>>ถ้าคุณอยู่ในแวดวงหรือติดตามข่าวคราวของดนตรีคลาสสิก ชื่อของ “ทฤษฎี ณ พัทลุง” คงเป็นที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี ในฐานะวาทยากรหนุ่มที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ แต่รู้หรือไม่ว่า เขาไม่เคยเรียนจบจากสถาบันดนตรีชื่อดังที่ไหน แถมยังลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่อยู่ชั้น ม.4 เท่านั้น!
คำว่า อัจฉริยะ เราคงไม่ได้กล่าวเกินจริง เมื่อได้ทราบว่า หนุ่มคนนี้เริ่มต้นสัมผัสคีย์เปียโนครั้งแรกเมื่ออายุ 13 ปี ซึ่งในวงการดนตรีถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ช้ามาก จากเด็กน้อยที่มีความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์ และไม่เคยชอบหรือเฉียดใกล้เรื่องของดนตรีเลยด้วยซ้ำ แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะอยากให้เรียนแต่ก็ไม่เคยบังคับ จนวันหนึ่งเด็กน้อยที่มีชื่อเล่นว่า “พิซซ่า” เริ่มอยากจะลองเล่นด้วยตัวเอง
จุดเปลี่ยน!
“ภรรยาของคุณอาผมเป็นครูสอนเปียโนอยู่แล้ว แต่ผมก็ไม่เคยอยากเรียน จนอยู่ดีๆ วันหนึ่งก็เกิดอยากจะเรียนขึ้นมา พอเรียนไป ปรากฏว่าเราพัฒนาไปเร็วมาก ปกติการเรียนเปียโนที่ถูกต้องมันต้องมีพื้นฐานเป็นขั้นตอนไป แต่ผมเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่ในกฏนานๆ ไม่อยากเรียนในสิ่งที่มีแค่ในบทเรียน พอดีคุณพ่อผมอ่านโน้ตเป็น เลยสอนผม บวกกับผมถนัดคณิตศาสตร์มาก่อน ซึ่งการอ่านโน้ตมันเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์ค่อนข้างเยอะ เราเลยเข้าใจเร็ว เมื่อเราอ่านโน้ตเป็น ก็เหมือนอ่านหนังสือออก เราจะหยิบหนังสือเล่มไหนมาอ่านก็ได้หมด ถ้าเรามีโน้ตเพลงต่างๆ เราก็สามารถหยิบมาเล่นได้หมดถ้าเรามีฝีมือพอ”
หลังจากทฤษฎีเรียนเปียโนไปได้แค่ 2 อาทิตย์ ทฤษฎีสามารถแกะเพลงMoonlight Sonata ของเบโธเฟน นักเปียโนชื่อก้องได้ และอีกหนึ่งปีต่อมา ก็สามารถสอบเกรดเปียโน ผ่านระดับแปดซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุด แถมยังพ่วงมาด้วยคะแนนระดับเกียรตินิยม ในระหว่างนั้นเขาได้หัดแต่งเพลงไปด้วย
และก็มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งในชีวิต เมื่อทฤษฎีอายุ 15 ปี เขาได้พบกับ อาจารย์สมเถา สุจริตกุล ศิลปินอัจฉริยะของไทยในวงการดนตรีคลาสสิก
“ตอนนั้นผมเรียนอยู่ ม. 4 ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล บังเอิญได้ไปดู คอนเสิร์ตของนักร้องโอเปร่า และอาจารย์สมเถาไปร่วมงานด้วย ระหว่างพักครึ่งคอนเสิร์ต ผมเลยเข้าไปขอลายเซ็นและบอกอาจารย์ว่า โตขึ้นอยากเป็นคอนดักเตอร์กับนักแต่งเพลง อาจารย์เลยขอดูผลงาน เผอิญผมหยิบเพลงที่แต่งเองมาด้วย เป็นเพลงที่เอาดนตรีทำนองสไตล์อีสาน มาผสมกับจังหวะเต้นรำแบบโปแลนด์ ซึ่งเป็นจังหวะที่นิยมใช้ในดนตรีคลาสสิก แต่ยังไม่เคยมีใครเอาดนตรีสองอย่างนี้มาผสมกัน อาจารย์คงเห็นว่าเรามีความคิดสร้างสรรค์ดี จึงชวนผมมาช่วยงานและคอยสนับสนุน”
