ขึ้นชื่อว่าลูกหลานจีนสายเลือดมังกร ย่อมเป็นที่รู้กันว่า ล้วนถูกปลูกฝังเรื่องประเพณีและความกตัญญูรู้คุณเป็นใหญ่ แม้จะอพยพจากแผ่นดินเกิดไปไกลมากน้อยเพียงใด พวกเขาจะยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ของบรรพบุรุษ ที่สืบทอดกันมาหลายพันปีไว้อย่างเหนียวแน่น ยิ่งครอบครัวใหญ่มีฐานะมั่งคั่งเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทยด้วยแล้ว ก็ยิ่งเคร่งครัด เฉกเช่น ครอบครัวของ คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล และ บุญเกียรติ โชควัฒนา
คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน “ตรุษจีน” คือวันสำคัญของครอบครัว
คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล บอกว่า วันตรุษจีนเป็นอีกวันสำคัญของ ครอบครัววัธนเวคิน และ อังอุบลกุล ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ที่ลูกหลานจะมารวมตัวกันทุกปี นอกเหนือจากวันเกิดของ คุณพ่อเกียรติ (17 พฤศจิกายนของทุกปี) โดยวันตรุษจีนของทุกปี ยังอยู่ในความทรงจำของคุณหญิงมาตลอด
“จะมีพี่น้องญาติมิตรมากมายมาที่บ้านอวยพรซึ่งกันและกัน คุณพ่อซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในสังคม ก็จะมีคนมาอวยพร เราก็จะได้อั่งเปามากมาย มีการทานอาหารร่วมกัน ถือเป็นงานสำคัญของที่บ้าน มีคณะสิงโต และงิ้วมาร้องเพลงให้พร เพื่อเป็นสิริมงคล และคืนก่อนวันตรุษจีน ก็จะมีการทานข้าวในหมู่ญาติพี่น้อง และแจกอั่งเปา ตกดึกฤกษ์งามยามดี ก็จะมีการไหว้เทพยดาฟ้าดิน ตามทิศที่เป็นมงคลของแต่ละปี รุ่งขึ้นก็จะไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ สมัยก่อนหยุดยาว 3-5 วัน บางแห่งก็หยุดและปิดทำการกันเป็นอาทิตย์” คุณหญิงหลี ย้อนรำลึกให้ฟัง
“รุ่นของดิฉันก็ยังให้ความสำคัญกับเทศกาลตรุษจีนอยู่ และต้องอยู่ร่วมทานข้าวในคืนวันไหว้เหมือนทุกปี พร้อมกับมอบอั่งเปาตามประเพณี ตลอดจนไหว้เจ้าด้วย ในสมัยอดีตบางปียังตามคุณพ่อคุณแม่ไปไหว้ตามศาลเจ้าสำคัญๆ เพื่อเป็นสิริมงคลบ้าง เพราะคุณพ่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลศาลเจ้าอยู่แห่งหนึ่ง แต่ช่วงหลังๆ นี้ก็ไหว้อยู่ที่บ้าน ดิฉันนับเป็นรุ่นที่ 3 ตั้งแต่ที่คุณย่าพาคุณพ่อมาอยู่ที่เมืองไทย เมื่อท่านอายุ 7 ขวบ และขณะนี้ลูกหลานสืบทอดสกุลถึงรุ่นที่ 6 หรือรุ่น 7 แล้วมั้งค่ะ เป็นครอบครัวขยายที่ใหญ่มากหลายร้อยคน และก็หวังให้รุ่นต่อๆ ไปได้ดำรงประเพณีอันดีงามนี้ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น” คุณหญิงหลีกล่าวทิ้งท้าย
บุญเกียรติ โชควัฒนา “ตรุษจีน” คือวันที่รอคอย
