ประกาศครบ 1 ทศวรรษอย่างน่าภาคภูมิใจ สำหรับโครงการประกวดหนังสือดีเด่นระดับชาติ
“เซเว่นบุ๊กอวอร์ด” จัดโดย ซีพี ออลล์ ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 เวทีที่มีบทบาทสำคัญในการแจ้งเกิดนักเขียนคุณภาพมากมาย พร้อมสร้างสรรค์หนังสือดีมีประโยชน์สู่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง
เพื่อตอกย้ำความสำเร็จในการครบวาระ 10 ปี ของการเชิดชูนักเขียน และรางวัลทรงคุณค่าของนักเขียนไทยมาตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน โครงการ “เซเว่นบุ๊กอวอร์ด” ครั้งที่ 10 ในปีนี้ จึงจัดงานเสวนาครั้งสำคัญภายใต้หัวข้อ “10 ปี เซเว่นบุ๊กอวอร์ด มองอนาคตนักเขียนไทยในทศวรรษหน้า” เพื่อระดมหลากหลายความเห็น และมองอนาคตของวงการนักเขียนในอีก 10 ปีข้างหน้า สืบเนื่องจากอนาคตอันใกล้ หากเปิดเสรีอาเซียนแล้ว อาจมีวรรณกรรมต่างชาติเข้ามามากขึ้น
เจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย บอกว่า ในอดีตส่วนใหญ่การเขียนจะมีมิติเดียว แต่ปัจจุบันเห็นว่า งานเขียนไทยมีมิติมากขึ้น ดูมีชีวิตชีวา มีบุคลิก และสามารถสร้างตัวละครที่น่าสนใจมากขึ้น ส่วนนักเขียนที่สร้างผลงานด้วยวิธีคิด ก็สามารถนำสาระ วิธีการหรือเทคนิคนำหน้า ทำให้เกิดการขยายไปทั้งสองส่วน และเกิดมิติการเขียนที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งตนมองว่า นี่คือสังคมการอ่านที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นทั้งสีสันใหม่ หรือความแตกต่างในการอ่านของคนแต่ละคนที่มีมากขึ้น
ขณะที่ ผาด พาสิกรณ์ นักเขียนรางวัลชนะเลิศ ประเภทนวนิยาย เซเว่นบุ๊กอวอร์ด ครั้งที่ 7กล่าวว่า งานเขียนในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งไลฟ์สไตล์ของการอ่านก็เปลี่ยนไป คนมักนิยมอ่านอะไรที่สั้นๆ มากขึ้น ดังนั้น การเขียนในอนาคตคิดว่า นักเขียนควรมีข้อมูลที่น่าสนใจ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานตนเองให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
ด้าน เข็มพลอย -ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง นักเขียนรางวัลชนะเลิศ ประเภทนวนิยาย เซเว่นบุ๊กอวอร์ด ครั้งที่ 9 ให้ข้อคิดที่น่าสนใจไว้ว่า การสนับสนุนเพื่อให้คนหันมาอ่านหนังสือไทยมากขึ้น ควรมีเป้าหมาย 3 อย่างคือ ราคาหนังสือไม่ควรแพงเกินไป , นักเขียนควรพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น และ นักเขียนต้องยอมรับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนาในงานมากยิ่งขึ้น ทำให้รู้ว่าควรจะเดินไปทิศทางไหนต่อไป
สำหรับ เซเว่นบุ๊กอวอร์ด ในปีนี้ มีผลงานเขียนส่งเข้าประกวดเกือบ 300 ผลงาน กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะประกาศผลได้ประมาณกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.pr7eleven.com