xs
xsm
sm
md
lg

ลมหายใจแห่งความสุขของ ก้า-อธิกร ศรียาสวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
เมื่อคิดจะคุยกับ ‘นักเขียน-นักเดินทาง’ ชื่อของ ก้า-อธิกร ศรียาสวิน เจ้าของนามปากกา “อรินธรณ์” ก็แทรกเข้ามาอยู่ในความรู้สึก เพราะ “อรินธรณ์” จัดเป็นนักเขียน-นักเดินทาง ที่มีลีลาเที่ยวแบบเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร คือ นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ภายใต้งบประมาณที่จำกัด ทำให้มีคนที่ติดตามงานเขียนของเขาอย่างต่อเนื่อง “อรินธรณ์” จึงเป็นแขกอีกรายที่เราจีบมาคุยด้วยกันในสัปดาห์นี้

 
ก้า-อธิกร พูดถึงตัวเองว่า จริงๆแล้วเขาไม่ได้เป็นแค่นักเขียนเท่านั้น แต่เขาคือผู้ให้บริการทางตัวหนังสือ เพราะทำงานเกี่ยวข้องกับงานเขียน 3 ประเภทคือ เป็นทั้งครีเอทีฟงานโฆษณา คอลัมนิสต์ เรื่องท่องเที่ยวให้กับ mars magazine และนักเขียนที่มีผลงานหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กน่าอ่าน อย่าง ย่ำโลก งบประหยัด, เที่ยวถูก จูบโลก, เป๋าแบน แลนดิ้ง นอกจากนี้เขายังเป็นทั้งนักแต่งเพลง นักดนตรี วง Basketband ที่คอเพลงอินดี้รู้จักเขาดี เพราะมีเพลงฮิตติดหูมากมาย อาทิ คนน่ารักมักใจร้าย, ความเหงากำลังระบาด และ วันฝนพรำ

 
 
หนุ่มร่างสูงใหญ่อารมณ์ดี ย้อนอดีตให้ฟังว่า เป็นคนชอบอิสระ ช่วงเรียนหนังสือถูกพ่อขอร้องแกมบังคับให้เรียนด้านการเงิน แม้จะไม่ชอบแต่ก็ปฎิบัติตาม เมื่อเรียนจบจึงขอพ่อไปทำงานที่ตัวเองอยากทำ โดยเริ่มงานแรกกับบริษัท เจ วอลเตอร์ ธอมสัน จำกัด แต่ทำได้ 4-5 ปีก็เกิดจุดพลิกผันให้ “ก้า” ก้าวออกมาตามล่าฝันทำงานอิสระที่ตัวเองรัก
 

“ตอนนั้นผมไม่สบายต้องเข้าโรงพยาบาลผ่าตัด ก่อนผ่าคุณหมอก็ชวนคุยรอให้ยาสลบออกฤทธิ์ในเรื่องงาน พอผ่าเสร็จฟื้นมาผมก็นึกถึงเรื่องที่คุยกับหมอมาสะดุดที่เรื่องที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำ ซึ่งผมก็คิดว่าหากผ่าตัดครั้งนั้น ผมไม่ฟื้นก็เท่ากับผมเกิดมาผมไม่ได้ทำอะไรที่อยากทำเลย คิดแล้วเสียดายพอออกจากโรงพยาบาลก็ไปยื่นใบลาออก เอาเงินเก็บที่มีอยู่แสนสองแสนมาเที่ยว แล้วก็เรียนดนตรี เรียนการบันทึกเสียงเพราะผมชอบอยากเป็นนักดนตรีด้วย”

 
 
 
ช่วง 1 ปีกว่าที่เขาออกท่องโลกเขาบอกว่ามีความสุขมาก เพราะได้อะไรมากมายจากตรงนั้น ได้เจอเพื่อนแปลกหน้า ได้เขียนหนังสือ ได้ตั้งวงดนตรี The Basketband ได้แต่งเพลง บันทึกเสียง วางแผนทำการตลาดเองทั้งหมด ขณะเดียวกันลูกค้าที่เคยร่วมงานกันสมัยทำโฆษณาก็ส่งงานมาให้ต่อเนื่อง

