xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมชาติกับความน่าประหลาดใจ : แอชลีย์ วินเซนต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : Nature Impressions  โดย   แอชลีย์ วินเซนต์
Olive-Backed Sunbird
ผมรู้สึกเสมอว่า ธรรมชาติรอบตัวมักจะแอบซุกซ่อนเซอร์ไพรซ์ไว้จนทั่ว หากเราจะลองให้เวลาตัวเองสักนิด เพื่อมองหามันบ้าง เราก็อาจจะพบเจอกับความน่าประหลาดใจได้ไม่ยากนักนะครับ บางครั้งพระแม่ธรณีก็ดูเหมือนจะพยายามหาทางสื่อสารกับเราด้วยซ้ำ ไม่ว่าพวกเราจะมัวยุ่งวุ่นวายกับชีวิตประจำวันจนดูเหมือนปิดกั้นกับสรรพสิ่งรอบตัวกันมากแค่ไหนก็ตาม

ผมจัดให้ตัวเองอยู่ในกลุ่ม“คนรักสัตว์” นะครับ แต่ความรักสัตว์ของผมก็ค่อนข้างจะมีความลำเอียงอยู่บ้าง“สัตว์ตระกูลแมว” เป็นที่หนึ่งในรายการบรรดาสัตว์สุดโปรดของผมตลอดกาล ส่วน“แพลงก์ตอน” เป็นกลุ่มสัตว์ที่ผมแทบจะไม่ได้ให้ความใส่ใจกับพวกมันเลยสักนิดเดียว

ผมไม่ได้มีใจที่เป็นอคติกับพวก“แพลงก์ตอน” (http://www.sa.ac.th/biodiversity/contents/2plankton/chapter_2.html) นะครับ ผมรู้ดีว่า แพลงก์ตอนมีคุณค่ามหาศาลและเป็นห่วงโซ่อาหารที่จำเป็นอย่างยิ่งของเหล่าปลาวาฬ และสัตว์น้ำแทบทุกชนิดจะมีชีวิตอยู่โดยปราศจากพวกมันไม่ได้เลย

แต่ถ้าผมจะต้องเลือกใช้วันเวลาของผม ระหว่างกับพวกแพลงก์ตอนที่ดูมีอัธยาศัยดีมาก หรือกับสัตว์ตระกูลแมวใหญ่ที่อาจจะมีก้าวร้าวอยู่บ้าง ผมว่าคุณน่าจะเดาออก ว่าสัตว์กลุ่มไหน ที่จะสามารถทำให้หัวใจของผมเต้นแรงได้มากกว่ากัน 555
Brown-Throated Sunbird
Marico Sunbird
“นก” เป็นสัตว์ที่เคยอยู่ในระดับท้ายๆในการจัดลำดับสัตว์ที่น่าสนใจในความชอบส่วนตัวของผม มันเป็นอย่างนั้นเรื่อยมา จนถึงบ่ายวันหนึ่งในปี ค.ศ 2008

มันเป็นบ่ายที่ผมรู้สึกว่า ไม่สามารถจะละเลยต่อเสียงร้องสูงๆซ้ำๆที่กู่ร้องมาจากสวนดอกไม้ของคนข้างบ้านได้อีกต่อไปแล้ว เสียงร้องซ้ำๆนั้นทำลายสมาธิของผมที่กำลังจดจ่ออยู่กับงานที่กำลังทำอยู่อย่างสิ้นเชิง

ปีนั้นผมเพิ่งจะซื้อเลนส์ขยาย 100-400 mm ของแคนนอนเป็นตัวแรก และผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า หากผมจะลองใช้กล้องกับเลนส์ตัวนี้มองหาที่มาของเสียง ผมจะได้เห็นอะไรบ้างหรือเปล่า

ผมตั้งกล้องไปที่จุดกำเนิดของเสียง และผมก็เห็นดอกไม้สั่นไหวเบาๆ ผมเพ่งสายตามองหาตัวการของเหตุการณ์ทั้งหมด และทันใดนั้น ผมก็ได้เห็นความงามที่มีสีเหมือนรุ้งกระพริบออกมาจากปีกของนกน้อยตัวหนึ่ง วินาทีนั้น ความรู้สึกหลงใหลที่มีให้กับนก ก็ประทุขึ้นในความรู้สึกของผมอย่างห้ามไว้ไม่ได้
 