บุญเกียรติ โชควัฒนา กรรมการผู้อํานวยการและประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล ทายาทของ เจ้าสัวเทียม โชควัฒนา เจ้าสัวยุคเสื่อผืนหมอนใบ ที่เข้ามาบุกเบิกสร้างอาณาจักรสินค้าอุปโภคบริโภคใหญ่อันดับหนึ่งของเมืองไทย ภายใต้ เครือสหพัฒน์ฯ เล่าย้อนถึงวันตรุษจีนในความทรงจำว่า เป็นวันที่รอคอย เพราะทุกคนในครอบครัวจะมาพบปะสังสรรค์อวยพรปีใหม่กัน พวกเด็กๆ ก็จะเฝ้ารอผู้ใหญ่ที่จะนำอั่งเปามาให้ลูกหลาน
บุญเกียรติ โชควัฒนา
เทศกาลตรุษจีนของตระกูล “โชควัฒนา” เหมือนครอบครัวอื่นทั่วไปคือ มีวันจ่าย วันไหว้ส่งเจ้าที่ขึ้นสวรรค์ และวันไหว้ตรุษจีน ซึ่งถือเป็นวันสำคัญที่สุด เพราะลูกหลานจะมารวมกันที่บ้านของนายห้างเทียม บนถนนสุขุมวิท โดยเริ่มพิธีไหว้เจ้าก่อนจากนั้นก็ไหว้บรรพบุรุษ แล้วเด็กๆ ก็จะเผากระดาษเงินกระดาษทอง ก่อนจะรับประทานอาหารร่วมกัน และรับซองอั่งเปา
“สมัยผมยังเด็กจะได้อั่งเปาจากคุณพ่อ จากครอบครัวของน้าหรืออาที่ประหยัดก็ให้ซองละ 20 บาท แต่อาบางคนใจดีก็จะได้ถึง 100 บาท ซองนี้จะเป็นซองที่ตื่นเต้น เฝ้ารอคอยมาตลอด (หัวเราะ) คือจ้องแต่อั่งเปาอย่างเดียว พอโตขึ้นหน่อยคุณพ่อก็ค่อยๆ เพิ่มให้เป็นซองละ 100 บาท อั่งเปาของคุณพ่อที่ได้มากสุดเลยตอนนั้นคือ 1,000 บาท ถือว่าเยอะมากแบงก์ร้อยเรียงกันเป็นปึก ดีใจมาก ต่อมาพอพวกลูกๆ ทำงานได้แล้วคุณพ่อก็จะหยุด เปลี่ยนมาให้รุ่นหลานแทน”
บุญเกียรติ บอกว่า แม้จะผ่านมาหลายสิบปี แต่การสืบทอดประเพณีตรุษจีนของครอบครัวเขาก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทุกคนตั้งใจสืบสานประเพณีนี้ให้ถึงรุ่นหลัง เพราะรู้ว่าคุณพ่อเป็นคนที่รักษาประเพณี ดังนั้น จะไม่ต้องบอกหรือย้ำ ลูกหลานก็รู้แล้วว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งพวกเขาก็ได้ปฏิบัติตามมาตลอด นอกเหนือจากการไหว้บรรพบุรุษแล้ว บางครอบครัวก็จะนำส้มไปไหว้ญาติผู้ใหญ่อีกด้วย
“คุณพ่อจะสอนตลอดเวลาเรื่อง การกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ซึ่งอันนี้สำคัญ เพราะคนจีนจะถือมากที่สุด ครอบครัวผมไหว้ทั้งตรุษจีน สารทจีน และยึดวันเสียชีวิตของคุณพ่อเป็นวันสำคัญ ที่เราจะมาไหว้บรรพบุรุษ ปู่-ย่า พ่อ-แม่ เท่ากับหนึ่งปีจะไหว้ 3 ครั้ง”
บุญเกียรติยังบอกอีกว่า ปัจจุบันตระกูลโชควัฒนาเติบโตขึ้นมาก ลูกหลานก็มีเยอะขึ้น เวลารวมตัวกันแต่ละครั้ง บ้านหลังใหญ่แคบลงถนัดใจ ดังนั้น จึงใช้วิธีแยกกันไหว้ ไหว้ครอบครัวโชควัฒนา ไหว้ครอบครัวธนสารสิน “ผมคงไม่ย้ำอะไรมากมาย ตรุษจีนก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่างไปเรื่อยๆ ส่วนในอนาคตถ้าลูกหลานจะสานต่อหรือไม่ ก็เรื่องของพวกเขา”