เพียงไม่นานหลังจากนั้น ทฤษฎี ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน โดยที่มีครอบครัวให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เขาเข้ามาช่วยงาน อาจารย์สมเถา ด้วยการเล่นเปียโนเพื่อซ้อมคอรัสให้นักร้อง และเป็นโค้ชให้นักร้อง “โค้ชของนักร้องในวงการโอเปร่า จะเป็นในเรื่องของการร้องให้ชัด การร้องด้วยอารมณ์ที่ถูกต้อง รวมถึงการฟังดนตรีด้วย มันเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจดนตรี คล้ายๆ โค้ชนักบอล ที่จะติวเรื่องยุทธศาสตร์มากกว่าการสอนว่าเล่นฟุตบอลยังไง”
เมื่อพรสวรรค์ได้รับการค้นพบ ต่อจากนั้นก็เป็นการขัดเกลาและฝึกฝนกับสิ่งที่สวรรค์ส่งมาให้ ซึ่ง ทฤษฎีสั่งสมประสบการณ์จากการทำงาน จนไปเตะตาคนจาก สถาบัน Opera Studio Nederland ในกรุงอัมสเตอร์ดัม เชิญให้เขาไปเป็นอาจารย์สอนนักร้องโอเปร่าในขณะที่เขาอายุเพียง 18 ปีเท่านั้น
ส่วนการเป็นคอนดักเตอร์ หรือ วาทยากร ทฤษฎีเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ด้วยตัวเอง ซึ่งการเป็นวาทยากร ไม่ใช่แค่การทำท่าทาง ยกไม้คฑาเพียงเท่านั้น แต่มันคือการควบคุมวงดนตรีทั้งวง “เราต้องแสดงให้นักดนตรีเห็นว่าเรามีวิสัยทัศน์ทางดนตรี เข้าใจ และสามารถดึงอารมณ์ ความมัน ความสนุกของดนตรีที่เขาไม่เคยรู้ว่ามี ออกมาให้ได้ สำหรับดนตรีคลาสสิก แม้จะเพลงเดียวกัน มีตัวโน้ตเดียวกัน ถูกเอามาเล่นไม่รู้กี่พันกี่หมื่นครั้ง แต่คอนดักเตอร์ 10 คน ก็จะออกมา 10 แบบ ไม่เหมือนกัน มันเป็นเรื่องของอารมณ์ที่คอนดักเตอร์จะดึงออกมาจากวง”
ทฤษฎีได้รับโอกาสอันสำคัญอีกครั้ง คือ การคอนดักต์โอเปร่าซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ว่าคอนดักต์วงดนตรีออเคสตร้า เพราะโอเปร่าคือวงดนตรีบวกกับนักร้องบนเวที ซึ่งต้องใช้ความสามารถที่มากขึ้น โชคดีที่ครั้งนั้น นักวิจารณ์ชาวอังกฤษจากนิตยสารโอเปร่าระดับโลก เดินทางมาดูการแสดง และได้เขียนรีวิวชื่นชมเขาว่าเป็น “อัจฉริยะ” จนมีเอเย่นต์จากประเทสอิตาลีสนใจ เป็นก้าวแรกในการสร้างชื่อเสียงในแวดวงดนตรีคลาสสิกระดับนานาชาติในวัยเพียง 20 ปี
เด็กหนุ่มจากเมืองไทยไปผงาดที่อิตาลี
ความประทับใจจากการเป็นวาทยากรที่ผ่านมา ทฤษฎีบอกว่ามีหลายครั้ง แต่ครั้งที่สำคัญและยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่ง ก็คือการที่ได้รับเชิญไปอำนวยเพลงในเทศกาลโอเปร่าที่สำคัญที่สุดในโลก ณ ประเทศอิตาลี ซึ่งถือเป็นวาทยากรรับเชิญที่อายุน้อยที่สุดในขณะนั้น
“ตอนนั้นผมอายุ 23 ปี ได้รับเชิญไปเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล รอสซินี โอเปร่า เฟสติวัล (Rossini Opera Festival) ที่อิตาลี ซึ่งโปรดักชั่นไม่ธรรมดา เป็นเทศกาลที่จะเล่นแต่เพลงของรอสสินีอย่างเดียว รอสซินีเป็นนักแต่งเพลงโอเปร่าที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก งานนั้นทุกอย่างเป็นอิตาเลียนหมดเลย แต่เขาเชิญเราซึ่งเป็นเด็กต่างชาติ เพื่อมาเป็นคนคุมวงดนตรี เขาเชื่อมั่นให้เราคุมโปรดักชั่นของโอเปร่า เราก็ทำงานนั้นอย่างเต็มที่
ผลปรากฏว่าประสบความสำเร็จมาก ได้ลงหนังสือพิมพ์ที่อิตาลี เมืองที่ไปแสดงเป็นเมืองเล็กๆ เมื่อถึงเทศกาลคนจากทั่วโลกก็จะบินมาดูการแสดง เวลาผมออกไปเดินเล่นตามถนนในเมือง ก็มีคนจำได้ เข้ามาทักทาย เรียกว่าเกิดเลย หลังจากนั้นก็มีคนชวนให้ไปแสดงที่นั่นบ่อยๆ ได้มีโอกาสไปคอนดักต์ให้วงออเคสตร้าแห่งชาติอิตาลี ได้ไปแสดงที่มิลาน อย่างปีที่แล้วผมไปคอนดักต์ที่มิลานถึง 7 ครั้ง”
เกลียดการแข่งขัน ?!?
