>>เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่เพิ่งผ่านมา ถือเป็นวันสำคัญของลูกหลานทายาทตระกูล “โอสถานนท์” ด้วยเป็นวันที่นามสกุล “โอสถานนท์” ครบรอบ 1 ศตวรรษ และนับเป็นครั้งแรกที่บรรดาผู้สืบเชื้อสายของสกุลเกือบ 200 ชีวิตได้มารวมตัวพร้อมหน้าพร้อมตากัน ในงาน “ฉลองนามสกุลพระราชทาน “โอสถานนท์” ครบ 100 ปี” Celeb Online เลยไม่พลาดที่จะตามไปเก็บภาพและสัมภาษณ์ในวันสำคัญของตระกูลเก่าแก่ตระกูลนี้
ต้นตระกูลโอสถานนท์ เมื่อสืบตามบันทึกประวัติศาสตร์ สามารถนับย้อนกลับไปยังบรรพบุรุษซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวลาวพวน เป็นชนชาติที่อยู่ในประเทศลาว ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครเวียงจันทน์ แถบที่ราบสูงเชียงขวาง ซึ่งได้อพยพเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่ปลายสมัยกรุงธนบุรี เมื่อคราวที่พระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์และได้กวาดต้อนไพร่พลต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงชาวลาวพวน กลับมายังประเทศไทย และตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแถบหัวเมืองชั้นใน ย่านลพบุรี สระบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา
หนึ่งในนั้นชาวลาวพวนที่ได้เดินทางมาในครั้งนั้นก็มี นายยาและมารดา ซึ่งเป็นต้นตระกูลโอสถานนท์รวมอยู่ด้วย ดังที่ปรากฎในบันทึกรายงานผลวิจัยเรื่อง “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชาวลาวเวียงและลาวพวน” โดยศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี ดุ๊ก และรองศาสตราจารย์ นารี สาริ-กะภูติ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
“ในด้านบุคคลสำคัญของบ้านนาเหล่าน้ำ ที่ควรจะกล่าวถึงคือ พระสุพรรณสมบัติ (ยา) ต้นตระกูลโอสถานนท์ สมัยนั้นท่านมีไร่นายุ้งฉางอยู่ที่บ้านนาเหล่าน้ำมาก กอปรด้วยท่านเป็นช่างทองมาก่อน นายยาเป็นบุตรนายเบ้า อพยพมาเมื่อเมืองพวนแตก นายยาบวชเป็นสามเณรที่วัดบ้านมาด เเล้วเข้าไปอยู่ในพระนคร เข้ารับราชการกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นขุนวิจิตรสุวรรณ เเล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระสุพรรณสมบัติ ตำเเหน่งผู้บังคับการทอง ฝ่ายพระราชวังบวร พระสุพรรณสมบัติเป็นผู้สร้างวัดนาเหล่าน้ำขึ้น ปัจจุบันผู้ใช้นามสกุลโอสถานนท์ ยังมีอยู่ที่บ้านนาเหล่าน้ำเเละบ้านนาเหล่าบกเป็นจำนวนมาก”
พระสุพรรณสมบัติ (ยา) ถวายการรับใช้แผ่นดินสยาม ด้วยการได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นช่างทองหลวง สนองพระมหากรุณาธิคุณ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ซึ่งต่อมา ทรงครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2) โดยท่านนับเป็นบิดาของ พระยาประชากิจวรจักร (ชุบ) ซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดสายสกุล “โอสถานนท์” โดยได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์) ผู้ขอพระราชทานนามสกุล เป็นบุตรคนที่ 3 ของพระสุพรรณสมบัติเเละนางเฟือง โอสถานนท์ หลังจากศึกษาภาษาไทย ณ สำนักโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบพระบรมมหาราชวังเเล้ว ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยได้รับทุนการศึกษาจาก เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่เขยของท่าน และกลับมารับใช้แผ่นดินสยาม ในหน้าที่ต่างๆ เป็นระยะเวลาหลายสิบปี
