xs
xsm
sm
md
lg

แด่ผู้ใช้แรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

>>>คอลัมน์ : 108-1000 - ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน
Jean-François Millet: หญิงอบขนมปัง, ราว 1854, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 37.5x29.5 ซม. Hermitages, St Pietersburg
สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ความจริงไม่เคยลืมว่า วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี คือวันแรงงาน ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกได้อุทิศวันนี้ให้กับผู้ใช้แรงงานทุกคน ถึงแม้ว่าวันที่ 1 พฤษภาคม จะล่วงเลยมาถึง 3 อาทิตย์แล้วก็ตาม แต่คิดว่าถึงอย่างไรก็ยังคงอยู่ในเดือนพฤษภาคม จึงเขียนบทความนี้เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่พี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกรูปแบบซึ่งหมายรวมถึงเกษตรกรในชนบทของบ้านเราทุกท่านด้วย

วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ดิฉันนั่งรถผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จึงได้มีโอกาสเห็นขบวนของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งประกอบด้วยรถปราศรัยและคนเดินเท้าที่เดินตามกันไปอย่างสงบและเป็นระเบียบเรียบร้อยเยี่ยงอารยชน เสียงคำกล่าวปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงบอกเล่าถึงความเดือดร้อนจากนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันของรัฐบาล ซึ่งส่งผลให้พวกเขาหลายคนตกงาน แรงงานต่างชาติเข้ามาแย่งงาน และโรงงานย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ผลพวงจากนโนบายนี้และนโยบายกระชากค่าครองชีพขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการของรัฐบาลทำให้พวกเขาแทบไม่สามารถครองชีพอยู่ได้ด้วยรายได้ที่ไม่พอกับรายจ่าย อีกทั้งสถานภาพในการทำงานก็เริ่มไม่แน่นอนและไม่มั่นคงอีกด้วย แต่น่าอนาถ ที่เสียงของพวกเขาดูราวกับเป็นเสียงนกเสียงกา เพราะรัฐบาลที่อ้างตะพึดตะพือว่า “มาจากความไว้วางใจของประชาชนคนชั้นรากหญ้า 15 ล้านเสียง” หาได้หันมารับฟังหรือใส่ใจในความเดือดร้อนของคนเหล่านี้ไม่

และนี่ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เราได้รู้เช่นเห็นชาติสันดานอัปรีย์ของคณะรัฐบาลชุดนี้และของบรรดาเหล่าลูกสมุนจัญไรที่แฝงตัวอยู่ในทุกหน่วยงานราชการของประเทศเรา หวังว่าคงจะมีสักวัน ที่ฝูงชนซึ่งดวงตามืดบอดด้วยอวิชชา จะกลับมาตาสว่างมองเห็นดวงตาธรรมได้บ้าง

การสำรวจทางทะเลและการแสวงหาอาณานิคมของชาติตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษ ฝรั่งเศส และเสปน รวมทั้งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศอังกฤษระหว่าง ค.ศ. 1770 และ 1825 จากนั้นจึงแผ่ขยายไปยังภาคพื้นยุโรปเมื่อหลัง ค.ศ. 1815 การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งต่อมาได้ค่อยๆ แผ่ขยายจากทวีปยุโรปไปยังทุกทวีปบนโลก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของทุกประเทศทั่วโลกอย่างสิ้นเชิง
Jean-François Millet: หญิงเก็บฟืน, ราว 1850, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 37x45 ซม. Pushkin Museum, Moscow
Jean-François Millet: หญิงแบกฟืน, ราว 1858, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 37.5x29.5 ซม. Hermitages, St Pietersburg
ผลงานศิลปะของศิลปินหลายคนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 สะท้อนให้เห็นผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอันอิสระ เรียบง่าย พอเพียง และสงบสุขของเกษตรกรในชนบทให้กลายมาเป็นกรรมกรผู้ใช้แรงงานที่ถูกกดขี่สารพัดจากนายทุน และต้องใช้ชีวิตอย่างปากกัดตีนถีบในสลัมของเมืองใหญ่ที่สับสนวุ่นวาย