ถึงแม้จะมีความสามารถและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ แต่ทฤษฎีกลับบอกว่าไม่ชอบการแข่งขันเอาเสียเลย เพราะเขามองว่าดนตรีไม่ใช่การแข่งขันที่ตัดสินผลการแพ้-ชนะ แต่เป็นเรื่องของการแสดง ซึ่งกรรมการแต่ละคนก็ต่างมีความชอบที่แตกต่างกัน
ผมว่าการแข่งขันมันไม่ใช่จุดสูงสุดของการพิสูจน์ว่าฝีมือนะ คนที่จะประสบความสำเร็จ มันต้องดูว่าทำงานอะไรมาบ้าง คนไทยมักจะพูดถึงในแง่ที่ชนะรางวัลมา แต่เราจะพูดถึงการชนะอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพูดถึงผลงานที่ผ่านมาด้วย ถ้าพูดในสายงานนี้ ต่อให้เขาไม่ได้ชนะอะไรมาเลย แต่เคยทำงานที่มีโปรไฟล์ระดับสูงๆ มาก่อน การที่ชนะมา ก็ไม่ได้น่าตื่นเต้นเท่างานที่เคยทำมา
และถ้าถามว่าทำไมผมไม่แข่งขัน ก็เพราะการแข่งขันขึ้นอยู่กับกรรมการ ซึ่งดนตรีไม่ใช่กีฬาที่เห็นชัดๆ ว่าได้คะแนนเท่าไหร่ กรรมการดนตรีแต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน ในที่สุดก็เลยต้องเอากรรมการที่ชอบคนละแบบ มาตัดสิน มันก็ยากอีก ผมเคยอยู่เบื้องหลังการแข่งขันร้องเพลง ผมไปเล่นเปียโนให้ผู้เข้าแข่งขัน ผมเห็นว่า บางคนสำหรับเราร้องเพราะมาก คนอื่นฟังก็บอกว่าเพราะ แต่ไม่ชนะ ในขณะคนที่เราฟังว่าร้องไม่เห็นเพราะกลับชนะ”
ถึงจะบอกว่าไม่ชอบการแข่งขันนัก แต่เมื่อไม่นานมานี้ เขาเพิ่งเป็นตัวแทนประเทศไทย นำทีมวง “ดุริยางค์เยาวชน สยามซิมโฟนิเอ็ตต้า” ไปแข่งขันที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และคว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง ซึ่งเหตุผลหลักๆ ที่ตัดสินใจไปเพราะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เดินทางไปแสดงดนตรีหลายประเทศในยุโรป
ในวัย 26 ปี ทฤษฎียอมรับว่า ดนตรี เป็นส่วนสำคัญในชีวิต เพราะเขาไม่ได้เป็นแค่วาทยากรมืออาชีพ แต่ยังเป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง และจะมุ่งมั่นทำต่อไปให้ดีที่สุด พร้อมทำความฝันที่อาจไม่ไกลเกินเอื้อม คือการได้เป็นวาทยากรให้วงออเคสตร้าระดับท็อป 5 ของโลก พร้อมกับการทำประโยชน์ให้กับสังคมและเยาวชนไทย ด้วยการถ่ายทอดความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์ในต่างประเทศ รวมถึงให้โอกาสกับเด็กรุ่นใหม่เหมือนกับที่เขาเคยได้รับมา
เคล็ดลับคอยสอนใจ
“ผมชอบวาทะของท่านพุทธทาสที่ว่า... “เขาว่าเราจริง ก็ไม่ต้องโกรธเขา เพราะเรื่องมันจริง เขาว่าเราไม่จริง ก็ไม่ต้องโกรธเขา เพราะเรื่องมันไม่จริง เท่านี้ก็จบ”...
ผมชอบมากเพราะสามารถนำมาปรับใช้กับหน้าที่ของคอนดักเตอร์ได้ดี มันเป็นหน้าที่ของความรับผิดชอบอย่างมาก เพราะต้องเป็นผู้นำของวงดนตรีทั้งวง ผมว่าเราสามารถเอาไปใช้ได้ทั้งผู้นำของทุกเรื่อง ทุกองค์กร แม้แต่ผู้นำประเทศ เราจะต้องพร้อมที่จะโดนด่า โดนวิจารณ์ เราจะเจอทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ เราจะไปนั่งเซ็งกับคำพูดคนทำไม ถ้าเราผิดจริง ก็ยอมรับ ถ้าเราไม่ผิดก็เฉยๆ เพราะเราไม่ได้ทำเสียอย่าง”
ผลงานล่าสุด
ทฤษฎี ได้เป็นผู้อำนวยเพลงให้กับวงออเคสตร้า”สยาม ฟิลฮาร์โมนิค ออร์เคสตรา” ในละครเวที "เรยา เดอะ มิวสิคัล" ซึ่งสร้างสรรค์โดย อาจารย์สมเถา สุจริตกุล หยิบยกบทประพันธ์ที่เคยทำเป็นละครสุดอื้อฉาวอย่าง “ดอกส้มสีทอง” มาทำในรูปแบบละครเวที และได้นางเอกตัวแม่อย่าง “ชมพู่ - อารยา เอ อาร์เก็ต” แสดงนำ ซึ่งจะทำการแสดงตั้งแต่เดือนกันยายนไปจนถึงต้นเดือนตุลาคม
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net