ท่านได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเเละเป็นผู้เดียวในกรุงสยาม ที่มีราชทินนามเเตกต่างไปถึง 6 ครั้ง ตามตำแหน่งหน้าที่ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ดังนี้
พ.ศ. 2441 เป็นพระยาราชพินิจจัย ปลัดบัญชี กระทรวงมหาดไทย
พ.ศ. 2457 เป็นพระยาสุรพลพิพิธ ผู้ว่าราชการเมืองชุมพร
พ.ศ. 2460 เป็นพระยาทวีปธุระประสาสน์บรมนาถภักดี ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ต
พ.ศ. 2462 เป็นพระยาพัชรินทรฦาชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี
พ.ศ. 2465 เป็นพระยาเวียงในนฤบาลสมุหพระราชมณเฑียร ในพระราชสำนัก
พ.ศ. 2470 เป็นพระยาประชากิจกรจักร ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
และในปี พ.ศ. 2484 ดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรี เทศบาลนครกรุงเทพ
โดยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 เมื่อครั้งท่านดำรงตำแหน่งพระยาราชพินิจจัย ผู้ว่าราชการเมืองชุมพร มีหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนี้
“ขอเดชะฝ่าลองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าฯ ขอพระราชทานนามสกุล เพื่อเป็นสวัสดิมงคลเเก่สกุลของข้าพระพุทธเจ้าสืบไป สกุลของข้าพระพุทธเจ้าดังนี้
1 ปู่ของข้าพระพุทธเจ้า (เบ้า)
2 บิดา พระสุพรรณสมบัติ (ยา)
3 นามเดิมของข้าพระพุทธเจ้า (ชุบ)”
หลังจากพระยาประชากิจกรจักรได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนามสกุลแล้ว ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2456 ก็ได้รับพระราชทานนามสกุล “โอสถานนท์” โดยในประกาศที่พระราชทานนามสกุล มีรายละเอียดดังนี้
“ขอให้นามสกุลของพระยาราชพินิจจัย (ชุบ) ตามที่ขอมานั้นว่า โอสถานนท์ เขียนเป็นตัวอักษรโรมันว่า ‘Osathananda’ อันเป็นมงคลนาม ขอให้สกุลโอสถานนท์ มีความเจริญรุ่งเรือง มั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน”
ก่อให้เกิดสายสกุลโอสถานนท์ ซึ่งบรรดาเครือญาติของพระยาประชากิจกรจักได้ใช้ร่วมกัน ซึ่งมีทั้งลูกหลาน ญาติสนิทโดยตรง และนับย้อนกลับไปถึงทายาทของบรรพบุรุษซึ่งได้แยกถิ่นฐานออกไปอีกหลายสาย ดังในบันทึกของพระยาประชากิจกรจักรที่ได้กล่าวถึง นายเบ้า ซึ่งเป็นคุณปู่ของท่านไว้ดังนี้ “คุณปู่เบ้ามีบุตร 2 คน ชื่อพุ่มเเละยา (พระสุพรรณสมบัติ - บิดา) พี่สาวชื่อพุ่มได้เป็นภรรยาของพระยาเสนาภูเบศร์ เเต่ไม่มีบุตรด้วยกัน คุณปู่เบ้ากลับไปอยู่เมืองพนมได้ภรรยา มีบุตร 4 คน ชื่อจันที พิมพา สุดาเเละพิลา คุณปู่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองคล้าบ้านตูม”
และจากบันทึกของ พลเรือเอกณรงค์ โอสถานนท์ ได้ระบุเพิ่มเติมอีกว่า ภรรยาอีกท่านหนึ่งของนายเบ้า มีบุตรชายหญิงหลายคน ท่านเหล่านี้ เป็นบรรพบุรุษของสกุลโอสถานนท์สาย “นาเหล่าบก” คือ นายคำสิงห์ นางผาลี นางบุดดี นางคำเตี้ยง นางคำหล้า เเละนายคำมูล ซึ่งปัจจุบัน บุตรหลานของนางคำเตี้ยง ได้เเตกสาขาออกไปอีก โดยส่วนใหญ่ยังมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ตำบลนาเหล่าบก จังหวัดฉะเชิงเทรา
จากวันที่ได้รับพระราชทานนามสกุล มาจนถึงวันนี้นับได้ว่าเป็นเวลา 1 ศตวรรษแล้ว ที่เหล่าทายาทได้สืบเชื้อสายนามสกุล “โอสถานนท์” ซึ่งแม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่สายเลือดโอสถานนท์ก็ยังคงตั้งใจสานต่อปณิธานของครอบครัวที่จะร่วมสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ โดยสร้างความรุ่งเรืองในสาขาอาชีพต่างๆ กัน ทำให้เป็นที่รู้จักและยกย่องของบุคคลทั่วไป อาทิ ทหาร ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง คณะเสรีไท รัฐมนตรี ไปจนถึงประธานสภา
