ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มิได้ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากแต่ยังทรงเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรกที่ทรง“กู่เจิง” อันเป็นเครื่องดนตรีของราชสำนักจีนได้อย่างไพเราะจนสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ถวายตำแหน่ง “ทูตวัฒนธรรม” แด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ
ในฐานะที่ทรงดำรงตำแหน่งเป็น “ทูตวัฒนธรรม” สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ จึงทรงเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงดนตรีและวัฒนธรรม “สายสัมพันธ์แผ่นดิน”ครั้งทื่ 5 ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรม โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทอดพระเนตร
เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯทรงเริ่มเปิดม่านการแสดงกู่เจิงร่วมกับพระอาจารย์ฉาง จิ้ง ประกอบกับการบรรเลงของวงดุริยางค์ราชนาวี โดยทรงแสดงดนตรีด้วยเครื่องดนตรี กู่เจิงรวมทั้งสิ้น 10 เพลง อันได้แก่ เพลง วันวาน,เดือนเพ็ญ,ธารสวรรค์ใต้จันทร์เพ็ญ,บุบผาโปรยปราย,ลมหนาวและดาวเดือน,ห้วงธาราใต้แสงจันทร์,พิสุทธิ์,คะนึงหาตราบนิรันดร์,ยามเย็น (บทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) และเพลงสายสัมพันธ์สองแผ่นดิน
นอกจากนี้ไม่ได้ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพทางด้านการทรงเครื่องดนตรี กู่เจิง เท่านั้น แต่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ยังทรงขับร้องเพลง เดือนเพ็ญ,ลมหนาวและดาวเดือน รวมทั้งเพลงภาษาจีนบุปผาโปรยปราย และ คะนึงหาตราบนิรันดร์ ด้วยพระองค์เองในพระสุรเสียงที่ไพเราะ พร้อมรับสั่งถึงเนื้อหาเพลงคะนึงหาตราบนิรันดร์ ด้วยพระสุรเสียงที่ซาบซึ้งในบทเพลงว่า “ม่านนิ่ง พระจันทร์นิ่ง มีเพียงสิ่งเดียวที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาก็คือหัวใจฉันที่คิดถึงเธอ”
ด้านไฮไลต์เป็นครั้งแรกที่ทรงอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บทเพลง “ยามเย็น” มาทรงบรรเลงเป็นครั้งแรก โดยก่อนการแสดงทรงมีรับสั่งว่า “ต้องบอกว่าเป็นอะไรที่ท้าทายมาก เพราะกู่เจิงนั้นมีโด-เร-มี ซอล-ลาโด ตัวโน้ต ฟา-ซี แฟลต และชาร์ป ไม่มี เพลงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเพลงแนวแจซซ์ ซึ่งจะออกแฟลต ชาร์ปเยอะมาก เพราะฉะนั้นจะต้องใช้การกดสายทางด้านซ้ายด้วยมากพอสมควร” ก่อนปิดท้ายซาบซึ้งใจด้วยบทเพลงธรรมเนียมประจำงาน “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน”
นอกจากนี้ตลอดทั้งงานยังมีการสลับการแสดงนาฏศิลป์ของทั้ง 2 ประเทศ ขึ้นสลับผลัดเปลี่ยนให้ชมด้วยกัน 5 ชุด ได้แก่ การแสดงระบำหญิงหมู่ เรื่อง “ซิ่วเซ่อ” หรือ “หมู่บ้านซิ่วเซ่อ” การแสดงกายกรรมยิมนาสติก “หญิงสาวแห่งแสงตะวัน” การแสดงอุปรากรปักกิ่ง เรื่อง “สนมเอกราชวงศ์ถัง” ตอนดอกสาลี่บาน การแสดงระบำหญิงหมู่ เรื่อง “ล้ำลึกยามค่ำคืน” การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุด “พระรามข้ามสมุทร” และการแสดงกายกรรมบนไม้ไผ่ ชุด “พลิ้วไหวไปตามจังหวะ” โดยการแสดงทั้งหมด สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปทรงคัดเลือกด้วยพระองค์เองยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ก็เพื่อทรงอยากให้คนไทยทุกคนได้ชื่นชมความงดงามยิ่งของสองแผ่นดินไทย-จีน
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net