xs
xsm
sm
md
lg

น้ำ: ตำนานรักแสนโรแมนติกและปริศนาแห่งสวนลอยในมหานครบาบิโลน 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

>>>คอลัมน์ : 108-1000 - ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน
ภาพถ่ายโลกจากอวกาศแสดงบรรยากาศ ผืนแผ่นดิน และมหาสมุทร
สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เมื่อปลายปี 2554 และต้นปี 2555 บ้านเมืองเราต้องพบกับวิกฤตอันใหญ่หลวงจากอุทกภัย

มาปีนี้ ความบอบช้ำยังไม่ทันได้รับการเยียวยา น้ำตายังไม่ทันแห้งเหือด พี่น้องทางภาคเหนือและอีสานสามสิบกว่าจังหวัดยังต้องมาพบกับภัยแล้งเข้าอีกอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการบริหารจัดการน้ำที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าของรัฐบาล
มหานครบาบิโลนในจินตนาการ
ปัญหาเรื่องน้ำมากน้ำน้อย เป็นเรื่องที่มนุษย์ในทุกอารยธรรมคิดหาหนทางแก้ไขมานานนับพันปี ดังนั้น ดิฉันจึงใคร่เล่าเรื่องราวมหัศจรรย์พันลึกเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจอันไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษยชาติในทุกยุคทุกสมัย มาให้ทุกท่านได้อ่านเล่นเป็นตอนๆ ไปนะคะ

น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์และทุกสรรพสิ่งที่มีชีวิตบนพื้นพิภพ ถึงแม้ว่าพื้นผิวโลกส่วนใหญ่จะถูกครอบครองโดยทะเลและมหาสมุทรถึงร้อยละ 97 แต่ปริมาณน้ำจืดบนโลกกลับมีไม่ถึงร้อยละ 3 แต่การที่น้ำจืดยังไม่หมดไปจากโลกก็เนื่องจากน้ำมีวัฏจักรชีวิตอันน่าอัศจรรย์ นั่นคือ การที่น้ำสามารถเปลี่ยนสภาพกลายเป็นไอน้ำลอยขึ้นสู่อากาศ โมเลกุลของน้ำจะรวมตัวกันเป็นเมฆลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศประมาณ 9 วัน จากนั้นจึงกลั่นตัวเป็นหยดน้ำกลายเป็นฝน น้ำค้าง หรือหิมะ กลับคืนสู่พื้นพิภพอีกครั้ง

แหล่งน้ำจืดของโลกส่วนใหญ่ถูกขังอยู่บนพื้นดินในรูปแม่น้ำ ลำธาร ห้วย หนอง คลอง บึง ในรูปน้ำแข็งและธารน้ำแข็งบนเทือกเขาสูงหรือบริเวณขั้วโลกเหนือและใต้ รวมทั้งในรูปของน้ำใต้ดิน ประมาณกันว่าร้อยละ 30 ของน้ำจืดทั่วโลกอยู่ในรูปของน้ำบาดาล การที่น้ำจืดเป็นทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่ายิ่ง เพราะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตทุกประเภทบนพื้นพิภพ มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยจึงแสวงหาแหล่งน้ำและเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการน้ำเพื่อประโยชน์สูงสุดของตน ดังนั้น น้ำจึงกลายเป็นเครื่องกำหนดความเจริญทางอารยธรรมของมนุษย์ไปโดยปริยาย

หลังจากที่สังคมมนุษย์เปลี่ยนจากสังคมนักล่ามาเป็นสังคมการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ แหล่งน้ำจึงกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดมนุษย์ให้เข้ามาตั้งหลักแหล่งรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนจากหมู่บ้านกลายเป็นเมือง นับจากนั้นเป็นต้นมา แม่น้ำสายใหญ่ๆ ของโลกจึงได้กลายเป็นพื้นฐานอันมั่นคงของอารยธรรมและเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของอารยธรรมโลก ไม่ว่าจะเป็นอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ในอียิปต์ อารยธรรมบนที่ราบลุ่มรูปพระจันทร์เสี้ยวระหว่างแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส (Tigris and Euphrates) ในเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุในชมพูทวีป หรืออารยธรรมลุ่มแม่น้ำเหลืองในจีน เป็นต้น