กลุ่มชาวนาและแรงงานซึ่งไร้ที่ดินทำกินต้องย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าไปขายแรงงานในเมืองใหญ่ๆ ซึ่งมักเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม โดยทั่วไป ชายหนุ่มมักทิ้งพ่อแม่ที่แก่เฒ่าและลูกเมียไว้ที่บ้านในชนบทเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ดังนั้น ผู้หญิงจึงต้องรับภาระหนักในการดูแลคนทั้งบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการหุงหาอาหาร (ภาพที่ 1) ซักผ้า ตักน้ำ หาฟืน (ภาพที่ 2 และ 3) รวมทั้งอาจทำงานรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ ในหมู่บ้านเพื่อหารายได้เสริมด้วย ในหน้าเก็บเกี่ยวเด็กๆ และผู้หญิงที่ไม่มีงานทำและไม่มีรายได้อะไร มักขออนุญาตเจ้าของที่นาเข้าไปเก็บข้าวซึ่งร่วงหล่นหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อนำกลับไปทำขนมปังกินกันที่บ้าน

ฌอง ฟรองซัวส์ มิเยท์ (Jean-François Millet / ค.ศ. 1814-1875) เป็นจิตรกรที่นิยมนำเสนอเรื่องราวและวิถีชีวิตของผู้คนในชนบท ที่กำลังง่วนอยู่กับการประกอบสัมมาอาชีพเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตนเองและครอบครัวอย่างตั้งอกตั้งใจ

มิเยท์ไม่เพียงนำเสนอภาพชีวิตจริงของชาวนาฝรั่งเศสที่ยากไร้เท่านั้น แต่เขายังสะท้อนความยากลำบากในการดำรงชีวิตและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของสุจริตชน ผู้หาเลี้ยงชีพด้วยหยาดเหงื่อแรงกายและสองมือของตนอีกด้วย มิเยท์นิยมเขียนภาพที่มีเนื้อหานี้ด้วยสีเฉดน้ำตาลและเทาเพื่อเน้นบรรยากาศแห่งความสะเทือนใจและความเหงาเศร้าราวกับบทกวีนิพนธ์แห่งความทุกข์ยากของผู้คนที่อาศัยอยู่ในชนบท

หญิงเก็บข้าวตก (The Gleaners / ภาพที่ 4) เป็นหนึ่งในภาพชีวิตจริงของหญิงสาว 3 คน ที่มาจากครอบครัวยากจนในชนบท พวกเธอกำลังเก็บรวงข้าวสาลี ซึ่งร่วงหล่นกระจัดกระจายบนผืนนาที่เพิ่งถูกเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังจากได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่นาแล้ว ในฉากหลังของภาพปรากฏเกวียนเทียมม้าบรรทุกข้าวและกลุ่มคนที่กำลังวุ่นวายกับการเก็บรวบรวมรวงข้าวให้เป็นฟ่อนเพื่อนำไปกองรวมกันหรือเตรียมขนขึ้นเกวียน ขณะที่นายงานนั่งคุมงานอยู่บนหลังม้าในฉากหลังทางขวามือของภาพ

มิเยท์วางเส้นขอบฟ้าไว้สูงมากเพื่อเปิดพื้นที่กว้างไว้สำหรับเขียนภาพหญิงสาวทั้ง 3 คนให้มีขนาดใหญ่จนเกือบเต็มพื้นที่ภาพในฉากหน้า จิตรกรใช้วิธีการนี้เน้นความยากลำบากในการหาเลี้ยงชีพของคนยากจน ซึ่งต้องเดินก้มๆ เงยๆ เพื่อเก็บข้าวที่หล่นกระจายทั่วพื้นนาแบบรวงต่อรวงหรือเม็ดต่อเม็ด การจัดวางท่าทางที่แตกต่างกันของหญิงสาวซึ่งอยู่ทางขวามือของภาพในลักษณะกำลังก้มตัวลงเก็บข้าวกับหญิงสาวอีก 2 คนที่ก้มตัวลงต่ำขนานกับพื้นในลักษณะก้าวเดินเป็นคู่ขนาน ไม่เพียงช่วยทำให้ภาพเกิดการเคลื่อนไหวอย่างเป็นจังหวะงดงามมากขึ้น แต่ยังสะท้อนความผูกพันกับผืนแผ่นดินของผู้คนที่อาศัยอยู่ในชนบทอีกด้วย

