xs
xsm
sm
md
lg

ขบวน ‘อักษรศิลป์’ เทียบชานชาลา ณ 4 พื้นที่ทางศิลปะ กลางกรุงเทพฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ART EYE VIEW---GRANSHAN 2013 Thailand คือ เทศกาลออกแบบตัวอักษรระดับนานาชาติครั้งแรกในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความน่าสนใจของเทศกาลนี้คือ การนำเสนอผลงานการออกแบบตัวอักษรและอิทธิพลของตัวพิมพ์ที่มีต่อวิถีชีวิตของคนเรา
มี ‘หอศิลป์และอาร์ตแกลเลอรี่’ ใดบ้างในกรุงเทพฯที่เข้าร่วมเทศกาลนี้ และแต่ละที่มีอะไรให้ผู้สนใจได้แวะไปชมกันบ้าง โปรดไล่สายตาไปที่บรรทัดถัดไป

>>สถาบันเกอเธ่ สาทร 1 กรุงเทพฯ
วันนี้ - 18 สิงหาคม พ.ศ.2556
นิทรรศการ History and Current Results of GRANSHAN 2008 to 2012

พื้นที่แห่งนี้ จะแนะนำให้รู้จักความเป็นมาของเทศกาล GRANSHAN ผ่านการนำเสนอผลงานของผู้ชนะและเข้ารอบจากการประกวด GRANSHAN Competition “Non-Latin Typefaces” (การแข่งขันออกแบบตัวอักษรงานเดียวในโลกที่เชิดชูอุตสาหกรรมการออกแบบตัวอักษรที่ไม่ใช่ตัวอักษรละติน อาทิ Armenian, Cyrillic และ Greek ) ซึ่งจัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 -ปัจจุบัน

แต่ละผลงานที่ได้รับคัดเลือกมาจัดแสดง สะท้อนให้เห็นถึงความงดงาม ความแตกต่างและหลากหลายของตัวอักษรต่างๆ ตลอดจนวิวัฒนาการของภาษาและอักษรศิลป์

>>>ร้านบราวน์ชูการ์ ถนนพระสุเมรุ
วันนี้ - 18 สิงหาคม พ.ศ.2556
นิทรรศการ TypoLyrics โดย Lars Harmsen,slanted และ อำมฤต ชูสุวรรณ

แรงบันดาลใจจากดนตรีนำไปสู่การออกแบบตัวอักษร ได้อย่างไร นิทรรศการตัวอักษรแบบเข้าจังหวะ ณ พื้นที่นี้ จะแสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวอักขระและดนตรี Typolyrics ที่ผู้ชมจะไม่ได้ใช้เพียงแค่ตาทัศนา แต่จงลองใส่หูฟัง กดปุ่มเพลย์ แล้วปล่อยให้ตัวอักษรล้อไปกับดนตรีในจังหวะร็อค สวิง และเทคนิคการมิกซ์เสียงสนุกๆ สไตล์โปโก (POGO)

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงผลงานจากการ workshop ของ อำมฤต ชูสุวรรณ อาจารย์จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ ภัณฑารักษ์ หรือ curator ของนิทรรศการอีกด้วย

>>>ชั้น G ศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันนี้ - 18 สิงหาคม พ.ศ.2556
นิทรรศการ จากเหล็กร้อนมา เป็นตัวอักษรสาธารณะ - University of Reading
(From Hot Metal to Open Type - University of Reading )

สถาบันอักขรศิลป์ (Institute for Typography) แห่งมหาวิทยาลัยรีดดิ้ง (University of Reading) สหราชอาณาจักร จะมาเปิดกรุ และขนขบวนชุดตัวอักษรประเภท Non-Latin Typefaces มาให้ผู้ชมได้ตื่นตาตื่นใจ เพราะปกติแล้วชิ้นงานดังกล่าวจะมีเพียงนักศึกษาด้าน Typography และนักวิจัยเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้ชม

>>>ชั้น 3 ศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันนี้ - 18 สิงหาคม พ.ศ.2556
นิทรรศการ Letter.2 of AtypI

นิทรรศการในส่วนนี้ ตั้งใจที่จะเผยให้เห็นภาพมุมกว้างและวิวัฒนาการของการออกแบบตัวอักษรทั่วโลกในรอบทศวรรษ นับตั้งแต่หลังการแข่งขันออกแบบตัวอักษรในปี 2544 เป็นต้นมา ทั้งยังมุ่งส่งเสริมการสร้างสรรค์การออกแบบตัวอักษรที่เป็นเลิศและเป็นแบบอย่างของงานที่ดี นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับบทบาทการออกแบบตัวอักษร เพื่อกระตุ้นให้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และรักษาให้คงอยู่ต่อไป

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
กำลังโหลดความคิดเห็น