นับเป็นที่ภาคภูมิใจและสมควรยึดถือเป็นแบบอย่างของบุตรหลาน “โอสถานนท์” ที่เป็นอนุชนรุ่นหลังต่อไปสมดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพร” ให้สกุล โอสถานนท์ มีความเจริญรุ่งเรือง มั่นคง อยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน”
ภาพบันทึกแต่งตั้งนามสกุล (ลายพระหัตถ์ ร.6)
เห็นนามสกุล “โอสถานนท์” แบบนี้ หลายท่านอาจจะคิดว่าบรรพบุรุษตระกูลนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องของแพทย์หรือการรักษาโรค แต่ที่จริงแล้วที่มาที่ไปของนามสกุลที่มีคำว่า โอสถ เนื่องจากว่าเวลาการขอพระราชทานนามสกุลต้องมีการกล่าวรายงานว่า ชื่อตนเองชื่ออะไร ตำแหน่งอะไร พ่อชื่ออะไร ซึ่งบรรพบุรุษนั้นมีชื่อว่า “ยา” (พระสุพรรณสมบัติ) ก็เลยกลายเป็นที่มาของนามสกุลนี้
จากความสามัคคีของเหล่าลูกหลาน เกิดงานรวมญาติครั้งแรกใน 100 ปี
เนื่องด้วยวาระครบรอบ 1 ศตวรรษของสายสกุล “โอสถานนท์” ทางลูกหลานและเครือญาติจึงได้จัดงานฉลองนามสกุลพระราชทาน “โอสถานนท์” ครบ 100 ปี โดยเลือกเอาวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งตรงกับวันครบรอบพอดีเป็นวันจัดงาน โดยใช้โรงแรมเวียงใต้ ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวคุณวิน โอสถานนท์ เป็นพื้นที่ในการจัดงาน ในช่วงเช้าจัดเป็นพิธีทางศาสนาและพิธีฉลองสกุล ส่วนในช่วงเที่ยงเป็นการร่วมรับประทานอาหารกลางวันพร้อมการฉลองสังสรรค์ระหว่างเครือญาติสายสกุลโอสถานนท์ พร้อมการแนะนำให้รู้จักกับเหล่าทายาทลูกหลานของแต่ละสาย
งานที่จัดขึ้นนี้ มีพิธีการทำบุญถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 องค์พระราชทานนามสกุล “โอสถานนท์” พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระปรีชาชาญ เล็งเห็นความสำคัญที่ปวงชนชาวไทยควรจะมีนามสกุล เพื่อปลูกเพาะความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว ทั้งนามสกุลที่พระราชทานนั้น ยังมีความหมายที่เป็นมงคลแฝงไว้ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในเกียรติประวัติของบรรพบุรุษ อันเป็นรากฐานของความรักชาติบ้านเมือง และเหล่าสมาชิกในครอบครัวโอสถานนท์ก็ได้จัดพิธีทำบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อรำลึกถึงคุณความดีที่ต้นสกุลได้สร้างและสะสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งนับเป็นต้นแบบให้เหล่าทายาทยึดถือเป็นแบบอย่างและดำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของสกุลสืบไป
โดยกว่าจะเกิดงานสำคัญนี้ขึ้น เรียกได้ว่าต้องอาศัยแรงกายแรงใจของเหล่าๆ ทายาทต่างเจเนอเรชันร่วมด้วยช่วยกันเป็นระยะเวลานานกว่า 3 เดือนเลยทีเดียว โดยคุณวิระ โอสถานนท์ บิดาของคุณวิน และนับเป็นประมุขของสกุล ด้วยการเป็นทายาทสายตรงจากพระยาประชากิจกรจักร ด้วยบุตรชายคนโตของคุณวิลาศ ซึ่งก็เป็นบุตรชายคนโตของพระยาประชากิจกรจักร ได้เล่าถึงงานครั้งนี้ให้ฟังว่า
“นี่นับเป็นครั้งแรกที่มีการรวมตัวกันของเครือญาติเยอะขนาดนี้ โดยก่อนหน้านี้เรามักจะรวมกันแค่ในสายของตัวเอง อย่างสายของพระยาประชากิจกรจักร หรือสายนาเหล่าบก นาเหล่าน้ำ อย่างในช่วงวันสงกรานต์ที่จะมีนัดหมายสังสรรค์ และร่วมทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษเป็นประจำอยู่แล้วทุกปี ทั้งจัดกันในกรุงเทพฯ และเดินทางไปยังวัดนาเหล่าน้ำ ซึ่งนับเป็นวัดประจำตระกูลที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ด้วยมาถึงในปีนี้ ซึ่งนับเป็นปีที่ครบ 100 ปีในการก่อตั้งสายสกุล เราก็เลยเริ่มพูดคุยกันในญาติพี่น้องว่า น่าจะจัดงานรวมตัวกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะหน่อย ก็เลยเกิดเป็นงานนี้ขึ้น”