สวดมนต์ (The Angelus / ภาพที่ 5) เป็นอีกผลงานหนึ่งที่มีชื่อเสียงของมิเยท์ ในฉากหน้าของภาพปรากฏร่างของสองสามีภรรยาที่กำลังยืนสวดมนต์ภาวนาอย่างสงบนิ่ง สามง่ามที่ปักบนพื้นดินข้างกายชายหนุ่ม ตะกร้าใส่มันฝรั่งที่วางอยู่บนพื้นใกล้เท้าของหญิงสาว และกระสอบใส่มันฝรั่งในรถเข็น บอกให้รู้เป็นนัยว่า ก่อนหน้านี้คนทั้งคู่คงจะสาละวนอยู่กับการขุดและเก็บมันฝรั่งให้เสร็จก่อนตะวันจะลับฟ้า แต่ในบัดดล เมื่อเสียงระฆังยามค่ำจากโบสถ์ในหมู่บ้านดังแว่วมาตามสายลม และเนื่องจากไม่สามารถกลับไปทำวัตรเย็นในโบสถ์ร่วมกับสมาชิกในหมู่บ้านได้ พวกเขาจึงรีบวางมือจากการทำงาน ชายหนุ่มถอดหมวกของเขาออก เขาและภรรยาต่างยกมือขึ้นประสานไว้กับอก ยืนตัวตรง พร้อมกับก้มศีรษะลงอย่างนอบน้อมเพื่อสวดมนต์ภาวนา

มิเยท์ใช้แสงสีทองประสานกับสีหมากสุกของตะวันยามพลบค่ำซึ่งฉายแสงเรืองรองบนแผ่นฟ้าเบื้องหลัง รวมทั้งเงาตะคุ่มของโบสถ์ที่มีหอระฆังยอดแหลมสูงเสียดฟ้าซึ่งเห็นอยู่ไกลลิบในฉากหลัง เน้นภาพการตั้งจิตสวดมนต์ภาวนาอย่างนอบน้อมของคนทั้งคู่เพื่อสะท้อนศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อพระผู้เป็นเจ้าของมนุษย์ แสงตะวันยามย่ำค่ำที่สาดส่องลงบนผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ของท้องทุ่งนา บนร่างของชายหนุ่มและหญิงสาว บนเครื่องมือทางการเกษตร และบนผลิตผลจากผืนแผ่นดิน นอกจากจะเน้นเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งการประกอบอาชีพที่ต้องใช้หยาดเหงื่อและแรงกายเข้าแลกของสุจริตชนแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นความผูกพันกับผืนแผ่นดินอย่างแน่นแฟ้นของชาวไร่ชาวนาอีกด้วย

การปฏิวัติอุตสาหกรรมยังก่อให้เกิดปัญหาการใช้แรงงานผู้หญิงและเด็กอายุน้อยด้วย แรงงานกลุ่มนี้ถูกใช้ทำงานหนักเกินกำลัง แต่ได้รับค่าจ้างแรงงานต่ำมาก ผู้หญิงและเด็กเหล่านี้ถูกสภาพชีวิตที่อดอยากยากจนและความเป็นอยู่ที่อัตคัดขาดแคลนบีบคั้นให้ต้องทำงานเลี้ยงตัวและครอบครัว ปัญหาสังคมที่ตามมาคือการตัดสินใจขายตัวของผู้หญิง ซึ่งบางคนก็เข้าทำงานขายบริการทางเพศตามสถานเริงรมย์ต่างๆ หรือตามซ่องโสเภณี และบางคนถึงแม้จะประกอบอาชีพอื่น แต่เมื่อขัดสนเงินทองหรือเข้าตาจนก็อาจต้องยอมขายตัวด้วยความจำเป็นบ้างในบางครั้งบางคราว

