การนำผ้าไทยมาออกแบบให้ดูร่วมสมัยนั้นเป็นโจทย์ที่ท้าทายอยู่แล้ว แต่คราวนี้ อาจารย์และนักศึกษาสาขาออกแบบแฟชั่น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ เตรียมโชว์ผลงานการออกแบบเสื้อผ้าคอลเลกชันพิเศษ จากผลงานวิจัยเรื่อง “การออกแบบแฟชั่นไทย Spring/Summer จากแรงบันดาลใจการแต่งกายในภาพจิตรกรรมไทย สมัยรัชกาลที่ 3 โดยใช้ผ้าทอเอกลักษณ์ไทยสี่ภาค” โดยเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ชมตัวอย่างผลงาน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี เมื่อเร็วๆ นี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุวรรณี เครือปาน อาจารย์ประจำสาขาออกแบบแฟชั่น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ กล่าวว่า “การแต่งกายในสมัยรัชกาลที่ 3-5 นั้นเป็นการแต่งกายแบบไทยประเพณีตามแบบอุดมคติหรือจินตนาการสร้างสรรค์ที่มีรูปแบบของการแต่งกายตามเทพ นางฟ้าจากเทวดา เทพทวรบาล การแต่งกายของกลุ่มอสูร ฝ่ายอธรรม ที่มีความประณีตและสวยงามหรืออลังการ การแต่งกายของบุคคล แบ่งเป็นกลุ่มบุคคลชั้นสูง กษัตริย์ นางกษัตริย์ และยุวกษัตริย์ ข้าราชบริพาร ทหาร นางสนม นางกำนัล รวมถึงการแต่งกายของสามัญชน คหบดี เศรษฐี ชาวบ้านชาย หญิง และการแต่งกายของชาวต่างชาติที่แตกต่างกัน มาในปีนี้จึงได้ผลการวิจัยในครั้งนั้นมาทำการวิจัย ต่อให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น”
ผลงานวิจัยครั้งนี้ถูกถ่ายทอดออกเป็นเสื้อผ้าบุรุษและสตรี จำนวน 40 ชุด แบ่งเป็นประเภท High Fashion จำนวน 10 ชุด Ready to wear จำนวน 27 ชุด และ Haute Couture จำนวน 3 ชุด โดย
ท็อป- ชัยยศ นัยจิตร นักศึกษาชั้นปีที่ 4สาขาออกแบบแฟชั่น ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมในฐานะดีไซเนอร์ กล่าวว่า ถือเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทาย ทั้งโจทย์ที่ต้องตีความ และความยากอีกอย่างของงานนี้คือ การนำผ้าทอไทยมาใช้ในการตัดเย็บ ซึ่งทำให้เราไม่ใช่แค่ออกแบบอย่างเดียวเท่านั้นแต่ต้องศึกษาด้วยผ้าทอที่ได้รับเป็นโจทย์มานั้น สามารถนำมาตัดเย็บชุดที่เราออกแบบได้หรือไม่ จะต้องมีการวางแพทเทิร์นอย่างไร เพื่อให้สูญเสียผ้าน้อยที่สุด และยังคงความสวยงามของเนื้อผ้า ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำให้สิ่งที่เราออกแบบไว้นั่นโดดเด่นด้วยเช่นกัน
กอล์ฟ-ชนะสรณ์ พระประสิทธิ์ เพื่อนร่วมชั้นทำวิจัยอีกคนหนึ่ง และเป็นดีไซเนอร์คนเดียวของคณะที่เลือกออกแบบเสื้อผ้าบุรุษ กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกออกแบบเสื้อผ้าผู้ชาย เพราะต้องการนำเสนอและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ชายหันมาใส่ใจและกล้าที่จะแต่งตัวมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าคนอื่นจะมองว่าผู้ชายแต่งตัวเป็นเพศที่สามหรือสี่หรือไม่ เพราะจริงๆ แล้ว ตนเชื่อว่า ผู้หญิงกับผู้ชายก็ไม่ต่างกันที่จะทำตัวเองให้ดูดี ในการทำงานครั้งนี้ เมื่อได้รับโจทย์มาตนก็ได้เข้าไปศึกษาภาพจิตรกรรมไทยในสมัยรัชการที่ 3ในวัดต่างๆ และชอบตัวยักษ์มากที่สุด จึงนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ
ติดตามชมความสามารถของยังก์ดีไซเนอร์ไทยกับโจทย์ที่ท้าทายกันได้ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2556 ระหว่างวันที่ 23-27 สิงหาคม ศกนี้ ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์