xs
xsm
sm
md
lg

บรูตุส: ระหว่างการรักษากฎหมายบ้านเมืองกับความอยู่รอดของเลือดเนื้อเชื้อไข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

>>>คอลัมน์ : 108-1000 - ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน
Jacques-Louis David: เจ้าหน้าที่ลิกเตอร์นำศพบุตรชายของบรูตุสมาส่งให้ที่บ้าน, 1789, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 323x422 ซม. Louvre, Paris
สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ย่อมรักลูกที่ตนให้กำเนิดด้วยกันทั้งนั้น แต่มนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่ความผูกพันทางสายเลือดซับซ้อน ลึกซึ้ง ฝังรากลึก และยาวนานหลายชั่วอายุคน ไม่ว่ายุคใดสมัยใด มนุษย์จะปกป้องและเข้าข้างพ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลาน และคนในสายเลือดเดียวกัน โดยมักไม่คิดคำนึงถึงความถูกผิด หลักการ หรือเหตุผลใดใดทั้งสิ้น

แต่นั่นเป็นวิถีของคนธรรมดาสามัญ ที่ใครใครก็สามารถเข้าใจและพอจะให้อภัยได้ แต่สำหรับประมุขของประเทศและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งสำคัญและมีหน้าที่รับผิดชอบต่อประชาชนและผลประโยชน์ของแผ่นดิน ความคาดหวังของมหาชนต่อบุคคลกลุ่มนี้ย่อมสูงกว่าและแตกต่างไปจากสิ่งที่พวกเขาคาดหวังจากสามัญชนคนธรรมดา และสิ่งนั้นมักจะหนีไม่พ้นคุณสมบัติที่เหนือกว่าคนธรรมดาและมีค่าควรให้พวกเขาศรัทธา ยกย่องสรรเสริญ และกราบไหว้บูชาได้อย่างเต็มใจและสนิทใจ นั่นก็คือ การรักษาคุณธรรมเหนือสิ่งอื่นใด

ดังนั้น วันนี้ดิฉันจึงใคร่ขอนำภาพจิตรกรรมของ ฌาคส์ หลุยส์ ดาวิด์ (Jacques-Louis David / 1748-1825) จิตรกรเอกของฝรั่งเศสแห่งศิลปะยุคคลาสสิกใหม่ (Neo-Classicism) มาให้ท่านชมเพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจอีกครั้งหนึ่ง

เจ้าหน้าที่ลิกเตอร์นำศพบุตรชายของบรูตุสมาส่งให้ที่บ้าน (The Lictors Bring to Brutus the Bodies of His Sons / ภาพที่ 1) เป็นอีกภาพหนึ่งของดาวิด์ ที่นำเสนอเรื่องราวจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ของโรมันโบราณ ซึ่งสะท้อนให้เห็นเกียรติ ศักดิ์ศรี และคุณธรรมของนักการเมืองหรือผู้ปกครอง ที่ยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตนอันน้อยนิดเพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่แห่งรัฐ

เรื่องมีอยู่ว่า บุตรชาย 2 คนของ ลูซิอุส ยูนิอุส บรูตุส (Lucius Junius Brutus) วีรบุรุษ ผู้โค่นล้มทรราช คืนเสรีภาพแก่ปวงประชา และสถาปนาสาธารณรัฐโรมันเมื่อ 509 ปีก่อนคริสตกาล ถูกจับได้ว่าร่วมกันคิดก่อการกบฏเพื่อล้มล้างระบอบสาธารณรัฐและชิงอำนาจคืนให้กับทาร์ควินิอุส (Tarquinius) กษัตริย์แห่งโรมพระองค์สุดท้าย หลักฐานสำคัญที่มัดตัว ติตุส (Titus) และ ติเบริอุส (Tiberius) อย่างแน่นหนา คือพระราชสาสน์หลายฉบับของกษัตริย์ทาร์ควินิอุสที่ส่งตรงถึงพี่น้อง 2 คนนี้ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า บรูตุส ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งกงสุล ประมุขแห่งโรม เป็นผู้อ่านคำพิพากษาโทษบุตรชายทั้งสองด้วยตัวเอง ติตุสและติเบริอุสถูกลงโทษด้วยการจับมัดไว้กับหลักและเฆี่ยนด้วยแซ่ จากนั้นจึงถูกนำตัวไปประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ ท่ามกลางสายตาประชาชนนับพันนับหมื่นบรูตุสเฝ้ามองกระบวนการลงโทษเลือดเนื้อเชื้อไขของตนเองด้วยสีหน้าอันเรียบเฉยและไม่แสดงอาการหวั่นไหวใดๆ ให้ผู้ใดเห็น ทั้งๆ ที่ภายในใจสะอื้นไห้ด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว

ดาวิด์เลือกนำเสนอภาพเหตุการณ์หลังจากการประหารติตุสและติเบริอุส เมื่อเหล่าลิกเตอร์ เจ้าหน้าที่ประจำตัวกงสุล แบกร่างอันไร้วิญญาณของบุตรชายทั้ง 2 คนเข้ามาในบ้าน บรูตุสกำลังนั่งจมอยู่กับความโศกเศร้าภายใต้เงามืดของเทวรูปแห่งโรม (ภาพที่ 2) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนการเสียสละอันใหญ่หลวงของวีรบุรุษแห่งโรม ผู้ยอมพลีชีพบุตรชายอันเป็นที่รักทีเดียวพร้อมกันถึง 2 คนเพื่อแลกกับการดำรงอยู่ของสาธารณรัฐ ถึงแม้ใบหน้าอันเคร่งขรึมของบรูตุสจะไม่แสดงอาการทุกข์โศก แต่มือซ้ายที่กำจดหมายซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญไว้แน่น อีกทั้งอาการเกร็งของเท้าทั้งสองข้างที่วางไขว้กัน ก็เผยให้เห็นความทุกข์โศกที่อัดแน่นภายในใจของประมุขแห่งโรม บรูตุสวางข้อศอกขวาบนฐานเทวรูป มือและนิ้วที่หันเข้าหาศีรษะ บ่งบอกถึงอาการของผู้ที่ตกอยู่ในห้วงคิดคำนึง

ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งของภาพ ท่ามกลางแสงสว่างอันเจิดจ้า ดาวิด์นำเสนอภาพอันน่าเศร้าสังเวชของกลุ่มสตรี เมื่อได้เห็นร่างอันไร้วิญญาณของสองพี่น้องถูกหามเข้ามาภายในบ้าน (ภาพที่ 3) ผู้เป็นมารดาร่ำไห้น้ำตานองหน้า เธอยกแขนทอดไปข้างหน้าราวกับจะเอื้อมมือไปสัมผัสร่างบุตรชายอันเป็นที่รัก แขนซ้ายของเธอโอบประคองร่างบุตรสาวที่สิ้นสมประดีด้วยความเศร้าสะเทือนใจ ขณะที่บุตรสาวอีกคนหนึ่งยกมือทั้งสองข้างขึ้นบังสายตาให้พ้นจากความประหวั่นพรั่นพรึงต่อภาพอันน่ากลัวที่เห็นอยู่เบื้องหน้า
รายละเอียดจากภาพที่ 1
เรื่องราวการเสียสละประโยชน์ส่วนตนด้วยการตัดสินใจอย่างมั่นคงและเด็ดขาดเพื่อธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายบ้านเมืองก็เคยมีปรากฏในประวัติศาสตร์ไทยด้วยเช่นกัน เมื่อครั้งที่ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี / พ.ศ. 2320-2392) ขุนพลแก้วในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม่ทัพไทยผู้สร้างชื่อเสียงเกริกไกรในสงครามกับเขมร ลาว และญวน ได้รับแจ้งพร้อมหลักฐานแน่นหนาว่า นายสนิทหรือแสง มหาดเล็กหุ้มแพร บุตรชายของท่าน ลักลอบค้าฝิ่น ซึ่งเป็นความชั่วที่รัชกาลที่ 3 ทรงรังเกียจยิ่งนัก เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงมีบัญชาให้จับตัวบุตรชายมาลงโทษโดยการมัดมือมัดเท้าโยงกับหลักปักคา และให้ราชมัลทะลวงฟันเฆี่ยนหลัง 100 ที แต่หลังจากเฆี่ยนไปได้ 84 ที นายสนิทก็สลบคาหวายอยู่กับคา จมื่นสรรเพชรภักดี (ปาน) บุตรชายอีกคนหนึ่งของท่าน จึงนำความไปกราบเรียนท่านเจ้าพระยาว่า ถ้าต้องเฆี่ยนอีก 16 ที จนครบ 100 ทีตามคำบัญชาของท่าน เห็นทีนายสนิทจะตายในคา ท่านกลับตอบว่า “ตายก็ช่างมันเถิด จะได้ไปเกิดใหม่ให้เป็นคนดีๆ” อันที่จริงในวันที่นายสนิทถูกลงโทษ มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่สนิทสนมกับท่านเจ้าพระยาตั้งใจจะไปขอท่านยกโทษให้นายสนิท แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาท่านรู้ทัน จึงได้พูดกันเอาไว้ก่อน ดังนี้

“เราเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ ต่างพระเนตรพระกรรณล้นเกล้าล้นกระหม่อม เราเห็นว่าผู้ใดเป็นเสี้ยนหนามหลักตอต่อทางราชการแผ่นดินแผ่นทราย ประพฤติผิดพระราชกำหนดกฎหมายแล้ว เรามีอำนาจอันชอบธรรมที่จะลงโทษผู้กระทำผิดได้เช่นครั้งนี้อ้ายแสงประพฤติผิดกฎหมายลักลอบขายฝิ่น ที่เป็นของต้องห้ามตามพระราชประสงค์นั้น เราจึงจะลงโทษเฆี่ยนหลังอ้ายแสง 100 ที ตามมีในพระราชบัญญัติในรัชกาลปัจจุบันนี้ ถ้าผู้ใดไม่เป็นคนทนสาบานต่อน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแล้ว คงจะไม่มาเกี่ยวข้องขัดขวางทางที่จะลงโทษอ้ายแสงนี้ ถ้าผู้ใดเป็นใจร่วมคิดด้วยอ้ายแสงผู้กระทำความผิดแล้ว ผู้นั้นคงจะมากีดขวางขัดข้องด้วยการจะลงโทษอ้ายแสงนี้บ้าง”

เมื่อความเรื่องนี้ทราบถึงพระกรรณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงตรัสว่า “พี่บดินทรแกฉลาดล้นเหลือ แกพูดเผื่อแผ่เกียดกันกั้นกางเสียก่อนหมดแล้ว” แล้วทรงพระสรวล ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อนายสนิทมหาดเล็กหุ้มแพรเข้าเฝ้าใกล้พระแท่นบรมราชอาสน์ ช่วงนั้นยังเป็นฤดูร้อน ข้าราชการจึงไม่ได้สวมเสื้อเข้าเฝ้าตามพระราชนิยม รัชกาลที่ 3 ทอดพระเนตรเห็นแผลที่หลังนายสนิทเป็นรอยหวายแตกยับเหมือนสับฟากสับเขียง ทรงพระสังเวชสลดพระราชหฤทัยในความเด็ดขาดและซื่อตรงต่อหน้าที่ของเจ้าพระยาบดินทรเดชายิ่งนัก จึงทรงมีพระราชดำรัสสั่งขุนธนศักดิ์ว่า “ไอ้ธนศักดิ์ มึงเอาเงิน 5 ชั่งในคลังให้แก่อ้ายแสงมันไปเจียดยามารักษาแผลที่หลังมันด้วย”

เรื่องราวในประวัติศาสตร์ทั้ง 2 เรื่องที่เล่ามาเป็นอุทาหรณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายบ้านเมืองจะคงความศักดิ์สิทธิ์ได้ก็เพราะมนุษย์ยึดมั่นในคุณธรรมประจำใจ แต่เมื่อใดที่ผู้นำของประเทศเห็นแก่ความอยู่รอดและผลประโยชน์ของโคตรเง่าตนจนกล้าพูดโกหกและบิดเบือนความจริงต่อหน้าสาธารณชนคนทั้งโลกอย่างหน้าด้านๆ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของประเทศชาติและส่วนรวม บ้านเมืองคงต้องถึงกาลพังพินาศฉิบหายเข้าสักวัน

 ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่คนดีผู้รักชาติในบ้านนี้เมืองนี้จะออกมายึดอำนาจอธิปไตยของพวกเราทุกคนคืน และช่วยกันขจัดเสี้ยนหนามหลักตอของแผ่นดินให้สิ้นซาก ก่อนที่พวกมันจะรุมทึ้งทำลายประเทศไทยไปมากกว่านี้

หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ
รายละเอียดจากภาพที่ 1
รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน

จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม

 จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)

ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück

ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และเด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย

พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน 

พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย

ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD

เมื่อ พ.ศ. 2549 เคยมีผลงานหนังสือ "ศิลปะคลาสสิก" ซึ่งแต่งขึ้นจากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี

และ พ.ศ. 2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ "เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี" ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา


ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่าความรู้ที่มีไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ในรั้วสถาบันการศึกษา

ติดตามอ่าน ...108-1000 - ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์  ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ www.facebook.com/arteyeviewnews
กำลังโหลดความคิดเห็น