จากแนวคิดการรวมตัวซึ่งแม้จะฟังดูว่าก็แค่เพียงติดต่อเหล่าญาติมิตร ซึ่งดูไม่น่าจะเป็นเรื่องยากลำบากแต่อย่างใด แต่ด้วยความที่สายสกุลโอสถานนท์ แตกออกเป็นหลายสายและมีถิ่นฐานอยู่กันคนละจังหวัด การที่ไม่เคยจัดงานรวมญาติหรือติดต่อกันอย่างใกล้ชิด ทำให้ขั้นตอนนี้กลายเป็นสิ่งที่กินเวลาไม่น้อยเลทีเดียว
“โชคดีที่ได้เหล่ารุ่นลูก รุ่นหลาน เขามาช่วยกัน ซึ่งคนเจเนอเรชันใหม่นี่เขามีเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการติดต่อสื่อสารกัน ช่วยรวบรวมเหล่าญาติๆ โดยแต่ละคนก็ช่วยกันสอบถามทางเหล่าญาติผู้ใหญ่ เก็บข้อมูลกันว่าใครมาจากสายไหน เกี่ยวดองกันอย่างไรบ้าง จนค่อยๆ รวมกันจนเป็นปึกแผ่นแบบนี้ได้”
โดยในงานนี้นอกจากจะเป็นการรวมญาติแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่จะได้เก็บรวบรวมประวัติศาสตร์ของสกุล โดยมีการค้นคว้ารายละเอียดและหลักฐานต่างๆ ของบรรพบุรุษมารวบรวมและร้อยเรียงบันทึกไว้ด้วยกันอย่างถูกต้องและครบถ้วน
“โดยที่ครอบครัวผมก็จะมีรูปภาพและหลักฐานความเป็นมาที่สำคัญของตระกูลอยู่จำนวนหนึ่งแต่ก็ยังไม่ครบถ้วนเท่าไร พอได้โอกาสจัดงานนี้ขึ้น ก็เลยถือเป็นฤกษ์ดีที่เราจะได้นำเอาข้อมูลต่างๆ มาเก็บบันทึกไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพจากครอบครัวต่างๆ เรื่องเล่าจากบรรพบุรุษของแต่ละท่าน นำมาคัดกรอง จัดระเบียบและค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องครบถ้วนจากหลักฐานอ้างอิงต่างๆ มีการสืบประวัติศาสตร์ เดินทางไปถึงอำเภอพนมสารคาม เพื่อคัดลอกทะเบียนประวัติกันเลยทีเดียว....
เพราะเราตั้งใจจะเห็นข้อมูลนี้ เก็บเป็นประวัติศาสตร์ของสกุลเรา เป็นจุดเริ่มต้นเลย เผื่อว่าในกาลข้างหน้าอีก 100 ปี มีการจัดรวมญาติครบ 200 ปีของสายสกุลเรา ก็ยังใช้ข้อมูลที่เราจัดทำนี่แหละสานต่อไป ดังนั้นจึงต้องมั่นใจในข้อมูลว่ามันถูกต้อง มิฉะนั้นมันก็จะผิดไปตลอดเลย”
ที่สำคัญท่านย้ำว่า ถ้าไม่ทำตอนนี้ก็ไม่รู้จะไปทำตอนไหน เพราะพวกผู้ใหญ่ก็แก่กันลงไปทุกวัน ถ้าไม่รีบสอบถามเก็บข้อมูลไว้ ความทรงจำต่างๆ ก็คงจะเลือนหายไป ไม่ได้อะไรเหลือไว้ให้บันทึกอีก
คุณอรนุช โอสถานนท์ ภรรยาคุณวิระ ช่วยกล่าวเสริมว่า “ช่วงหาข้อมูล เวลานัดประชุมงานกันในเครือญาติจะสนุกมาก เพราะแต่ละคนจะขนเอารูปต่างๆ และเรื่องราวของแต่ละครอบครัวมาแลกเปลี่ยนถ่ายทอดกัน เพราะการจัดงานครั้งนี้ทำให้เราคนรุ่นเก่าๆ ได้พบเจอกันบ่อยครั้งขึ้น พวกเด็กรุ่นใหม่ๆ ก็รู้จักกันมากขึ้น”
หัวใจสำคัญอีกอย่างของการจัดงานครั้งนี้ คือการย้ำเตือนถึงคุณงามความดีของเหล่าบรรพบุรุษและสร้างจิตสำนึกให้ลูกหลานได้เจริญรอยตาม โดยทางคุณวิระกล่าวว่า “บรรพบุรุษเรารับใช้แผ่นดินนี้มาด้วยความจงรักภักดี เพราะที่จริงแล้ว เรามีพื้นเพเชื้อสายมาจากลาว เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร รับใช้มาอย่างซื่อสัตย์ โดยตลอดระยะ 100 ปีที่ผ่านมา มีหลายๆ ท่านทำงานสนองเบื้องพระยุคลบาท หรือในตำแหน่งหน้าที่ที่สำคัญๆ ต่างๆ อย่างพระสุพรรณสมบัติก็เป็นช่างฝีมือ ทำทองถวายงานพระมหากษัตริย์ แม้ทายาทในรุ่นถัดๆ มาจะไม่ได้สานต่ออาชีพ แต่ก็ยังคงอยู่ในสายงานที่รับใช้แผ่นดิน ทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ผมเองรู้สึกภาคภูมิใจในหน้าที่การงานและผลงานของแต่ละท่าน ก็อยากให้ลูกหลานภาคภูมิใจและสืบทอดเกียรติประวัติตรงไปด้วย