xs
xsm
sm
md
lg

มนุษย์ต่างดาว ในจินตนาการเด็กทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ART EYE VIEW---ลักษณะคล้ายคน แต่ ตัวเขียว หัวโต ตาโต และเคยมาเยือนโลกโดยมากับ จานบิน

เป็นเพียงภาพลักษณ์หนึ่งของ สิ่งมีชีวิตนอกโลก ที่เชื่อว่าอาจมีอยู่จริงแต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ อย่าง มนุษย์ต่างดาว หรือ Alien ในจินตนาการของคนกลุ่มหนึ่งที่อ้างว่าเคยพบ และเป็นภาพลักษณ์ที่เราเคยได้เห็นจนชินตา ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ นิยาย การ์ตูน และ วิดีโอเกม

ดังนั้นเราทุกคนจึงยังสามารถจินตนาการให้มนุษย์ต่างดาวในทัศนะของตัวเองมีภาพลักษณ์ในแบบใดก็ได้

เหมือนกับที่ภาพวาดของเด็กๆจาก 30 ประเทศทั่วโลก ได้บอกกับเราว่า มนุษย์ต่างดาวในจินตนาการของพวกเขาล้วนแตกต่างกันไป

และขณะนี้ถูกนำมาจัดแสดงให้ชมผ่าน นิทรรศการ การเชื่อมต่อทางความคิดสร้างสรรค์ (CONNECTED CREATIVITY) ของ มูลนิธิ CRE8 ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 6 ปีก่อนโดย โอเล่ อุคีนา (Ole Ukena) ศิลปินหนุ่มจากเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ผู้กำลังจะมีผลงานศิลปะชุด "การยอมแพ้ไม่ใช่ทางเลือก" มาจัดแสดงเดี่ยวในเมืองไทยครั้งแรกที่ เซรินเดีย แกลเลอรี่

ก่อนที่ราวต้นปีหน้า ภาพวาดมนุษย์ต่างดาว ของเด็กทั่วโลก ที่โอเล่พยายามรวบรวมให้ได้มากที่สุด จะถูกเผยแพร่ผ่านการตีพิมพ์เป็นหนังสืออีกครั้ง

ศิลปินแนว Conceptual art (ศิลปะเชิงแนวคิด ) อย่างโอเล่ ซึ่งส่วนหนึ่งมีความสนใจทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับเด็กและชุมชนด้วย บอกกับ ART EYE VIEW ว่า การที่มูลนิธิฯนำภาพวาดมนุษย์ต่างดาวของเด็กๆมานำเสนอเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ

เพราะอยากจะให้ผู้ชมได้สัมผัสกับความงามในความหลากหลายของภาพลักษณ์มนุษย์ต่างดาวในจินตนาการของเด็กๆแต่ละคน

“คนเราชอบตัดสินสิ่งต่างๆว่าสิ่งไหนถูกต้องใกล้เคียงความจริงที่สุด แต่เมื่อคุณมาชมมนุษย์ต่างดาวของเด็กแต่ละประเทศ คุณยากที่จะตัดสินว่ามนุษย์ต่างดาวของใครเหมือนที่สุด เพราะขณะนี้ยังไม่มีมนุษย์ต่างดาวที่เหมือนจริง

กิจกรรมนี้จึงทำลายกรอบและกำแพงของความเชื่อที่เราเคยรับรู้มาว่ามนุษย์ต่างดาวหน้าตาเป็นอย่างไร และบอกให้เราได้เข้าใจว่าไม่มีมนุษย์ต่างดาวที่เหมือนจริง เพราะฉะนั้นเด็กทุกคนสามารถที่จะจินตนาการให้มนุษย์ต่างดาวของพวกเขามีหน้าตาแบบไหนก็ได้”

นอกจากโซนของ ภาพวาดมนุษย์ต่างดาว ในนิทรรศการเดียวกัน ยังมีโซนของภาพถ่าย ที่ได้มาจากการที่ โอเล่และอาสาสมัครของมูลนิธิฯ ทำกิจกรรม “แรลลี่ภาพถ่าย” ร่วมกับตัวแทนเด็กและเยาวชนจาก 6 ประเทศ

เมื่อกล้องถ่ายภาพไปตกอยู่ในมือของเด็กแต่ละคน หลังจากนั้นเราจึงได้สัมผัสถึงความหลากหลายของเรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านภาพถ่าย ตามหัวข้อต่างๆที่แต่ละคนได้รับไปเหมือนๆกัน ไม่ว่าจะเป็น นี่คือตัวฉัน สิ่งที่ฉันชอบและไม่ชอบ สีที่ฉันชอบ เพื่อนของฉัน ประเทศของฉัน ความฝันที่ฉันมี สิ่งธรรมดาแต่ถูกฉันทำน่าสนใจขึ้น อะไรที่ทำให้ฉันหัวเราะได้ ฯลฯ

“โซนนี้ อยากให้ผู้ชมได้เห็นความงามในความหลากหลาย ดูจากภาพถ่าย จะเห็นว่าเด็กแต่ละคนมีคำตอบที่แตกต่างกัน ซึ่งเราจะได้เห็นมุมมองของเด็กแต่ละคนว่าเขามองอย่างไร

เมื่อเราเอาภาพถ่ายมาอยู่รวมกัน แม้แต่ละคนจะมีมุมมองที่แตกต่างแค่ไหน งานก็ออกมาดูงดงามและน่าสนใจ”

รวมไปถึงโซน D. A. S. ย่อมาจาก Drawing Animation และ Sound ซึ่งนำเสนอภาพยนตร์แอนนิเมชั่น ที่ร่วมกันสร้างขึ้นโดย เด็กจาก 3 ประเทศ เพื่อเป็นตัวแทนของ ความเป็นไปได้อันไม่สิ้นสุด

