิณที่เกี่ยวโยงถึงผลประโยชน์เรื่องพลังงานน้ำมันและก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งก็ได้นำเสนอและชี้แนวทางให้ทั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐบาลอภิสิทธิ์หาทางออกแล้ว แต่ไม่เป็นผล เธอจึงลงต้องมือขับเคลื่อนเองในภาคประชาชน แต่กลับได้รับการต่อต้านจากกลุ่มผลประโยชน์

"ผลกระทบมีมากนะคะ มีโทรมาขู่ ตัดงบวิจัย ซึ่งดิฉันไม่สนใจอะไร แต่ที่รู้สึกรุนแรงมากและรับไม่ได้คือดิฉันจัดนิทรรศการเรื่อง "บันทึกภาคประชาชน เรื่องการพิทักษ์ดินแดนจากกรณีปราสาทพระวิหารโมเดล" เพื่อให้ความรู้ประชาชน ที่หอประชุมปรีดี พนมยงค์ เป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งได้เรื่องขออนุมัติทางมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว แต่จัดได้ 5 วันมีคำสั่งให้ยกเลิก ซึ่งเราก็งง เพราะชี้แจงจุดประสงค์ชัดเจนว่างานนี้ต้องการบอกความจริงและเหตุผลว่าในการคัดค้านกัมพูชาของขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลก และตอนนั้นประชาชนให้ความสนใจมาก เพราะทางกลุ่มพันธมิตรฯก็ต่อสู้เรื่องนี้เหมือนกัน พอเกิดเรื่องทางพันธมิตรมาช่วยต่อสู้ดิฉันก็ลงพื้นที่หาข้อมูลเชิงลึกต่อไปจนถึงวันนี้เรื่องหลักหมุดมันจบหมดแล้ว แต่ข้อมูลล่าสุดที่ได้มาคือรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีการเจรจาให้อเมริกาตั้งฐานทัพที่อู่ตะเภาจริง เรื่องนี้แม้เพิ่งจะเริ่มต้นแต่เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด"

 
เมื่อถามว่าเหนื่อยหรือไม่ที่ต้องเผชิญเรื่องระดับชาติเช่นนี้หม่อมหลวงวัลย์วิภาในวัย 61 ยอมรับว่าเหนื่อยมาก แต่ไม่ท้อยิ่งมาถึงเรื่องการตั้งฐานทัพที่อู่ตะเภาเป็นเรื่องที่เธอยอมไม่ได้ ตอนนี้เป็นช่วงสุญญากาศที่ยังไม่ชัดเจนก็มีเวลาในการเตรียมข้อมูล และในวันว่างก็ใช้ชีวิตกับครอบครัวอย่างเต็ม เมื่อการเมืองเข้าที่เข้าทางเธอก็พร้อมจะออกมาต่อสู้เรื่องนี้อย่างเต็มตัว

กำลังโหลดความคิดเห็น