ถึงได้จัดงานนี้และรวบรวมประวัติศาสตร์ต่างๆ นี้ไว้ เพราะอีกหน่อยคนรุ่นเราก็ตายจากโลกนี้ไปแล้ว ความทรงจำประวัติศาสตร์ทั้งหมดมันจะสาบสูญไปหมด คนรุ่นใหม่ๆ ก็จะไม่ได้รู้เรื่องราวเหล่านี้ ผมอยากถ่ายทอดความรู้สึกภาคภูมิใจและเกียรติประวัติเหล่านี้ให้คงอยู่ตลอดไปถึงภายภาคหน้า เขาจะได้รู้ว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน บรรพบุรุษเป็นใคร เป็นยังไงมา และไม่ทำอะไรที่จะเป็นการเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูลเป็นอันขาด”
คนรุ่นใหม่ หัวเรี่ยวหัวแรงในการสืบสาน
ครอบครัวโอสถานนท์ นั้นประกอบด้วยหลายเจเนอเรชัน ตั้งแต่คุณทวด คุณปู่ ลูก หลาน และสำหรับใน พ.ศ. 2556 นี้เราคงต้องยกให้รุ่นของพวกเขาที่เป็น “โอสถานนท์” รุ่นใหม่ที่ต้องทำหน้าที่รักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล สืบต่อเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่อยากให้ทุกคนประพฤติ ปฏิบัติตนในทางที่ดีงาม สานต่อการรับใช้ชาติ และบอกเล่าให้คนรุ่นถัดไปเข้าใจชาติตระกูล แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไป ลูกหลานหลายคนอาจไม่ได้ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขายึดถือตรงกันคือ ความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ในวาระครบรอบ 100 ปี ตระกูลโอสถานนท์ พวกเขาก็ขอเป็นแกนหลักในการรวบรวม และร่วมสานความสัมพันธ์เครือญาติมิตร เพื่ออธิบายให้คนรุ่นต่อไปเข้าใจและพร้อมที่จะดำรงวงศ์สกุลนี้ไว้...
วินท์ โอสถานนท์
ผู้สืบทอดธุรกิจโรงแรมของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมเวียงใต้ที่มีอายุเกือบ 60 ปี และโรงแรมพิมานอินน์ รวมไปถึงเกสต์เฮาส์ย่านเขตพระนครที่พร้อมรองรับลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติ และเขายังเป็นพี่ใหญ่แกนหลักในการจัดงานครบรอบ 100 ปี โอสถานนท์ครั้งนี้อีกด้วย
“คุณพ่อคุณแม่เป็นข้าราชการท่านก็จะสั่งสอนเราเรื่องของความรักชาติบ้านเมืองเป็นเรื่องแรก แล้วก็เรื่องของความกตัญญู ให้นึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษทุกท่าน นอกจากนั้น เราต้องนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระราชทานนามสกุลให้เราด้วย
สำหรับการจัดงาน 100 ปี โอสถานนท์ เราเป็นรุ่นลูกหลานที่มาช่วยกันจัดงาน เริ่มมาจากที่ทราบว่าครบรอบ 100 ปีของการพระราชทานนามสกุล โอสถานนท์ในปีนี้ จึงได้ขอคำปรึกษาจากผู้ใหญ่หลายท่าน และมีพระผู้ใหญ่แนะนำว่า เราควรมีพิธีที่จัดขึ้นเพื่อเป็นพระราชกุศลให้กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หลังจากนั้นก็เป็นการบำเพ็ญกุศลให้กับญาติที่ล่วงลับ
เนื่องจากคุณพ่อเป็นพี่คนโตของครอบครัว คุณพ่อจึงประสานงานกับคุณอาเพื่อรวบรวมเครือญาติให้มาเจอกัน นอกจากนั้นก็จะมีน้องๆ เข้ามาช่วยงานในแต่ละส่วน ซึ่งบรรยากาศงานก็เป็นไปอย่างอบอุ่น มีญาติมารวมตัวกันกว่า 200 คน...ซึ่งหลังจากการจัดงานครั้งนี้ทำให้ญาติหลายๆ คนได้เจอกัน เป็นการสานความสัมพันธ์ในแบบเครือญาติให้เข้ามาสนิทสนมกันอีกครั้ง”
นวลพรรณ โอสถานนท์
สาวสังคมที่ถนัดงานด้านการประชาสัมพันธ์ “นวลพรรณ โอสถานนท์” แม้ว่าเมื่อก่อนเธอจะทำงานช่วยเหลือให้กับหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องของการส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร แต่วันนี้เธอออกมาเปิดบริษัทของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า บริษัท โอเอท (O8) ซึ่งที่มาของชื่อนั้นก็มาจากนามสกุล “โอสถานนท์” และเลข 8 ที่มีความหมายเป็นมงคลตามหลักโหราศาสตร์จีน และกับความเป็นลูกหลานในตระกูล “โอสถานนท์” สำหรับนวลพรรณนั้น เธอบอกกับเราว่า