ความพยายามของมนุษย์ในอารยธรรมโบราณที่ต้องการควบคุมวัฏจักรของน้ำเพื่อรักษาแหล่งน้ำของตน นำไปสู่พัฒนาการทางเทคโนโลยีและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมที่สร้างความบันเทิงใจจากทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์และคุณลักษณะของอารยธรรมโลกไปตลอดกาล
มหานครบาบิโลนริมฝั่งแม่น้ำยูเฟรติสในจินตนาการ
สวนลอยแห่งบาบิโลน สิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 7 ของโลกโบราณ คือตัวอย่างหนึ่งอันน่าอัศจรรย์ใจในการบริหารจัดการน้ำของมนุษย์เมื่อราว 2,600 ปีล่วงมาแล้ว ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 (Nebuchadnezzar II) กษัตริย์แห่งนครบาบิโลนทรงมีพระบัญชาให้สร้างสวนสวรรค์นี้ขึ้นเมื่อประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาลเพื่อประทานเป็นของขวัญแก่ พระนางเอมิทิส (Amytis) พระมเหสีสุดที่รักของพระองค์เพื่อเป็นการปลอบขวัญให้ทรงหายคิดถึงบ้าน

เนื่องจาก แคว้นมีเดีย (Media) มาตุภูมิของเจ้าหญิง ซึ่งอยู่เหนืออาณาจักรเปอร์เชียขึ้นไป เขียวชอุ่มไปด้วยป่าไม้และขุนเขา อันต่างไปจากดินแดนซึ่งเป็นที่ราบและแห้งแล้งแบบทะเลทรายของบาบิโลนอย่างลิบลับ

จากบันทึกของ ดิโอโดรุส ซิคูลุส (Diodorus Siculus) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก ที่เขียนขึ้นราว 50 ปีก่อนคริสตกาล กล่าวถึงสวนลอยแห่งบาบิโลนไว้ดังนี้ อุทยานนี้มีความยาวด้านละ 120 เมตร ทางขึ้นสู่สวนมีลักษณะลาดเอียงขึ้นไป และสวนถูกสร้างเป็นชั้นๆ สูงขึ้นไปแบบขั้นบันได มองดูคล้ายอัฒจันทร์ของโรงละคร

จากบันทึกของ ฟิโลแห่งไบแซนตุม (Philo of Byzantum) ดิโอโดรุส ซิคูลุส และสตาร์โบ (Strabo) นักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน ผู้มีชีวิตระหว่าง 250-50 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งอ้างอิงถึงบันทึกเกี่ยวกับอุทยานแห่งนี้ของ เบรอสโซส (Berossos) นักบวชชาวบาบิโลเนียน ผู้มีชีวิตราว 350 ปีก่อนคริสตกาล และคเตเซียส์แห่งคนิดุส (Ctesias of Cnidus) แพทย์ชาวกรีก ผู้มีชีวิตราว 400 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้ภาพลักษณ์ของสวนลอยแห่งนครบาบิโลน ปรากฏเป็นมโนภาพอันกระจ่างแจ้งขึ้นในยุคปัจจุบัน
มหานครบาบิโลนยามรุ่งเรือง (ราวศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล) ในจินตนาการของศิลปิน
สวนลอยแห่งบาบิโลนมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความยาวด้านละ 120 เมตร และสร้างสูงขึ้นไปเป็นชั้นๆ แบบขั้นบันได ความสูงทั้งหมดประมาณ 25-30 เมตร ผนังที่หนามากและเสาก่อด้วยอิฐเผา ชั้นล่างที่ฝังท่อไว้ดาดด้วยน้ำมันดินจำนวนมาก ชั้นที่ 2 ก่อด้วยอิฐเผาสอปูน ชั้นบนสุดปูด้วยแผ่นตะกั่วหนาเพื่อกันความชื้นจากใต้ดินไม่ให้ผ่านขึ้นมาได้ จากนั้นจึงมีการขนดินจำนวนมากขึ้นมาถมเพื่อปลูกต้นไม้และดอกไม้นานาพรรณ