อันดับแรก เด็กจากประเทศไทย ทำหน้าที่ วาดตัวละคร ฉากหลัง และส่วนประกอบต่างๆ จากนั้นจึงส่งไปให้เด็กจากลอสแองเจลลิส นำภาพวาดเหล่านั้นไปทำเป็นแอนนิเมชั่น แล้วส่งไปให้เด็กจากโคลอมเบีย ทำการใส่เสียงให้กับอนิเมชั่น

โอเล่ กล่าวว่า กิจกรรมนี้ต้องการสร้างการยอมรับซึ่งกันและกัน

“อยากจะตอกย้ำว่าถึงเด็กๆจะมีความแตกต่างกันอย่างไร แต่พวกเขาสามารถรวมกันได้ เมื่อเด็กไทยวาดรูปเสร็จแล้วส่งไปให้เด็กที่อเมริกา การที่เด็กในอีกประเทศจะทำงานต่อได้ พวกเขาจะต้องยอมรับซึ่งกันและกันก่อน”

DAS Project from CRE8 Foundation on Vimeo.



และโซนสุดท้ายคือ การวาดภาพแบบตีปิงปอง (Ping Pong Paintings)
เป็นกิจกรรมวาดภาพที่ดัดแปลงมาจากกีฬาที่เด็กทั่วโลกรู้จักดี แต่แทนที่จะเป็นการตีลูกปิงปองโต้ตอบกันไปมา ก็เปลี่ยนมาเป็นกิจกรรมที่เปิดพื้นที่ให้คนสองคนผลัดกันวาดภาพลงในกระดาษแผ่นเดียวกัน กระทั่งภาพๆนั้น เสร็จสมบูรณ์

“ถือเป็นกิจกรรมออกกำลังกายทางความคิด เปิดความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆฉันวาดอะไรบางอย่าง หลังจากนั้นเธอวาดอะไรบางอย่าง”

แม้ 4 โซนที่เลือกมา จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ CRE8 เคยนำเสนอผ่านกิจกรรมในหลายประเทศ อย่างไรก็ตามระยะเวลาสั้นๆก่อนจะถึง วันเด็ก (ไทย) โอเล่อยากจะเชิญชวนให้ทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ เพราะทุกโซนล้วนแต่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่า “ได้ใจผู้ชม”

“อยากจะบอกว่าเด็กต่างๆทั่วโลกชอบกิจกรรมนี้ เพราะมีทั้งความคิดสร้างสรรค์ มีความสนุก คนที่มาร่วมจะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม อยากเชิญมาพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และเปิดโลกด้วยกัน”


เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา โอเล่ และอาสามัครคนอื่นๆ ของมูลนิธิฯ ได้ใช้พื้นที่ของ บ้านศิลปินพำนับไทยลีวูด (Thaillywood Artist Residency) จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ จากโรงเรียนหนองเกตุใหญ่

ตลอดช่วงเวลาของการทำกิจกรรมร่วมกัน อยากรู้หรือไม่ว่า เด็กไทยที่ศิลปินนักกิจกรรมเช่นเขา ได้สัมผัสเป็นอย่างไร

“เด็กไทยมีความเป็นเลิศในเรื่องของเทคนิคที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน งานที่ทำมีความสมบูรณ์แบบ

แต่ ข้อที่ยังด้อยกว่าประเทศอื่นๆคือ เรื่องของการคิดนอกกรอบ เด็กไทยจะไม่ค่อยคิดนอกกรอบ เพราะฉะนั้นทุกครั้งก่อนที่มีการทำกิจกรรม

อาสาสมัครจะต้องบอกก่อนว่า เวลาทำงานอย่าดูคนอื่น อย่าลอกคนอื่น พยายามฟังใจของตัวเองว่าอยากจะทำอะไร

เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ประเทศเยอรมนี เทคนิคของเด็กอาจจะไม่ดีมาก แต่ความคิดไม่ค่อยมีอะไรมาปิดกั้น

แต่สิ่งที่ผมมีความประทับใจในเด็กไทยมากๆคือ เด็กจะมีความเคารพในตัวคุณครูสูงมาก เวลาที่ครูสอนจะตั้งใจฟัง ให้ความร่วมมือ เปรียบเทียบกับเวลาที่เราไปทำกิจกรรมที่ประเทศอื่นๆ อาสาสมัครจะต้องเหนื่อยมากๆกับการนำเด็กๆมารวมตัวกันเพื่อฟังในสิ่งที่เราอยากจะบอก อยากจะอธิบาย แต่เด็กไทยน่ารัก มีความเคารพเชื่อฟังสูง”

นิทรรศการ การเชื่อมต่อทางความคิดสร้างสรรค์ (CONNECTED CREATIVITY) วันนี้ -10 มกราคม พ.ศ. 2556 ณ บริเวณโถงชั้น 1 และชั้นห้องสมุด หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
>>CRE8 ศูนย์รวมของอาสาสมัครและศิลปินที่มีเป้าหมายในการเสริมสร้างแรงบันดาลใจและช่องทางให้เด็กๆจากพื้นที่ต่างๆทั่วโลกได้มีโอกาสสื่อสาร และสร้างสรรค์ผลงานร่วมกันอันจะนำไปสู่การแบ่งปันทางความคิดและวัฒนธรรมซึ่งกันและกันเพื่อมุ่งสู๋ความกลมเกลียวผ่านสื่อศิลปะแห่งการร่วมมือร่วมใจ "collaborative art"

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น