“หลายคนก็เป็นห่วง เพราะออกมาทำงานอิสระรายได้ไม่แน่นอน งานหนังสือก็ต้องเดินทางหาข้อมูล กว่าจะรวมออกมาเป็นเล่มก็ใช้เวลา งานวงดนตรีก็ต้องทำเพลง อัดแผ่นเสียงต้องใช้เงินทั้งนั้น เงินได้มาก็ไม่ได้เก็บหมดไปกับการทำเพลง แต่ผมไม่ใส่ใจเงินหมดไปก็หาใหม่ได้ แค่ได้ทำในสิ่งที่เราชอบก็ดีใจแล้ว”

 
สำหรับงานของ “ก้า” แม้จะเป็นงานเขียน แต่ด้วยเนื้อหาที่แตกต่างกัน ก้าจึงต้องจัดสรรสัดส่วนและเวลาในการทำงานให้เป็นระบบ
 
“ผมใช้วิธีสร้างลิ้นชักขึ้นมาในหัวของเรา ถ้าวันนี้เราจะทำงานเพลง ก็เก็บของอย่างอื่นไปไว้ในลิ้นชักก่อน จากนั้นเราก็ทำแต่เพลง แต่งเพลง หาแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง แน่นอนมันต้องมีเรื่องอื่นติดมาด้วย เราก็เอาเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการทำเพลงใส่ลงไปในลิ้นชักไว้ก่อน เช่น ถ้าเราเกิดไปได้ไอเดียสำหรับการทำงานโฆษณา ผมก็จะเอาไปใส่ไว้ในลิ้นชักหมวดโฆษณาไว้ก่อน พอเราทำงานเพลงเสร็จ ก็เก็บของทั้งหมดเข้าใส่ลิ้นชักเพลง และก็ไปเปิดลิ้นชักหมวดอื่นสำหรับงานลำดับถัดไปของเรา”
 
เมื่อถามถึงเป้าหมายและสิ่งที่อยากทำหลังจากนี้ ก้าบอกว่าไม่มี เพราะได้ทำในสิ่งที่อยากทำหมดแล้ว ในส่วนของเป้าหมายก็ไม่เคยตั้งว่าต้องเป็นอย่างไร “ผมพอใจสิ่งที่เป็นอยู่ แต่ยอมรับว่ามีกลัวบ้าง คือกลัวว่าถ้าอายุมากขึ้นผมจะทำงานได้น้อยลง เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่ผมหวังและต้องทำให้ได้คือ รักษาระดับงานที่ทำอยู่ให้ดี ถ้าดีมากขึ้นไม่ได้ก็ขอให้งานคงที่เสมอตัว”

 
สำหรับพลังในการขับเคลื่อนเพื่อการรักษาผลงานให้คงที่และเป็นที่ยอมรับนั้น ก้าบอกว่า เขาใช้วิธีค้นหาข้อมูลใหม่ๆป้อนตัวเองตลอดเวลา แม้จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองก็ต้องทำเพราะในทุกวันจะมีเรื่องราวใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย อย่างงานหนังสือก็รู้กันอยู่ว่าในอนาคตสิ่งพิมพ์ลดลง ทุกอย่างจะถูกอัดลงในโลกออนไลน์ ก้าเองก็ต้องปรับตัวเช่น จากเดิมที่ต้องค้นหาจากหนังสือ เดี๋ยวนี้ต้องอาศัยโซเชียลเน็ตเวิร์กเข้าช่วยในการทำงาน
 
“อย่างตอนนี้กลายเป็นคนติดโลกออนไลน์แล้ว ถ้าอยู่บ้านจะติดคอมพิวเตอร์ ออกนอกบ้านติดมือถือ (หัวเราะ) คือผมเดินทางบ่อย แล้วเราทำงานคนเดียว ข้อมูลบางอย่างเผลอแป๊ปเดียวหายไปแล้ว เดินทางนานๆก็กังวลว่าจะตกข่าว เดี๋ยวนี้อยู่ตรงไหนสื่อถึงกันหมด อยากได้อะไรอาศัยเพื่อนๆจากโลกออนไลน์ช่วยแชร์ให้ ตรงนี้ผมถือว่าเป็นเสน่ห์สำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยอัพเดทข่าวสร้างสรรค์งาน” ก้า กล่าวทิ้งท้ายตามสไตล์ผู้ชายอารมณ์ดี

กำลังโหลดความคิดเห็น