ถึงแม้ว่าสถาปนิกชาวบาบิโลเนียนจะมีประสบการณ์สูงในการก่อสร้างอาคารอันใหญ่โตมโหฬารมาจำนวนนับไม่ถ้วน แต่โครงการก่อสร้างอุทยานขนาดใหญ่ในรูปแบบนี้ก็ท้าทายความสามารถด้านการออกแบบโครงสร้างของสถาปนิกไม่น้อย เพราะปัญหาสำคัญอันดับแรกที่ต้องคิดคำนวณคือ น้ำหนักจำนวนมหาศาลที่มาจากดิน ต้นไม้ และน้ำ นอกเหนือจากน้ำหนักของตัวสถาปัตยกรรม ซึ่งกดทับลงบนฐานของอาคาร

สถาปนิกของพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 ได้นำโครงสร้างระบบเพดานโค้งมาใช้ในการแก้ไขปัญหานี้ สำหรับปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ การจัดการเรื่องระบบน้ำ ถึงแม้ว่าอุทยานนี้จะตั้งอยู่ใกล้กับริมฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส แต่สวนที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่โตมโหฬาร และมีลักษณะก่อตัวสูงขึ้นไปเป็นชั้นๆ แบบขั้นบันไดในระดับความสูงถึง 30 เมตรแบบนี้ ย่อมต้องการเทคโนโลยีในการทดน้ำจากแม่น้ำขึ้นไปบนอุทยานให้เพียงพอกับความต้องการน้ำจำนวนมหาศาลในแต่ละวันสำหรับใช้ในการรดน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับผิวดินและต้นไม้ดอกไม้ รวมทั้งหล่อเลี้ยงน้ำพุและน้ำตกจำลองจำนวนมากมายที่กระจายตัวอยู่ทั่วไปบนสวนพฤกษชาติแห่งนี้
 เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดนักโบราณคดีจึงสันนิษฐานเกี่ยวกับเรื่องระบบน้ำไว้หลายประการ เช่น การใช้กำลังคนหรือสัตว์ในการขนน้ำขึ้นไปบนสวน หรืออาจจะใช้ระหัดสูบน้ำของอาร์คิมิดิส (Archimedes screw) ที่กลไกการทำงานเกิดจากการหมุนตัวของแท่งเกลียวในกระบอกสูบ ทดน้ำจากแม่น้ำขึ้นไปบนสวนโดยผ่านระบบท่อซึ่งมีขนาดและระดับความลาดเอียงของท่อที่ต่างกันเพื่อแจกจ่ายน้ำไปตามส่วนต่างๆ ทั่วทั้งอุทยาน

เรื่องราวเกี่ยวกับสวนลอยแห่งมหานครบาบิโลนยังไม่จบเพียงเท่านี้ อาทิตย์หน้ายังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการขุดค้นทางโบราณคดีที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังอีก อย่าลืมคลิกเข้ามาอ่านต่อในอาทิตย์หน้านะคะ

หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ
มหานครบาบิโลนในจินตนาการ
สวนลอยแห่งบาบิโลนในจินตนาการของศิลปินสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16
สวนลอยแห่งบาบิโลนในจินตนาการ
สวนลอยแห่งบาบิโลนในจินตนาการ
ระหัดสูบน้ำของอาร์คิมิดิส (Archimedes screw)
รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน

จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม

 จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)

ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück

ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และ เด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย

พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน 

พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย

ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD

เมื่อ พ.ศ.2549 เคยมีผลงานหนังสือ "ศิลปะคลาสสิก" ซึ่งแต่งขึ้น จากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี

และ พ.ศ.2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ "เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี" ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬ ใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา


ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่า ความรู้ที่มี ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ ในรั้วสถาบันการศึกษา

ติดตามอ่าน ...108-1000 - ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์  ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ www.facebook.com/arteyeviewnews
กำลังโหลดความคิดเห็น