ภาพที่ผมนำมาแบ่งปันกับคุณใบแรกนี้ ไม่ใช่นกตัวเดียวกันกับที่ผมเล่าหรอกนะครับ ผมต้องบอกความจริงกับคุณด้วยว่า ผมต้องใช้เวลาหลังจากนั้นอีกตั้งพักใหญ่เลยล่ะครับ กว่าที่ผมจะสามารถถ่ายภาพนกให้ออกมาดูดี จนกล้านำมาเสนออย่างนี้ แต่มันเป็นนกพันธุ์เดียวกันครับ ชื่อของมันคือ “นกกินปลี อกเหลือง” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnyris Jugularis)ภาพนี้ผมถ่ายได้ตอนที่ไปเที่ยว “เกาะช้าง” กับครอบครัว
 

หลังจากที่ผมได้สังเกตเห็นรายละเอียดของนกเป็นครั้งแรกนั้น ผมก็อดที่จะคอยมองหาที่มาของเสียงร้องอื่นๆด้วยไม่ได้ ผมเคยรู้สึกรำคาญและเสียสมาธิจากเสียงร้องเรียกของพวกมันหลายครั้ง ผมไม่เคยได้ใส่ใจหรือชื่นชมความงามของสีสันบนปีกของพวกมันเลยสักนิด ผมเสียโอกาสไปมากเหลือเกิน ที่จะน้อมรับของกำนัลที่ธรรมชาติมอบให้อย่างเต็มใจ

เช้าวันรุ่งขึ้น ผมออกไปหาซื้อหนังสือรวบรวมพันธุ์นกจากทั่วโลกเป็นเล่มแรก(และอีกหลายต่อหลายเล่มในเวลาต่อมา) ผมได้เรียนรู้ว่า ทุกประเทศต่างก็มีนกประจำถิ่นและนกย้ายถิ่น ที่อพยพไปมาอยู่ทั่วโลกแตกต่างกันมากกว่า10,000 สายพันธุ์ และที่เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจเหลือเกิน ที่เมืองไทยถูกระบุว่า มีนกประจำถิ่นและนกย้ายถิ่นที่อพยพผ่านมาอาศัยอยู่มากกว่า 980 สายพันธุ์

ตอนที่ได้ข้อมูลจากหนังสือมาใหม่ๆ ผมจะคอยเปิดหูเปิดตาไว้ด้วยความตั้งใจเสมอ ไม่ว่าผมจะอยู่ที่ไหน ผมจะพยายามเก็บภาพถ่าย และจะพยายามระบุให้ได้ว่า นกที่ผมได้พบเจอมา มีชื่อเรียกว่าอย่างไรบ้าง ผมคิดว่า ผมเริ่มจะจำไม่ไหว และรู้สึกยอมแพ้ ก็ตอนที่รายชื่อของนกที่ผมพยายามจะจำใกล้ถึงจำนวน 300 เต็มที

เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ผมก็เริ่มรู้สึกว่ามีความลำเอียงเกิดขึ้นในใจอีกครั้ง ผมไม่ได้รู้สึกโปรดปรานนกทุกตัว ผมจะรู้สึกชื่นชอบพวกนกที่มีสีสันชัดเจนเท่านั้น และถึงจะมีนกหลากหลายสายพันธุ์ที่มีสีสันแตกต่างสวยงาม แต่ผมก็ได้มอบอันดับที่หนึ่ง “นกน้อยในดวงใจของผม”ให้กับ “นกกินปลี” ไปซะแล้ว

ผมคิดว่า มันน่าสนใจมากนะครับ ที่ธรรมชาติเลือกมอบความตระการตากว่าให้กับสัตว์เพศผู้หลายชนิด (และผู้สร้างก็คงจะมีเหตุผลที่ดีแล้ว ที่ไม่ได้ให้สิทธิ์เดียวกันนี้ต่อมนุษย์ 555) ยกตัวอย่างเช่น แผงขนบนคอของสิงโตตัวผู้ ที่มองแล้วดูแล้วน่าเกรงขาม ยิ่งใหญ่สมกับเป็นเจ้าป่ามาก และในกรณีของ “นกกินปลี” พวกตัวผู้นี้จะมีสีสันชัดเจนสวยงามกว่าพวกตัวเมียมากเลยล่ะครับ

หลากสีของพวกตัวผู้มีไว้เพื่อดึงดูดตัวเมียในฤดูจับคู่ ส่วนตัวเมียจะมีเพียงขนสีเหลืองอ่อนๆแค่นั้นเอง ลองดูตามลิงค์นี้นะครับ

(http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87)

เมื่อ 300 ล้านปีมาแล้ว เชื่อกันว่าทุกทวีปทั่วโลกเคยอยู่ติดกันเป็นผืนแผ่นดินเดียวเรียกว่า ซุปเปอร์คอนทิเน็น (Super Continent) หรือทฤษฎี Pangaea 100 ล้านปีต่อมา เกิดการเคลื่อนตัวของธรรมชาติจนแผ่นดินแตกแยกออกเป็นหลายทวีป ดังที่เราได้เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้