“ภูมิใจที่ตระกูลของเราเคยทำงานรับใช้บ้านเมือง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มีผลงานเป็นที่น่าพอใจ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล 6 จึงพระราชทานนามสกุลมาให้ สำหรับการจัดงาน 100 ปี โอสถานนท์ในครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้เจอญาติ ทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ ทั้งพี่น้อง และญาติรุ่นเดียวกัน ได้รู้ที่มาที่ไปของนามสกุลอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่การบอกเล่าจากคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น ส่วนตัวแล้วในฐานะลูกหลานของตระกูลโอสถานนท์ ก็อยากทำตัวเป็นคนดีของประเทศชาติอยู่แล้ว ยิ่งเป็นนามสกุลพระราชทานยิ่งทำให้เราต้องรักษาคุณงามความดีที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ”
ธนลาภ โอสถานนท์
อีกหนึ่งคนในครอบครัวโอสถานนท์ที่ได้รับการถูกอบรมอย่างดี “คุณเหมียว-ธนลาภ โอสถานนท์” ปัจจุบันทำงานอยู่ในธุรกิจน้ำมัน โดยเป็นผู้จัดการฝ่ายขายในประเทศอยู่ที่ บริษัท TopSolvent ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยออยล์ เขาบอกกับเราว่า สิ่งแรกที่ตั้งแต่สมัยคุณปู่ คุณพ่อ สอนเขามาคือเรื่องของ “ความซื่อสัตย์”
“ตั้งแต่คุณปู่ คุณย่า คุณพ่อ คุณแม่ เขาอบรมเลี้ยงดูเรามาอย่างดี ซึ่งเราก็รับรู้มาว่าเราต้องทำหน้าที่สืบทอดตระกูลต่อไป และสิ่งหนึ่งที่เขาสอนและย้ำตลอดก็คือไม่ว่าเราจะทำงานอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือเราต้องซื่อสัตย์ จากที่เราก็เห็นว่าคนในครอบครัวโอสถานนท์ก็มีหลายคนที่ทำงาน สร้างชื่อเสียงให้กับวงศ์ตระกูล ก็รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้ เพราะตั้งแต่บรรพบุรุษเขาก็สอนให้ทุกคนในครอบครัวรักใคร่กลมเกลียวด้วย
แม้ว่าก่อนหน้านี้ญาติบางคนเราอาจจะไม่เคยรู้จักกันแต่ในโอกาสครบรอบ 100 ปี โอสถานนท์ ทำให้ได้รวมตัวกันอีกครั้ง ผมเองก็มีส่วนช่วยในเรื่องการรวบรวมข้อมูลจากผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน ทำให้ทราบถึงความเป็นมาของตระกูลโอสถานนท์ อย่างลึกซึ้ง ยิ่งทำให้ผมมีความภาคภูมิใจมากขึ้นครับ”
ชาม โอสถานนท์
นักแสดงและพิธีกรสาวแห่งตระกูลโอสถานนท์ เธอก้าวสู่วงการบันเทิงด้วยตำแหน่ง มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ประจำปี 2549 โดยยังควบรางวัลอีก 2 ตำแหน่งคือรางวัลขวัญใจช่างภาพสื่อมวลชน และรางวัลรักษ์ความเป็นไทย และสาวรูปร่างสูงชะลูดคนนี้ยังเคยเป็นนักกีฬากระโดดไกลของโรงเรียน และนักกอล์ฟเยาวชนของสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทยอีกด้วย
กับความภาคภูมิใจในครอบครัวโอสถานนท์ ที่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่พยายามอบรมและปลูกฝัง ให้เธอรักในความเป็นไทยและภูมิใจกับนามสกุลพระราชทานนี้
“เคยมีเหตุการณ์หนึ่งสมัยเด็กๆ ซึ่งชามเรียนและโตขึ้นมาในโรงเรียนอินเตอร์ แล้วชามต้องออกไปพูดในหอประชุม แล้วชามออกเสียงนามสกุล โอสถานนท์ เป็นสำเนียงภาษาอังกฤษ แต่ครั้งนั้นคุณแม่มาพูดกับชามว่า ต่อไปเวลาเราพูดนามสกุล ให้ออกเสียงเป็นภาษาไทยที่ชัดเจนไปเลยว่า “โอสถานนท์” เพราะนามสกุลของเราเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ กว่าจะมีวันนี้บรรพบุรุษของเราท่านสร้างชื่อเสียงไว้มากมาย ตั้งแต่ตอนนั้นชามก็ตั้งใจว่าต่อไปจะพูดนามสกุลของเราให้ชัดเจนที่สุด!