หญิงรีดผ้า (ภาพที่ 6) ของ เอ็ดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas) สะท้อนภาพชีวิตของผู้หญิงกลุ่มนี้ให้เห็นอย่างชัดเจน เดอกาส์นำเสนอภาพบรรยากาศการทำงานของหญิงสาวสองคนในห้องรีดผ้า ขณะที่หญิงสาวคนหนึ่งกำลังใช้เตาเหล็กเล็กๆ ที่ร้อนจัดรีดชุดกระโปรงบนโต๊ะ อีกคนหนึ่งกำลังอ้าปากหาวด้วยความง่วง ลักษณะท่าทางการยืนยืดตัวหลังตึงและยกมืออีกข้างหนึ่งวางไว้บริเวณท้ายทอย บ่งบอกถึงอาการเมื่อยขบจากการทำงาน ที่ต้องคอยก้มตัวและใช้น้ำหนักมือทั้งสองกดทับเตารีดเพื่อช่วยทำให้ผ้าเรียบ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งของเธอกำขวดเหล้าองุ่นแดงขนาดใหญ่ ที่มีเหล้าเหลือติดก้นขวดเพียงเล็กน้อย ซึ่งบอกเป็นนัยถึงปัญหาการติดเหล้าของผู้หญิงกลุ่มนี้

หญิงสาวที่ประกอบอาชีพรับจ้างซักรีดจะได้ค่าจ้างแรงงานต่ำมาก ทั้งๆ ที่งานซักรีดก็เป็นงานที่หนักไม่ใช่น้อย เพราะไหนจะต้องคอยระวังอุบัติเหตุจากเตาที่ร้อนจัด ไหนจะต้องระวังไม่ให้ผ้าไหม้ ไหนจะต้องพยายามรีดผ้าให้เรียบ นอกจากนั้นงานรีดผ้ายังเป็นงานที่ต้องยืนทั้งวันและเวลาทำงานในแต่ละวันก็ค่อนข้างยาวมาก อีกทั้งสถานที่ทำงานก็ไม่ถูกสุขลักษณะ เพราะโดยทั่วไปห้องซักรีดมักอยู่ในห้องใต้ดินที่อากาศทั้งเย็นและชื้น ซึ่งจะส่งผลร้ายกับสุขภาพของผู้ทำงานด้วย

ผลงานของเดอกาส์นำเสนอสภาพการทำงานหญิงสาวที่ประกอบอาชีพซักรีดอยู่ในเมืองใหญ่โดยเน้นความเป็นจริงที่มิได้เสริมแต่งด้วยรูปแบบการสร้างงานแนวเรียลิสม์ (Realism) ขณะที่ผลงานของมิเยท์สอดใส่อารมณ์ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจของศิลปินลงไปในภาพเพื่อสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้ชมโดยการประสานรูปแบบการสร้างงานแนวเรียลิสม์เข้ากับแนวโรแมนติก (Romanticism) ได้อย่างกลมกลืน

หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ
Jean-François Millet: หญิงเก็บข้าวตก, ราว 1857, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 83.5x111 ซม. Musée d’ Orsay, Paris
Jean-François Millet: สวดมนต์, ราว 1857, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 55.5x66 ซม. Musée d’ Orsay, Paris
Edgar Degas: หญิงรีดผ้า, 1884 / 1886, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 76x81 ซม. Musée d’ Orsay, Paris
รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน

จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม

 จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)

ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück

ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และเด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย

พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน 

พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย

ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD

เมื่อ พ.ศ. 2549 เคยมีผลงานหนังสือ "ศิลปะคลาสสิก" ซึ่งแต่งขึ้นจากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี

และ พ.ศ. 2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ "เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี" ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา


ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่าความรู้ที่มีไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ในรั้วสถาบันการศึกษา

ติดตามอ่าน ...108-1000 - ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์  ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน  ได้ทุกอาทิตย์

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ www.facebook.com/arteyeviewnews
กำลังโหลดความคิดเห็น