หากคุณมองดูที่แผนที่โลก และลองสังเกตที่ความแตกต่างตรงขอบตะวันออกทางด้านเหนือและทางใต้ของทวีปอเมริกา กับขอบทางตะวันตกของทวีปอัฟริกา คุณก็คงจะจินตนาการจนเห็นภาพได้ไม่ยากหรอกครับ ว่าครั้งหนึ่งแผ่นดินนี้เคยอยู่ติดกันยาวเป็นผืนเดียว

การแยกตัวของแผ่นดิน ได้แบ่งแยกสายพันธุ์ของสัตว์หลายชนิดออกจากกันด้วยครับ โดยคัดแยกจากวงจรการวิวัฒนาการ ผมขอยกตัวอย่างจากสัตว์ตระกูลแมวและพวกนกให้คุณลองดูเป็นตัวอย่างนะครับ เสือจากัวร์ จะถูกค้นพบตามท้องถิ่นของอเมริกาใต้ ในขณะที่เสือดาวที่มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกันมากจะถูกพบเห็นที่อัฟริกาและเอเชียเท่านั้น

เช่นเดียวกันกับ “นกฮัมมิ่งเบริ์ด” ที่คุณจะสามารถพบเห็นทั่วไปในอเมริกา และในอัฟริกาและเอเชีย เราก็มี “นกกินปลี”ที่มองดูแล้วคล้ายกันมาก ทั้งขนาดของรูปร่าง สีสัน และลักษณะนิสัย แต่พวกมันกลับถูกแยกสายพันธุ์ให้อยู่ต่างตระกูลกันไปเลย
White-Bellied Sunbird
ที่ผ่านมา ผมมีวาสนามากพอ จนได้เดินทางไปตามเก็บภาพถ่ายของนกกินปลีไว้หลายสายพันธุ์เลยครับ ทั้งจากที่เมืองไทย มาเลเชีย อัฟริกาใต้ เกาะบอร์เนียว และจากเกาะมาดากัสก้า

ภาพที่ผมนำมาแบ่งปันกับทุกท่านในอาทิตย์นี้ เป็นภาพจากเมืองไทยสองภาพ “นกกินปลีอกเหลือง” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnyris Jugularis) และ “นกกินปลีคอน้ำตาล” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Anthreptes Malacensis) จากอัฟริกาใต้สองภาพ“นกกินปลีดำม่วง” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnyris MariQurensis) และ “นกกินปลีอกขาว” ((ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnyris Talatala)

หากคุณไม่เคยให้ความสำคัญต่อเสียงร้องของนกมาก่อนเลย ผมก็ได้แต่หวังว่า ภาพถ่ายและประสบการณ์ของผม อาจจะช่วยให้คุณมีมุมมองต่อพวกนกต่างออกไปจากเดิมบ้าง หากคุณพอจะมีโอกาส อย่าลืมหยุดฟังเสียงร้องเรียกของนกบ้าง อย่าลืมหยุดมองหาความงามที่ธรรมชาติอยากจะมอบให้กับพวกเราโดยไม่เคยคิดราคาด้วยนะครับ

ขอบคุณมากครับ ที่สละเวลาอ่านบทความของผม ผมขอให้ทุกท่านมีความสุข และมีรอยยิ้มกันทุกวันครับ พบกันใหม่อาทิตย์หน้า

รู้จัก...แอชลีย์ วินเซนต์

ชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอล ที่ผันตัวเองจากการทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท มาทำงานเป็นช่างภาพถ่ายภาพสัตว์ป่าอย่างเต็มตัว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน นอกจากเปิดร้าน Nature Impressions จำหน่ายผลงานของตัวเอง ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่กล่าวกันว่า เป็นสวนสัตว์เปิดที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก เขายังทำงานให้กับสวนสัตว์แห่งนี้ ในฐานะอาสาสมัครเก็บภาพสัตว์ป่าไปพร้อมกันด้วย

ผลงานภาพถ่าย “บุษบา” เสือโคร่งเพศเมีย ถ่ายจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ของแอชลีย์ได้รับการประกาศให้เป็น สุดยอดภาพถ่าย National Geographic 2012

เสมือนบอกย้ำให้กำลังใจช่างภาพหลายๆ คนว่า “ภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ดี ไม่ต้องไปถึงเคนยา”

ติดตามอ่าน ...Nature Impressions โดย  แอชลีย์ วินเซนต์  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
กำลังโหลดความคิดเห็น