จะว่าไปแล้วตระกูลนี้มีคนเก่งเยอะ คุณพ่อเองก็อยากให้ชามมาทางสายรัฐศาสตร์การทูต แต่ชามชอบทางนิเทศศาสตร์มากกว่า แต่ก็ตั้งใจไว้แล้วว่าเราจะสร้างชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูลให้ได้อาจจะในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ชามก็มีงานในวงการบันเทิงหลายอย่าง
สำหรับการจัดงานรวมตัวคนในตระกูล โอสถานนท์ ชามว่าทำให้หลายๆ คนไขคำตอบในสายตระกูลได้เลย เพราะหลายครั้งชอบมีคนถามว่าเราเป็นอะไรกับคนโน้นคนนี้ การที่มีงานรวมญาติทำให้เราได้ทำความรู้จักกัน ทำให้ทุกคนในครอบครัวต่อกันติด ถึงจะห่างกันแต่อย่างน้อยเราก็มีนามสกุลเดียวกัน ชามจำได้ว่าวันที่คุณปู่เสีย ชามพูดกับคุณปู่ว่า มรดกที่มีค่าที่สุดที่คุณปู่ให้ไว้ก็คือนามสกุลที่คุณปู่มอบต่อให้ลูกหลาน”
จิตรายุส โอสถานนท์ และน้องชาย ชัยยุทธ โอสถานนท์
สองพี่น้องแห่งครอบครัว โอสถานนท์ “เจน-จิตรายุส” และ “จั๊ก-ชัยยุทธ โอสถานนท์” สองพี่น้องที่เติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นทหารที่ทำงานใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันสองพี่น้องร่วมมือกันเปิดบริษัทเอเยนซีเล็กๆ ชื่อบริษัท Tarnroma ทำงานในสายการตลาด แม้ว่าจะไม่ได้ทำงานรับราชการ หรือรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท แต่ทั้งสองก็บอกกับเราว่า “รักในหลวง” สุดหัวใจ
“เท่าที่เติบโตมาก็เห็นว่าครอบครัวเราหลายๆ คนรับราชการ เป็นทั้งทหาร ตำรวจ ทำงานใต้เบื้องพระยุคลบาททั้งนั้น ส่วนตัวเองก็จะได้ยินเรื่องราวน่ารักๆ เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากคุณพ่ออยู่บ่อยๆ เพราะว่าท่านทำงานเป็นทหารในวัง ฉะนั้นบ้านเราจะรักและเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์มาก
สำหรับความเป็น “โอสถานนท์” แล้วนั้นบ้านเราก็ภูมิใจในส่วนหนึ่งเพราะว่าเราเป็นนามสกุลพระราชทาน แล้วญาติหลายๆ คนก็สร้างชื่อเสียงดีงามไว้มาก ครอบครัวเราเป็นครอบครัวใหญ่ การที่เราใช้นามสกุลนี้เราจะทำอะไรเราก็ต้องให้เกียรติกับนามสกุลด้วย เพราะไม่ได้มีแค่เราคนเดียว แต่หากยังมีครอบครัวและญาติด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่จะเลี้ยงแบบไทยๆ มากกว่า ผู้ใหญ่จะไม่อยากให้เราเวอร์ อยากให้ใช้ชีวิตเรียบง่าย
กับงาน 100 ปี โอสถานนท์ ในครั้งนี้ถือเป็นการรวมญาติครั้งใหญ่ ซึ่งใครมีความสามารถด้านไหนก็มาช่วยกัน ช่วยกันออกไอเดีย โดยคนที่เป็นแกนหลักจริงๆ คือพี่วินท์ โอสถานนท์ นับว่าเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ ฉันเครือญาติ ให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับความประสงค์ของบรรพบุรุษที่อยากให้ทุกคนประพฤติตนเป็นคนดีของสังคม และหน้าที่ต่อไปก็คือส่งต่อความประสงค์นี้ให้กับคนรุ่นต่อไป”
“โอสถานนท์” ผู้รับใช้ชาติ บ้านเมือง
จากการสั่งสมและสั่งสอนจากบรรพบุรุษที่ผ่านมาทำให้สมาชิกจำนวนไม่น้อยของตระกูล “โอสถานนท์” เลือกที่จะทำงานรับใช้บ้านเมือง ซึ่งหลายคนก็ได้สร้างชื่อเสียงให้กับวงศ์ตระกูล ให้เป็นเกียรติและเป็นที่จารึกว่า ตระกูลนี้เป็นตระกูลที่มีชื่อเสียงและมีความเสียสละในการทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง
เรืออากาศโทจำนงค์ โอสถานนท์ (ซ้าย)
กัปตันบริษัท การบินไทย ที่แสนจะอารมณ์ดี เขายังเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน ในความใจดีของเขาที่หลายๆ ครั้งมักจะเป็นหัวหน้าในการตระเวนชิมอาหารอร่อยๆ ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ สำหรับความภาคภูมิใจในการเป็นครอบครัวโอสถานนท์นั้น เขาบอกกับเราว่า
“ความเป็นโอสถานนท์ยังไงก็เป็นโอสถานนท์วันยังค่ำ ทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน ไม่ว่าจะห่างกันแค่ไหน แต่เราก็ยังยินดีที่จะช่วยเหลือกัน เมื่อพบเจอกันทุกคนก็มีความเป็นกันเองเหมือนคนในครอบครัว
