>>เด็กรุ่นใหม่ควรระวัง! อย่าชะล่าใจว่าอาการ “เจ็บ-ปวด-ป่วย” เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป แพทย์ชี้พฤติกรรมฮิต ติดออนไลน์-ดูซีรีส์ ก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นออฟฟิศ ซินโดรม ตั้งแต่อายุยังน้อย ล่าสุดพบโรคนี้ในกลุ่มนักเรียนอายุ 15 ปีเท่านั้น
บู๊ทส์ รีเทล (ประเทศไทย) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามชั้นนำ จัดงาน "Feel Good Together" ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “รอบรู้เรื่องปวด” ชวนนายแพทย์สมบูรณ์ รุ่งพรชัย และเภสัชกรเสกสม ดีนุช ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เผยพฤติกรรมความเสี่ยงโรค “ออฟฟิศ ซินโดรม” กับกลุ่มคนยุคใหม่พร้อมแนะวิธีไกลโรคหยุดปัญหาอาการปวด
โดยนายแพทย์สมบูรณ์ รุ่งพรชัย ที่ปรึกษาฝ่ายการแพทย์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เผยว่า “เมื่อก่อน ‘ออฟฟิศ ซินโดรม’ จัดเป็นโรคฮิตของหนุ่มสาวออฟฟิศวัยทำงานช่วงอายุ 20-30 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลเสียทำลายสุขภาพในระยะยาว แต่ล่าสุดพบโรคนี้ได้กับกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา ที่อายุตั้งแต่ 15 ปีเป็นต้นไปที่มีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยออกกำลังกายและมีไลฟ์สไตล์ในการเรียนหรือทำงานแบบเดิมซ้ำๆ ขยับตัวน้อย เช่น ติดออนไลน์ ชอบดูซีรีส์ต่อเนื่องหรือใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ เฉลี่ย 2-6 ชั่วโมง/วัน หรือกลุ่มคนที่ติดมือถือหรือ Note Pad ที่ต้องนั่งก้มหน้าและเพ่งสายตาเป็นเวลานานๆ นอกจากนี้ยังรวมถึงกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ที่กำลังเตรียมตัวสอบซึ่งอ่านหนังสือ เรียนหนังสือ ในท่านั่งเดิมเป็นเวลานานอีกด้วย”
“หลายคนอาจชะล่าใจว่า ‘อาการปวด’ ที่พบเบื้องต้น เช่น การปวดตึงที่คอ บ่า และไหล่ การปวดหลัง หรือปวดศีรษะเป็นอาการที่ไม่ได้ร้ายแรงมาก แต่หารู้ไม่ว่าอาการเบื้องต้นเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคนอนไม่หลับ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคเซ็กซ์เสื่อม โรคข้อและกล้ามเนื้ออักเสบ ปัญหากระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูก เป็นต้น จนกลายเป็นโรคออฟฟิศ ซินโดรมในที่สุด ซึ่งอาการปวดที่พบในหมู่คนไข้บ่อยสุดคืออาการปวดต้นคอ ทั้งนี้ พบว่าพฤติกรรมเดิมๆ ซ้ำๆ ขยับตัวน้อยจะส่งผลกระตุ้นให้ร่างกายหลั่ง ‘ฮอร์โมนคอร์ติซอล’ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ตอบสนองจากความเครียดสูงขึ้น เมื่อร่วมกับการพักผ่อนน้อยและรับประทานอาหารไม่ถูกต้อง นานไปจะยิ่งทำให้ร่างกายเครียดมากยิ่งขึ้น หากไม่ดูแลจะทำให้เป็นโรคเรื้อรังระยะยาวได้”
โดยนายแพทย์สมบูรณ์แนะวิธีการป้องกันและบำบัดอาการออฟฟิศ ซินโดรมว่า “สำหรับใครที่มีไลฟ์สไตล์ที่เสี่ยงเป็นโรคออฟฟิศ ซินโดรม ผมอยากให้เริ่มง่ายๆ ที่ตัวเองเพียงสังเกตและใส่ใจกับอาการปวดตามบริเวณคอ หลัง ไหล่ ขา ว่าเริ่มเป็นอาการปวดเรื้อรังหรือไม่ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำเดิมๆ ซ้ำๆ ด้วยการออกกำลังกาย เช่น บริหารคอด้วยการก้มเงยและหมุนคอ ยืดกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ ท่าละ 5-10 ครั้ง 10-30 วินาที ประมาณวันละ 2 รอบ สำหรับคนติดคอมพิวเตอร์-ดูซีรีส์ออนไลน์ ทุกๆ 2 ชั่วโมง ให้บริหารสายตาด้วยการกลอกตาขึ้น-ลง มองวิวไกลๆ เพื่อพักสายตา หรืออย่างคนที่ชอบพิมพ์คอมพิวเตอร์ แชตมือถือ หรือเล่น Note Pad ให้ลองหาลูกบอลฟองน้ำมาบีบเบาๆ ประมาณ 15-20 ครั้ง ให้ได้ 3 เซต/วัน ดูแลอาหารการกินด้วยการรับประทานน้ำมันปลาและโอเมก้า 3 เพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อและอักเสบ กินธัญพืชพวกแฟลกซี้ด (Flaxseed) พบมากในลูกวอลนัตเพื่อเสริมโอเมก้า 3 อีกทั้งยังมีแมกนีเซียมสูงช่วยลดอาการปวด ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ทั้งหมดนี้จะช่วยให้คน GEN-Y รุ่นใหม่ห่างไกลโรคออฟฟิศ ซินโดรม”
ด้านเภสัชกรเสกสม ดีนุช ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบริหารกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ จากบู๊ทส์ รีเทล (ประเทศไทย) กล่าวว่า “สุขภาพเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความใส่ใจ เพราะการมีสุขภาพที่ดีเริ่มได้จากการดูแลตัวเองที่ดี การรักษาเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่เกิด อย่างทุกวันนี้จะพบคนไข้ที่ป่วยจากอาการปวดของโรคออฟฟิศ ซินโดรมมาก จึงอยากให้คนรุ่นใหม่ทุกคนเริ่มต้นดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง หรือสามารถมาปรึกษากับเภสัชกรที่ร้านบู๊ทส์ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน “ร้านยาคุณภาพ” จากสภาเภสัชกรรม เพื่อรับคำแนะนำเบื้องต้นในการดูแลสุขภาพของตัวเอง” :: Text by Flash
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net และ ติดตาม CelebStagram ได้ที่ http://www.manager.co.th/celebonline/celebstagram/