ผมดีใจนะที่เมื่อมีการรวมญาติกันแล้วทุกคนก็มารวมพลังความเป็นโอสถานนท์กันเยอะขนาดนี้ แต่คนที่ไม่ได้มายังไงเขาก็คงมีสายเลือดของความเป็โอสถานนท์อยู่เหมือนกัน”
ประสิทธิ์ โอสถานนท์ (กลาง)
ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่
ผู้ว่าประสิทธิ์เข้ามารับตำแหน่งพ่อเมืองจังหวัดกระบี่ตั้งแต่ปี 2552 เมื่อมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ได้ระยะหนึ่ง “ประสิทธิ์ โอสถานนท์” ได้ประจักษ์ว่ากระบี่เป็นเมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก เขามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเมืองกระบี่ให้มีการพัฒนาก้าวเดินไปได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน จวบจนวันนี้เขาทำตำแหน่งพ่อเมืองมาได้ 4 ปีแล้ว และสำหรับความเป็นหนึ่งในครอบครัวโอสถานนท์ที่สร้างคุณงามความดี และชื่อเสียงให้กับวงศ์ตระกูล เขาได้บอกเล่าความรู้สึกให้เราฟังว่า
“ครอบครัวเราเป็นครอบครัวใหญ่ ในช่วงที่ผ่านมาบรรพบุรุษสร้างชื่อเสียงไว้มาก มีทั้งคนที่เป็นเป็นปลัดกระทรวง เป็นรัฐมนตรี เป็นเอกอัครราชทูต เราก็มีความภูมิใจที่เราเองก็เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นคนหนึ่งที่สร้างความภูมิใจให้กับตระกูล อย่างตัวผมมีลูก ก็อบรมให้เขาทำอะไรที่สร้างเกียรติและชื่อเสียงให้กับวงศ์ตระกูล
การมาเจอกันในงาน 100 ปี โอสถานนท์ในครั้งนี้ เปรียบเสมือนการย้ำเตือนและเชื่อมโยงโอสถานนท์ทุกคนไว้ด้วยกัน แล้วก็เป็นเหมือนการฝากต่อว่าเราต้องรักษาคุณงามความดีของโอสถานนท์ไว้ อยากให้ทุกคนรักในศักดิ์ศรี และทำประโยชน์ให้บ้านเมือง ช่วยสร้างชื่อเสียงที่ดีให้กับวงศ์ตระกูล”
พ.ต.อ.ธีรัชช์ โอสถานนท์(ขวา)
ผู้กำกับการอำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น คุณพ่อของชาม โอสถานนท์ ผู้ที่พยายามปลูกฝังให้ลูกภูมิใจในนามสกุลพระราชทาน
“ผมจบรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็อยากจะให้ลูกเรียนมาทางนี้บ้างเพื่อที่จะได้สร้างผลงานให้กับบ้านเมือง แต่ในเมื่อเขาไม่ชอบก็ปล่อยเขา อย่างน้อยเขาไม่ไปทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ผมจะอบรมลูกว่าจะทำอะไรให้คิดให้ดี เพราะเรามีบรรพบุรุษ อย่าทำอะไรให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เพราะอาจจะกระทบไปถึงคนอื่นๆ ในครอบครัวเราด้วย
การเป็นครอบครัวทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยว อย่างครอบครัว “โอสถานนท์” ที่มีสมาชิกเกือบ 200 กว่าคน ก็ทำให้เราอุ่นใจว่าเรายังมีคนในครอบครัวโอสถานนท์ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือเราตลอด”
นอกจากนี้ลูกหลานตระกูลโอสถานนท์ จำนวนไม่น้อยยังทำงานรับใช้ชาติในสังกัดกองทัพเรือ ที่พวกเขามุ่งมั่นที่จะปกป้องผืนแผ่นดิน และน่านน้ำไทยอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น
นาวาโทรณยุทธ โอสถานนท์ ทำหน้าที่เสนาธิการ ศูนย์ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง
นาวาเอกวรงกรณ์ โอสถานนท์ รองผู้บัญชาการฐานทัพเรือพังงา
นาวาโททศพร โอสถานนท์ ผู้บังคับกองพัน รักษาฝั่งที่ 13 กรมรักษาฝั่งที่ 1 หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง
นาวาตรีธัญญวัฒน์ โอสถานนท์ ผู้บังคับการกองเรือหลวงสีชัง กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ
Young Blood โอสถานนท์
มาถึงเลือดใหม่แห่งตระกูลโอสถานนท์ ผู้ที่จะสืบทอดความมีชื่อเสียงอันดีงามให้กับตระกูลสืบไป ซึ่งต้องบอกว่ารุ่นนี้เป็นรุ่นที่กำลังเติบโต และเมื่อได้รับความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับประวัติและความเป็นมาของเชื้อสายโอสถานนท์แล้ว ทำให้พวกเขามุ่งมั่นที่จะประพฤติตนเป็นคนดีของสังคม
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net และ ติดตาม CelebStagram ได้ที่ http://www.manager.co.th/celebonline/celebstagram/